Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๘๘

คำอวยพร

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dhammajaree 188

ในช่วงนี้ก็ใกล้จะถึงเทศกาลปีใหม่อีกแล้ว
หลาย ๆ ท่านก็คงจะจัดเตรียม ส.ค.ส. เพื่ออวยพรให้กัน
ซึ่งการจัดส่ง ส.ค.ส. เพื่ออวยพรให้แก่กัน ถือเป็นธรรมเนียมอันดีในสังคม
โดยในส่วนของผู้อวยพรย่อมได้แสดงความระลึกถึงหรือความปรารถนาดีไปยังผู้รับพร
ในขณะที่ผู้รับพรย่อมได้รับทราบถึงความระลึกถึงหรือความปรารถนาดีดังกล่าว

ในบรรดาคำอวยพรต่าง ๆ ที่หลากหลายนั้น
บางท่านอาจจะชื่นชอบคำอวยพรในแต่ละเรื่องแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น
ผู้สูงอายุบางท่านอาจจะชอบให้คนอื่นอวยพรว่า ขอให้มีสุขภาพแข็งแรง และมีอายุยืน
ผู้มีฐานะยากจนบางท่านอาจจะชอบให้คนอื่นอวยพรว่า ขอให้มีฐานะร่ำรวย และมีเงินเยอะ ๆ
ผู้ปฏิบัติธรรมบางท่านอาจจะชอบให้คนอื่นอวยพรว่า ขอให้บรรลุธรรมโดยเร็ว เป็นต้น
อย่างไรก็ดี เราก็พึงเข้าใจว่าลำพังเพียงคำอวยพรนั้น ไม่ได้ช่วยให้เราบรรลุสิ่งที่ปรารถนานั้นได้
แต่จะต้องอาศัยการกระทำของเราเป็นสำคัญ เพราะสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

มีอยู่คราวหนึ่งที่ผมได้ไปตัดผมกับคุณอาท่านหนึ่งที่เป็นช่างตัดผมประจำ
โดยมีท่านอื่นตัดผมอยู่ก่อน ซึ่งเมื่อท่านนั้นตัดผมเสร็จ
คุณอาช่างตัดผมก็อวยพรให้ท่านนั้นมีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืน
ท่านนั้นก็ตอบว่า ดีใจและชอบใจมากที่คุณอาอวยพร
แล้วเขาก็อวยพรให้คุณอาช่างตัดผมเช่นกันว่า ขอให้มีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืน
ต่อจากนั้น ก็ถึงคราวผมตัดผม
ผมได้ถามคุณอาว่า คุณอาชอบให้คนอื่นอวยพรให้มีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนไหม?
คุณอาตอบว่า ชอบสิ อวยพรอย่างนี้ ชอบ
ผมถามต่อไปว่า แล้วคุณอาจะมีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนเพราะเขาอวยพรหรือเปล่า?
คุณอาตอบว่า อันนี้ไม่รู้สิ
ผมอธิบายว่า ยกตัวอย่างนะครับ สมมุติว่ามีลูกค้ามาตัดผมกับคุณอาเยอะแยะเลย
ลูกค้าทุกคนต่างก็อวยพรให้คุณอาว่า ขอให้ร่ำรวย และมีเงินเยอะ ๆ
แต่ว่าลูกค้าทุกคนอวยพรให้อย่างเดียว โดยไม่มีใครจ่ายเงินค่าตัดผมให้เลยแม้แต่คนเดียว
ถามว่าคุณอาจะร่ำรวยและมีเงินเยอะ ๆ ดังที่เขาอวยพรหรือเปล่า?
คุณอาตอบว่า อย่างนี้ไม่รวยหรอก อย่างนี้ก็อดตายสิ

