Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๘๓

บาปบุญกุศลสำหรับคนนับถือศาสนาแตกต่างกัน

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

phpF7En6QAM

หลายท่านอาจจะเคยอ่านพบคำถามนี้หรือมีข้อสงสัยทำนองนี้นะครับว่า
ในเมื่อแต่ละศาสนานั้นอาจจะมีคำสอนในเรื่องเป้าหมายแตกต่างกัน วิธีการปฏิบัติแตกต่างกัน
และอาจจะสอนเรื่องบุญกุศลและบาปอกุศลแตกต่างกันในบางประเด็น
ทีนี้ ถ้าคนต่างศาสนาเขาได้ประพฤติปฏิบัติตามความเชื่อในศาสนาของเขา
ว่าทำอย่างนี้แล้วถือเป็นบุญกุศลในศาสนาเขา แต่ว่าสิ่งนั้นถือเป็นบาปอกุศลในศาสนาเรา
ถามว่าเมื่อเขาทำลงไปแล้ว เขาจะได้บุญกุศลหรือบาปอกุศลกันแน่
ในทางกลับกัน ถ้าคนต่างศาสนาเขาได้ประพฤติปฏิบัติตามความเชื่อในศาสนาของเขา
ว่าทำอย่างนี้แล้วถือเป็นบาปอกุศลในศาสนาเขา แต่ว่าสิ่งนั้นถือเป็นบุญกุศลในศาสนาเรา
ถามว่าเมื่อเขาทำลงไปแล้ว เขาจะได้บาปอกุศลหรือบุญกุศลกันแน่

ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการบูชายัญที่ทำกันในสมัยอดีต
โดยบางลัทธิอาจจะมีความเชื่อว่าการนำสัตว์มาฆ่าเพื่อบูชายัญจะทำให้ได้บุญกุศล
ในขณะที่ชาวพุทธเรามีความเชื่อว่า การฆ่าสัตว์นั้นเป็นบาปอกุศล
กรณีจึงมีคำถามว่าถ้ามีคน ๆ หนึ่งเขามีความเชื่อตามลัทธินั้นแล้ว
และเขาก็เจตนาฆ่าเพื่อบูชายัญด้วยความปรารถนาบุญกุศล
ถามว่าเมื่อเขาได้ลงมือฆ่าเพื่อบูชายัญแล้ว เขาจะได้บุญกุศลไหม
หรือยกตัวอย่างอีกกรณีหนึ่ง สมมุติว่ามีศาสนาหนึ่ง เขาไม่ได้ห้ามดื่มสุรา
โดยตามความเชื่อของศาสนาเขาเห็นว่าการดื่มสุรานั้นไม่ผิดศีล และไม่ถือเป็นบาปอกุศล
ในขณะที่ชาวพุทธเรามีความเชื่อว่าการดื่มสุรานั้นผิดศีล และเป็นบาปอกุศล
กรณีจึงมีคำถามว่า ถ้ามีคน ๆ หนึ่งเขามีความเชื่อตามศาสนานั้น และเขาได้ดื่มสุราแล้ว
ถามว่าจะถือว่าเขาได้ทำบาปอกุศลไหม หรือไม่ถือว่าเป็นบาปอกุศล เป็นต้น

ในการที่เราจะตอบปัญหานี้และอธิบายกันให้เข้าใจ
ผมเห็นว่าเราควรจะแยก ๒ ประเด็นออกจากกัน
โดยประเด็นแรกคือ บุญกุศลและบาปอกุศลตามคำสอนของแต่ละศาสนา
และประเด็นที่สองคือ หลักกรรมตามธรรมชาติ

