Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๒๑๗

dungtrin_cover

"สัมมาทิฏฐิ" และ "สัมมาสติ" มีความหมายว่าอย่างไร

dungtrin_gru2a

ถาม - ขอความกรุณาช่วยอธิบายและขยายความ คำว่า "สัมมาทิฏฐิ" และ "สัมมาสติ" ด้วยครับ

ตอบ - ที่ว่า สัมมาๆ เนี่ยนะ คือเป็นการรู้ถูกรู้ชอบนั่นเอง
มาในทางถูก มาในทางชอบนั่นเองนะครับ
ขึ้นต้นมาเลยไม่ใช่เราจะมาทำความเข้าใจกับคำว่าสัมมาสติ สัมมาสมาธิได้ทันที
เราต้องทำความเข้าใจกับคำว่าสัมมาทิฏฐิเสียก่อน
เพราะถ้าปราศจากสัมมาทิฏฐินะ จำไว้เลยนะ
มันจะไม่มีคำว่าสัมมาสติ สัมมาสมาธิ เกิดขึ้นได้เด็ดขาด
อธิบายเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ
เราจะต้องมีความเข้าใจถูก มีมุมมองที่ถูกต้องเสียก่อน
ถ้าหากว่าขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง
หากขาดมุมมองที่ถูกต้องแล้วนะ
ก็จะไม่สามารถที่จะปฏิบัติอะไรได้อย่างถูกต้องเลย

ยกตัวอย่างเช่นในเรื่องของศีลของธรรมเนี่ย
ถ้าไปเชื่อเสียแล้วว่าชีวิตจะเจริญรุ่งเรืองได้ ต้องฆ่าสัตว์บูชายัญ
แบบนี้เนี่ยก็เท่ากับเอาความเชื่อของตัวเองเนี่ย
มาทำให้ชีวิตหม่นหมองไปทั้งชีวิตแล้ว
มันไม่มีทางที่จะเป็นคนมีศีลมีธรรมไปได้เลย ด้วยการผูกความเชื่อไว้แบบนั้น
ในเรื่องเกี่ยวกับร่างกายและจิตใจของตนเองก็เช่นกันนะครับ
อย่างเมื่อกี้นี้เราไปผูกความเชื่อไว้เกี่ยวกับชีวิตอื่น ว่าจะต้องถูกบูชายัญอย่างนี้
แต่ทีนี้ถ้าเราผูกความเชื่อไว้ตลอดไปว่ากายนี้ของเราแน่ๆ ใจนี้ของเราแน่ๆ
อัตตาของเรามีอยู่แน่ๆ ถ้าไม่ใช่กายใจแบบนี้ ก็จะต้องเป็นกายใจแบบอื่น
หรือลักษณะนามธรรมแบบใดแบบหนึ่ง มันจะต้องมีตัวตนอยู่
ถ้าปักความเชื่อไว้แบบนี้ ไม่มีทางเลยที่เราจะส่องเข้ามาดู
รู้เข้าไปจนกระทั่งเห็นชัดว่ากายใจนี้ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน
ไม่มีทางบรรลุมรรคผลได้จากความปักใจเชื่อว่ายังไงๆ ก็ต้องมีอัตตา

แต่ถ้าหากว่าเราฟังธรรมะมามากพอที่จะเข้าใจ
แล้วก็เกิดความเลื่อมใส เกิดความปักใจแน่ว
เชื่อเข้าไปนะว่า กายใจนี้ใจนี้ไม่ใช่เราแน่ๆ
แต่ต้องปฏิบัติให้เห็น ให้เกิดความซึ้ง
ให้เกิดลักษณะของจิตที่รู้แจ้ง บรรลุธรรมขึ้นมา
ด้วยการตั้งความเชื่อ ด้วยการตั้งศรัทธาไว้เช่นนั้นนะ
มันถึงจะมีสิทธิ์ค่อยๆ เข้ามาดู
เออ ลมหายใจนี้ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น
สุขทุกข์หรือว่าภาวะจิตใจ สงบบ้างฟุ้งซ่านบ้าง
ต่างๆ นานาเนี่ย มันไม่มีอะไรสักอย่างเดียวที่ซ้ำของเดิม
มันเป็นคนละชุดกันทั้งนั้น
ที่พูดๆ กันอยู่ ที่ฟังๆ กันอยู่อย่างนี้
ก็ไม่สามารถที่จะยึดมั่นถือมั่นได้เลย
ว่าตรงไหนที่มันเป็นตัวเรา มันเป็นตัวเขา
มีแต่การเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

ด้วยการเห็นที่ชัดเจนนั่นแหละ
จนกระทั่งจิตมันเกิดความเป็นปกติ เกิดความตั้งมั่นขึ้นมา
นั่นแหละที่เรียกว่าสัมมาสติ นั่นแหละที่เรียกว่าสัมมาสมาธิ
คือสามารถรู้แจ้งได้ด้วยจิตที่เป็่นปกติ
ด้วยจิตที่มันรู้สึกเป็นอย่างนี้ ธรรมดาๆ นี่แหละ