Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๒๓๔

dungtrin_cover

 dungtrin_gru2a

จะมีวิธีสังเกตเวทนาทางใจได้อย่างไร

 

ถาม – เวทนาทางใจเกิดจากอะไร แล้วเราจะมีวิธีสังเกตได้อย่างไรครับ
ผมสังเกตว่าทั้งสุขเวทนาและทุกขเวทนาทางใจ
เกิดขึ้นจากความคิดที่ไปยึดว่ามีตัวเราเป็นผู้เกี่ยวข้องในสภาวะ
ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือไม่ครับ

 

ตอบ – เวทนานะ พระพุทธเจ้าให้แบ่งง่ายๆ อย่างนี้
เวทนาที่ตอนแรกนะ สังเกตนะว่ามีความสุขมีความทุกข์
ความสุขคืออะไร มันรู้สึกสบายๆ มันรู้สึกว่าโล่งๆ มันรู้สึกว่า เออ เบา
อย่างนี้เป็นลักษณะใกล้เคียง ที่เราจะสังเกตเห็นความสุข
ไม่ว่าจะทางกายหรือทางใจนะ
ทางกายเนี่ยมันก็จะไม่กระสับกระส่าย มันรู้สึกเหมือนกับไม่เกร็ง ไม่กำ
อย่างนี้เรียกว่าเป็นสุขเวทนาทางกาย
ส่วนทางใจนี่ก็คือสบายใจ มีความโล่งใจ มีความปลอดโปร่ง อย่างนี้นะครับ


ก็คิดง่ายๆ เลยว่าถ้าเบา อย่างนั้นคือโน้มเอียงที่จะเป็นสุข
ถ้าหากว่าทึบ ถ้าหากว่าหนัก ถ้าหากว่าเกร็ง ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งของกาย
นั่นจัดเหมาให้เป็นทุกขเวทนาทางกายให้หมดเลย
ส่วนความรู้สึกกระสับกระส่าย เกิดความทุรนทุราย
เกิดความเร่าร้อน เกิดมีอาการฟุ้งขึ้นมาใดๆ เนี่ย
อย่างนั้นก็จัดให้เป็นทุกขเวทนาทางใจให้หมด
อันนี้เป็นการแบ่งแยกแบบง่ายๆ ง่ายที่สุดนะ สุขกับทุกข์

 

ทีนี้ท่านก็ให้สังเกตต่อไปอีก
ว่าระหว่างสุขกับทุกข์เนี่ยนะ มันไม่ใช่มีแค่ความสุขความทุกข์ขึ้นมาเองเฉยๆ
บางทีเนี่ยนะมันมีเหยื่อล่อแบบโลกๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง
อย่างเช่นถ้าหากว่าเราไปนอนอยู่บนโซฟาสบายๆ ที่โซฟาตัวโปรด อย่างนี้
นี่เรียกว่ามีเหยื่อล่อแบบโลกๆ
แต่ถ้าหากว่าเราอยู่เฉยๆ เราเจริญสติอยู่แล้วเกิดความรู้สึกว่า เอ้อ นี่มันไม่เที่ยง
แล้วก็เกิดความอิ่มใจ มีความสุขขึ้นมาว่า เออ เราเห็นความไม่เที่ยงแล้ว
นี่อย่างนี้เรียกว่าไม่มีเหยื่อล่อแบบโลกๆ แต่เป็นการที่เราฝึกจิต
แล้วก็มีเหตุใกล้นะ เป็นธรรมะที่ก่อให้เกิดความสุข
อันนี้พระพุทธเจ้าก็ให้แยกประเภทไว้
เป็นสุขเวทนาประเภทที่ไม่มีเหยื่อล่อแบบโลกๆ
สุขเวทนาแบบไม่มีอามิส

 

ทุกข์ก็เหมือนกัน ในทางตรงกันข้าม
ถ้าหากว่ามีผัสสะแบบโลกๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง
ก็ให้จัดว่าเป็นทุกข์ที่มีอามิส
แต่ถ้าเป็นทุกข์ไม่มีอามิสนะ คือไม่มีเหยื่อล่อแบบโลกๆ เนี่ย
ท่านให้เหมามาในทางธรรม
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่าปฏิบัติธรรม เจริญสติภาวนาแล้ว
เกิดความรู้สึกอยากได้มรรคผล แล้วเกิดความรู้ตัวซ้อนขึ้นมาอีก
ว่า โอ้ย ไม่ได้เร็วๆนี้หรอกนะ เกิดความรู้สึกท้อถอยขึ้นมา
อันนี้ก็เรียกว่าเป็นทุกขเวทนาไม่มีอามิส
คือไม่มีเหยื่อล่อแบบโลกๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง
หรือแม้กระทั่งว่าเราอยากที่จะสงบจากความฟุ้งซ่าน
พยายามทำสมาธิแล้วมันสงบไม่ได้
เกิดความทุกข์ขึ้นมา เกิดความกระสับกระส่าย กระวนกระวายขึ้นมา
อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นทุกขเวทนาไม่มีอามิสเช่นกัน

 

สรุปง่ายๆ เลยนะ อาการเวทนาทางใจเนี่ย
เราดูตรงที่ว่า มีความคิดแบบใดมากระทบ
หรือมีความรู้สึกที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่เจืออยู่ด้วยเรื่องแบบโลกๆ

แต่จริงๆแล้วเนี่ย ช่วงต้นๆเนี่ยนะ ไม่จำเป็นต้องไปพยายามแยกแยะหรอก
เอาแค่ว่ารู้ทัน ว่ากำลังมีความปลอดโปร่งหรือว่ามีความทึบหนักอยู่ แค่นี้พอแล้ว
การที่สติเนี่ยมันมีความคมแล้วก็มีความว่องไว
แล้วเห็นนะ เหตุปัจจัยว่าอะไรทำให้เกิดสุข อะไรทำให้เกิดทุกข์เนี่ย มันจะตามมาเอง
เพียงแต่ว่านี่เป็นประกัน มีพระพุทธพจน์เป็นประกัน
ว่าเราเห็นอย่างนั้นน่ะถูกต้องแล้ว
ถ้าหากว่ามีเหยื่อล่อ ก็เรียกว่ามีอามิส
ถ้าไม่มีเหยื่อล่อ ก็เรียกว่าไม่มีอามิส เอาง่ายๆแค่นี้