Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๘๙

ทิฐิวิบัติ

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dhammajaree 189

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๗ ท่านผู้อ่านทุกท่านครับ
เริ่มต้นปีใหม่ก็ขอยกเรื่อง “ทิฐิ” (แปลว่า ความเห็น) มาสนทนากันนะครับ
ทิฐิเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เปรียบเสมือนทิศทางที่เราจะมุ่งเดินทางไป
โดยสมมุติว่าเราตั้งใจจะมุ่งเดินทางไปสถานที่เป้าหมายแห่งหนึ่ง
แต่ถ้าเราเริ่มออกเดินทางโดนหันหน้าไปคนละทิศทางแล้ว
ยิ่งเราเดินทางมากเท่าไร ก็กลับจะยิ่งทำให้เราไกลห่างจากสถานที่เป้าหมายออกไป

ในเรื่องทิฐินี้ ขอยกเรื่อง “ทิฐิวิบัติ” มาพิจารณานะครับ
ถามว่า “ทิฐิวิบัติ” หมายถึงอย่างไร?
ในพระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-ปุคคลบัญญัติปกรณ์
ทุกนิทเทส ย่อหน้าที่ ๖๖ ได้สอนว่า
ความเห็นไปว่า ทานที่ให้ไม่มีผล
การบูชาใหญ่ (คือมหาทานที่ทั่วไปแก่คนทั้งปวง) ไม่มีผล
สักการะที่บุคคลทำเพื่อแขก ไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี
โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์อุปปาติกะไม่มี
สมณพราหมณ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ
ที่รู้ยิ่งแล้วซึ่งโลกนี้และโลกหน้าด้วยตนเอง แล้วประกาศทำให้แจ้งในโลกนี้ไม่มี ดังนี้
มีอย่างนี้เป็นรูปอันใดทิฐิ ความเห็นไปข้างทิฐิ ป่าชัฏคือทิฐิ กันดารคือทิฐิ
ความเห็นเป็นข้าศึก ความเห็นผันผวนสัญโญชน์คือทิฐิ
ความยึดถือ ความเกี่ยวเกาะ ความยึดมั่น การยึดถือความปฏิบัติผิด
มรรคาผิด ทางผิด ภาวะที่เป็นผิด ลัทธิเป็นแดนเสื่อม
ความยึดถือ การแสวงหาผิด อันใด มีลักษณะอย่างนี้ นี้เรียกว่า ทิฐิวิบัติ มิจฉาทิฐิ
แม้ทั้งหมดเป็นทิฐิวิบัติ บุคคลประกอบด้วยทิฐิวิบัตินี้ ชื่อว่าผู้มีทิฐิวิบัติ
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=36&A=2940&Z=3224

เราจะเห็นได้ว่าทิฐิวิบัตินี้จะเรียกว่าเป็นมิจฉาทิฐิก็ได้นะครับ
ถามต่อไปว่าถ้าเรามีทิฐิวิบัติหรือมิจฉาทิฐิ แล้ว จะเป็นอย่างไรล่ะ ผลคืออะไร?
ในพระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค
มหาวรรค ทิฐิกถา ย่อหน้าที่ ๓๐๙ ได้สอนว่า
อัสสาททิฐิเป็นมิจฉาทิฐิ เป็นทิฐิวิบัติ
บุคคลผู้ประกอบด้วยทิฐิวิบัตินั้น เป็นผู้มีทิฐิวิบัติ
บุคคลผู้มีทิฐิวิบัติ ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรนั่งใกล้ เพราะบุคคลนั้นมีทิฐิลามก
บุคคลผู้ประกอบด้วยทิฐินั้นและราคะนั้น เป็นผู้ยินดีในทิฐิราคะ
ทานที่ให้ในบุคคลผู้ยินดีในทิฐิราคะ เป็นทานไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก
เพราะบุคคลนั้นมีทิฐิลามก
บุรุษบุคคลผู้ประกอบด้วยมิจฉาทิฐิ มีคติเป็น ๒ คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน
อนึ่ง บุรุษบุคคลผู้ประกอบด้วยมิจฉาทิฐิ
สมาทาน กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมให้บริบูรณ์ตามทิฐิ
ธรรมทั้งปวง คือ เจตนา ความปรารถนา ความตั้งใจและสังขาร เหล่านั้น
ย่อมเป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ
เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพราะบุคคลนั้นมีทิฐิลามก
เปรียบเหมือนพืชสะเดา พืชบวบขม หรือพืชน้ำเต้าขม ที่เขาฝังลงในแผ่นดินเปียก
อาศัยรสแผ่นดินและรสน้ำ พืชทั้งปวงนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นของมีรสขม รสปร่า
ไม่เป็นสาระ เพราะสะเดาเป็นต้นนั้นมีพืชเลว ฉันใด
บุรุษบุคคลผู้ประกอบด้วยมิจฉาทิฐิ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
สมาทานกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ให้บริบูรณ์ตามทิฐิ
ธรรมทั้งปวง คือ เจตนา ความปรารถนา ความตั้งใจ และสังขาร เหล่านั้น
ย่อมเป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ
เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพราะบุคคลนั้นมีทิฐิลามก
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=31&A=3332&Z=4069

