Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๘๒

เตรียมเสบียง

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dhammajaree

ท่านผู้อ่านที่เคยอ่านบทความเพื่อนธรรมจารีในตอนเก่า ๆ อาจจะจำได้นะครับว่า
ผมเคยเล่าถึงคุณอาช่างตัดผมท่านหนึ่ง ซึ่งคุณพ่อผมได้ตัดผมกับคุณอามาตลอด
และเมื่อคุณพ่อผมได้ถึงแก่กรรมแล้ว ผมก็รับช่วงไปตัดผมกับคุณอาเป็นประจำ
โดยก็จะจ่ายค่าตัดผมให้มากกว่าปกติ เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้คุณอาตามสมควร
แต่ช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้ ผมไม่ได้ไปตัดผมกับคุณอา
เพราะก่อนจะไปที่ร้านตัดผมนั้น ผมได้โทรศัพท์ไปสอบถามเวลาสะดวกของคุณอา
จึงได้ทราบว่าคุณอาเข้าโรงพยาบาล เนื่องจากน้ำท่วมปอด
ผ่านไปอีก ๒ สัปดาห์ คุณอาออกจากโรงพยาบาล และมาทำงานตามปกติแล้ว
ผมจึงได้ไปตัดผมกับคุณอาที่ร้านตัดผมเช่นเดิม

ระหว่างที่ตัดผมนั้น ผมก็ได้คุยเรื่องธรรมะให้คุณอาฟังเช่นเคยนะครับ
โดยได้ถามคุณอาว่า “ที่ป่วยเป็นโรคน้ำท่วมปอดนี้ ดีหรือไม่ดี?”
คุณอาตอบว่า “ไม่ดีน่ะสิ ป่วยแล้วก็ต้องไปนอนที่โรงพยาบาล ทำงานไม่ได้ ไม่มีรายได้”
ผมจึงอธิบายว่า แต่ถ้าเราจะมองในแง่ดีของการป่วยครั้งนี้ ก็คือว่า
เขาได้มาเตือนเราแล้ว ให้เราตระหนักว่าชีวิตเราเป็นของไม่เที่ยง คนเราต้องตายทุกคน
และชีวิตเราก็เหลือเวลาอีกไม่มากแล้ว จึงควรจะต้องเตรียมตนเองให้พร้อมเสียก่อน
เสมือนกับคนที่จะต้องออกเดินทางไกล ก็ต้องเตรียมเสบียงสำหรับตนให้พร้อมเสียก่อน

ผมถามว่า “ถ้าสมมุติว่าเราออกเดินทางไกล โดยไม่ได้เตรียมเสบียงและของอื่น ๆ ไว้เลย
เราไปตัวเปล่า ๆ โดยไม่เตรียมอะไรไปด้วยเลย เราจะสบายหรือลำบาก?”
คุณอาตอบว่า “ลำบากสิ ไม่มีอะไรติดตัวไปเลย ก็ไม่มีอะไรกิน”
ผมจึงอธิบายต่อไปว่า เวลาที่เราจะตายก็เหมือนกันนะ
ถ้าเราไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่จะตายแล้ว
พอถึงเวลาตายจริง ๆ แล้ว เราก็ลำบาก โน่นก็ยังไม่ได้ทำ นี่ก็ยังไม่พร้อม
จะไปไหนก็ไม่รู้ ไปแล้วเป็นยังไงก็ไม่รู้ และก็ไม่มีอะไรติดตัวไปด้วยเลย

การเตรียมความพร้อมของเราที่ดีที่สุดก็คือ ให้ระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ๆ
ว่าคนเรานั้นตายได้ทุกเวลา ตายเมื่อไรก็ได้ ควรจะเตรียมพร้อมที่จะตายไว้ก่อน
สิ่งใดที่สมควรทำ แล้วก็ยังไม่ได้ทำ เราก็พึงรีบหาโอกาสทำให้เสร็จเรียบร้อย
ของอะไรที่ไม่จำเป็นต้องใช้ หรือมีแล้วไม่ได้ใช้ เราก็ไม่จำเป็นต้องสะสมไว้เยอะแยะ
แต่พึงแบ่งปัน หรือมอบให้คนอื่น ๆ ที่เขาจำเป็นตามที่เหมาะสม
โดยเราควรพยายามทำตัวให้เบา ๆ เข้าไว้ ไม่ไปแบกภาระหรือทรัพย์สินอะไรไว้มากมาย

เมื่อเวลาที่เราตายนั้น สิ่งที่จะนำติดตัวเราไปได้ก็คือ บุญกุศลและบาปอกุศล
บุญกุศลเป็นสิ่งที่นำความสุขมาให้ ส่วนบาปอกุศลเป็นสิ่งที่นำความทุกข์มาให้
เพราะฉะนั้นแล้ว เราก็พึงหลีกเลี่ยงการทำบาปอกุศล แต่ให้มุ่งทำบุญกุศลให้มาก
เพราะบุญกุศลที่ทำไว้นี้ ย่อมนำมาซึ่งความสุขในปัจจุบัน และในอนาคต
การทำบุญกุศลในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเพียงการทำทานเท่านั้น
แต่หมายรวมถึงการรักษาศีล และการเจริญภาวนาด้วย
ดังนั้นแล้ว ผมจึงแนะนำให้คุณอาหมั่นทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา
หากมีเวลาว่างเมื่อไร ก็ให้หมั่นระลึกรู้ลมหายใจและพุทโธเข้าไว้
เวลาเราพุทโธนี้ เราไม่ต้องเสียเงินให้ใคร ไม่ต้องเสียอะไรให้ใคร เราทำได้ด้วยตัวเราเอง
เมื่อเราได้ทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาตามที่สมควรแก่ธรรมแล้ว
เราก็จะไม่กลัวที่จะตายแล้ว เพราะว่าเรานั้นได้เตรียมเสบียงของเราไว้พร้อมแล้ว

