Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๘๔

เหตุและปัจจัย

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dhammajaree184

ในคราวที่แล้ว เราได้คุยเรื่อง “บาปบุญกุศลสำหรับคนนับถือศาสนาแตกต่างกัน”
โดยผมได้คุยถึงเรื่องหลักกรรมตามธรรมชาติ
และได้อธิบายว่าผลทั้งหลายที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นตามความเชื่อของเรา
แต่ผลเกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัยที่เราได้ทำขึ้น
ในตอนนี้ ผมจะขอขยายความในเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติมนะครับ

เราได้คุยไปบ้างแล้วว่าความเชื่อไม่สามารถเปลี่ยนผลที่จะเกิดขึ้นได้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรานำเกลือมาผสมกับน้ำ ผลก็คือเราจะได้น้ำเกลือ ไม่ได้น้ำเชื่อม
ถ้าเราจะให้คนนับถือศาสนาไหน ๆ ก็ตาม เขานำเกลือมาผสมกับน้ำ
ผลก็คือ เขาก็จะได้นำเกลือ และไม่ได้น้ำเชื่อมเช่นกัน
ถึงแม้ว่าเราให้คนที่เชื่อว่านำเกลือมาผสมกับน้ำแล้วจะได้น้ำเชื่อมลองนำ
เกลือมาผสมกับน้ำก็ตาม เขาก็จะได้น้ำเกลือและไม่ได้น้ำเชื่อมเช่นกัน
เพราะว่าเหตุและปัจจัยมันไม่ได้ก่อให้เกิดน้ำเชื่อม แต่ก่อให้เกิดน้ำเกลือ

ถ้าเราอยากจะให้เกิดผลคือน้ำเชื่อม เราก็ต้องเอาน้ำตาลไปผสมกับน้ำ
เราจะนำเกลือไปผสมกับน้ำ เพื่อให้เกิดน้ำเชื่อมไม่ได้
ถ้าเราต้องการให้เกิดผลคือน้ำเกลือ เราก็นำน้ำตาลไปผสมกับน้ำไม่ได้
แต่เราต้องนำเกลือไปผสมกับน้ำ เพื่อให้เกิดน้ำเกลือ
โดยไม่ว่าเราจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม หรือเราจะมีความเชื่ออย่างไรก็ตาม
ก็ไม่สามารถหลีกหนีหลักการของเหตุและปัจจัยที่จะก่อให้เกิดผลดังกล่าวนี้ได้
โดยเราสร้างเหตุและปัจจัยไว้อย่างไร ผลที่เกิดก็เป็นไปตามเหตุและปัจจัยนั้น ๆ

ในเรื่องบุญกุศลที่จะให้ก่อให้เกิดผลเป็นความสุข
และบาปอกุศลที่จะก่อให้เกิดผลเป็นความทุกข์ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันครับ
คือถ้าเราสร้างเหตุและปัจจัยที่จะทำให้เกิดบุญกุศล ผลที่เกิดขึ้นก็จะเป็นความสุข
แต่ถ้าเราสร้างเหตุและปัจจัยที่จะทำให้เกิดบาปอกุศล ผลที่เกิดขึ้นก็จะเป็นความทุกข์
โดยก็จะเป็นไปตามเหตุและปัจจัย ในหลักการเดียวกันกับน้ำเกลือและน้ำเชื่อม

ถ้าเราเข้าใจถึงหลักกรรมตามธรรมชาตินี้แล้ว (หรือจะเรียกกฎเกณฑ์กรรมก็ได้)
เราก็พึงเข้าใจว่า เราสั่งผลให้เกิดขึ้นตามใจเราไม่ได้ และผลก็ไม่ได้เกิดตามที่เราเชื่อด้วย
แต่ผลนั้นเกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดผลนั้น ๆ
เช่นนี้แล้ว สิ่งที่เราทำได้ก็คือ เราใส่เหตุและปัจจัยให้ตรงกับผลที่จะเกิดขึ้น
แล้วเราก็จะมีโอกาสที่ได้รับผลที่ตรงกับเหตุและปัจจัยนั้น ๆ
แต่หากเราใส่เหตุและปัจจัยที่ไม่ตรงกับผลใด ๆ เราก็ย่อมจะไม่ได้รับผลดังกล่าว