ทั้งนี้ อัสสาททิฐิ มาจากคำว่า “อัสสาทะ” ซึ่งแปลว่าความยินดี หรือรสอร่อย
อัสสารททิฐิ จึงแปลว่าความเห็นผิดที่เกิดขึ้นโดยอาศัยความยินดีเป็นเหตุ

คนเรานั้นเมื่อมีทิฐิวิบัติเสียแล้ว ยิ่งขยันมาก ก็ยิ่งจะสร้างความเสียหายแก่ตนเองมาก
ยกตัวอย่างเช่น บุคคลมีความเชื่อว่าผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มีแล้ว
ก็ย่อมจะไม่มีความเกรงกลัวต่อบาป และย่อมไหลตามกิเลสไปทำชั่วได้ง่าย ๆ
ซึ่งยิ่งทำชั่วทางกาย วาจา และใจ ก็ย่อมจะส่งผลเสียแก่ตนเอง โดยก่อให้เกิดทุกข์ชั่วกาลนาน
หรือบุคคลมีความเชื่อว่าสมณะผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบไม่มี
ก็ย่อมจะกล่าวหรือกระทำการก้าวล่วงหรือปรามาสสมณะผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบได้ง่าย
และก็ย่อมจะส่งผลเสียแก่ตนเอง โดยก่อให้เกิดทุกข์ชั่วกาลนาน
โดยท่านเปรียบเสมือนกับพืชที่มีรสขมเป็นตัวอย่างว่า
ยิ่งพืชมีรสขมได้ดิน ได้ปุ๋ย ได้น้ำ และเติบโตมากขึ้นเท่าไร ก็ยังมีรสขมอยู่นั่นเอง

ฉะนั้นแล้ว บุคคลที่มีทิฐิวิบัติ หรือมิจฉาทิฐินั้น ยิ่งไปคิด พูด และทำตามมิจฉาทิฐิตนเอง
ก็จะยิ่งก่อให้เกิดทุกข์ โทษภัย และผลเสียแก่ตนเองครับ
โดยที่บุคคลนั้นเองอาจจะหลงยินดี และพึงพอใจในการทำสิ่งชั่วหรือสิ่งไม่ดีเหล่านั้นก็ได้
ทิฐิวิบัติ หรือมิจฉาทิฐิจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างมาก
เพราะสามารถหลอกให้เราทุ่มเททำอย่างเหนื่อยแทบตาย หรือเหนื่อยจนกระทั่งตาย
แต่ท้ายสุดแล้ว สิ่งที่ทำกลับให้ผลคือทุกข์ โทษภัย และผลเสียแก่เราเองเสียอีก

