Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๘๑

เรื่องของคนนอนไม่หลับ

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

phpeQEx6gAM

เมื่อ ๒ สัปดาห์ก่อน มีญาติธรรมท่านหนึ่งได้เล่าเรื่องปัญหานอนไม่หลับให้ผมฟัง
โดยญาติธรรมท่านนี้มีปัญหาว่า เขาตื่นขึ้นมาปัสสาวะกลางดึก แล้วบางทีก็นอนไม่หลับ
ญาติธรรมท่านนี้เจริญสติภาวนาเป็น เขาทราบว่าที่นอนไม่หลับนั้น เพราะตื่นขึ้นมาแล้วฟุ้งซ่าน
ทีนี้ เมื่อญาติธรรมท่านนี้ตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อปัสสาวะแล้ว
พอตื่นปุ๊บ เขาก็กลัวว่าจะฟุ้งซ่าน เขาก็เลยเพ่งไว้ทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ฟุ้งซ่าน
ผมถามว่า ถ้าเราไม่เพ่ง แล้วพยายามดูจิตใจไปตามปกติธรรมดาไม่ได้หรือ
เขาตอบว่า ไม่ได้ เดี๋ยวถ้ามันฟุ้งซ่านแล้ว จะนอนไม่หลับ จะยิ่งแย่ไปกันใหญ่

ผมจึงแนะนำว่า เราน่าจะแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุของเรื่องก่อน
โดยปัญหาของเราก็คือว่า เราตื่นขึ้นมาปัสสาวะในกลางดึก
แล้วเราก็เลยนอนต่อไม่ได้ หรือนอนไม่หลับ เพราะว่าตื่นขึ้นมาแล้วฟุ้งซ่าน
เราจึงควรแก้ไขปัญหาตั้งแต่แรกว่า ทำอย่างไรเราจึงจะไม่ต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะในกลางดึก?
วิธีการก็คือช่วงเวลาสัก ๒ – ๓ ชั่วโมงก่อนจะเข้านอนนั้น เราไม่ควรดื่มน้ำเยอะ
และช่วงเวลาที่กำลังเข้านอนนั้น เราไม่ควรดื่มน้ำเลย
นอกจากนี้ เราควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเข้านอน
ถ้าเราไม่สร้างเหตุให้ต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะกลางดึกแล้ว
ก็จะช่วยลดหรือแก้ไขปัญหาการตื่นกลางดึกขึ้นมาปัสสาวะนี้ได้

อย่างไรก็ดี คนที่นอนไม่หลับนั้นไม่ได้เป็นเพราะตื่นขึ้นมากลางดึกเสมอไป
แต่อาจจะนอนไม่หลับตั้งแต่หัวค่ำเลยก็ได้ คือพอเริ่มเข้านอน ก็นอนไม่หลับตั้งแต่แรกแล้ว
ซึ่งหากเรานอนไม่หลับตั้งแต่แรกคือตั้งแต่เริ่มเข้านอนเลย
เราก็พึงพิจารณาหาสาเหตุอื่น ๆ ว่าเกิดจากอะไร
เช่น บางท่านนอนกลางวันเยอะ พอมาถึงเวลากลางคืน ก็เลยนอนไม่หลับ
บางท่านได้นอนพักช่วงเย็นหรือช่วงหัวค่ำ พอจะเข้านอน ก็นอนไม่หลับ
บางท่านทานกาแฟ หรือเครื่องดื่มชูกำลังต่าง ๆ แล้วก็ทำให้นอนไม่หลับ
บางท่านทานอาหารเยอะเกินแล้วทำให้แน่น ก็เลยนอนไม่หลับ
บางท่านออกกำลังกายช่วงหัวค่ำทำให้ร่างกายตื่นตัว แล้วก็นอนไม่หลับ
บางท่านฝึกนอนดึกจนร่างกายชิน พอจะเข้านอนหัวค่ำ ก็นอนไม่หลับ
บางท่านได้ไปคลุกคลีกับคนอื่น ๆ ในเวลากลางวันหรือตอนเย็น แล้วก็ทะเลาะกัน
หรือพูดจาบางอย่างไม่เหมาะสม หรือพูดจาผิดไป ก็ทำให้คิดมาก นอนไม่หลับ เป็นต้น
ซึ่งในส่วนนี้ ก็เกิดได้จากสาเหตุหลากหลายแตกต่างกัน โดยแต่ละท่านอาจจะไม่เหมือนกัน
อย่างบางท่านอิ่มมากเกิน ก็นอนไม่หลับ แต่บางท่านหิวมาก ก็นอนไม่หลับ ไม่เหมือนกัน
เราก็พึงพิจารณาว่าสาเหตุของเราเกิดจากอะไร แล้วก็พึงแก้ไขไม่ทำเหตุนั้น ๆ นะครับ

