Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๒๒๙

dungtrin_cover

 dungtrin_gru2a

ความเบื่อแบบโลกๆ กับความเบื่อแบบนิพพิทาแตกต่างกันอย่างไร

 

ถาม – อยากขอสอบถามว่าพักนี้รู้สึกหดหู่ เบื่อหน่ายบ่อยๆ
มันขึ้นมาเป็นพักๆ โดยเฉพาะตอนก่อนอ่านหนังสือเรียน
อยากรู้ว่าเบื่อนี้เป็นอาการเบื่อหรือหดหู่แบบโลกๆ ใช่หรือไม่

 

ตอบ – คุณก็คงจะถามเป็นการเปรียบเทียบ
ระหว่างเบื่อแบบโลกๆ กับเบื่อแบบในทางธรรม
ที่เจริญสติแล้วเบื่อหน่ายเกิดนิพพิทาอะไรแบบนั้น
เข้าใจว่าประเด็นคำถามคงจะเป็นไปในทำนองนั้นนะ
สำหรับความเบื่อแบบโลกๆ กับเบื่อแบบนิพพิทา
อันเกิดจากการเจริญสติเห็นโทษ เห็นภัย เห็นทุกข์ เห็นธรรม ในกายใจนี้
แตกต่างกันอย่างไรนะ ความเบื่อสองอย่างสองประเภท

ถ้าเบื่อแบบโลกๆ เนี่ยนะ เอาง่ายๆ เลย เราจะมีความทุกข์
จิตใจจะปั่นป่วน มีความฟุ้งซ่าน นี่เรียกว่าเบื่อแบบโลกๆ
ถ้าเบื่อแบบทางธรรมนะ จิตมันจะมีความนิ่งอยู่
คือเป็นมาตรวัดแบบคร่าวๆ แบบง่ายๆ นะ
เพราะอะไรทำไมถึงกล่าวเช่นนั้น
เพราะว่าการจะเกิดนิพพิทาหรือความเบื่อหน่ายกายใจนะ
แบบที่ใกล้เคียง ใจมันจะวาง ใจมันจะถอนจากอุปาทานจริงๆ เนี่ย

ต้องมาตามทางมรรค ๘ นะ มรรคมีองค์ ๘
ถ้าหากว่าเราดูจากองค์ประกอบของมรรคมีองค์ ๘ แล้วเนี่ย

สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือสติกับสมาธิ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราพิจารณาถึงเรื่องความเพียร สัมมาวายามะ
ความมีวิริยะในการดูกายใจ ในการเจริญสติรับรู้ความเป็นจริง
ที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตาในขอบเขตกายใจนี้
ก็จะได้ข้อสังเกตที่จะเห็นได้ชัดถึงความแตกต่าง

เบื่อแบบในทางโลกเนี่ย เราจะเกิดความรู้สึกว่า
เอ๊ อะไรๆ มันไม่น่าเอา มันไม่น่าเอาเหมือนกันนะ
แต่ว่าฟุ้งซ่านแล้วก็จิตใจเนี่ยกระสับกระส่าย ไม่สามารถที่จะหยุดคิดได้
แล้วก็หงุดหงิดไปหมด ถ้าอะไรมากระทบกระทั่งนิดหนึ่งเนี่ย
เราจะเหมือนกับเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาได้
ถึงแม้ว่าจะไม่โมโหโกรธา ไม่อาละวาด
แต่อารมณ์มันก็จะไม่สงบนิ่ง มันมีความรู้สึกเหมือนกับไม่พอใจ
มีความอยากจะให้เกิดความสงบระงับอะไรขึ้นมา เนี่ยมันเบื่อแบบนั้น

ส่วนนิพพิทาเนี่ยคือเห็นด้วยความนิ่ง เห็นด้วยความสุขสงบ
ว่ากายว่าใจนี้ มันไม่มีอะไรสักอย่างหนึ่งที่เที่ยง
มีแต่แสดงความแปรปรวน มีแต่แสดงความเปลี่ยนแปลงไม่หยุดไม่หย่อน

แล้วก็ความเปลี่ยนแปลงนี้เนี่ย มันน่าเบื่อหน่ายซะเหลือเกิน
มันช่างเป็นสิ่งที่ไม่น่าเอาไม่น่าเป็น

คือแม้กระทั่งนะเกิดความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ เป็นสุขกับการได้อะไรมา
อย่างนี้เวลาเบื่อนะไม่ได้เบื่อสิ่งของนะ
แต่เบื่ออาการอิ่มอกอิ่มใจ เบื่ออาการที่มันเป็นสุข
แล้วการเบื่อนั่นน่ะไม่ใช่มีความทุรนทุราย ไม่ใช่มีความรู้สึกเป็นทุกข์
แต่ว่ามีความรู้สึกเหมือนกับใจเนี่ยดูอยู่ห่างๆ นะ
ถอน อยากจะมีอิสระจากการเกาะกุมของการมีการเป็น
ไม่ว่าจะภาวะไหนๆ ทั้งสิ้นแหละ
จะภาวะสูงส่ง จะภาวะต่ำต้อย จะภาวะขาว จะภาวะดำ
จะภาวะที่มันน่าดีใจ จะภาวะที่มันน่าเสียใจ
ทั้งหลายทั้งปวง เนี่ยจิตเค้าเห็นอยู่แล้ว รู้อยู่แล้วอยู่ตลอดเวลา
ไม่แตกต่างกับที่เห็นลมหายใจเข้าออก
ว่าเดี๋ยวมันเข้ามาแล้วก็ต้องออกไปเป็นธรรมดา
ไม่มีลมหายใจสักลมเดียวที่จะอยู่กับเรา
หรือว่าเป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นตัวเราได้
ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสัญลักษณ์ของอนัตตาทั้งสิ้นนะ

ถ้าพิจารณาอย่างนี้นะครับ ก็คงจะได้คำตอบนะ
ว่าตอนที่จะอ่านหนังสือ รู้ว่าความเบื่อเกิดขึ้น
เราก็รู้ไปเลย ฟันธงไปเลยว่านั่นแหละเป็นความเบื่อแบบโลกๆ
นั่นแหละเป็นอาการที่จุดชนวนขึ้นมาด้วยโทสะ มีมูลเป็นโทสะ
โทสะคืออะไร คือความไม่พอใจ อยากที่จะถอยห่าง
อยากที่จะผลักออกพ้นตัวนะ หรือว่าอยากจะทำลายให้สิ้นไป
นี่เรียกว่าเป็นอาการของใจที่มีความขัดเคือง
ใจที่มันยังสามารถจะเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาได้
พูดง่ายๆ นะอาการเบื่อ
มันเหมือนไอของควันไฟนั่นแหละ เราเกิดความรู้สึกเร่าร้อน
เกิดความรู้สึกเหมือนกับทนไม่ได้ ไม่อยากทนอะไรแบบนั้น
ตีเหมาเป็นเรื่องของควัน อันเกิดจากโทสะที่เป็นมูลไปให้หมดเลยนะครับ