Print

ธรรมะจากคนสู้กิเลส - ฉบับที่ ๗๗

กินเท่าไหร่ ก็ไม่หายอยาก
โดย ไม่ประสงค์ออกนาม


ใครที่เคยต้องจากเมืองไทยไปอยู่ต่างแดนนานๆ
ก็คงทราบดีว่าอาการคิดถึงอาหารไทยนั้นเป็นอย่างไร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่บ้านเมืองมีแต่อาหารมันๆเลี่ยนๆหารสถูกปากไม่ได้
การจะต้องขับรถครึ่งค่อนวันข้ามเมืองเพียงเพื่อไปกินติ่มซำ
หรือกลับเมืองไทยเพื่อมาขนน้ำพริก น้ำแกง มาม่า ปลาเค็ม ฯลฯ ให้เต็มกระเป๋าดูจะเป็นเรื่องปกติ

ใครส่วนใหญ่ที่กำลังเตรียมตัวเดินทางไปอยู่ต่างประเทศ
ก็คงนึกออกว่า นอกจากจะต้องตระเตรียมข้าวของกับร่ำลาเพื่อนฝูงแล้ว
ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ กินทุกอย่างที่อยากจะกิน
นึกอะไรได้ก็รีบไปกินก่อนจะไม่มีโอกาส
ผมเองก็เช่นกัน
แต่ถึงกระนั้นก็เถอะ หนึ่งปีในเมืองเล็กๆที่ต่างประเทศ
เป็นหนึ่งปีที่ไม่มีอาหารไทยใดๆตกถึงท้อง
และก็เป็นหนึ่งปีที่ยาวนานพอที่จะสอนให้ผมรู้ซึ้งว่า
ความทุกข์เวลาอยากกินแล้วไม่ได้กินสมอยากนั้นเป็นอย่างไร

ผมยังจำได้ดีถึงช่วงอาทิตย์แรกที่กลับเมืองไทย
มีโอกาสแล้วก็ไม่รอช้า ผมไปหาซื้อของที่อยากกินมาทันที
อาหารจานโปรดวางอยู่ตรงหน้า
รู้อยู่แก่ใจว่าอาหารนี้แหละที่เคยคิดถึงมาตลอดร่วมปี
ได้กินวันนี้แล้ว และก็จะไม่ได้กินอีกจนกว่าจะถึงปีต่อไป
กินตอนนี้ ก็คงดับอยากของตอนนี้ได้
แต่คำถามที่สำคัญกว่านั้นก็คือ
แล้วอีกหนึ่งปีอันยาวนานข้างหน้าล่ะ?
จะกินอย่างไรให้ดับอยากล่วงหน้าไปได้อีกหนึ่งปี?

ประสบการณ์ที่ผ่านมามันฟ้องอยู่ว่า การสักแต่กินนั้นไม่มีประโยชน์
อาหารที่เคยกินมาแล้วตั้งไม่รู้กี่สิบครั้ง
แต่พออยากกินขึ้นมาอีกทีก็ไม่เห็นว่ามันจะช่วยตรงไหน
ข้ออ้างจำพวก ?ก็เคยกินมาแล้วนิ เคยกินมาตั้งหลายรอบแล้ว?
รู้สึกจะเอามาใช้กับกิเลสไม่ได้ผล

เท่าที่ผมเคยลองสังเกตตัวเองก่อนหน้านั้น
สิ่งหนึ่งที่พบก็คือ ในขณะที่เราอยากกินอาหารอะไรก็ตาม
เรามักจะจินตนาการออกแค่รูปร่างหน้าตา ลักษณะของอาหาร
แต่กลับนึกถึงรสชาติจริงๆของอาหารไม่ออก
คิดเค้นรสชาติได้แค่รางเลือนไม่ชัดเจน รู้แค่ว่ามันอร่อยเลยอยากกินอีก
ในคราวนั้นผมจึงวางแผนเอาไว้ว่า ถ้าเรากินอาหารแล้ว ?จำ? รสให้แม่นๆ
ถ้าวันไหนเกิดอาการอยากกินอีก หากจะจินตนาการถึงรสนั้นได้ก็คงหายอยากได้บ้าง
เหมือนกับว่า ถ้าเราจำเนื้อเพลงได้แม่นยำ อยากร้องขึ้นมาเมื่อไหร่ก็แค่เอ่ยปากตามไปเท่านั้น