ผมถามต่อไปว่า ในทำนองเดียวกัน ถ้าเขาอวยพรให้เรามีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืน
แต่ถ้าเราทำเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เราเองมีสุขภาพอ่อนแอ และอายุสั้น
แล้วเราจะมีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนตามที่เขาอวยพร หรือเพราะเขาอวยพรหรือเปล่า?
คุณอาตอบว่า อย่างนี้ก็คงไม่แข็งแรงและไม่อายุยืน
ผมบอกต่อไปว่า เพราะฉะนั้นที่สำคัญคือ เราพึงทำตัวเราให้มีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืน
โดยไม่ควรไปอาศัยหวังพึ่งพาคำอวยพรของใครนะครับ
เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือกรรมของเรา หรือการกระทำของเรา
ถ้าเราสร้างกรรมที่เป็นเหตุให้มีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืน
เราก็จะมีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืน
แต่หากเราสร้างกรรมที่เป็นเหตุให้มีสุขภาพอ่อนแอ และอายุสั้น
เราก็จะมีสุขภาพอ่อนแอ และอายุสั้นนะครับ

ในเรื่องคำอวยพรนั้น บางท่านก็ชื่นชอบคำอวยพรที่ฝืนความจริง และเป็นไปไม่ได้
อย่างเช่น บางท่านได้รับคำอวยพรว่า “อย่าเจ็บ อย่าจน อย่าทุกข์ มีแต่ร่ำรวย และความสุข”
แล้วเราก็มุ่งหวังว่าตนเองจะต้องไม่เจ็บ ไม่จน และไม่ทุกข์ มีแต่ร่ำรวย และความสุข
ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝืนความจริงนะครับ เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีการเกิดแล้ว
ก็ย่อมจะมีการแก่ การเจ็บ และการตาย ติดตามมาเป็นธรรมดา
หรือในขณะที่มีรวย ก็ย่อมมีจนเป็นธรรมดา และเมื่อมีสุข ก็ย่อมมีทุกข์เป็นธรรมดา
ซึ่งอันที่จริงแล้ว แม้คนที่ให้พรดังกล่าว ก็ยังทำไม่ได้เลย ก็ยังต้องเจ็บอยู่ ยังทุกข์อยู่
เราเองก็ย่อมจะไปฝืนความจริงดังกล่าวไม่ได้
เว้นแต่จะบอกว่าเพราะไม่เกิด จึงไม่เจ็บ ไม่จน และไม่ทุกข์ อย่างนี้เป็นไปได้ครับ
แต่เราก็ต้องสร้างเหตุเพื่อความไม่เกิดดังกล่าว ไม่ใช่รอให้ผลเกิดขึ้นมาเองลอย ๆ

ในทางพระธรรมคำสอนนั้น คำว่า “พร” ไม่ได้มีความหมายดังที่เราใช้ในปัจจุบัน
ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
อธิบายว่า คำว่า “พร” ตามความหมายในภาษาไทยในปัจจุบันนี้
มีความหมายที่เพี้ยนไปหรือแตกต่างจากความหมายเดิมในภาษาบาลี
โดยในภาษาบาลีแต่เดิม “พร” หมายถึง
ผลประโยชน์หรือสิทธิพิเศษที่อนุญาต หรืออำนวยให้ตามที่ขอ
ในขณะที่ “พร” ที่เรากล่าวถึง ณ ปัจจุบันนี้ ในบาลีไม่ได้เรียกว่า “พร”
แต่เรียกว่า ฐานะ หรือธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ซึ่งจะบรรลุได้ด้วยกรรม คือการกระทำที่ดีอันเป็นบุญ
http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=227

สังเกตว่าในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ได้อธิบายว่า
ฐานะ หรือธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจนั้น
จะบรรลุได้ด้วยกรรม คือการกระทำที่ดีอันเป็นบุญ
แต่ในชีวิตจริงของเรา เวลาที่เราได้รับพร
หลายท่านไม่ได้มุ่งหวังว่าจะบรรลุสิ่งที่ปรารถนานั้นได้ด้วยกรรม หรือการกระทำที่ดีของตน
แต่กลับมุ่งหวังว่าจะบรรลุสิ่งที่ปรารถนาด้วยอำนาจวิเศษภายนอกดลบันดาลให้
โดยที่ตนเองไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องลงทุนเหนื่อยยากอะไร
ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและผิดเพี้ยนไปเสียแล้ว

ในทางพระวินัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านก็ไม่ทรงสนับสนุนการให้พรแบบไร้เหตุผลนะครับ
โดยในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังทรงแสดงธรรมท่ามกลางบริษัทหมู่ใหญ่
แล้วพระองค์ได้ทรงจามขึ้น ภิกษุทั้งหลายได้ถวายพระพรอย่างอื้ออึงว่า
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงพระชนมายุ ขอพระสุคตจงทรงพระชนมายุเถิด
(คล้าย ๆ กับธรรมเนียมหรือมารยาทชาวต่างชาติที่เวลาได้ยินคนอื่นจาม
แล้วเขาจะกล่าวว่า God bless you. ทำนองนั้นนั่นเอง)

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงถามภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ถูกเขาให้พรว่า ขอจงเจริญชนมายุในเวลาจาม
จะพึงเป็น หรือพึงตายเพราะเหตุที่ให้พรนั้นหรือ
เหล่าภิกษุตอบว่า ไม่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบัญญัติว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุไม่พึงกล่าวคำให้พรว่า ขอจงมีชนมายุ ในเวลาที่เขาจาม ภิกษุรูปใดให้พร ต้องอาบัติทุกกฎ

ต่อมาในสมัยนั้น ชาวบ้านให้พรในเวลาที่ภิกษุทั้งหลายจามว่า ขอท่านจงมีชนมายุ
ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ มิได้ให้พรตอบ ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า
ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร เมื่อเขาให้พรว่า จงเจริญชนมายุ จึงไม่ให้พรตอบเล่า
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านมีความต้องการด้วยสิ่งเป็นมงคล
เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ที่เขาให้พรว่า จงเจริญชนมายุ ดังนี้
ให้พรตอบแก่ชาวบ้านว่า ขอท่านจงเจริญชนมายุยืนนาน
(พระไตรปิฎก พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=7&A=1354&Z=1369

ในอรรถกถาของ “ภัคคชาดก” ก็ได้มีเรื่องเล่าในทำนองเดียวกันนะครับว่า
(พระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑)
ในวันหนึ่ง พระศาสดาประทับนั่ง ณ ท่ามกลางบริษัท ๔ ที่ราชิการาม
ขณะแสดงธรรมอยู่นั้น พระศาสดาทรงจามขึ้น ภิกษุทั้งหลายได้พากันส่งเสียงเอ็ดอึงว่า
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงเจริญพระชนม์เถิด ขอพระสุคตเจ้าจงทรงเจริญพระชนม์เถิด
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเขากล่าวในเวลาจามว่า ขอให้ท่านจงเป็นอยู่เถิด ดังนี้
เพราะเหตุที่กล่าวดังนั้น คนนั้นจะพึงเป็นอยู่ หรือจะพึงตายเป็นไปได้ไหม
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า
พระศาสดาตรัสต่อไปว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอไม่ควรกล่าวในเวลาเขาจามว่า
ขอให้ท่านเป็นอยู่เถิด ผู้ใดกล่าว ผู้นั้นต้องอาบัติทุกกฎ

สมัยนั้น ชาวบ้านทั้งหลายกล่าวกับพวกภิกษุในเวลาที่ภิกษุเหล่านั้นจามว่า
ขอให้พระคุณเจ้าทั้งหลายจงเป็นอยู่เถิด ภิกษุทั้งหลายตั้งข้อรังเกียจ ไม่พูดตอบ
พวกชาวบ้านพากันกล่าวโทษว่า อะไรกันนี่ สมณศากยบุตร
เมื่อเรากล่าวว่า ขอให้พระคุณเจ้าจงเป็นอยู่เถิด ไม่พูดตอบเลย
จึงพากันไปกราบทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกคฤหัสถ์เขาถือมงคลกัน
เมื่อคฤหัสถ์เขากล่าวว่า ขอพระคุณเจ้าจงเป็นอยู่เถิด
เราอนุญาตให้กล่าวตอบว่า ขอให้พวกท่านจงเป็นอยู่เถิด
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=159

