Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๒๔๕

dungtrin_cover

 dungtrin_gru2a

 

 

จะแก้นิสัยคิดมากได้อย่างไร

ถาม – ดิฉันมีนิสัยคิดมากและมักคาดหวังให้คนอื่นเลิกทำไม่ดีกับตัวเอง
ทำให้เป็นคนที่มีความทุกข์ได้ง่าย พยายามปล่อยวางแต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ
จะทำอย่างไรให้อาการคิดมากไม่เลิกนี้ลดลงได้คะ

 

ตอบ - สรุปก็คือว่าเรามีนิสัยคิดมาก แล้วก็แคร์คนอื่นมากไป
ใจไม่ยอมแล้วก็มีอาการที่เหมือนกับ
พูดง่ายๆ อยู่กับอาการคิดมากไม่เลิกนะ
อาการคิดมากไม่เลิกเนี่ยส่วนใหญ่นะครับ มันก็เป็นความเคยชิน
มันเป็นการสั่งสมที่เรายอมรับให้มันเกิดขึ้นนะ
เรายอมให้มันมีความสำคัญ มีอิทธิพลเหนือจิตใจของเรา
ขอให้สังเกตดูเถอะ คนที่คิดมากเนี่ยนะ
วันๆ เนี่ยก็คือจะวน เหมือนใจเนี่ยจะวนเข้าไปสู่อาการคิดมากนั้น
โดยไม่อาจบังคับหรือควบคุมนะ

ถ้าหากว่าเรามองเห็นพฤติกรรมของจิต
ว่ามันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ
คือถ้ามันเป็นตัวเรา เราต้องสามารถบังคับได้
แต่นี่มันไม่ใช่ตัวเรา มันมีอิทธิพลเหนือตัวเรา
มันมีความสามารถที่จะย้อนกลับมาได้ตลอดเวลา
เรื่องที่จะชวนให้คิดมากนั้นน่ะ สังเกตบ่อยๆ
คือไม่ใช่ไปต่อต้านมันหรือพยายามจะระงับมันนะ
อันนี้เป็นยุทธวิธี ถ้าหากว่าเราไปพยายามต่อต้านมัน
แสดงว่าเรายอมรับว่ามันเป็นตัวของเรา
คือเราพยายามสั่งให้ตัวเองเลิกคิด
ถ้าเลิกคิดได้แปลว่าความคิดนั่นเป็นตัวของเรา

แต่ถ้าหากว่าเราสังเกตว่ามันเป็นแค่พฤติกรรมทางใจ
เป็นแค่ความเคยชินทางใจที่จะย้อนกลับไปคิดมาก คิดซ้ำคิดซาก
แล้วอาการทางใจนั้นไม่มีความเป็นเรา ที่เราจะไปควบคุมอะไรมันได้
ดูมัน สมมุติว่ามันมาวันละสิบครั้ง มาวันละยี่สิบครั้ง
นับไปเลยก็ได้นะ เอากระดาษมาจดมาติ๊ก (
tick) ไป
ว่าวันนี้คิดมากเรื่องเดิม เรื่องคนนั้นที่เราแคร์น่ะ คนคนหนึ่งนะที่เราแคร์เนี่ย
ติ๊กไปเลย พอคิดครั้งหนึ่งคิดมากครั้งหนึ่ง ติ๊กไป
เอาจดใส่กระดาษหรือว่าจดใส่มือถือก็ได้
ขอให้เกิดการรับรู้ก็แล้วกันว่ามันเกิดขึ้นวันละกี่ครั้ง

ทุกครั้งที่มันเกิดขึ้นนะ ไม่ต้องไปห้าม
ไม่ต้องไปเข้าข้างตัวเองว่านี่เป็นสิ่งที่เราจะไปควบคุมมันได้อย่างไรนะ
แต่ให้เห็น มองตามจริงเลยว่า มันย้อนกลับมาได้กี่ครั้ง
แล้วทุกครั้งที่มันย้อนกลับมา เรามีสติระลึกนะว่านี่มันกลับมาอีกแล้ว
แค่นั้นนะ แค่ระลึกว่าเนี่ยเราจะติ๊กว่ามันกลับมาอีกแล้ว
ไม่ไปทำอะไรกับมันอย่างอื่น
ในที่สุดแล้วเมื่อใจยอมรับว่ามันเป็นแค่พฤติกรรมทางใจ
เป็นแค่ความเคยชินทางใจที่มันจะกลับไปคิดมาก ที่มันจะย้อนกลับไปไม่เลิกนะ
มันก็จะฉลาดขี้น จิตจะมีความรู้สึกว่า เออ นี่ไม่ใช่ตัวเรา

คุณอาจจะต้องเห็นไปสักประมาณสิบยี่สิบครั้ง หรือสามสิบครั้ง
หรือบางทีเป็นร้อยครั้งในช่วงเวลาวันหรือสองวัน
สาระสำคัญก็คือเมื่อพยายามมองให้เห็นอย่างนี้
เห็นความจริงว่ามันย้อนกลับมาเอง เป็นพฤติกรรมของใจ
เป็นความเคยชินของใจที่ไม่เกี่ยวกับเรา ไม่ใช่เราเชื้อเชิญมันมา
ใจมันจะฉลาด และเมื่อใจฉลาดเห็นว่านั่นเป็นแค่พฤติกรรมความเคยชินของใจ
มันถอนออกมาจากอาการนั้นโดยที่คุณไม่ต้องพยายาม
มันจะค่อยๆรู้สึกว่า เออ มันจะมากี่สิบกี่ร้อยรอบก็ตาม
เราแค่รู้ เราแค่ตระหนักว่าสักแต่เป็นอาการของใจ
ไม่ใช่ตัวของเรา ไม่ใช่เรื่องน่ากลุ้มใจของเรา
ตัวนี้แหละที่มันจะทำให้จิตค่อยๆ ถอนออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ

ลองดูนะ คือถ้าฟังดูเนี่ยมันอาจจะไม่ค่อยเข้าใจว่าจะถอนออกมาได้อย่างไร
แต่ถ้าคุณฝึกจริงๆ เนี่ย แล้วฝึกเป็นรูปธรรมเลยนะ
คือคิดครั้งหนึ่งติ๊ก ติ๊กไปเลยแล้วไม่ต้องทำอะไร
ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องพิจารณา
ไม่ต้องไปพยายามที่จะแก้ไข หรือว่าระงับยับยั้งความคิดอะไรทั้งสิ้นนะ
แค่มีความรู้สึกขึ้นมาในแต่ละครั้งจริงๆ ว่ามันมาเองนะ
ติ๊กไปๆ สิบครั้ง ยี่สิบครั้ง สามสิบครั้ง หรือร้อยครั้ง
แล้วคุณจะพบความจริงนะว่าใจมันฉลาดขึ้นได้
ขอให้ลองทำดู อันนี้ไม่ใช่คำแนะนำที่จะทำให้คุณเข้าใจเดี๋ยวนี้
แต่เอาไปลองปฏิบัติเพื่อที่จะให้เกิดผลจริง ในเวลาที่จิตมันฉลาดแล้วนะครับ