ในประเด็นแรกนั้น การพิจารณาเรื่องบุญกุศลและบาปอกุศลของแต่ละศาสนา
เราก็พึงพิจารณาไปตามคำสอนของแต่ละศาสนานั้น ๆ นะครับ
โดยเมื่อคน ๆ หนึ่งที่นับถือศาสนาหนึ่ง ๆ เขาทำตามความเชื่อของเขา
หรือทำตามคำสอนในศาสนาที่เขานับถือแล้ว
การที่เราจะพิจารณาว่าสิ่งนั้นควรจะเป็นบุญกุศลหรือเป็นบาปอกุศลในทางศาสนาของเขา
ก็พึงชี้วัดไปตามคำสอนตามศาสนาที่เขานับถือนั้น
เราจะไปนำคำสอนในศาสนาอื่นมาเป็นพิจารณาชี้วัด
การกระทำของเขาว่าการกระทำนั้นเป็นบาปหรือบุญกุศลนั้นไม่ได้
ไม่เช่นนั้นก็จะเหมือนกับว่าเรานำเอากติกากีฬาเทนนิสไปตัดสินการแข่งขันฟุตบอล
ซึ่งมันแตกต่างกัน โดยการเล่นกีฬาชนิดไหนก็พึงนำกติกาของกีฬานั้น ๆ มาชี้วัด

นอกจากนี้แล้ว การที่เราจะนำคำสอนในศาสนาหนึ่งไปตัดสินชี้วัด
การประพฤติหรือการปฏิบัติของคน ๆ หนึ่งตามคำสอนของอีกศาสนาหนึ่ง
ก็ย่อมจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกันหรือเกิดการทะเลาะกันวุ่นวายได้อีกด้วย
ฉะนั้นแล้ว ถ้าตามคำสอนของศาสนาที่เขานับถือหรือมีความเชื่อนั้น
สอนว่าทำอย่างนี้แล้วเป็นบุญกุศล เมื่อเขาได้ทำลงไปแล้ว
เราก็ย่อมถือว่าการกระทำนั้นถือเป็นบุญกุศลตามคำสอนในศาสนาของเขานั้น
ในทางกลับกันสำหรับบาปอกุศลนั้น ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันนะครับ

ในประเด็นที่สองนั้นคือเรื่องหลักกรรมตามธรรมชาติ
ในประเด็นนี้ ขอให้เราละวางเรื่องคำสอนในศาสนาต่าง ๆ ลงไปก่อน
แต่ให้เราพิจารณาถึงสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ตามธรรมชาติ ซึ่งประกอบด้วยธาตุ
ยกตัวอย่างเช่น ธาตุ ๖ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ
ถ้าน้ำน้อย น้ำก็ดับไฟไม่ได้ ถ้าน้ำมาก น้ำก็ดับไฟได้
หรือเราจุดเทียนไว้ แล้วมีลมแรงพัดมา ไฟที่เทียนก็ดับไปเพราะแรงลม
หรือมีภูเขาหินอยู่ลูกหนึ่ง โดนน้ำเซาะหรือโดนลมเซาะเป็นเวลานาน ๆ
ภูเขาก็กร่อน เสื่อมสลาย และหายไป เหลือแต่พื้นดินราบเรียบได้
หรือแม่น้ำสายหนึ่งมีน้ำผ่านมาก นำพาดินทรายและตะกอนมามาก
เมื่อเวลาผ่านนาน ๆ ไป แม่น้ำก็ตื้นเขินแล้วก็กลายเป็นพื้นดินก็ได้
หรือเวลาเกิดไฟไหม้ป่ารุนแรง จากเดิมที่เป็นป่าไม้สมบูรณ์ ก็เหลือเพียงตอตะโกก็ได้
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกหรือธาตุทั้งหลายนี้ ย่อมมีการแปรเปลี่ยนไปตามธรรมชาติ
โดยเป็นไปตามการผสมและการปรุงแต่งตามเหตุปัจจัยของสิ่งนั้น ๆ
ซึ่งเมื่อเหตุปัจจัยและธาตุต่าง ๆ มาผสมปรุงแต่งกัน ก็ทำให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ต่อไป
วนเวียนไปเรื่อยหรือเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยอย่างไม่สิ้นสุด