เช่นนี้ หากเราได้รับผลใด ๆ ก็ตามที่เราเห็นว่า เราไม่ได้ใส่เหตุและปัจจัยแก่ผลนั้น
กรณีก็ย่อมเป็นไปได้ ๒ ประการคือ ๑. เราใส่เหตุและปัจจัยลงไปแล้ว
แต่เราไม่ทราบว่าเหตุและปัจจัยนั้นเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดผลดังกล่าว หรือ
๒. เราได้เคยใส่เหตุและปัจจัยสำหรับผลดังกล่าวไว้นานแล้วในอดีตกาล
แต่เราไม่สามารถที่จะระลึกย้อนไปจำได้

อนึ่ง เหตุและปัจจัยทั้งหลายนั้นต่างรอเวลาเหมาะสมที่จะให้ผลของเขาเองด้วย
เราไปสั่งไม่ได้ว่าให้เหตุและปัจจัยนั้นออกผลในเวลานั้นในเวลานี้
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเราปลูกต้นกล้วยลงไปในสวนของเรา
เราไม่สามารถสั่งต้นกล้วยในสวนของเราว่า ให้ออกผลกล้วยในวันนั้นในวันนี้
โดยถ้าเราใส่เหตุและปัจจัยที่เหมาะสมที่จะทำให้ผลกล้วยออกมาแล้ว
ผลกล้วยก็จะออกมาตามเวลาของเขาเอง เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมของเขา
แต่ถ้าเราใส่เหตุและปัจจัยที่ไม่เหมาะสมจะให้ผลกล้วยออกมาแล้ว
(เช่นใส่ปุ๋ยเข้มข้นเกินไป หรือเอาน้ำร้อนไปรดต้นกล้วย เป็นต้น)
ผลกล้วยก็ย่อมจะไม่ออกมา ซึ่งก็เพราะเป็นไปตามเหตุและปัจจัยนั้น ๆ

บางท่านอาจมีข้อสงสัยว่าในเมื่อเราได้ทำกรรมดีและกรรมชั่ว
ซึ่งเป็นเหตุและปัจจัยลงไปแล้ว แต่กรรมดีและกรรมชั่วดังกล่าวยังไม่ได้ให้ผล
ถามว่ากรรมเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน?
ในเรื่องนี้พระเจ้ามิลินท์ได้เคยตรัสถามพระนาคเสนแล้ว ดังนี้
พระเจ้ามิลินท์: ข้าแต่พระนาคเสน กรรมดีและกรรมชั่วที่บุคคลทำด้วยนามรูปนี้ไปอยู่ที่ไหน?
พระนาคเสน: ขอถวายพระพร ติดตามผู้ทำไปเหมือนกับเงาตามตัว
พระเจ้ามิลินท์: ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อาจชี้กรรมเหล่านั้นได้หรือไม่ว่า กรรมเหล่านั้นอยู่ที่ไหน?
พระนาคเสน: ขอถวายพระพร ไม่อาจชี้ได้
เปรียบเหมือนต้นไม้ที่ยังไม่มีผล มหาบพิตรอาจชี้ได้หรือไม่ว่าผลอยู่ที่ไหน?
พระเจ้ามิลินท์: ไม่อาจชี้ได้ พระผู้เป็นเจ้า
พระนาคเสน: ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อการสืบต่อยังไม่ขาด
ก็ไม่อาจชี้กรรมเหล่านั้นได้ว่ากรรมเหล่านั้นอยู่ที่ไหน
พระเจ้ามิลินท์: ถูกดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า
(จากเรื่องมิลินทปัญหา)
http://www.dharma-gateway.com/dhamma/dhamma-25-05.htm#ปัญหาที่ ๘ ถามถึงที่อยู่แห่งผลกรรม

หลายท่านอาจจะมีปัญหาว่าตนเองต้องการให้เกิดผลบางอย่าง
จึงมุ่งสร้างเหตุและปัจจัยสำหรับผลนั้น ๆ แต่ว่าผลก็ไม่ได้เกิดดังใจเสียที
ซึ่งกรณีดังกล่าวก็เกิดได้จากหลายสาเหตุนะครับ ยกตัวอย่างเช่น
เราใส่เหตุและปัจจัยผิด หรือไม่ตรงที่จะให้เกิดผล แต่เราเองไม่ทราบ หรือ
กรณียังไม่ถึงเวลาที่เหตุและปัจจัยดังกล่าวจะให้ผล หรือ
เราใส่เหตุและปัจจัยน้อยเกินไป ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดผลนั้น หรือ
กรณีเกิดมีเหตุและปัจจัยอื่นมาแทรกแซง หรือตัดรอนไม่ให้เกิดผลนั้น