เมื่อตอบตัวเองไว้ดังนี้ ผมจึงปิดทีวี นั่งให้สบาย เลิกสนใจเรื่องนอกตัว ตั้งใจจะรับรสให้ชัดๆแล้วตักอาหารเข้าปาก
แต่ความรู้สึกในขณะนั้นแปลก...
สิ่งที่ปรากฏในขณะแห่งการรับรู้นั้นมีแค่ ?รส?
การได้กินอาหารจานโปรดหลังจากไม่ได้กินมานานนับปีนั้นน่าจะทำให้เรามีความสุขแบบสุดๆ
แต่ชั่วขณะแรกที่อาหารเข้าปากมันไม่ใช่
ไม่ชอบ ไม่ชัง ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ไม่ทั้งอร่อย และไม่ทั้งไม่อร่อย มีแค่รส นอกจากรสแล้วอย่างอื่นไม่ปรากฏ
งงๆไปชั่วขณะ แต่ก็ด้วยความไม่คิดอะไร หลังจากนั้นผมก็กินเอร็ดอร่อยเพลิดเพลินอยู่กับรสอาหารตามปกติ

ผมเองคงพอมีวาสนา อีกไม่กี่ปีถัดมาก็มีโอกาสได้เรียนวิชากรรมฐาน
ผมจึงเข้าใจว่านั่นเป็นเสี้ยวๆของการ ?ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า? แล้ว ?รสก็จบที่รส?
แต่ก็ด้วยความเป็นคนซื่อบื้อ ไม่รู้จักศึกษาคำสอนให้ดี
ผมจึงเข้าใจไปว่า ที่เราเลือกที่ชักมักที่ชัง อยากกินอาหารนู่นนี่ได้สารพัด ก็เพราะความรู้จักแยกแยะในรสอาหาร
ดังนั้นถ้าเราทำใจให้เป็นกลางกับรสทั้งปวง ทำรสให้จบที่รส ความติดใจในรสชาติอาหารก็ย่อมลดลง
(ซึ่งความเข้าใจนั้นเท่ากับว่า การได้กินหวานกินเค็มแล้วแยกแยะไม่ออกคือการไม่มีกิเลส)

ผลก็คือทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง
แต่ที่แน่ๆก็คือเป็นกลางกับรสมากขึ้น
จะอาหารรสเลิศที่ไหนก็รู้สึกงั้นๆ อาหารไทยก็ไม่ได้ติดใจ อาหารฝรั่งก็ไม่ได้กีดกัน

ทำใจวางเฉยได้อยู่ร่วมปี แต่แล้วก็เหมือนถูกกระทุ้งให้ตื่น
เมื่อได้มาอ่านหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับการเจริญสติในชีวิตประจำวัน
ใจความตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนั้นกล่าวว่า
เรามักคิดกันว่าผู้เจริญในธรรมจะต้องมีชีวิตที่แห้งแล้ง กินอาหารก็วางเฉยไม่รู้รส
แต่อันที่จริงแล้วผู้ที่มีสติอย่างถูกต้องนั้นจะมีความปราดเปรียวในการรู้อารมณ์
อย่างรสชาติอาหารก็จะรู้ได้ละเอียดถี่ยิบทีเดียว

ด้วยความเป็นคนหลงตัวเอง ผมอ่านเนื้อหาส่วนอื่นผ่านๆจนจบ เข้าใจว่าตัวเองรู้เรื่องดี
จะเหลือก็แค่ประโยคปริศนาดังกล่าวที่ยังค้างคาใจ
เพราะเคยแต่วาดภาพเอาไว้ว่าปฏิบัติธรรมแล้วจะต้องซึมทื่อ ไม่สนใจอะไรกับรสชาติอาหาร
(ในกาลถัดมาผมจึงเข้าใจว่า เราเองไม่ได้มีหน้าที่ทำจิตให้เป็นกลาง ไม่ได้มีหน้าที่บังคับให้รสจบที่รส
การปรุงแต่ง ถึงจะปรุงแต่งให้เป็นกลางก็ได้ชื่อว่าเป็นการปรุงแต่งอยู่ดี)