ยกตัวอย่างของเรื่องปัจจัยและธาตุต่าง ๆ มาผสมปรุงแต่งกัน เช่น
มนุษย์เราตั้งแต่เล็กจนโต เราโตขึ้นมาได้ด้วยอาหารและน้ำ
เลือดเนื้อร่างกายเรา และอวัยวะต่าง ๆ ก็แปรเปลี่ยนมาจากอาหารและน้ำ
ถ้าเราทานอาหารมากเกินไป ก็จะปรุงแต่งให้ร่างกายอ้วน
แต่ถ้าเราทานอาหารน้อยเกินไป ก็จะปรุงแต่งให้ร่างกายผอมโซ
ซึ่งอาหารและน้ำก็เป็นธาตุที่เกิดจากการผสมและปรุงแต่งจากธาตุต่าง ๆ เช่นกัน
ร่างกายเราก็นำธาตุจากอาหารและน้ำนั้นมาปรุงแต่งให้ร่างกายเติบโต

ยกตัวอย่างเรื่องการวนเวียนของธาตุต่าง ๆ เช่น
สมมุติว่ามนุษย์เราทานผักและผลไม้ เราทานเสร็จแล้ว เราก็ถ่ายออกมาเป็นอุจจาระ
อุจจาระของเรานั้นก็ไปเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้หรือพืชผักนำไปปรุงแต่งสังเคราะห์
แล้วก็ทำให้ต้นไม้หรือพืชผักนั้นโตขึ้น แล้วเราก็นำพืชผักหรือผลของต้นไม้นั้นมาทาน
หรือร่างกายเรานำอาหารต่าง ๆ มาจากพืชผักต่าง ๆ ทำให้ร่างกายเราเติบโต
แต่เมื่อเวลาที่เราถึงแก่ความตาย ร่างกายเราก็กลายเป็นปุ๋ยให้พืชผักนำไปใช้ต่อไป เป็นต้น

จริง ๆ แล้วในเรื่องของการผสมปรุงแต่งและวนเวียนของธาตุต่าง ๆ
ย่อมจะมีความสลับซับซ้อนมากกว่านี้มากมายนะครับ
เพียงแต่ผมยกตัวอย่างที่เราน่าจะเห็นกันได้ง่าย ๆ เพื่อความเข้าใจครับ

เมื่อเราเห็นได้แล้วดังนี้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นต่างก็ปรุงแต่งไปตามเหตุและปัจจัย
เช่น เราหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงบนพื้นคอนกรีต ต้นข้าวก็ย่อมจะไม่งอก
เพราะว่าเหตุและปัจจัยนั้นมันไม่ทำให้ข้าวงอกบนพื้นคอนกรีต
หรือเราหว่านเมล็ดแตงโมลงผืนดิน เมล็ดแตงโมก็ย่อมจะงอกขึ้นมาเป็นต้นแตงโม
โดยไม่ได้งอกโตขึ้นมาเป็นต้นข้าว เพราะมันย่อมเป็นไปตามเหตุและปัจจัยตามธรรมชาติ
ซึ่งเมื่อเหตุและปัจจัยอย่างหนึ่ง ก็จะให้ผลอย่างหนึ่ง
หากเหตุและปัจจัยเป็นอีกอย่างหนึ่ง ก็ย่อมจะให้ผลเป็นอีกอย่างหนึ่ง
โดยการที่เหตุและปัจจัยมาผสมปรุงแต่งกันเพื่อให้เกิดผลอย่างใด ๆ นั้น
ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เราสั่งการมันไม่ได้
แต่มันก็จะมีนิยามของตัวมันเองที่จะผสมปรุงแต่งกันให้เกิดผลนั้น ๆ

