Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๒๑๖

dungtrin_cover

เหตุใดการเผยแผ่ธรรมะของแต่ละคนจึงมีรูปแบบแตกต่างกัน

dungtrin_gru2a

ถาม - สงสัยเกี่ยวกับการเผยแผ่ธรรมะในด้านปริมาณและคุณภาพค่ะ
เหตุใดบางคนจึงเลือกเผยแผ่ทั้งปริมาณและคุณภาพ
ในขณะที่บางคนเลือกสอนธรรมะแบบตัวต่อตัวคะ

ตอบ - เอาอย่างนี้ก่อน อย่างในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์นะครับ
ก็มีตัวอย่างหนึ่งคือพระอัญญาโกณฑัญญะ
ท่านบรรลุโสดาบันเป็นอริยบุคคลที่เจริญรอยตามพระพุทธเจ้าเป็นท่านแรก
แล้วก็สามารถที่จะบรรลุอรหัตผลได้ในเวลาไม่นานด้วย
แต่ท่านไม่มีอัธยาศัยในการสอนคนนะ
ก็ว่ากันว่าท่านหนีเข้าป่าหลังจากที่ท่านบรรลุอรหัตผล
แล้วก็มีความรู้สึกถึงการอยู่ร่วมกันกับหมู่คณะ
แล้วท่านไม่ค่อยถูกจริตเท่าไหร่นะ
อย่างเช่นว่าจะต้องไปนั่งข้างหน้าหรือข้างหลังพระสารีบุตรเนี่ย ท่านไม่ถนัดเลย
พระสารีบุตรก็เกรงใจท่าน
แต่ตัวท่านเองท่านก็ยกพระสารีบุตรให้เหนือกว่า
เพราะว่าเป็นถึงพระอัครสาวก ฝ่ายขวา
ท่านก็เลยตัดสินใจปลีกตัวเข้าป่า แล้วก็ไม่ยินดีในการสอนใครด้วยนะครับ
อันนี้ก็เป็นตัวอย่างว่า ถึงแม้จะเป็นพระอรหันต์ที่หมดกิเลสแล้วนะ
แล้วก็มีศักดิ์มีศรีมีเกียรติ เรียกว่ามีความเป็นเอตทัคคะในด้านใดด้านหนึ่งเนี่ย
ไม่จำเป็นที่จะต้องอยากสอนคนเสมอไป

ทีนี้ก็เรามาดูว่า แม้แต่พระอริยบุคคลท่านเนี่ย
ท่านก็ยังมีอัธยาศัยที่แตกต่าง ล้ำเหลื่อมกัน
ขึ้นอยู่กับความพอใจหรือไม่พอใจที่จะสอน
อันนี้เรื่องของการอยากสอนหรือไม่อยากสอนเนี่ย
เป็นเรื่องของการบำเพ็ญบารมีมาในทางให้ธรรมเป็นทาน หรือให้วิทยาทาน
แต่ละคนมีความถนัดไม่เท่ากันนะครับ
แล้วยิ่งจะมาพูดเรื่องการเผยแผ่ทั้งปริมาณและคุณภาพ
หรือเลือกเพียงคุณภาพอะไรต่างๆ เนี่ยนะ
ยิ่งเป็นอัธยาศัยหรือว่าความชอบใจของแต่ละคนเข้าไปใหญ่เลยนะครับ
ไม่สามารถที่จะบอกได้ตายตัวว่า
ใครผู้ใดมีความสามารถทางธรรมะแล้วเนี่ย จะอยากเผยแผ่แบบไหน
หรือว่าจะอยากจะเก็บตัวอยู่เงียบๆ คนเดียว ไม่สุงสิงไม่ยุ่งกับใครเลย

ก็สรุปง่ายๆคือ ขึ้นอยู่กับอัธยาศัยนะครับ
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความถูกความผิด
หรือว่าความควรความไม่ควรนะครับ