สำหรับคำว่า “พร” ในความหมายว่าผลประโยชน์หรือสิทธิพิเศษที่อนุญาต หรืออำนวยให้ตามที่ขอนั้น
ขอยกตัวอย่างในสมัยพุทธกาลในกรณีของ “นางวิสาขา”
ในสมัยหนึ่ง นางวิสาขาเห็นสมควรขอพร ๘ ประการต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า
จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าในระหว่างเข้าเฝ้าพระองค์ว่า
“หม่อมฉันทูลขอประทานพร ๘ ประการต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบว่า “ตถาคตเลิกให้พรเสียแล้ว วิสาขา”
นางวิสาขากราบทูลว่า “หม่อมฉันทูลขอประทานพรที่สมควรและไม่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “จงบอกมาเถิด วิสาขา”
นางวิสาขากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า สำหรับพระสงฆ์ หม่อมฉันปรารถนาจะถวายผ้าวัสสิกสาฎก
จะถวายภัตรเพื่อพระอาคันตุกะ จะถวายภัตรเพื่อพระที่เตรียมจะไป จะถวายภัตรเพื่อพระอาพาธ
จะถวายภัตรเพื่อพระที่พยาบาลพระอาพาธ จะถวายเภสัชสำหรับพระอาพาธ จะถวายยาคูประจำ
และสำหรับภิกษุณีสงฆ์ หม่อมฉันปรารถนาจะถวายอุทกสาฎก จนตลอดชีพ”

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า “วิสาขา เธอเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงขอพร ๘ ประการต่อตถาคต”
นางวิสาขาจึงได้กราบทูลเหตุผลอันสมควรต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามต่อไปว่า “วิสาขา เธอเห็นอานิสงส์อะไร จึงขอพร ๘ ประการต่อตถาคต”
นางวิสาขาจึงได้กราบทูลอานิสงส์ต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
เมื่อตนเองได้ทำกุศลเหล่านั้น และระลึกถึงกุศลนั้น ความปลื้มใจจักบังเกิด
เมื่อตนเองปลื้มใจแล้ว ความอิ่มใจจักบังเกิด เมื่อมีใจอิ่มเอิบแล้ว กายจักสงบ
เมื่อมีกายสงบแล้ว จักเสวยสุข เมื่อมีความสุข จิตจักตั้งมั่น
จักได้อบรมอินทรีย์ อบรมพละ อบรมโพชฌงค์นั้น
ด้วยเห็นอานิสงส์นี้ จึงขอประทานพร ๘ ประการต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ดีละ วิสาขา ดีแท้ วิสาขา เธอเห็นอานิสงส์นี้
จึงขอพร ๘ ประการต่อตถาคต เราอนุญาตพร ๘ ประการแก่เธอ”

ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนาแก่นางวิสาขา ด้วยพระคาถานี้
“สตรีใด ให้ข้าวและน้ำ มีใจเบิกบานแล้ว สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นสาวิกาของพระสุคต
ครอบงำความตระหนี่แล้ว บริจาคทานอันเป็นเหตุแห่งสวรรค์ เป็นเครื่องบรรเทาความโศก
นำมาซึ่งความสุข สตรีนั้น อาศัยมรรคปฏิบัติ ปราศจากธุลี ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วใจ
ย่อมได้กำลังและอายุเป็นทิพย์ สตรีผู้ประสงค์บุญนั้น เป็นคนมีสุข สมบูรณ์ด้วยอนามัย
ย่อมปลื้มใจในสวรรค์สิ้นกาลนาน”
(พระไตรปิฎก พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=5&A=4005&Z=4131&pagebreak=0