กรณีเราใส่เหตุและปัจจัยผิด หรือไม่ตรงที่จะให้เกิดผล แต่เราเองไม่ทราบ
หรือเราอาจจะทราบ แต่ไม่สนใจนั้น เป็นกรณีที่เกิดขึ้นเยอะมากนะครับ
ยกตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่งต้องการที่จะมีฐานะร่ำรวย ต้องการมีทรัพย์สินเงินทองมาก ๆ
แต่แทนที่เขาจะตั้งใจทำงานทำมาหาเลี้ยงชีพ ประหยัด และเก็บออมทรัพย์ที่หามาได้
เขากลับมุ่งไปเล่นการพนัน ซึ่งเป็นอบายมุข คือเป็นหนทางนำไปสู่ความฉิบหาย
เช่นนี้แล้ว เขาก็ไม่ร่ำรวยตามที่ใจต้องการ แต่กลับต้องสูญเสียทรัพย์ไปเพื่อการพนัน
หรือแทนที่เขาจะตั้งใจทำงานหาทรัพย์ ประหยัด และเก็บออมทรัพย์ที่หามาได้
เขาไม่ได้สนใจทำงานหาทรัพย์ แต่กลับไปอาศัยพึ่งพาวิธีสะเดาะเคราะห์บางอย่าง
โดยหวังว่าการสะเดาะเคราะห์ดังกล่าวจะทำให้เขาร่ำรวยขึ้นมาได้
ทั้ง ๆ ที่การสะเดาะเคราะห์นั้นไม่ได้เป็นเหตุและปัจจัยให้ทรัพย์งอกเงยขึ้นมาได้เลย

อีกตัวอย่างหนึ่ง สมมุติว่านักศึกษาคนหนึ่งตั้งใจจะสอบวิชารัฐศาสตร์ให้ได้คะแนนสูง
แต่เวลาอ่านหนังสือนั้น เขากลับไปทุ่มเทเวลาไปมัวอ่านแต่นิยาย
โดยไม่ได้อ่านวิชารัฐศาสตร์เลย เช่นนี้แล้วเมื่อเขาเข้าสอบวิชารัฐศาสตร์
เขาก็ไม่สามารถทำคะแนนสูง ๆ ได้ เพราะเขาไม่ได้ทุ่มเททำเหตุและปัจจัยที่ตรงกันนั้น
หรือเอาเวลาไปทุ่มเททำอย่างอื่น เช่น ไปเที่ยวเตร่กับเพื่อน ไปเล่นเกม ไปจีบสาว
หรือใช้เวลาไปเพื่อกิจกรรมอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการศึกษาวิชารัฐศาสตร์เลย
เช่นนี้แล้ว ผลคือคะแนนสูงในวิชารัฐศาสตร์ย่อมไม่เกิดขึ้น
เพราะว่าเขาไม่ได้สร้างเหตุและปัจจัยเพื่อผลคือคะแนนสูงในวิชารัฐศาสตร์นั้น

อีกตัวอย่างหนึ่ง สมมุติว่าเราปวดท้อง เพราะทานอาหารที่ไม่สะอาด
ซึ่งควรจะต้องทานยาธาตุแก้ปวดท้อง แต่เรากลับรักษา โดยเอายาหม่องไปทานวดเท้า
เช่นนี้ การเอายาหม่องไปทานวดเท้าไม่ใช่เหตุและปัจจัยที่จะทำให้เราหายปวดท้อง

กรณีตามตัวอย่างข้างต้นเป็นตัวอย่างของการที่เราต้องการให้เกิดผลอย่างหนึ่ง
แต่เรากลับไปใส่เหตุและปัจจัยที่ไม่ตรงกับผลดังกล่าวนั้น
เช่นนี้แล้ว ผลที่เราต้องการก็ย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะเหตุและปัจจัยนั้นไม่ตรงกัน