ยกตัวอย่างเช่น H2O คือไฮโดรเจน ๒ หน่วยมาผสมกับออกซิเจน ๑ หน่วย
แล้วก็รวมกันทำให้เกิดน้ำขึ้นมา
ดังนี้ เมื่อใดก็ตามที่เรานำไฮโดรเจน ๒ หน่วยมาผสมกับออกซิเจน ๑ หน่วย
มันก็จะทำให้เกิดน้ำขึ้น เพราะว่ามีเหตุและปัจจัยที่มันทำให้เป็นเช่นนั้นคือทำให้เกิดน้ำ
แต่ถ้าเรานำคาร์บอนไดออกไซด์ ๒ หน่วยมาผสมกับออกซิเจน ๑ หน่วย
มันก็ไม่ทำให้เกิดน้ำ เพราะว่าเหตุและปัจจัยมันไม่ทำให้เกิดน้ำ
เราไม่สามารถไปสั่งมันได้ว่า
นี่แน่ะ เรานำไฮโดรเจน ๒ หน่วยมาผสมกับออกซิเจน ๑ หน่วยแล้ว แต่อย่าให้เกิดน้ำ
และเราก็ไม่สามารถไปสั่งมันได้ว่า
นี่แน่ะ เรานำคาร์บอนไดออกไซด์ ๒ หน่วยมาผสมกับออกซิเจน ๑ หน่วยแล้ว จงกลายเป็นน้ำ
กล่าวคือมันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน คือเป็นไปตามเหตุและปัจจัยซึ่งเราสั่งไม่ได้
ถ้าเราอยากจะได้น้ำ เราก็ต้องใส่เหตุและปัจจัยคือ
ไฮโดรเจน ๒ หน่วยมาผสมกับออกซิเจน ๑ หน่วยเข้าไป
แต่ถ้าเราไปใส่คาร์บอนไดออกไซด์ ๒ หน่วยผสมกับออกซิเจน ๑ หน่วย เราก็จะไม่ได้น้ำ

ทีนี้ เราจะย้อนกลับมาถึงเรื่องบุญกุศลและบาปอกุศลนะครับ
ในส่วนของบุญกุศลและบาปอกุศลนั้น ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน
กล่าวคือบุญกุศลและบาปอกุศลก็ย่อมจะเกิดและเป็นไปตามเหตุและปัจจัยตามธรรมชาติ
ขอย้ำว่า ณ ขณะนี้เราไม่ได้คุยถึงบุญกุศลและบาปอกุศลตามคำสอนของศาสนานะครับ
แต่เราคุยถึงบุญกุศลและบาปอกุศลตามหลักธรรมชาติ
บุญกุศลและบาปอกุศลตามหลักธรรมชาติคืออะไร?
เราควรจะต้องให้นิยาม ๒ คำนี้เสียก่อน
โดยผมขอให้นิยามว่า “บุญกุศล” คือ สิ่งที่ทำลงไปแล้ว นำสุขมาให้ หรือนำผลดีมาให้
ส่วน “บาปอกุศล” คือสิ่งที่ทำลงไปแล้ว นำทุกข์มาให้ หรือนำผลร้ายมาให้

บุญกุศลและบาปอกุศลก็ย่อมเป็นไปตามเหตุและปัจจัยตามธรรมชาติเช่นกัน
ถ้าเราใส่เหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดบุญกุศลแล้ว
บุญกุศลก็จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะเป็นไปตามเหตุและปัจจัย
แต่หากเราใส่เหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดบาปอกุศลแล้ว
บาปอกุศลก็จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะเป็นไปตามเหตุและปัจจัยเช่นกัน
โดยลักษณะทำนองเดียวกับไฮโดรเจนรวมกับออกซิเจนที่ทำให้เกิดน้ำนะครับว่า
เราสั่งมันไม่ได้ เราบังคับมันไม่ได้ แต่มันจะเป็นไปตามเหตุและปัจจัยตามธรรมชาติ

