Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๘๕

อจินไตย

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dhammajaree 185

ในตอนที่แล้วได้อธิบายเรื่องเหตุและปัจจัยที่เราทำ เพื่อให้เกิดบุญกุศลหรือบาปอกุศล
โดยได้อธิบายให้เห็นว่าเจตนาเป็นสิ่งสำคัญ
เพราะว่าธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ
โดยยกตัวอย่างให้เห็นว่ากรณีมีเจตนาฆ่า แต่ไม่รู้ว่าการฆ่านั้นก่อให้เกิดบาปอกุศล
กับกรณีไม่มีเจตนาฆ่า แต่ได้ทำให้เขาตายโดยไม่มีเจตนาฆ่า ทั้ง ๒ กรณีนี้แตกต่างกัน
เรียกได้ว่า “ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นบาปอกุศล” คืออย่างหนึ่ง และ
“ไม่เจตนาทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศลนั้น” คืออีกอย่างหนึ่ง ทั้ง ๒ อย่างนี้ไม่เหมือนกัน

นอกจากนี้ ได้อธิบายว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา เช่น
ความเป็นคนมีอายุสั้นหรือมีอายุยืน ความเป็นคนมีโรคมากหรือมีโรคน้อย
ความเป็นคนมีผิวพรรณทรามหรือเป็นคนน่าเลื่อมใส ความมีศักดาน้อยหรือมีศักดามาก
ความเป็นคนมีโภคะน้อยหรือมีโภคะมาก การเกิดในสกุลต่ำหรือการเกิดในสกุลสูง
ความเป็นคนมีปัญญาทรามหรือมีปัญญามาก เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามกรรม
กล่าวคือเหตุและปัจจัยคือกรรมที่เราได้เคยสร้างเอาไว้ ส่งผลให้เกิดวิบากกรรมในปัจจุบัน

ด้วยความที่กรรมที่เราทำไว้เป็นเหตุให้เกิดผลคือวิบากกรรม
บางท่านก็มุ่งหวังที่จะทราบอย่างชัดเจนว่าวิบากกรรมที่ตนได้รับในปัจจุบันนี้
เกิดจากกรรมอะไรในอดีต และมีหนทางอย่างไรที่จะแก้ไขกรรมในอดีตเหล่านั้น
ในประเด็นของเรื่องวิบากกรรมนี้ หากเราจะพิจารณาตามพระธรรมคำสอนแล้ว
เราพอจะรู้ได้ว่าปฏิปทาอย่างใด ๆ ก็ย่อมก่อให้เกิดผลในทางเดียวกันนั้น
(ดังที่ได้อธิบายอ้างอิงถึง “จูฬกัมมวิภังคสูตร” ในตอนที่แล้วนะครับ)

แต่ถ้าเราจะต้องการทราบอย่างชัดเจนเลยว่า วิบากกรรมที่เราได้รับในปัจจุบัน เช่น
ความมีโรคมาก ความมีโภคะน้อย ความมีผิวพรรณทราม ความมีศักดาน้อย เป็นต้น
หรือวิบากกรรมอื่นใดในปัจจุบันนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากกรรมอะไร ในอดีตเมื่อใดนั้น
เรื่องวิบากกรรมดังกล่าวไม่อยู่ในวิสัยที่ปุถุชนอย่างเรา ๆ จะสามารถทราบได้

ใน “อจินติตสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่า บุคคลไม่ควรคิด อจินไตย ๔ ประการนี้
เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน
อจินไตย ๔ ประการได้แก่ ๑. พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
๒. ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๓. วิบากแห่งกรรม ๔. ความคิดเรื่องโลก
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=%CD%A8%D4%B9%B5%D4%B5%CA%D9%B5%C3&book=9&bookZ=33&original=1

อนึ่ง ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของ
คำว่า “อจินไตย” ว่าหมายถึง ที่พ้นความคิด หรือไม่ควรคิด
http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-search-all-x.asp

การที่ “อจินติตสูตร” สอนว่าเราไม่ควร “คิด” เรื่องวิบากกรรม เพราะเป็นเรื่องอจินไตย
ไม่ได้แปลว่า เราไม่ควร “เชื่อ” เรื่องกรรมและวิบากกรรมนะครับ
เพราะ “จูฬกัมมวิภังคสูตร” ได้สอนว่าเรื่องวิบากกรรมเป็นเรื่องจริง
และสัตว์โลกทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรมของตน
แต่ที่ “อจินติตสูตร” บอกว่าเรื่องวิบากกรรมเป็นอจินไตยนั้น
เพราะว่าเรื่องนี้ซับซ้อนเกินกว่าวิสัยที่ปุถุชนธรรมดาอย่างเรา ๆ จะทราบได้
จึงเป็นเรื่องที่เราไม่ควรไปเสียเวลาคิด เพราะจะทำให้ตนเองเดือดร้อนและเสียเวลา