การที่เรามีทิฐิวิบัติหรือมิจฉาทิฐินั้นอาจจะเกิดจากการที่เราได้รับคำแนะนำผิด ๆ
มาจากผู้ที่ไม่รู้จริงในเรื่องของกรรมก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น
ใน “ตาลปุตตสูตร” เล่าว่ามีนักเต้นรำคนหนึ่ง ถูกอาจารย์สอนมาผิด ๆ ว่า
นักเต้นรำทำให้คนหัวเราะ รื่นเริง ด้วยคำจริงบ้าง คำเท็จบ้าง ในท่ามกลางสถานเต้นรำ
หรือสถานมหรสพ เมื่อผู้นั้นตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นเทวดาผู้ร่าเริง
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่าความเข้าใจดังกล่าวเป็นความเห็นผิด
โดยแท้จริงแล้ว นักเต้นรำรวบรวมเข้าไว้ซึ่งธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งโทสะ และธรรมเป็นที่ตั้งแห่งโมหะ
ในท่ามกลางสถานเต้นรำหรือสถานมหรสพแก่ผู้ชม
โดยนักเต้นรำนั้นเองก็มัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในความประมาท
เมื่อตายไปแล้ว ย่อมบังเกิดในนรก
โดยผู้มีความเห็นผิดดังกล่าวย่อมมีคติ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง
คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=18&A=7768&Z=7822&pagebreak=0

ใน “โยธาชีวสูตร” เล่าว่ามีนักรบอาชีพคนหนึ่งถูกอาจารย์สอนมาผิด ๆ ว่า
นักรบอาชีพคนใดอุตสาหพยายามในสงคราม
คนอื่นฆ่าผู้นั้นซึ่งกำลังอุตสาหพยายามให้ถึงความตาย
ผู้นั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นเทวดา
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่าความเข้าใจดังกล่าวเป็นความเห็นผิด
โดยแท้จริงแล้ว นักรบอาชีพคนใดอุตสาหพยายามในสงคราม
ผู้นั้นยึดหน่วงจิตกระทำไว้ไม่ดี ตั้งจิตไว้ไม่ดีก่อนว่า สัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า จงถูกแทง
จงขาดสูญ จงพินาศ หรือว่าอย่าได้มีคนอื่นฆ่าผู้นั้นซึ่งกำลังอุตสาหพยายามให้ถึงความตาย
ผู้นั้นเมื่อตายไป ย่อมเกิดในนรก
โดยผู้มีความเห็นผิดดังกล่าวย่อมมีคติ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง
คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=18&A=7823&Z=7861&pagebreak=0

ใน “หัตถาโรหสูตร” ก็มีทหารช้างโดนหลอกในทำนองเดียวกันนะครับ
แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ทหารช้างผู้นั้น
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=18&A=7862&Z=7865&pagebreak=0

ใน “อัสสาโรหสูตร” ก็มีทหารม้าโดนหลอกในทำนองเดียวกันนะครับ
แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ทหารม้าผู้นั้น
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=18&A=7866&Z=7903&pagebreak=0

ในสังสารวัฏที่เราเวียนว่ายตายเกิดอยู่นี้
ในหลายภพหลายชาติ เราอาจจะถูกสอนมาผิด ๆ ให้ทำชั่ว ทำไม่ดี
ในหลายภพหลายชาติ เราอาจจะทำชั่ว ทำไม่ดีด้วยตนเอง โดยที่ไม่มีใครสอน
ด้วยเหตุที่ว่าเรามีทิฐิวิบัติ หรือมิจฉาทิฐินั่นเอง
แต่ในภพชาตินี้ เราได้มีโอกาสพบพระพุทธศาสนา
ได้มีโอกาสเรียนรู้พระธรรมคำสอนของผู้ที่รู้แจ้งในกฎแห่งกรรม
โดยท่านได้ทรงสอนแล้วว่า สิ่งใดเป็นมิจฉาทิฐิ และสิ่งใดเป็นสัมมาทิฐิ
เราจึงสมควรใช้โอกาสแห่งชีวิตนี้อย่างคุ้มค่าที่สุด
ด้วยการมุ่งมั่นใส่ใจศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของท่านครับ