ฉะนั้นแล้ว ถ้าเราใส่เหตุและปัจจัยที่เป็นบุญกุศล มันก็จะเกิดบุญกุศล
แต่ถ้าเราใส่เหตุและปัจจัยที่เป็นบาปอกุศล มันก็จะเกิดบาปอกุศล
กรณีบุญกุศลและบาปอกุศลไม่ได้เกิดขึ้นตามความเชื่อ แต่เป็นไปตามเหตุและปัจจัย
แม้ว่าเราจะเชื่อว่าเมื่อเราทำเหตุและปัจจัยนี้แล้วจะส่งผลให้เกิดบุญกุศลก็ตาม
แต่ถ้าตามธรรมชาติแล้ว มันจะทำให้เกิดบาปอกุศล ผลก็คือจะเกิดบาปอกุศล
เพราะว่าธรรมชาตินั้นปรุงแต่งผลให้เอง มันไม่ได้เป็นไปตามความเชื่อของเรา เราสั่งมันไม่ได้
ในทางกลับกัน แม้ว่าเราเชื่อว่าเมื่อเราทำเหตุและปัจจัยนี้แล้ว จะส่งผลให้เกิดบาปอกุศลก็ตาม
แต่ถ้าตามธรรมชาติแล้ว มันจะทำให้เกิดบุญกุศล ผลก็คือจะเกิดบุญกุศล
เพราะว่าธรรมชาตินั้นปรุงแต่งผลให้เอง มันไม่ได้เป็นไปตามความเชื่อของเรา เราสั่งมันไม่ได้
เราห้ามมันไม่ได้ และเราก็บังคับมันไม่ได้ มันย่อมจะเป็นไปตามเหตุและปัจจัย

ถึงตรงนี้แล้ว ผมจะขอย้อนกลับไปอธิบายถึงตัวอย่างในเรื่องการฆ่าเพื่อบูชายัญข้างต้นนะครับ
ในระหว่างที่เราจะฆ่าสัตว์นั้น จิตใจของเราก็จะมีความพยาบาท คือจะฆ่าสัตว์อื่น
สัตว์อื่นที่กำลังจะถูกฆ่านั้น ก็มีความทรมาน มีความเคียดแค้น ทุรนทุราย มีความทุกข์
ในเมื่อเราใส่เหตุและปัจจัยเหล่านี้ลงไปแล้ว ถามว่าผลที่เกิดขึ้นควรจะดีหรือไม่ดี?
หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ในระหว่างที่เราดื่มสุรานั้น จิตใจของเราก็หมองมัว
สติสัมปชัญญะก็เลือนราง นอกจากนี้แล้ว สุรายังไปทำลายตับ และร่างกายในส่วนอื่น ๆ ด้วย
ในเมื่อเราใส่เหตุและปัจจัยเหล่านี้ลงไปแล้ว ถามว่าผลที่เกิดขึ้นควรจะดีหรือไม่ดี?
ซึ่งผลที่จะเกิดขึ้นตามมาจะดีหรือไม่ดีนั้น มันไม่ได้เป็นไปตามความเชื่อครับ
แต่เป็นไปตามเหตุและปัจจัยที่เราได้ใส่ลงไป แล้วเหตุและปัจจัยก็ไปปรุงแต่งผลออกมา

เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าเราต้องการให้เกิดบุญกุศลอย่างแท้จริง และเลี่ยงบาปอกุศลอย่างแท้จริง
เราก็พึงจะเชื่อถือและปฏิบัติตามคำสอนที่สอดคล้องกับกฎแห่งธรรมชาติ
ยกตัวอย่างว่า ถ้าใครจะมาสอนเราว่าหว่านเมล็ดข้าวลงไปแล้ว จะทำให้งอกมาเป็นต้นแตงโม
ถามว่าเราสมควรจะเชื่อเขาไหม?
ในทำนองเดียวกัน ถ้ามีใครมาสอนเราว่าให้เราไปฆ่าคนอื่น ไปทำร้ายคนอื่น
ไปโกงคนอื่น ไปเป็นชู้กับสามีภรรยาคนอื่น ไปโกหกหลอกลวงคนอื่น
แล้วจะส่งผลให้เกิดบุญกุศลหรือสิ่งดี ๆ กับเราในอนาคต แล้วเราสมควรจะเชื่อเขาไหม?

