Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๒๒๗

dungtrin_cover

 dungtrin_gru2a

 เมื่อเป็นทุกข์มาก ควรฝืนทนนั่งสมาธิทั้งที่จิตใจไม่สงบหรือไม่

 

ถาม – อยากรบกวนถามว่าถ้าดิฉันรู้สึกว่าทุกข์มากจนไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว
ดิฉันควรจะอดทนนั่งสมาธิไป ทั้งที่รู้ตัวว่าไม่สงบ แบบนี้จะเป็นการดีหรือเปล่าคะ

ตอบ - ไม่ดีนะ คือการนั่งสมาธิเนี่ยขอให้ทำความเข้าใจไว้ที่เบื้องต้น
ว่าเราไม่ได้นั่งสมาธิเพื่อจะกดจิตให้มันสงบ
เพื่อที่จะให้ในหัวเราปลอดโปร่ง
ปราศจากเรื่องฟุ้งซ่าน เรื่องที่มันกำลังติดพันอยู่ ไม่ใช่นะ
การนั่งสมาธิ จะหลับตาหรือว่าลืมตาขึ้นมาเดินจงกรมก็ตามเนี่ย
จุดมุ่งหมายแบบพุทธคือให้มีสติเห็นสภาวะที่กำลังปรากฏอยู่ตามจริง
ถ้าหากว่าเรานั่งสมาธิอยู่ แล้วรู้สึกเป็นทุกข์มาก
ให้ดูความทุกข์ ไม่ใช่ไปดูลมหายใจ ไม่ใช่ไปดูคำบริกรรมอย่างอื่น

เพราะอะไร เพราะว่าถ้าเรามีความทุกข์มาก
แล้วกำลังของความทุกข์น่ะมีแรงดันเอาชนะสติได้เนี่ยนะ
แล้วเราพยายามไปสู้มัน ก็เหมือนกับเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง
หรือนะเอาเด็กตัวผอมๆ แห้งๆ เนี่ย
ไปพยายามสู้กับพวกซูโม่หรือว่านักมวยปล้ำที่ตัวมันต่างกันมากเนี่ย

ทางที่ดีที่สุดเวลาเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ขึ้นมา
ให้เห็นความทุกข์เดี๋ยวนั้นเลยว่า
มันทุกข์ที่ตรงไหน ส่วนไหนของร่างกาย
มือกำอยู่ไหม มือเกร็งอยู่ไหม
ถ้ามือเกร็งอยู่ มือกำอยู่นะ นั่นแสดงว่ามีความทุกข์แล้ว
ปรากฏที่กายอย่างเห็นชัดๆ เลย มันมีฟีดแบคทางร่างกายที่สะท้อนอยู่
ถ้าหากว่ามันมีความรู้สึกอึดอัดกลางอก ก็ให้ดูความรู้สึกอึดอัดที่กลางอก
พอเห็นความรู้สึกอึดอัดที่ส่วนไหนของร่างกาย
ส่วนนั้นมักจะคลายให้เห็นต่อหน้าต่อตาเดี๋ยวนั้น
แล้วความรู้สึกทางใจมันก็จะสบายขึ้น
หรือถ้าเกิดความรู้สึกวุ่นวาย ปั่นป่วน ฟุ้งซ่าน
ก็ให้ดูว่า เนี่ยลักษณะของใจเนี่ยนะมันมีอาการปั่นป่วนอยู่
มันมีอาการที่วกวนอยู่ มันมีอาการที่ไม่จบ ไม่จบไม่สิ้นไม่สงบ
แล้วอย่าไปอยากสงบ ให้ดูความไม่สงบ
จนกระทั่งเห็นว่าความไม่สงบเนี่ยมันแสดงตัวชัดๆ
ถ้าเมื่อไหร่คุณเห็นความไม่สงบแสดงตัวชัดๆ
เมื่อนั้นนะคุณจะเห็นว่าลักษณะความไม่สงบ
มันจะค่อยๆ แปรตัวไป ค่อยๆ อ่อนกำลังลง


นี่คือธรรมชาตินะ ถ้าคุณไม่เห็นอะไร สิ่งนั้นจะเหมือนคงอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง
แต่เห็นอะไรเมื่อไหร่ สิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงให้ดูเกือบจะในทันที

ขอให้เห็นจริงๆ เถอะ ไม่ได้เห็นด้วยความคาดหวัง
ไม่ใช่เห็นเพราะอยากจะให้มันสงบ ไม่ใช่เห็นเพราะว่าอยากจะให้มันหายไป
ไม่ใช่เห็นด้วยอาการขับไล่ไสส่ง แต่เห็นด้วยอาการเป็นผู้ดู
นั่งสมาธิครั้งต่อไปนะ แค่ตั้งใจเท่านั้นแหละ
ว่าเราจะดู เราจะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นตามจริง
เพื่อเห็นความไม่เที่ยงของมัน ไม่ใช่คาดหวังว่าจะให้เกิดความสงบ

แล้วการนั่งสมาธิครั้งนั้นของคุณจะไม่สูญเปล่านะครับ