Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๙๐

ผิดแล้วผิดอีก

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dhammajaree 190

เราทุกคนในที่นี้คงไม่มีใครบอกว่าเราเองไม่เคยทำผิดมาก่อนนะครับ
เพราะเราทุกคนก็ย่อมจะเคยทำผิดกันมาบ้างไม่มากก็น้อย
แต่ปัญหาที่เราพึงให้ความสำคัญก็คือว่า
เมื่อเราทำผิดไปแล้ว เราเห็นไหมว่าเราทำผิด เราสำนึกไหมว่าเราทำผิด
และเราได้ตั้งใจไหมว่าจะไม่ทำผิดซ้ำอีก

ใน “อัจจยสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่า “คนพาล” ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ได้แก่
ไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ๑
เห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว แต่ไม่ทำคืนตามธรรม ๑
เมื่อผู้อื่นชี้โทษอยู่ ไม่รับรู้ตามธรรม ๑

“บัณฑิต” ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ได้แก่
เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ๑
เห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว ย่อมทำคืนตามธรรม ๑
เมื่อผู้อื่นชี้โทษอยู่ ย่อมรับรู้ตามธรรม ๑
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=20&A=2690

การเห็นว่าตนเองทำผิด ยอมรับว่าตนเองทำผิด และมุ่งปรับปรุงแก้ไขตนเองไม่ให้ทำผิดอีก
ย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราพ้นจากวังวนแห่งการทำผิดได้
แต่หากเราไม่เห็นว่าตนเองทำผิด ไม่ยอมรับว่าตนเองทำผิด
หรือเห็นแล้ว ยอมรับแล้ว แต่ก็ไม่มุ่งปรับปรุงแก้ไขตนเองไม่ให้ทำผิดอีก
เราก็จะอยู่ในวังวนแห่งการทำผิดเช่นนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีกไปเรื่อย ๆ
และต้องรับโทษภัย และทุกข์ทรมานจากการทำผิดเช่นนั้นไปเรื่อย ๆ

ยกตัวอย่างสมมุติว่าเราหลงไปนั่งอยู่ในกองอาจมสกปรก
แต่เราเห็นผิดว่าเป็นที่นั่งสะอาดร่มเย็น
ถ้าเราไม่เห็นว่าที่จริงแล้วตรงนั้นเป็นกองอาจมสกปรก แต่เราหลงเห็นว่าสะอาดร่มเย็น
เราก็ย่อมจะไม่สนใจขวนขวายที่จะลุกให้พ้นจากกองอาจมสกปรกนั้น
ถ้ามีคนมาเตือนเราว่ากำลังนั่งอยู่ในกองอาจมสกปรก แต่เราไม่ยอมรับ
เราก็ย่อมจะไม่สนใจขวนขวายที่จะลุกให้พ้นจากกองอาจมสกปรกนั้น
ถ้าเราเห็นแล้ว และยอมรับแล้วว่าเรากำลังนั่งอยู่ในกองอาจมสกปรก
แต่เราไม่ขวนขวายที่จะลุกให้พ้นจากกองอาจมดังกล่าว
เราก็ย่อมอยู่กับสิ่งสกปรกนั้นต่อไป

ในทำนองเดียวกัน เมื่อเราไม่เห็นว่าตนเองทำผิด เราไม่ยอมรับว่าตนเองทำผิด
หรือเราเห็นแล้ว ยอมรับแล้ว แต่ไม่มุ่งปรับปรุงแก้ไขตนเองไม่ให้ทำผิดอีก
เราก็จะอยู่ในวังวนแห่งการทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีกผิดแล้วผิดอีกไปเรื่อย ๆ
และได้รับโทษภัย และทุกข์ทรมานจากการทำผิดเช่นนั้นไปเรื่อย ๆ

บางท่านอาจจะเคยเห็นบางคนที่ทำผิดแล้วผิดอีกแต่ก็ไม่ยอมแก้ไขตนเอง
เสมือนว่าไม่รู้เลยว่าตนเองกำลังทำผิด หรือกำลังทำบาปอกุศลอยู่
แล้วก็สงสัยว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น?
ตอบว่าสำหรับคนพาลนั้นย่อมไม่เห็นบาปเป็นบาปในขณะที่บาปยังไม่ให้ผล
เมื่อใดบาปอกุศลให้ผลแล้ว เขาจึงจะเห็นได้
แต่เมื่อบาปอกุศลยังไม่ให้ผลแล้ว เขาก็เพลินทำบาปอกุศลไปเรื่อย
โดยหลงเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งที่จะนำความเจริญมาให้
โดยพระธรรมคำสอนในคาถาธรรมบท (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย
ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต) ได้สอนว่า
“แม้คนลามกย่อมเห็นความเจริญตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล
แต่เมื่อใดบาปย่อมให้ผล คนลามกจึงเห็นบาปเมื่อนั้น”

นอกจากนี้แล้ว ยังได้สอนให้เราระมัดระวังไม่ทำพึงทำบาปอกุศลแม้เพียงเล็กน้อยด้วย
และเมื่อทำบาปอกุศลแล้ว จะหนีไปยังสถานที่ใด ๆ ในโลกใบนี้ก็ตาม
ก็ไม่สามารถหลบหนีวิบากกรรมแห่งบาปอกุศลนั้นได้พ้น ดังนี้
“บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบาปว่า บาปมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง
แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาด ๆ ฉันใด
คนพาลสั่งสมบาปแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบาป ฉันนั้น

หากบุรุษพึงทำบาปไซร้ ไม่ควรทำบาปนั้นบ่อย ๆ
ไม่ควรทำความพอใจในบาปนั้น เพราะว่าการสั่งสมบาปเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ภิกษุพึงเว้นบาปดุจพ่อค้ามีพวกน้อย มีทรัพย์มาก เว้นทางที่ควรกลัว
ดุจบุรุษผู้ใคร่ต่อชีวิตเว้นยาพิษ ฉะนั้น

บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้ หนีไปแล้วในอากาศ ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้
หนีไปในท่ามกลางมหาสมุทร ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้
หนีเข้าไปสู่ซอกแห่งภูเขา ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้
เพราะเขาอยู่แล้วในประเทศแห่งแผ่นดินใด พึงพ้นจากกรรมชั่วได้
ประเทศแห่งแผ่นดินนั้น หามีอยู่ไม่
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=587&Z=617

โดยสรุปแล้วการออกจากวังวนแห่งการทำผิดให้ได้นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก
ซึ่งเราจะสามารถออกจากวังวนแห่งการทำผิดแล้วผิดอีกได้
ก็ต่อเมื่อเราต้องไปเดินบนเส้นทางของบัณฑิต
ด้วยการเห็นว่าตนเองทำผิด ยอมรับว่าตนเองทำผิด
และมุ่งปรับปรุงแก้ไขตนเองไม่ให้ทำผิดอีกนะครับ