ในเรื่องของกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้หายง่วงนั้น ใน “โมคคัลลานสูตร” ได้เล่าว่า
(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนพระมหาโมคคัลลานะถึงวิธีการแก้ง่วงว่า
“เมื่อเธอมีสัญญาอย่างไรอยู่ ความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้
เธอพึงทำไว้ในใจซึ่งสัญญานั้นให้มาก ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้
ถ้าเธอยังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงตรึกตรองพิจารณาถึงธรรมตามที่ตนได้สดับแล้ว
ได้เรียนมาแล้วด้วยใจ ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้
ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงสาธยายธรรมตามที่ตนได้สดับมาแล้ว
ได้เรียนมาแล้วโดยพิสดาร ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้
ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงยอนช่องหูทั้งสองข้าง เอามือลูบตัว
ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้
ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงลุกขึ้นยืน เอาน้ำล้างตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย
แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์ ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้
ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงทำในใจถึงอาโลกสัญญา ตั้งความสำคัญในกลางวันว่า
กลางวันอย่างไร กลางคืนอย่างนั้น กลางคืนอย่างไร กลางวันอย่างนั้น มีใจเปิดเผยอยู่ฉะนี้
ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้
ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา
สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่คิดไปในภายนอก ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้ ฯลฯ”
(แล้วทรงสอนต่อไปว่าถ้ายังละไม่ได้ ก็พึงทำสีหไสยา คือ นอนตะแคงเบื้องขวา
ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้น
พอตื่นแล้วพึงรีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า เราจักไม่ประกอบความสุขในการนอน
ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการเคลิ้มหลับ)
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=1873&Z=1938

ฉะนั้นแล้ว ถ้าเรากำลังนอนไม่หลับ เราก็ไม่ควรทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวในโมคคัลานะสูตร
เพราะว่าทำแล้วหายง่วง แต่ผมไม่ได้บอกว่าไม่ให้ทำเลยนะครับ คือให้ทำได้ในเวลาอื่น ๆ
ที่เราไม่ได้มุ่งหมายจะนอน หรือทำในเวลาที่เราง่วงและต้องการให้หายง่วง ก็พึงทำครับ

ถ้าเราจะลองพิจารณากรณีตัวอย่างเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้นอนไม่หลับในพระสูตรต่าง ๆ
ก็จะพบว่ามีหลายกรณีเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น
ใน “ปราภวสูตรที่ ๖” ได้อธิบายทางที่ทำให้คนเสื่อม โดยทางหนึ่งในหลาย ๆ ทางนั้น ได้แก่
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต)
ชายแก่ได้หญิงรุ่นสาวมาเป็นภริยา ย่อมนอนไม่หลับ เพราะความหึงหวงหญิงรุ่นสาวนั้น
โดยข้อนี้ก็เป็นทางที่ทำให้คนเสื่อมได้
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=7218&Z=7291

ใน “โตเทยยเถราปทานที่ ๘” ได้เล่าถึงอดีตชาติของท่านพระโตเทยยเถระ
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑) ว่า
ในสมัยหนึ่ง ท่านได้เป็นพระราชาพระนามว่า “วิชิตชัย” เป็นผู้กล้าหาญ
ต่อมาได้เกิดปัญหาขึ้นในปัจจันตชนบท ท่านจึงได้นำกองทหารเข้าไปทำสงคราม
หลังจากชนะสงครามแล้ว ท่านได้สั่งประหารพระราชาและทหารพลรบของฝ่ายที่พ่ายแพ้
จากนั้น ท่านนอนอยู่บนที่นอนแล้วบังเกิดเห็นไฟนรก เห็นพวกนายนิริยบาลขู่เราด้วยหลาว
ทำให้นอนไม่หลับตลอดวันหนึ่งคืนหนึ่ง
ท่านเห็นว่าความมัวเมาในราชสมบัติและทรัพย์สินต่าง ๆ ไม่สามารถช่วยท่านได้
ท่านจึงสละราชสมบัติทั้งหมด และออกบวชเป็นบรรพชิต
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=32&A=9267&Z=9352

