Print

ธรรมะกับไลฟ์สไตล์ - ฉบับที่ ๘๕

คอลัมน์ธรรมะกับไลฟ์สไตล์
ชื่อตอน ?เส้นทางที่ปลอดภัยและมั่นคง? ของ ทพ.ณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์
สัมภาษณ์โดยตันหยง
เรียบเรียงโดย ทีมงานนิตยสารธรรมะใกล้ตัว

ทพ. ณัฏฐ์ หรือ ชื่อที่หลายๆคนเรียกคือ ?คุณหมอณัฏฐ์? ท่านเป็นผู้ที่สอนธรรมะร่วมกันกับอาจารย์สุรวัฒน์ ที่บ้านอารีย์ โดยได้รับความไว้วางใจจากหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ให้ช่วยสอน ช่วยเผยแผ่ธรรมะ วันนี้เรามาทำความรู้จักกับคุณหมอผู้ที่ในทางโลกได้ช่วยรักษาฟันให้คนไข้ ในทางธรรมก็ให้ความรู้ความเข้าใจ ช่วยบรรเทาทุกข์ทางใจให้ผู้อื่นในฐานะกัลยาณมิตรที่ดี

ประวัติคุณหมอณัฏฐ์
คุณหมอณัฏฐ์ เป็นหมอฟันเฉพาะทางด้านศัลยกรรมช่องปากและขากรรไกร ตอนนี้รับราชการอยู่ที่โรงพยาบาลในจังหวัดนครปฐม


ภาพโดย คุณโอ?www.facebook.com/oleo2u

ครอบครัวคุณหมอณัฏฐ์
ภรรยาของคุณหมอณัฏฐ์เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกัน ทำงานและภาวนามาด้วยกันกับคุณหมอ ส่วนลูกๆ ตอนนี้ อายุ ๑๕ และ ๑๗ ปี ?เด็กๆเค้าก็สนใจธรรมะตามวัยของเด็กวัยรุ่น เช่น ทำทาน สวดมนต์ ส่วนภาวนาก็สนใจบ้าง ไม่สนใจบ้าง? คุณหมอณัฏฐ์กล่าว

ประวัติการปฏิบัติธรรมของคุณหมอณัฏฐ์
?ตอนวัยรุ่นไม่ได้สนใจธรรมะ จนกระทั่งอายุ ๒๙ ปี (ปี ๒๕๓๒)ได้มีโอกาสไปบวชภาวนาที่วัดอโศการาม เพราะช่วงนั้นมีปัญหาส่วนตัว ไม่สบายใจ ก็เลยมีโอกาสได้บวชประมาณ ๑oo วัน ช่วงที่บวชได้มีโอกาสฟังเทป ซีดี อ่านหนังสือของหลวงพ่อพุธ ที่ได้สอนเรื่องการทำจิตให้สงบแล้วให้ตามดู ตามรู้ความคิดหลังจากนั้น และพอเกิดจิตผู้รู้ขึ้นมาก็มีความสุข เบิกบาน มีปีติ แต่ก็ทำได้อยู่แค่นี้ รู้อยู่แค่นี้ พอสึกมา นานๆทีก็ได้มีโอกาสเจอหลวงพ่อพุธ ซึ่งท่านก็ได้สอนเพิ่มต่อให้บ้างแต่ก็ภาวนาไม่ได้ดีกว่าเดิมเท่าไหร่ จนวันหนึ่งได้ไปเจอบทความเทศน์ของหลวงพ่อปราโมทย์สมัยที่ท่านยังเป็นฆราวาส (สันตินันท์) ในอินเตอร์เนต พออ่านแล้วก็ซาบซึ้ง ตรึงใจมากจึงได้ตามหาท่าน ไปเจอท่านที่เมืองกาญจนบุรี แล้วหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ก็สอนต่อยอดให้?

เรียนวิปัสสนากับหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช นานเท่าไหร่แล้วคะ
?ผมได้มีโอกาสมาเจอหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ตอนปี ๒๕๔๗ ก็ ๕ ปีแล้วที่มาเรียนภาวนากับหลวงพ่อปราโมทย์?

ในแง่ของความเข้าใจพระพุทธศาสนาคุณหมอณัฏฐ์เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างคะ ก่อนที่จะเข้าสู่สัมมาทิฏฐิที่แท้จริง
?จริงๆ สนใจหลังจากการได้บวชเรียน และทำให้มีโอกาสได้ศึกษาเพิ่มขึ้น ตอนแรกก็ไม่รู้อะไรมาก รู้แต่ว่าพอจิตมีความทุกข์ ไปทำสมถะแล้วจิตจะมีกำลัง ได้พักผ่อน มีความสุข มีสมถะเป็นเครื่องอยู่ทำให้มีกำลังที่จะไปต่อสู้กับโลกภายนอกต่อ ทางโลกงานค่อนข้างเครียด สุดท้ายมาได้ความรู้ความเข้าใจมากที่สุดก็ตอนไปกราบหลวงพ่อปราโมทย์ ว่าจุดมุ่งหมายที่สูงสุดของพระพุทธศาสนามีมากกว่า การทำจิตให้สงบ พักผ่อน มีความสุข?

