Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๒๓๑

dungtrin_cover

 dungtrin_gru2a

ควรเจริญสติอย่างไรในยามที่เหน็ดเหนื่อยจากการเลี้ยงดูบุตร

 

ถาม – ช่วงนี้ผมต้องเลี้ยงลูกที่ยังเป็นทารก จึงใช้กำลังกายมากและได้นอนน้อย
สังเกตว่าโดนโมหะคลุมจิตพอสมควร ต้องออกแรงจึงจะมีสติรู้ขึ้นมาได้ สติไม่ว่องไว
ไม่ทราบว่าถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ควรจะภาวนาอย่างไรดีครับ

 

ตอบ – การเลี้ยงลูกเนี่ยนะที่มันจะไม่เหนื่อย ไม่มีหรอก
ยกเว้นแต่เลี้ยงแบบนิดๆ หน่อยๆ อะไรแบบนั้นก็จะเหนื่อยน้อย
แต่ถ้าเลี้ยงจริงๆ เนี่ย เด็กทุกคนนะกว่าจะโตมาได้
เราเห็นเลยว่ามันลำบากยากเย็น
ที่เรานึกว่า เออ คนคนหนึ่งเนี่ยมาเดินๆ กันอยู่ตามท้องถนนได้เนี่ย
มันน่าจะไม่ยุ่งยากไม่ลำบากอะไรมาก
เพราะเราก็เห็นตัวเองโตมาไม่เห็นจะยุ่งยากลำบากอะไรเลย
แต่พอทำบทบาทหน้าที่เป็นพ่อเป็นแม่เนี่ย
จะรู้เลยนะ จะเข้าใจเลยนะครับ
ว่ามันไม่ง่ายนะกว่าคนจะมาเดินตามท้องถนนเนี่ย
มันต้องวิ่งหกล้มหกลุกหรือไม่ก็เดินป้อแป้นะ ตุปัดตุเป๋แล้วก็ล้มไปล้มมา
ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นรอบ กว่าที่มันจะขาแข็งแล้วก็มีปีกกล้าขึ้นมาได้นะครับ

 

การที่เราสามารถจะรับรู้
ว่าความทุกข์อันเกิดจากการมีชีวิตเนี่ยตั้งต้นมาจากเมื่อไหร่
นี่ตรงนี้เนี่ยถือว่าเป็นธรรมชาติที่เขาสอนเรา
ว่าชีวิตเป็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นสุขนะ
โตขึ้นมามันยากลำบากขนาดไหน
อยู่ๆ เนี่ยไปมองหน้ากันตามถนน แล้วก็ยิงกันหรือว่าเอามีดมาจิ้มพุงกัน
หรือไม่ก็นึกแค้นก็จ้างมือปืนไปยิงกันอะไรแบบนี้เนี่ย
มันเป็นเรื่องที่น่าสลดใจมาก
ชีวิตเป็นของยาก กว่าจะเติบโตขึ้นมาไม่ใช่เรื่องง่าย
เมื่อเราสามารถที่จะเห็น เมื่อเราสามารถที่จะเข้าใจ
นี่ก็คือการได้สติอย่างหนึ่ง
ในความเหนื่อยยากในความรู้สึกลำบากแสนเข็ญเนี่ยนะ
มันมีปัญญาเกิดขึ้นได้ในทุกสถานการณ์

 

พระพุทธเจ้าตรัสว่าการเกิดเป็นทุกข์ การแก่ การเจ็บ การตาย เป็นทุกข์
บางทีเราจะไม่ค่อยเข้าใจตราบเท่าที่เรายังรู้สึกสบายๆ โตขึ้นมาแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้
รู้เพียงแต่ว่ามีคนเลี้ยง รู้แต่ว่าต้องมีใครสักคนรับผิดชอบชีวิตเรา
แล้วก็ยังไม่ได้เจ็บ ไม่ได้แก่ ไม่ได้ตาย ไม่ได้ใกล้จะตาย ไม่ได้จวนเจียนจะตายเนี่ย
มันรู้สึกว่าชิวๆ ชีวิตเป็นของง่าย ชีวิตเนี่ยเป็นเรื่องสบายๆ
บางคนบอกเลยว่าชีวิตเนี่ยเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องสบาย เป็นเรื่องมีความสุข

 

 

แต่ถ้าได้เลี้ยงลูกเนี่ยมันเป็นโอกาสทำความเข้าใจเสียใหม่ว่าชีวิตเป็นทุกข์
เมื่อสามารถเห็นได้ว่าการเกิดเป็นทุกข์
การแก่ การเจ็บ การตาย ที่ตามมา
ที่มันจะเกิดขึ้นกับตัวเราเองหรือว่าคนรอบตัวที่เรารัก
มันจะครบสูตร ทำให้เกิดความรู้สึกว่า
เอ้อ ชีวิตไม่ใช่ของที่น่าพิสมัยอย่างที่ใครๆ เขาหลงกัน
มันสามารถที่จะน้อมเข้ามาพิจารณาเป็นขณะๆ ที่เราเหนื่อย ที่เรารู้สึกลำบาก
ว่าความเหนื่อยความลำบากนี้เนี่ย
มันส่งตรงถึงความเข้าใจ ถึงปัญญาของเราได้
มันเกิดการทำให้จิตใจเนี่ยนะ
ถอยห่างออกมาจากความพิสมัย ความอยากจะมีชีวิตต่อไปเรื่อยๆ

 


นี่ก็คือการมีสติ นี่ก็คือการที่เราเพิ่มพูนให้สัมมาทิฏฐิมันเติบกล้าขึ้นอย่างหนึ่ง
ไม่ใช่ว่าเราจะต้องเจริญสติอย่างเข้มแข็งเสมอไป
บางครั้งในขณะที่เรากำลังอ่อนแอ
ถ้าหากว่าเราสามารถพิจารณาได้ตรงทาง
ที่จะอยากทิ้งปัจจัยของความไม่เที่ยงอันเป็นทุกข์นี้
นั่นก็คือการมีสติถูกทางมรรคถูกทางผลแล้ว