ใน “อุมมาทันตีชาดก” ได้เล่าถึงอดีตชาติของพระโพธิ์สัตว์
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒) ว่า
ในสมัยหนึ่ง พระโพธิ์สัตว์เป็นพระราชาในแคว้นสีวี
โดยในแคว้นนั้น มีบุตรสาวของท่านติริฏิวัจฉเศรษฐี ชื่อว่า “นางอุมมาทันตี”
เธอมีรูปร่างสวยยิ่งนัก เลอเลิศด้วยความงาม ประกอบด้วยลักษณะอันงดงาม
ในเวลาเธอมีอายุได้ ๑๖ ปี เธอมีผิวพรรณเกินล้ำหมู่มนุษย์ งดงาม น่าดูน่าชม ปานเทพยดาชั้นฟ้า
พวกปุถุชนทั้งหลายที่พบเห็นเธอจะไม่สามารถจะดำรงสติอยู่ได้ ตกเป็นผู้เมาด้วยกิเลส
เหมือนเมาแล้วด้วยน้ำเมา โดยไม่สามารถจะตั้งสติได้
ต่อมา นางอุมมาทันตีนั้นได้แต่งงานเป็นภรรยาของ “อภิปารกเสนาบดี”

มีอยู่คราวหนึ่ง พระราชาได้เสด็จทำประทักษิณพระนคร และได้ผ่านเรือนของท่านอภิปารกเสนาบดี
แล้วได้พบเห็นนางอุมมาทันตีที่บ้านหน้าต่าง ซึ่งนางมีลีลาอันงดงามดุจนางกินรี
พระราชาแลดูนางอุมมาทันตีแล้วก็เกิดความเมาด้วยกิเลส ไม่อาจจะดำรงสติไว้ได้
จนไม่สามารถจะจำได้ว่าเรือนหลังนี้เป็นของท่านอภิปารกเสนาบดี
พระราชาเมื่อเสด็จกลับแล้ว ก็นอนไม่หลับทั้งกลางวันและกลางคืน
โดยพระราชาปรารถนาที่จะได้รื่นรมย์กับนางอุมมาทันตี

ต่อมา ท่านอภิปารกเสนาบดีได้ทราบความดังกล่าวแล้ว จึงไปเข้าเฝ้าพระราชา
และได้ทูลถวายนางอุมมาทันตีให้พระราชาได้รื่นรมย์กับนางอุมมาทันตี
ในเวลานั้น พระราชาได้สติกลับคืนมาแล้ว ท่านจึงปฏิเสธไม่ทำกรรมดังกล่าว
เพราะท่านไม่ประสงค์ทำชั่ว โดยท่านต้องการรักษาธรรม และเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=20

สังเกตว่าทั้ง ๓ กรณีตามพระสูตรที่ยกมานั้น ก็เป็นเรื่องของความฟุ้งซ่านหรือกังวล
จะกังวลในภรรยาสาวก็ดี จะเกรงกลัวไฟนรกก็ดี หรือจะต้องการอยากได้หญิงสาวก็ดี
ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของความฟุ้งซ่าน
ซึ่งก็เป็นเหตุสำคัญสำหรับหลาย ๆ ท่านที่นอนไม่หลับเพราะเหตุนี้

สำหรับผมเองแล้ว ปกติจะหลับง่ายมาก เพราะว่าทำงานเยอะมากในแต่ละวัน
ทำงานเยอะจนพลังงานหมดเกลี้ยง พอศีรษะถึงหมอน ก็สลบเหมือดในเวลาไม่นาน
(คือบางทีไม่เรียกว่าหลับ แต่เรียกว่าสลบน่าจะใกล้เคียงกว่า)
แต่ก็มีเหมือนกันที่บางครั้งเกิดฟุ้งซ่านหรือกังวลในงานสำคัญบางเรื่อง และทำให้นอนไม่หลับ
วิธีการที่ผมใช้ก็คือ ลุกขึ้นมานั่งภาวนาในรูปแบบ
ซึ่งผมเห็นว่าเป็นวิธีที่ได้ผลดีมาก และเป็นการใช้เวลาที่เป็นประโยชน์อย่างมาก
(ย้ำว่าผมลุกขึ้นมา “นั่ง” ภาวนาในรูปแบบนะครับ ไม่ได้ลุกขึ้นมาเดินจงกรม
เพราะถ้าเดินแล้ว น่าจะยิ่งทำให้ตื่นมากกว่า)