เมื่อได้ปล่อยกายปล่อยใจตามธรรมชาติและเรียนรู้ว่า ?เผลอ? เป็นอย่างไร
กลับมาสังเกตตัวเองใหม่ ยิ่งสังเกตก็ยิ่งตลก ตลกตัวเองในแบบที่ขำไม่ออก
เพราะความจริงอย่างหนึ่งที่พบก็คือ
ทุกครั้งที่เรากินอาหาร เราแทบจะไม่เคยรู้รสชาติอาหารเลย

เวลาหยิบขนมมานั่งกินหน้าทีวีตามปกติ
กินเข้าไปคำแรก รู้ว่าขนมมีกลิ่น มีรส
รู้ว่ารสแบบนี้เคยลิ้มมาแล้วในอดีต
แล้วก็รู้ว่ารสแบบนี้สมควรเรียกว่าอร่อย
แต่หลังจากนั้นก็เอาแต่ไปสนใจอย่างอื่น
ระหว่างที่กินก็มัวแต่คิดนู่นคิดนี่ ดูนู่นดูนี่
ขนมกำลังเข้าปากก็ไม่รู้ กำลังเคี้ยวหรือกำลังกลืนก็ไม่รู้ รสชาติเป็นอย่างไรก็ไม่รู้
รู้ตัวอีกทีก็คือขนมหมดซะแล้ว กับความรู้สึกที่ว่าขนมนี้อร่อยดี (ทั้งๆที่ตอนที่กินเอาแต่ใจลอย)

เวลาเข้าร้านอาหารนั่งสังสรรค์กับเพื่อนฝูงตามปกติ
ก่อนเข้าร้านก็ตกลงกันอย่างดี เลือกร้านที่รสชาติถูกใจที่สุด
พอถึงคราวอาหารมา กินคำแรกเสร็จ รู้ว่าอาหารรสอะไร รู้ว่าอร่อยหรือไม่อร่อย
แต่หลังจากนั้นก็มัวแต่คิดนู่นคิดนี่ คุยกะคนนู้นคนนี้ เฮฮาสนุกสนาน
ที่จะมีแก่ใจ ไป ?รู้? รสของอาหารนั้นแทบจะไม่มี
รู้ตัวอีกทีก็คืออิ่มท้องเสียแล้ว แล้วก็รู้สึกว่าร้านนี้ทำอร่อยดี วันหลังมาอีก (ทั้งๆที่ตอนที่กินก็เอาแต่ใจลอย)

จะแปลกอะไรที่เรานึกถึงรสชาติอาหารจริงๆกันไม่ค่อยออก
ก็ในเมื่อยามกินเราเคยชินแต่ที่จะใจลอย

เราเองอยากกินอาหารอร่อยๆ อยากได้สัมผัสรสชาติดีๆ
ยอมตระเวนขับรถไปเสียไกล ยอมต่อคิวร้านดังอยู่เป็นชั่วโมงๆ ยอมเสียเงินเป็นร้อยๆพันๆเพื่อของกินที่ถูกใจ
แต่ความจริงที่ตลกพิลึกก็คือ
เมื่ออาหารมาถึงปาก เมื่อรสมาถึงลิ้น เรากลับไม่เคยสนใจ
อยู่ที่บ้านกินข้าวก็ต้องเปิดทีวี อยู่นอกบ้านกินข้าวก็ต้องคุยสะระตะ
อยู่คนเดียวกินข้าวก็ต้องคิดนู่นนี่เพ้อฝันไปเรื่อยๆ
ที่จะไปรู้ไปดูไปสนใจอาหารในปากนั้นแทบจะไม่มี

