Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๒๐๕

dungtrin_cover

ทำอย่างไรให้หายประหม่าในการพูดต่อหน้าผู้คน

dungtrin_gru2a

ถาม - ผมทำงานเป็นผู้บริหารระดับล่างและเรียนปริญญาโทไปด้วย
แต่มีปัญหาในการพูดต่อหน้าผู้คน รู้สึกกังวลและประหม่าเป็นที่สุด
ทั้งที่อายุก็มากแล้ว ได้พยายามแล้วแต่ก็แก้ไม่หายสักที
ไม่ทราบว่าจะหาทางแก้ไขด้วยหลักธรรมะอย่างไรดีครับ

ตอบ - คนที่กลัว ประหม่า เขินอายเก่งๆ นั้นมีสาเหตุหลายอย่าง
เช่นอาจจะชอบพูดน้อยโดยนิสัย หรืออาจเสียความมั่นใจในสังคมมาหลายหน
แต่สาเหตุทั้งหลายจะมีต่างกันอย่างไร ก็มีความเหมือนกันอยู่ประการหนึ่ง
คือจิตที่ขังตัวเองอยู่กับเกราะหุ้มห่อของตัวเอง
เหมือนมีเยื่อบางๆมัดมือมัดเท้าไว้
ไม่กล้ามองอะไรเต็มตา ไม่กล้าพูดอะไรเต็มปาก
มีความสั่นไหวแบบคนตระหนกอยู่ในภายใน

สังเกตลักษณะปิดกั้นชนิดนั้นให้ออก
มันเป็นนามธรรมอย่างหนึ่งที่มีผลสะท้อนทางรูปธรรม
เราสามารถแก้จากปลายไปหาเหตุได้
ไม่จำเป็นต้องแก้จากเหตุมาหาปลายเสมอไป
เช่นถ้ารู้สึกว่าไม่สามารถกำหนดสติพูดได้ยาวๆด้วยตัวเอง
ก็อาจหาเครื่องช่วยสักหน่อยหนึ่ง เป็นร่างคำพูดใส่กระดาษออกมาอ่าน
เวลาอ่านก็ให้สำรวจไปด้วยว่าความสั่นภายในมันลดลงตามลำดับหรือเปล่า
ถ้าเห็นว่าลดลงตามลำดับ ครั้งต่อๆไปก็จะเกิดความหมายรู้ขึ้นมา
ว่าพอพูดยิ่งยาว อาการประหม่าก็จะยิ่งลด

หรือถ้าหากระหว่างพูดรู้สึกอึดอัดในอก รู้สึกว่าตัวเล็กลงทุกทีเหมือนถูกบีบ
ก็พิจารณาว่าลมหายใจเราสั้นผิดปกติหรือเปล่า
ถ้ารู้ตัวว่าลมสั้น ก็ดึงลมยาวๆเป็นระยะ

หรือถ้าระหว่างพูดมองเห็นอะไรคับแคบ ทึบทึม ทั้งที่อยู่ในห้องสว่าง
ก็อาจหาจุดไกลๆสักจุดหนึ่งที่เรามองจับไปได้เต็มตา
อาจเป็นหน้าต่างหลังห้อง ที่อยู่เสมอระดับสายตาเรา
อย่าเลือกจุดที่อยู่สูงขึ้นไปเหนือกว่าหรือต่ำกว่าระดับตา
เพราะจะทำให้คนฟังไม่อยู่กับเรา
เห็นเราเป็นคนเลื่อนลอยไม่น่าเชื่อถือ

การใช้น้ำเสียง ถ้าหากไม่มั่นคง ก็เริ่มพูดจากเบาๆก่อน
แต่เป็นเบาที่สม่ำเสมอ ความสม่ำเสมอของเสียงตัวเองจะช่วยให้จิตใจคงที่ขึ้นตามลำดับ
ดีกว่าพยายามตะเบ็งหรือออกลีลาหนักเบา หรือปล่อยให้สั่นพร่าไม่เป็นส่ำ
จะทำให้จิตกระโดดไปกระโดดมาหรือพร่าเลือนตามเสียง

ที่มา http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/004102.htm?3#3