หากเราจะพิจารณาตามพระธรรมคำสอนแล้ว
ใน “ภูมกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค) นั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านได้ทรงสอนไว้ว่า
การที่บุคคลจะไปสู่สุคติโลกสวรรค์ หรือเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกนั้น
ย่อมเป็นไปตามสิ่งที่เขาได้ทำไว้ หรือเป็นไปตามกรรม
กรณีไม่ได้ขึ้นอยู่กับการสวดวิงวอนตามความเชื่อตนเอง
เปรียบเสมือนว่าเรานำก้อนหินใหญ่ทิ้งลงในห้วงน้ำ ก้อนหินใหญ่นั้นก็ย่อมจม
แม้ว่าเราจะเชื่อว่าก้อนหินจะลอย หรือจะสวดอ้อนวอนให้ก้อนหินลอยก็ตาม มันก็จม
ในทางกลับกัน ถ้าเรานำเนยใสหรือน้ำมันไปทิ้งลงห้วงน้ำ เนยใสหรือน้ำมันนั้นก็ย่อมลอย
แม้ว่าเราจะเชื่อว่าเนยใสหรือน้ำมันจะจม หรือเราสวดอ้อนวอนให้เนยใสหรือน้ำมันนั้น
จมลงใต้น้ำก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันก็ลอย และมันไม่จม
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=%C0%D9%C1%A1%CA%D9%B5%C3&book=9&bookZ=33&original=1

บางท่านอาจจะบอกว่า ถ้าผลทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นนั้น มันเป็นไปตามเหตุและปัจจัยจริง ๆ
แล้วทำไมตนเองทำดีอยู่ตั้งนานแล้ว แต่ไม่เห็นเกิดอะไรดี ๆ ในชีวิตตนเองบ้าง
ในขณะที่ก็เห็นคนอื่นบางคนเขาทำชั่วเยอะแยะ แต่เขาก็ได้อะไรดี ๆ เยอะแยะ
ไม่เห็นคนที่ทำชั่วแล้ว ได้รับผลชั่วของตนเองบ้างเลย
ในเรื่องนี้เราก็พึงเข้าใจว่าเหตุและปัจจัยนั้นมันย่อมต้องใช้เวลาผสมปรุงแต่งที่จะให้ผลด้วย
กรณีไม่ใช่ว่าทำอะไรแล้วจะให้ผลได้ทันทีทันใด
ยกตัวอย่างว่ามีคนนำเอาผักบุ้ง กระเทียม พริก น้ำปลา น้ำเปล่า น้ำตาล เตาไฟ
กระทะ ตะหลิว ถ่านหุงข้าว ฯลฯ ให้เรา
แล้วบอกเราว่าให้เราทำผัดผักบุ้งไฟแดงให้เขาภายในเวลา ๕ วินาที (วินาทีนะครับ ไม่ใช่นาที)
ถามว่าเราจะทำได้ไหมครับ?
เราก็คงจะตอบว่าเราทำไม่ทันใช่ไหม เพราะแค่จะล้างผัก หั่นผัก ปอกกระเทียม
หรือจุดเตาไฟ เรายังทำไม่ทันเลย ส่วนขั้นตอนที่ว่าเอากระทะวางและลงมือผัดยิ่งห่างไกล
ในการที่เหตุและปัจจัยจะปรุงแต่งเพื่อให้ผลนั้น เขาก็ย่อมใช้เวลาของเขาเช่นกัน