ถึงจะพิจารณาเห็นเป็นดังนี้ แต่ผมก็ยังหาเรื่องซื่อบื้อไม่เลิก
ตั้งปณิธานใหม่ว่า จากนี้ไปเวลากินอาหารเราควรจะเผลอให้น้อยๆ มีสติรู้รสให้เยอะๆ
ยิ่งมีสติรู้รสได้ชัดเจนบ่อยครั้งเท่าไหร่ยิ่งดี
(ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็เป็นความเห็นแก่กินเวอร์ชั่นใหม่นี่เอง คือยังงกในกาม ไหนๆจะกินแล้วก็ขอเสพรสให้คุ้มๆ)

แต่เรื่องดังกล่าวนั้น ทำเท่าไหร่ก็ไม่เคยสำเร็จ
เพราะถึงจะตั้งใจรู้อยู่ที่รสขนาดไหน แต่ ?รส? ก็ไม่เคยปรากฏอยู่ในความรับรู้ได้นานเลย
แม้ยามที่เคี้ยวตุ้ยๆอยู่ในปาก แต่เดี๋ยวก็ต้องเผลอไปดูอย่างอื่น เผลอไปคิดเรื่องอื่น เผลอไปทำอย่างอื่น
เดี๋ยวก็คิด เดี๋ยวก็ดู เดี๋ยวก็รู้รส ตอนที่คิดก็ไม่ได้ดู ตอนที่ดูก็ไม่รู้รส ตอนที่รู้รสก็ไม่ได้คิด
รู้รสแล้วรสก็ดับไป พอรู้สิ่งใหม่รสก็ไม่ปรากฏอีกแล้ว
ราวกับว่าแต่ละสัมผัสเป็นโลกคนละใบที่ขาดจากกัน
การจะรั้งตัวเองไว้ในโลกใบเก่านั้นช่างเป็นเรื่องเหลือวิสัย
และการจะหยิบฉวยอะไรจากชั่วขณะของในโลกใบหนึ่งนั้นก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้

ถ้าจะเปรียบ ความอยากลิ้มรสชาติอาหารก็คงเป็นเหมือนเด็กคนหนึ่ง
เด็กคนหนึ่งที่วันๆก็เอาแต่ร้องอยากได้ของเล่น
แต่พอซื้อให้ทีไร เด็กคนนี้รับไปแล้วก็เขวี้ยงทิ้งทันที
แบบต่อหน้าต่อตาเสียด้วย
แล้ววันดีคืนดีก็ร้องอยากได้ของเล่นชิ้นเดิมต่อ
ในชีวิตจริงคงไม่มีใครหลงไปอยากเลี้ยงเด็กน่ากระทืบพรรค์นี้
แต่ความไม่รู้นั้นน่ากลัว
เพราะความไม่รู้อย่างเดียวก็หลอกให้เราหลงเอ็นดูเด็กคนนี้มาไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ต่อเท่าไหร่!

ความจริงที่ควรตระหนักก็คือ อัตภาพของมนุษย์ที่เราถือครองอยู่นี่แหละ
คือเครื่องมือชั้นเลิศในการเรียนรู้
ว่ากินเท่าไหร่ก็ไม่หายอยาก
จินตนาการถึงอาหารเท่าไหร่ก็ไม่หายอยาก
พิจารณารสเท่าไหร่ก็ไม่หายอยาก
ทำใจวางเฉยเท่าไหร่ก็ไม่หายอยาก
ทางหายอยากอันถาวรนั้น
พระผู้มีพระภาคได้เปิดเผยไว้แล้ว
เหลือแต่ว่าเราจะเลือกเดินไปพิสูจน์หรือไม่เท่านั้นเอง


หมาย เหตุ: "หนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับการเจริญสติในชีวิตประจำวัน" ที่ผมได้กล่าวถึง
ในตอนหนึ่งของบทความนี้ คือหนังสือ "ประทีปส่องธรรม" โดย หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
(http://www.wimutti.net/books/prateep/main.htm?x=3)
สำหรับท่านที่สนใจ ผมก็ขอเชิญชวนให้ได้ทดลองศึกษาเนื้อความของหนังสือเล่มนี้ และทำความเข้าใจ
กับเส้นทางเพื่อการเรียนรู้ความจริง เพื่อการเป็นอิสระจากความทุกข์ อันเป็นที่หวังได้ในยุคที่พระพุทธศาสนายังรุ่งเรืองอยู่นี้