ขอยกตัวอย่างว่า มีตุ่มน้ำอยู่ใบหนึ่ง เราตักเกลือใส่หนึ่งช้อน แล้วนับหนึ่ง
สลับกับตักน้ำใส่หนึ่งช้อน แล้วนับหนึ่งเช่นกัน
โดยเราตักเกลือและน้ำใส่ตุ่มน้ำสลับไปเรื่อย ๆ และนับสอง สาม สี่ ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ
จนกระทั่งได้เกลือและน้ำประมาณ ๓ ใน ๔ ของตุ่มน้ำ
จากนั้น เราหลับตาและเอาช้อนเปล่าจ้วงตักลงไปถึงก้นตุ่มน้ำ ตักน้ำเกลือขึ้นมาหนึ่งช้อน
ถามว่าน้ำเกลือที่เราจ้วงตักขึ้นมาได้ช้อนนั้น
มีส่วนผสมมาจากน้ำช้อนที่เท่าไร และเกลือช้อนที่เท่าไรบ้าง
ถามว่าเราจะทราบคำตอบได้หรือไม่
และถ้าเรามัวแต่คิดหาคำตอบว่าเกลือและน้ำมาจากช้อนที่เท่าไรบ้าง
การคิดเรื่องดังกล่าวจะทำให้เราเดือดร้อน หรือเสียเวลาหรือไม่

เรื่องวิบากกรรมก็เป็นไปในทำนองเดียวกันนะครับ
โดยสังสารวัฏนี้ยาวนานมาก หาต้นไม่เจอและหาปลายไม่พบ
กรรมที่เราเคยได้ทำเอาไว้นี้มีมากมายนับไม่ถ้วน
การที่จะไปจับคู่ว่าวิบากกรรมในปัจจุบันนี้เกิดจากกรรมในอดีตกรรมไหน
กรรมบางอย่างในอดีตจะให้ผลคือวิบากกรรมเมื่อไร และให้ผลนานเท่าไร
วิบากกรรมในปัจจุบันที่เป็นผลจากกรรมในอดีตจะหมดผลเมื่อไร เป็นต้น
จึงเป็นเรื่องเกินวิสัยที่ปุถุชนธรรมดาอย่างเรา ๆ จะคิดได้

บางท่านอาจจะมีคำถามต่อไปว่า ในเมื่อเรื่องวิบากกรรมเป็นเรื่องอจินไตยแล้ว
เราควรจะทำอย่างไร เพื่อบรรเทาวิบากกรรมไม่ดีทั้งหลายที่เราได้รับอยู่ในปัจจุบัน?
ตอบว่า วิบากกรรมทั้งหลายเป็นผลมาจากเหตุและปัจจัยคือกรรมในอดีต
ซึ่งเราไม่สามารถย้อนเวลาไปแก้ไขสิ่งเหล่านั้นในอดีตได้
และเราก็ไม่สามารถรู้ได้อย่างแน่นอนด้วยว่าวิบากกรรมนี้เกิดจากกรรมในอดีตกรรมใดบ้าง
ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้ก็คือการทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ซึ่งสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่เราจะทำได้ก็คือ
ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ซึ่งหากจะกล่าวโดยย่อให้จำได้โดยง่ายแล้ว
ผมเห็นว่าสิ่งที่เราควรทำก็มีหลัก ๓ ข้อตามหลักในโอวาทปาฏิโมกข์ ได้แก่
๑. การไม่ทำบาปทั้งปวง
๒. การยังกุศลทั้งปวงให้ถึงพร้อม
๓. การทำจิตของตนให้ผ่องใส
(มหาปทานสูตร พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=+%C1%CB%D2%BB%B7%D2%B9%CA%D9%B5%C3&book=9&bookZ=33&original=1

โดยถ้าหากเราสามารถปฏิบัติ ๓ ข้อนี้ได้แล้ว ย่อมสามารถตอบได้ทุกโจทย์ครับ
ไม่ว่าในอดีต เราจะเคยทำกรรมไม่ดีใด ๆ มาก็ตาม
และไม่ว่าในปัจจุบัน เราจะประสบวิบากกรรมไม่ดีใด ๆ อยู่ก็ตาม
ข้อปฏิบัติ ๓ ข้อนี้เป็นหนทางสำหรับเรา
ที่จะช่วยเหลือบรรเทาวิบากกรรมไม่ดีต่าง ๆ เหล่านั้น
โดยที่เราไม่ต้องไปเสียเวลาคิดเรื่องวิบากกรรมอันเป็นเรื่องอจินไตยเลย