อนึ่ง ผมอธิบายในเรื่องการใช้เวลาเพื่อปรุงแต่งข้างต้นบนข้อสันนิษฐานว่า
เราใส่เหตุและปัจจัยสอดคล้องตรงกับผลที่จะเกิดนะครับ
ถ้าเราใส่เหตุและปัจจัยผิด หรือไม่สอดคล้องตรงกับผลแล้ว ก็ย่อมจะไม่เกิดผลนั้น ๆ
ยกตัวอย่างเช่น หากคนอื่นเขาจะให้เราทำผัดผักบุ้งไฟแดง แต่เขาเอามะละกอ ยางรถยนต์
เปลือกทุเรียน ถังขยะ สีทาบ้าน และต้นกล้วยมาให้เรา
ถามว่าเราจะนำสิ่งเหล่านี้มาทำผัดผักบุ้งไฟแดงให้เขาได้อย่างไร?
ก็ตอบว่าทำไม่ได้นะครับ เขาก็จะได้อย่างอื่นจากเราไปแทน แต่ไม่ใช่ผักบุ้งไฟแดง
เพราะฉะนั้นเหตุและปัจจัยมันจะต้องสอดคล้องตรงกับผลที่จะเกิดขึ้นด้วย

ขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมในเรื่องของเหตุและปัจจัยที่ต้องใช้เวลาปรุงแต่งนะครับ
เช่น กว่าเราจะทานอาหารตั้งแต่เป็นเด็กที่ตัวเล็ก ๆ
จนโตมาเป็นผู้ใหญ่ตัวโต ๆ ได้ ก็ย่อมใช้เวลานานมาก
กรณีไม่ใช่ว่าเราจับเอาอาหารยัดให้เด็กกินเยอะ ๆ ในคราวเดียว
แล้วเด็กนั้นก็จะสามารถตัวโตเป็นผู้ใหญ่ได้ในทันทีทันใด
หรือหากเราหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงในนา ก็ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าที่จะโตเป็นต้นข้าว
กรณีไม่ใช่ว่าเราหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงไปแล้ว เราใส่ปุ๋ยและน้ำมากมายในคราวเดียว
แล้วจะให้มันโตเป็นต้นข้าวและออกรวงข้าวได้ในทันทีทันใด

ในขณะเดียวกัน เราก็พึงจะยอมรับว่าเราทุกคนมีผลกรรมของเดิม ซึ่งยังให้ผลอยู่
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่ามีบึงน้ำขนาดใหญ่และลึกแห่งหนึ่ง
เราต้องการถมให้บึงน้ำดังกล่าวหายไป กลายเป็นผืนดิน เราก็นำดินและทรายไปถม
พอเราเพิ่งขนดินและทรายไปถมได้ ๓ ถัง แล้วเราก็บ่นว่าทำไมจึงถมบึงน้ำไม่เต็มเสียที
แล้วเราก็เข้าใจว่าไม่มีทางที่จะถมบึงน้ำแห่งนี้ให้เต็มกลายเป็นผืนดินได้
หรือสมมุติว่ามีภูเขาลูกใหญ่ลูกหนึ่งซึ่งมีลมพัดผ่านอยู่ตลอด
ลมนั้นก็นำพาเอากรวดทรายร่วงหล่นจากภูเขา หรือเซาะหินภูเขาให้กร่อนทีละน้อย ๆ
เรานั่งดูภูเขาได้อยู่เพียง ๕ นาทีแล้วเราก็สรุปว่าลมไม่มีทางทำอะไรภูเขาลูกนี้ได้
อันนั้นเราใช้เวลาน้อยเกินไปที่จะพิจารณาได้ข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวครับ

ถ้าเปรียบกับว่ากรรมไม่ดีของเราที่ทำไว้เดิมเป็นเสมือนภูเขา ส่วนกรรมดีของเราเป็นลม
มันก็ต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าที่ภูเขาลูกใหญ่นั้นจะสลายหมดไป หรือมีขนาดเล็กลง
หรือถ้าเปรียบกับว่ากรรมดีของคนอื่นที่ทำไว้เป็นเหมือนภูเขาลูกใหญ่นั้น
ส่วนกรรมไม่ดีของเขาเป็นลม มันก็ต้องใช้เวลาในทำนองเดียวกันนะครับ
เพราะฉะนั้นแล้ว เราอย่าเพิ่งรีบไปด่วนตัดสินว่าผลกรรมมันไม่มีจริง หรือกรรมไม่ให้ผล
เพราะจริง ๆ แล้ว เราก็สามารถเข้าใจได้ด้วยตนเองในขณะนี้อยู่แล้วว่า
การที่เราถมดินและทรายลงไปในบึงนั้น บึงจะต้องตื้นเขินขึ้นบ้าง
(จะเห็นด้วยตาได้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่มันต้องตื้นเขินขึ้นตามขนาดสิ่งที่ถมลงไป)
และการที่ลมพัดพากรวดทรายไปจากภูเขา และเซาะหินนั้น ภูเขาก็ต้องกร่อนลงบ้าง
เพียงแต่ว่าบึงน้ำมันตื้นเขิน หรือภูเขามันกร่อนลง ไม่ทันใจเราเท่านั้นเอง