จุดเด่นของคุณหมอณัฏฐ์ในด้านการภาวนาคือสามารถทำได้ทั้งสมถะและวิปัสสนาและอะไรเป็นแรงบันดาลใจในการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง
?ไปพบธรรมะโดนใจจากหลวงพ่อปราโมทย์แล้วจึงเกิดศรัทธา ว่าถ้าภาวนาตามแนวท่านแล้วจะได้คำตอบในชีวิตที่มากกว่านี้ ทำให้อยากค้นหา เรียนรู้เพิ่มเติมมากกว่า การทำความสงบแบบที่เคยทำ?

ตรงนี้น่าจะตรงใจผู้ภาวนาที่จะได้ทราบประสบการณ์จริง และเป็นกำลังใจให้ผู้ภาวนาในการตั้งใจปฏิบัติ หรือสะสมอินทรีย์ เพื่อเป็นปัจจัยสะสมสำหรับชาติต่อ ๆ ไป ค่ะ (เรื่องการเริ่มต้นภาวนาแม้ว่าไม่มีทุนเก่า ๆ สะสมมาจากอดีตชาติ)
?ต้องรู้ว่าชีวิตนี้ถ้าเราไม่ปฏิบัติธรรม ชีวิตนี้จะไม่มีสาระอะไรที่แท้จริง เกิดมา เรียนหนังสือ ทำงานเพื่อหาเงิน หวังตำแหน่ง แต่งงาน มีลูก เลี้ยงลูก หวังว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้จะทำให้ชีวิตมีความสุข แต่พอถึงจุดหนึ่งก็ต้องตายแล้วก็เอาอะไรติดตัวไปไม่ได้! เป็นสังสารวัฏวนเวียนอยู่แบบนี้ แต่เส้นทางธรรมถ้าพากเพียรยังสามารถพบจุดที่สิ้นสุด ซึ่งแตกต่างจากทางโลก?

คุณหมอณัฏฐ์ มีคำแนะนำให้น้องๆ ในการสะสมกุศลต่าง ๆ เพื่อเป็นบารมีธรรมเกื้อกูลการปฏิบัติภาวนาอย่างไรบ้างคะ
?ทำทานตามกำลัง อย่าทำด้วยความโลภ ศีล ๕ ควรที่จะรักษาให้ได้ ทั้งทานและศีลจะช่วยเกื้อหนุนในด้านการภาวนา ภาวนาก็ค่อยๆสะสมไป ถ้าไม่ภาวนาในปัจจุบัน ในอนาคตวันข้างหน้าก็ต้องมาเรียนรู้อีก ก็เริ่มเสียตั้งแต่ตอนนี้ ยากวันนี้จะได้สบายในวันหน้า ไม่ทำในวันนี้ วันหนึ่งก็ต้องมาทำอยู่ดี เมื่อไหร่จึงจะได้เริ่มภาวนา! ใครจะรู้ว่าชาติหน้าเราจะได้มีโอกาสเกิดเป็นมนุษย์แบบนี้อีก ถ้าเกิดเป็นสัตว์ขึ้นมาก็ไม่ได้ภาวนาละ?

คุณหมอณัฎฐ์ส่งเสริมแนะนำ ลูก ๆ ยังไงบ้างในเรื่องทาน ศีล ภาวนา รวมถึงการประคองตัว ระแวดระวังอกุศลต่าง ๆ ที่เข้ามายังไงบ้าง ได้ทราบมาว่าลูกของคุณหมอกำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น
?ควรเริ่มตั้งแต่เด็ก ทำเหตุให้เค้าดู สวดมนต์ให้เห็น ภาวนาให้เห็น ตักบาตรให้เห็น เหตุของกุศลทั้งหลายทำให้เค้าเห็นทุกวัน และชวนให้เด็กๆ เค้าทำตามกำลังที่เค้าจะทำได้ รวมทั้งชี้ให้เค้าเห็นคุณค่าของการรักษาศีล ลูกทั้ง ๒ คนของผมไม่ทำผิดศีล ๕ นะ เช่นมดยังไม่กล้าฆ่า เพราะสอนให้เค้ารักษาศีล ๕ ตั้งแต่เด็ก ส่วนภาวนาก็ทำบ้างไม่ทำบ้าง แบบว่าช่วงนี้เป็นเด็กวัยรุ่นด้วย?

