Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๒๓๖

dungtrin_cover

 dungtrin_gru2a

จะแก้ไขอาการใจลอยในระหว่างวันได้อย่างไร

 

ถาม - ตอนนี้กำลังหัดเจริญสติค่ะ
พบว่าระหว่างวันมีความเหม่อลอยที่เกิดจากความคิดของตัวเอง
แต่พอมาระยะหลัง สังเกตว่าความเหม่อลอยลดน้อยลง
แต่กลับกลายเป็นใจลอยออกไปเลย เป็นบ่อยมาก แล้วก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
แบบนี้ควรจะแก้ไขอย่างไรดีคะ

 

ตอบ – เอาตามหลักที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ก็แล้วกันนะ
เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกว่าตัวเองเหม่อลอยนะ ก็หายใจสักครั้งหนึ่ง
ถ้าบอกตัวเองถูกว่า ตอนนี้กำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก
นี่ตัวนี้แหละ มันก็จะเกิดสติกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวทันที

การฝึกสังเกตว่าเราเหม่อลอยไปเมื่อไหร่ เราเผลอไปตามความคิดเมื่อไหร่
เป็นเรื่องดี เป็นก้าวแรกที่มันทำกันได้
แต่พอเราสามารถสังเกตใจตัวเองออกแล้วเนี่ย
ก็น่าจะหาเครื่องยึดหรือว่าวิหารธรรม
คือถ้าไม่มีจุดยึด ไม่มีจุดตรึงให้ใจอยู่กับที่เลยเนี่ย
มันไม่รู้จะเอาอะไรเป็นหลัก
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอานาปานสตินะ
คือการเอาลมหายใจมาเป็นเครื่องเจริญสติเนี่ย
มันจะปิดช่องไม่ให้เกิดการเหม่อ
ไม่ให้เกิดการเลื่อนลอย ไม่ให้เกิดการฟุ้งซ่านได้นะ
โอกาสที่อะไรจะเป็นคลื่นรบกวนเข้ามาแทรกเนี่ย มันก็ยากขึ้น

วิธีการง่ายๆ เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกตัวว่าเหม่อ
เนี่ยบวกเข้าไป ถามตัวเองเลย นี่หายใจเข้าหรือหายใจออกอยู่ แล้วถามแค่ครั้งเดียวพอ
แต่ละครั้งที่เรารู้สึกตัวว่าเหม่อ มันกลายเป็นตัวกระตุ้น
ให้สติมาอยู่กับสิ่งที่ควรอยู่ กระตุ้นให้สติกลับมารู้กับสิ่งที่ควรรู้
ความเหม่อมันก็จะค่อยๆ สลายตัว หายไปเองนะครับ

แต่อย่าใจร้อนนะ อย่าคิดว่าทำแค่วันสองวันแล้วมันจะเกิดความสำเร็จ
ได้ผลอะไรที่มันชัดเจนขึ้นมาทันทีทันใด
เราต้องใช้เวลา เราต้องสร้างความเคยชิน
ซึ่งความเคยชินเนี่ย คำว่าความเคยชิน คำเดียวนะ ต้องไม่ใช้เวลาน้อยกว่า ๒ อาทิตย์
ความเคยชินเนี่ย เขาวิจัยกันมาแล้วนะ
เราจะตั้งใจทำอะไรก็แล้วแต่เนี่ย ถ้าทำสม่ำเสมอได้ ๒ อาทิตย์
มันจะติดเป็นนิสัย แล้วทำง่ายขึ้นเรื่อยๆ มันจะฝืนน้อยลงเรื่อยๆ
นี่คือหลักการนะครับ