ทีนี้ ถามว่าถ้าอยากจะให้บึงน้ำตื้นเขินเร็วขึ้น และให้ภูเขากร่อนเร็วขึ้น เราควรทำอย่างไร?
ตอบว่าเราก็ถมดินและทรายให้มากขึ้น เร็วขึ้น หรือต้องให้ลมพัดแรงขึ้น บ่อยขึ้น
นั่นก็คือว่า ถ้าเราต้องการให้เกิดสิ่งดี ๆ ในชีวิตเร็ว ๆ แล้ว
เราก็พึงทำบุญกุศลที่ได้อานิสงส์สูง ๆ ทำทันที และทำบ่อย ๆ ก็จะให้ผลเร็วขึ้นนั่นเอง
แต่ก็อย่างที่เรียนแล้วนะครับว่า ต้องทำให้ถูกเหตุและปัจจัยนะครับ
ไม่ใช่ไปหลงเชื่อคนโน้นคนนี้ แล้วก็จะกลายตกเป็นเหยื่อให้คนอื่นเขาหลอกลวงเอาได้
ดังนั้นเรื่องเหล่านี้ก็ต้องใช้เวลาศึกษา ใช้ปัญญา และใช้เหตุผลครับ

โดยสรุปนะครับ ในเรื่องบาปบุญกุศลสำหรับคนที่นับถือศาสนาแตกต่างกันนั้น
เราจะนำคำสอนของศาสนาหนึ่งไปฟันธงปรับถูกผิดสำหรับ
การกระทำตามคำสอนต่างศาสนา โดยคนที่นับถือศาสนาแตกต่างกันไม่ได้
เพราะเขาก็ย่อมจะถือว่า บุญกุศลและบาปอกุศลนั้นเป็นไปตามคำสอนในศาสนาที่เขาเชื่อ
แต่ไม่ว่า เขาจะเชื่ออย่างไร หรือว่าเราจะเชื่ออย่างไรก็ตาม
ย่อมไม่ได้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงผลที่จะเกิดขึ้นจากเหตุและปัจจัยที่เขาได้ทำลงไปนั้น
เพราะว่าเหตุและปัจจัยนั้น ย่อมจะปรุงแต่งไปตามธรรมชาติ โดยไม่เกี่ยวกับความเชื่อ

ทีนี้ ถ้าเราได้ไปเกิดอยู่ในยุคสมัยที่มีแต่คนไม่รู้ มีแต่คนหลงเข้าใจว่าการทำบาป คือการทำบุญ
ทุกคนก็มุ่งแต่สร้างเหตุและปัจจัยแห่งบาปอกุศล โดยไม่ทราบความจริงตามธรรมชาติแล้ว
เราก็จะได้รับผลกรรมแห่งบาปอกุศลนั้นตามเหตุและปัจจัย ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ
แต่ในยุคสมัยนี้ที่ยังมีพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าคงอยู่
ท่านได้ทรงสอนให้เราได้ทราบถึงเหตุและปัจจัยต่าง ๆ รวมทั้งผลแห่งเหตุและปัจจัยนั้นไว้แล้ว
เหลือเพียงอยู่ที่เราว่าจะมุ่งใช้เวลาศึกษาพระธรรมคำสอนของท่านเพียงใด
และเราจะมุ่งปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของท่านตามสมควรแก่ธรรมหรือไม่