ผู้คนจำนวนมากในโลกนี้ กลัวว่าเมื่อแก่แล้วจะทำอะไรไม่ไหว ก็จะลำบาก
จึงมักจะทุ่มเทเตรียมพร้อมไว้สำหรับยามแก่ชรา
โดยวางแผนสะสมเงินทองทรัพย์สินไว้มากมาย เผื่อเวลาที่แก่ชราแล้ว จะได้มีเงินใช้สบาย ๆ
แต่คนจำนวนมากนั้น กลับไม่คิดถึงเวลาตายว่า เมื่อตายแล้วจะมีเสบียงอะไรติดตัวไปบ้าง
ทั้ง ๆ ที่คนเรานั้นอาจจะตายก่อน โดยที่ยังไม่ทันแก่ชราถึงขนาดที่ทำอะไรไม่ไหวก็ได้

คุณอาฟังแล้วก็บอกว่า “อย่างนี้ เตรียมตัวก็ลำบากเหมือนกันนะ ไม่เตรียมตัวน่าจะสบายกว่า”
ผมจึงบอกว่า “ถ้าไม่เตรียมตัวสิ จะลำบากมากกว่านะครับ
เคยได้ยินคำกล่าวไหมครับว่า ‘ปวดอุจจาระแล้วค่อยขุดส้วม’
ถามว่าเรารอให้ถึงเวลาปวดอุจจาระเสียก่อน แล้วค่อยมาเริ่มขุดส้วม มันจะทันไหม”
คุณอาตอบว่า “ไม่ทันล่ะ”
ผมถามต่อไปว่า “อย่างเวลาอุจจาระออกมาแล้ว เราจะจับมันยัดกลับเข้าไปในก้นได้ไหม”
คุณอาตอบว่า “ไม่ได้สิ มันออกมาแล้ว ก็จับยัดกลับเข้าไปไม่ได้หรอก”
ผมถามว่า “แล้วอย่างนี้ มันก็จะเลอะเทอะไปหมด แล้วมันลำบากไหมล่ะครับ”
คุณอาตอบว่า “ลำบากสิ”
ผมถามว่า “อย่างนี้ เราควรขุดส้วมเตรียมพร้อมไว้ก่อนไหม”
คุณอาตอบว่า “ต้องขุดเตรียมพร้อมไว้ก่อน”
ผมจึงสรุปว่า “ทำนองเดียวกันนะครับ เราทุกคนก็ต้องตายใช่ไหม
ฉะนั้นเราก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมไว้ก่อน ต้องเตรียมเสบียงไว้ก่อน เตรียมแล้วจะสบายกว่า”

พวกเราทุกคนก็พึงเตรียมเสบียงไว้เช่นกันนะครับ
ผมนึกถึงพระสูตรหนึ่งซึ่งมีเทวดาองค์หนึ่งได้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า
เวลาที่เรือนถูกไฟไหม้นั้น เจ้าของเรือนก็พึงนำสิ่งของที่สำคัญหรือมีค่าติดตัวไป
สิ่งใด ๆ ที่เจ้าของเรือนไม่สามารถนำติดตัวออกไปได้แล้ว ก็ย่อมไหม้อยู่ภายในเรือนนั้น
ฉะนั้น สิ่งที่เจ้าของเรือนสามารถนำติดตัวออกไปได้ ย่อมเป็นประโยชน์แก่เขาในภายหน้า
ส่วนของที่ไม่สามารถนำติดตัวออกไปได้ ย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่เขาในภายหน้า
เปรียบเทียบกับหมู่สัตว์ทั้งหลาย (รวมทั้งมนุษย์เราด้วย) ซึ่งกำลังถูกชรา และมรณะเผาอยู่
สิ่งที่เราสามารถนำติดตัวไป เพื่อเป็นประโยชน์ในภายหน้าก็คือ บุญกุศล
เราทั้งหลายจึงควรสร้างบุญกุศลเอาไว้

ทรัพย์สินทั้งหลายใด ๆ ที่เราตั้งใจจะให้หรือถวายเพื่อทำทานนั้น
ตราบใดที่ยังไม่ได้ให้ หรือยังไม่ได้ทำทานออกไป
ตราบนั้น ทานนั้นก็ยังไม่ปลอดภัย เพราะโจรยังปล้นได้ พระราชายังริบได้
(ในยุคปัจจุบันคงต้องบอกว่า “หน่วยงานรัฐยังริบได้”) ไฟยังไหม้ได้ และยังสูญหายได้
แต่หากได้ให้ทรัพย์สินนั้นเป็นทานไปแล้ว บุญกุศลดังกล่าวนั้น โจรปล้นไม่ได้
พระราชาริบไม่ได้ ไฟไหม้ไม่ได้ และสูญหายไม่ได้ โดยบุญกุศลนั้นก็ตามติดเราไปครับ
(กินททสูตร พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=15&A=899