คุณหมอณัฏฐ์มีความตั้งใจในการช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อส่งเสริมการสืบทอดพระพุทธศาสนาในเวลาและโอกาสที่เหมาะสมอย่างไรบ้าง
?ผมก็ทำตามหน้าที่ที่ครูบาอาจารย์บอกให้ช่วยทำว่า เมื่อรู้แล้วก็พยายามบอกต่อเท่าที่ทำได้ ไม่ได้คาดหวังมาก เหมือนเป็นจุดเล็กๆ จุดหนึ่งที่ช่วยเหลือพระพุทธศาสนาแบบที่หลายๆท่านก็ช่วยกันอยู่ ด้วยการที่ผมเป็นฆราวาสก็ยังมีภาระหน้าที่ ที่ยังต้องรับผิดชอบ รวมทั้งตัวผมเองก็ยังต้องภาวนาเพราะตัวเองก็ยังไม่พ้นทุกข์?


คุณหมอณัฏฐ์และญาติธรรมกำลังกราบเรียนพระอาจารย์อัครเดช? (ตั๋น) ?ถิรจิตฺ?โต
ถ่าย ณ วันงานกฐินปี ๕๒ ที่วัดบุญญาวาส อ?.?บ่อทอง? ?จ?.?ชลบุรี ค่ะ

งานยุ่ง งานเยอะ ก็ยังภาวนาได้ดี กำลังใจให้ฆราวาสที่งานเยอะว่า ถ้าได้สะสมการปฏิบัติภาวนา ไม่ว่างานเยอะก็สามารถปฏิบัติได้ ถ้าลงมือปฏิบัติธรรมดั่งที่ว่า ?การภาวนาต้องทำทั้งชีวิต?
?แทรกการภาวนาในอิริยาบถในชีวิตประจำวันอยู่ทุกวัน หมั่นสร้างเหตุเอาไว้ ส่วนผลไม่ต้องไปคาดหวังว่าจะบรรลุธรรมขั้นนั้น ขั้นนี้ เมื่อสร้างเหตุที่ดีผลที่ดีย่อมเกิดขึ้นในที่สุด ตอนไม่ปฏิบัติธรรมยังไม่คิดมาก พอเริ่มลงมือปฏิบัติธรรมนิดหน่อยก็มาคาดหวังเอาผล แค่สติเกิดก็มีความสุขแล้ว ก็คอยตามรู้กายรู้ใจไป พอสติเกิดเดี๋ยวปัญญาก็ตามมา เพราะสติที่เกิดขึ้นบ่อยๆ จะทำให้จิตตั้งมั่น และจะค่อยๆคลายความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์หรือการยึดมั่นถือมั่นในร่างกายและจิตใจลงไป ส่วนทางโลกถ้ายังมีหน้าที่ก็รับผิดชอบแก้ปัญหาไปตามบทบาท แต่ความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์จะน้อยลง ความทุกข์ในใจก็จะลดลงไปเป็นสัดส่วนด้วย ?

ก่อนจากกันฉบับนี้ ขอให้คุณหมอณัฏฐ์ช่วยแนะนำเคล็ดลับในการปฏิบัติภาวนา เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติธรรมให้น้องๆและมือใหม่ด้วยค่ะ
?ไม่มีเคล็ดลับอะไรเลย ภาวนาตั้งแต่ตื่นนอนเท่าที่จะทำได้ เราต้องรู้ว่าสถานภาพของเราไม่ใช่คนอยู่วัด ไม่ได้มีเวลาขนาดนั้น ดังนั้นถ้ามีเวลา ๕ นาที ๑นาทีก็จะไม่ทิ้ง ค่อยๆเก็บสะสมไป ตามรู้กาย รู้ใจ ถ้ารู้จิตแล้วไม่มีแรง ก็มาตามรู้กาย สลับไปมา แต่ละวันเวลาผมแทบจะหมดไปกับหน้าที่การงาน กลับบ้านก็ยังต้องดูแลครอบครัวอีก?

หมายเหตุ: สำหรับท่านที่ต้องการอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเจริญสติ คุณหมอณัฏฐ์ได้แนะนำหนังสือหลวงพ่อปราโมทย์ทุกเล่ม รวมทั้งหนังสือของอาจารย์สุรวัฒน์ทุกเล่มซึ่งท่าน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่เวบวิมุตติ
http://www.wimutti.net/pramote/

สำหรับฉบับนี้ทางทีมงานนิตยสารธรรมะใกล้ตัว คอลัมน์ธรรมะกับไลฟ์สไตล์ก็ต้องขอขอบพระคุณคุณหมอณัฏฐ์มากนะคะ สำหรับธรรมทานที่มาร่วมแบ่งปันกันค่ะ