เราจะเห็นได้ว่าการขอพรของนางวิสาขานั้นเป็นการขออนุญาตเพื่อทำกุศล
โดยเห็นว่าการทำกุศลดังกล่าวจะก่อประโยชน์อันสมควรแก่เหล่าภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์
และเกิดอานิสงส์แก่ตนเอง เพื่ออบรมอินทรีย์ อบรมพละ อบรมโพชฌงค์
ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงประทานอนุญาตพรนั้น
และทรงอนุโมทนาด้วยคาถาที่ตรัสถึงอานิสงส์ของผลกรรมแห่งทานที่เป็นกุศล
โดยในเรื่องนี้ไม่ได้กล่าวถึง “พร” ในเชิงที่ว่าเป็นการใช้อำนาจวิเศษภายนอก
ดลบันดาลให้เกิดผลที่ปรารถนาขึ้นมาอย่างลอย ๆ โดยไม่มีการทำเหตุใด ๆ

ก่อนจะจบในเรื่องคำอวยพรนี้ ขอยกตัวอย่าง “พร” ของเทวดานะครับ
โดยใน “จวมานสูตร” ได้สอนว่า
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต)
เมื่อใด เทวดาจะต้องจุติจากเทพนิกาย (คือตายจากความเป็นเทพ) เพราะความสิ้นอายุ
เมื่อนั้น เสียง ๓ อย่างของเทวดาทั้งหลายผู้พลอยยินดีย่อมเปล่งออกไปว่า
แน่ะท่านผู้เจริญ ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้วจงถึงสุคติ
จงถึงความเป็นสหายแห่งมนุษย์ทั้งหลายเถิด
ท่านเป็นมนุษย์แล้ว จงได้ศรัทธาอย่างยิ่งในพระสัทธรรม
ศรัทธาของท่านนั้นพึงเป็นคุณชาติตั้งลงมั่น มีมูลเกิดแล้ว
มั่นคงในพระสัทธรรมที่พระตถาคตประกาศดีแล้ว อันใคร ๆ พึงนำไปมิได้ตลอดชีพ
ท่านจงละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
และอย่ากระทำอกุศลกรรมอย่างอื่นที่ประกอบด้วยโทษ
กระทำกุศลด้วยกาย ด้วยวาจาให้มาก กระทำกุศลด้วยใจหาประมาณมิได้ หาอุปธิมิได้
แต่นั้นท่านจงกระทำบุญอันให้เกิดสมบัตินั้นให้มาก ด้วยทาน
แล้วยังสัตว์แม้เหล่าอื่นให้ตั้งอยู่ในพระสัทธรรม ในพรหมจรรย์
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=%A8%C7%C1%D2%B9%CA%D9%B5%C3&book=9&bookZ=33&original=1

โดยเราจะเห็นได้ว่าแม้แต่เทวดาจะอวยพรให้แก่กันก็ตาม
ก็ไม่ได้อวยพรว่าให้มีอำนาจวิเศษภายนอกมาดลบันดาลให้เกิดสิ่งที่ปรารถนาอย่างลอย ๆ
แต่ได้อวยพรให้ผู้อื่นลงมือกระทำหรือสร้างผลกรรมดี เพื่อให้เกิดผลดี ผลที่น่าปรารถนา
และละเว้นกรรมชั่ว เพื่อไม่ให้เกิดโทษนะครับ
ฉะนั้นแล้ว เราเองที่ปรารถนาพรใด ๆ ก็ตาม
ก็ไม่ควรมุ่งหวังว่าจะมีอำนาจวิเศษภายนอกใด ๆ มาดลบันดาลให้เราได้อย่างลอย ๆ
แต่เราพึงมุ่งสร้างกรรมดี กระทำสิ่งที่เป็นกุศล พร้อมกับละเว้นกรรมชั่ว และสิ่งอกุศลครับ