ทีนี้ ในบางกรณีเราก็อาจพิจารณายากเหมือนกันว่ากรณีจะเป็นบุญกุศลหรือบาปอกุศล
อย่างเช่นเรานำปลาไปปล่อย แต่เราไม่ทราบว่าปลาที่เรานำไปปล่อยนั้นเป็นปลาน้ำเค็ม
โดยเรากลับนำปลาน้ำเค็มนั้นไปปล่อยลงในแม่น้ำ จึงเป็นเหตุที่ทำให้ปลาตาย
กับอีกกรณีหนึ่ง เราเห็นแมลงตัวหนึ่งปีกหักและขาหักขยับไปไหนไม่ได้
โดยแมลงนั้นก็พยายามขยับเขยื้อนตัวอยู่ แต่ก็ไปไหนไม่ได้
แล้วก็มีจิ้งจกตัวหนึ่งกำลังเดินเข้ามาจะมากินแมลง
เราจึงบี้ให้มันตาย เพื่อให้มันพ้นจากทรมาน หลังจากมันตายแล้ว มันก็ถูกจิ้งจกกินไป

ใน ๒ ตัวอย่างที่ยกมานี้ เราได้ทำเหตุและปัจจัยที่ทำให้ปลาและแมลงตายเหมือนกัน
แต่ว่าในจิตใจเรานั้นไม่เหมือนกัน โดยในกรณีปล่อยปลานั้น เราไม่ได้มีเจตนาฆ่า
เรามีเพียงเจตนาที่จะช่วยเหลือและช่วยปล่อยปลาให้รอดชีวิต
โดยเราไม่ทราบเลยว่าการที่เราปล่อยปลานั้นลงในแม่น้ำ จะทำให้มันตาย
ส่วนในกรณีของแมลงนั้น แม้ว่าเราต้องการจะช่วยให้มันพ้นจากทรมานก็ตาม
แต่เราก็บี้มันตายด้วยเรามีเจตนาฆ่า ดังนั้น ทั้ง ๒ กรณีนี้จึงไม่เหมือนกัน
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนไว้ว่า
“ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ”
(คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑)
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=268&Z=329
กรณีปล่อยปลานั้น เราไม่มีเจตนาฆ่า เราจึงไม่ได้มีเจตนาผิดศีล
แต่กรณีของการบี้แมลงนั้น เรามีเจตนาฆ่า เราจึงมีเจตนาผิดศีล
ดังนั้นแล้ว ใน ๒ กรณีนี้จึงแตกต่างกันมาก

ในเรื่องของเหตุและปัจจัยที่ตรงกับผลที่จะเกิดขึ้นนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่าสัตว์โลกเป็นไปตามกรรม
กรรมที่เราได้ทำไว้ย่อมเป็นเหตุและปัจจัยให้เราได้รับผลจากกรรมนั้น ๆ
โดยในพระสูตรชื่อ “จูฬกัมมวิภังคสูตร” ได้สอนว่า
(พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์)

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุสั้น ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนมีอายุสั้น
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุยืน ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนมีอายุยืน
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคมาก ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนมีโรคมาก
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคน้อย ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนมีโรคน้อย
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีผิวพรรณทราม ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนมีผิวพรรณทราม
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเป็นผู้น่าเลื่อมใส ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนน่าเลื่อมใส
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีศักดาน้อย ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนมีศักดาน้อย
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีศักดามาก ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนมีศักดามาก
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโภคะน้อย ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนมีโภคะน้อย
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโภคะมาก ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนมีโภคะมาก
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเกิดในสกุลต่ำ ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนเกิดในสกุลต่ำ
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเกิดในสกุลสูง ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนเกิดในสกุลสูง
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีปัญญาทราม ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนมีปัญญาทราม
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีปัญญามาก ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนมีปัญญามาก
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด
มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีต

อะไรเป็นปฏิปทาที่ทำให้เป็นคนมีอายุสั้น?
ตอบว่าบุคคลเป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด
หมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์มีชีวิต

อะไรเป็นปฏิปทาที่ทำให้เป็นคนมีอายุยืน?
ตอบว่าบุคคลละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญาวางศาตราได้
มีความละอาย ถึงความเอ็นดูอนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูต

อะไรเป็นปฏิปทาที่ทำให้เป็นคนมีโรคมาก?
ตอบว่าบุคคลเป็นผู้มีปรกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา

อะไรเป็นปฏิปทาที่ทำให้เป็นคนมีโรคน้อย?
ตอบว่าบุคคลเป็นผู้มีปรกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดินหรือท่อนไม้ หรือศาตรา

อะไรเป็นปฏิปทาที่ทำให้เป็นคนมีผิวพรรณทราม?
ตอบว่าบุคคลเป็นคนมักโกรธ มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจ
โกรธเคือง พยาบาท มาดร้าย ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ

อะไรเป็นปฏิปทาที่ทำให้เป็นผู้น่าเลื่อมใส?
ตอบว่าบุคคลเป็นคนไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่ามากก็ไม่ขัดใจ
ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธ ความร้าย ความขึ้งเคียดให้ปรากฏ

อะไรเป็นปฏิปทาที่ทำให้เป็นผู้มีศักดาน้อย?
ตอบว่าบุคคลมีใจริษยา ย่อมริษยา มุ่งร้าย ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ
ความเคารพ ความนับถือการไหว้ และการบูชาของคนอื่น

อะไรเป็นปฏิปทาที่ทำให้เป็นผู้มีศักดามาก?
ตอบว่าบุคคลมีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ
ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น

อะไรเป็นปฏิปทาที่ทำให้เป็นคนมีโภคะน้อย?
ตอบว่าบุคคลไม่ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย
เครื่องตามประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์

อะไรเป็นปฏิปทาที่ทำให้เป็นคนมีโภคะมาก?
ตอบว่าบุคคลให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย
เครื่องตามประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์

อะไรเป็นปฏิปทาที่ทำให้เกิดในสกุลต่ำ?
ตอบว่าบุคคลเป็นคนกระด้าง เย่อหยิ่ง ไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้
ไม่ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ไม่ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ
ไม่ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง ไม่สักการะคนที่ควรสักการะ
ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ ไม่นับถือคนที่ควรนับถือ ไม่บูชาคนที่ควรบูชา

อะไรเป็นปฏิปทาที่ทำให้เกิดในสกุลสูง?
ตอบว่าบุคคลเป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้
ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง
สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา

อะไรเป็นปฏิปทาที่ทำให้เป็นคนมีปัญญาทราม?
ตอบว่าบุคคลไม่เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล
อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ
อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน
หรือว่าอะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน

อะไรเป็นปฏิปทาที่ทำให้เป็นคนมีปัญญามาก?
ตอบว่าบุคคลเข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล
อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ
อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน
หรือว่าอะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน

คำว่า “ปฏิปทา” แปลว่า ทางดำเนิน, ความประพฤติ หรือข้อปฏิบัติ
(จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต))
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%BB%AF%D4%BB%B7%D2&original=1
ฉะนั้น หากเราประพฤติหรือสร้างเหตุและปัจจัยอย่างใด ๆ แล้ว
ก็ย่อมจะทำให้เกิดผลที่ตรงกับความประพฤติ หรือเหตุและปัจจัยดังกล่าวนั้นตามมา
ถ้าอยากจะได้ผลที่ดีและเป็นความสุข
เราก็ต้องประพฤติหรือทำเหตุและปัจจัยสำหรับผลที่ดีและเป็นความสุข

กรณีที่ยังไม่ถึงเวลาที่เหตุและปัจจัยดังกล่าวจะให้ผล ยกตัวอย่างเช่น
กรณีนักศึกษาคนหนึ่งตั้งใจว่าจะสอบวิชารัฐศาสตร์ให้ได้คะแนนสูง
หากเขายังอยู่ในระหว่างภาคเรียน และอีกเป็นเดือนกว่าจะถึงเวลาสอบ
แม้ว่าเขาจะขยันหนังสืออ่านเพียงไรก็ตาม แต่ในเมื่อยังไม่ถึงเวลาสอบแล้ว
กรณีก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะได้คะแนนสูงในวิชารัฐศาสตร์ในเวลานั้น

อีกตัวอย่างหนึ่ง สมมุติว่าเราปวดท้อง เพราะทานอาหารที่ไม่สะอาด
และเราได้ทานยาธาตุแก้ปวดท้องแล้ว
และสมมุติว่าปกติแล้ว ยาจะต้องใช้เวลาประมาณ ๒๐ นาที จึงจะออกฤทธิ์
แต่เราเพิ่งทานลงไปได้ ๑ นาที จะให้ยาออกฤทธิ์และเราหายทันทีเลยก็ไม่ได้

กรณีเราใส่เหตุและปัจจัยน้อยเกินไป ไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดผลนั้น ยกตัวอย่างเช่น
กรณีนักศึกษาคนหนึ่งตั้งใจว่าจะสอบวิชารัฐศาสตร์ให้ได้คะแนนสูง
หากในเนื้อหาการสอบนั้นจะต้องการเนื้อหาทั้งหมด ๒๐ บท
แต่ว่าเขาอ่านไปได้เพียง ๑ บท และไปเข้าสอบ และเขาจึงสอบไม่ผ่าน
ก็เป็นไปเพราะว่าเขาสร้างเหตุและปัจจัยไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดผลดังที่ต้องการ

อีกตัวอย่างหนึ่ง สมมุติว่าเราปวดท้อง เพราะทานอาหารที่ไม่สะอาด
และเราได้ทานยาธาตุแก้ปวดท้องแล้ว
และสมมุติว่าขนาดยาปกติที่เราควรทานในกรณีนี้คือ ๑ – ๒ ช้อนโต๊ะ
แต่ว่าเราทานไปเพียง ๑ หยด เช่นนี้ยาก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เราหายปวดท้องได้

กรณีเกิดมีเหตุและปัจจัยอื่นมาแทรกแซง หรือตัดรอนไม่ให้เกิดผลนั้น ยกตัวอย่างเช่น
กรณีนักศึกษาคนหนึ่งตั้งใจว่าจะสอบวิชารัฐศาสตร์ให้ได้คะแนนสูง
แต่พอถึงวันสอบ เขาป่วยหนัก หรือเกิดอุบัติเหตุ และไปเข้าสอบไม่ได้
หรือการสอบไม่เกิดขึ้นเพราะว่าเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ เป็นต้น
เขาจึงยังไม่ได้คะแนนสูงในวิชารัฐศาสตร์ดังที่ต้องการ
ก็เป็นไปเพราะมีเหตุและปัจจัยอื่นมาแทรกแซง ทำให้ไม่เกิดผลนั้นในเวลานั้น

อีกตัวอย่างหนึ่ง สมมุติว่าเราปวดท้อง เพราะทานอาหารที่ไม่สะอาด
และเราได้ทานยาธาตุแก้ปวดท้องแล้ว
แต่ว่าไม่นานจากนั้น ก็มีคนอื่นนำอาหารที่ไม่สะอาดอื่น ๆ มาให้เราทานอีก
โดยที่เราไม่ทราบ และก็ทำให้เราไม่หายจากอาการปวดท้องนั้น เป็นต้น

ถ้าเรามีความเข้าใจในเหตุและปัจจัยทั้งหลายนี้แล้ว
เราย่อมจะเห็นได้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นไปตามเหตุและปัจจัย
ถ้ามันมีเหตุและปัจจัยให้ผลใด ๆ เกิด ผลนั้น ๆ ก็จะเกิด
ถ้ามันไม่มีเหตุและปัจจัยให้ผลใด ๆ เกิด ผลนั้น ๆ ก็จะไม่เกิด
ผลไม่ได้เกิดขึ้นตามที่เราสั่งหรือบังคับหรือตามที่เราเชื่อ แต่เป็นไปตามเหตุและปัจจัย
เช่นนี้แล้ว สิ่งทั้งหลายทั้งปวงจึงเป็น “อนัตตา” ไม่ใช่อัตตา หรือไม่ใช่ตัวตน

เช่นนี้แล้ว ไม่ว่าสิ่งทั้งหลายใด ๆ ก็ตาม จะเกิดขึ้นในชีวิตเรา
เราพึงระลึกได้ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัย
(รวมถึงกาย และจิตใจของเราเองก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัย)
ไม่ใช่ตัวตนที่เราควรเข้าไปยึดถือ และเราสั่งอะไรมันไม่ได้
แต่ถ้าต้องการให้เกิดผลดี ๆ แล้ว ก็พึงสร้างเหตุและปัจจัยที่จะทำให้เกิดผลดี
ในทางกลับกัน หากได้ทำเหตุและปัจจัยที่จะก่อให้เกิดผลไม่ดีแล้ว
ผลไม่ดีก็ย่อมจะเกิดขึ้นในเวลาที่เหตุและปัจจัยนั้น ๆ ให้ผลครับ