ถามว่าเวลาเราฟุ้งซ่าน และนอนไม่หลับนั้น เราฟุ้งซ่านด้วยเรื่องอะไร?
โดยส่วนตัวแล้ว ผมแบ่งเรื่องฟุ้งซ่านที่ทำให้นอนไม่หลับออกเป็น ๒ กลุ่มนะครับ
กลุ่มแรกคือ ฟุ้งซ่านในเรื่องปัญหาชีวิต หน้าที่การงาน ความรับผิดชอบ นัดหมายสำคัญ
หรือเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตเราที่เราเห็นว่าสำคัญ เป็นกังวล หรือจิตใจหมกมุ่นในเวลานั้น ๆ
กลุ่มที่สองคือ ฟุ้งซ่านว่ากลัวจะนอนไม่หลับ หรืออยากจะนอนให้หลับ
ในเรื่องฟุ้งซ่านทั้ง ๒ กลุ่มนี้ เมื่อเราภาวนาในรูปแบบแล้ว
จิตใจเราไม่ถูกความฟุ้งซ่านดังกล่าวครอบงำใจ อาการฟุ้งซ่านก็หายไป และทำให้นอนหลับได้
แต่ถ้าความฟุ้งซ่านดังกล่าวไม่หายไป ก็ถือว่าเราได้ใช้เวลาเป็นประโยชน์อย่างยิ่งนะครับ
ดีกว่าที่เราจะนอนกลิ้งไปกลิ้งมา แล้วก็ได้แค่คิดวนไปมาว่าเมื่อไหร่จะหลับเสียที
ถ้าไม่อยากลุกขึ้นมานั่งภาวนาในรูปแบบแล้ว อย่างน้อยก็นอนเจริญสติ ดูจิตดูใจ ดูลมหายใจ
หรือดูท้องพองยุบไปในระหว่างนอนนั้นก็ดีกว่านอนคิดวนไปมาว่านอนไม่หลับ หรืออยากจะหลับ

ผมจึงได้แนะนำวิธีการนี้ให้กับญาติธรรมที่ตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อไปปัสสาวะด้วยนะครับว่า
ถ้านอนไม่หลับแล้ว ผมไม่แนะนำเราให้ไปเพ่งเอาไว้ แต่แนะนำลุกขึ้นมานั่งภาวนาในรูปแบบไปเลย
ถามว่าทำไมเราจึงเพ่ง? เราเพ่งก็เพราะว่ากลัวว่าจะนอนไม่หลับ หรือเราอยากจะนอนให้หลับ
ซึ่งการกลัวว่าจะนอนไม่หลับ หรือการอยากจะนอนให้หลับนี้ ก็ทำให้นอนไม่หลับได้เหมือนกัน
แต่เมื่อเราภาวนาในรูปแบบ และความกลัวหรือความอยากดังกล่าวครอบงำใจเราไม่ได้แล้ว
เราก็ย่อมสามารถนอนหลับได้ เพราะไม่ฟุ้งซ่านในเรื่องกลัวจะไม่หลับ หรือเรื่องอยากจะหลับนั้นแล้ว

อีกประการหนึ่งคือ ความฟุ้งซ่าน ความกลัว ความอยากอะไรเหล่านี้
ก็ล้วนอยู่ในตัณหา ๓ อันได้แก่โมหะ โทสะ และโลภะ โดยมันก็วนเวียนอยู่ใน ๓ ตัวนี้นะครับ
หากถามว่าตัณหา ๓ ตัวนี้เขากลัวอะไร?
ผมขอตอบว่าเขากลัวเราจะภาวนาครับ
เพราะภาวนาไปเรื่อย ๆ แล้ว เราก็จะหลุดพ้นจากตัณหาทั้ง ๓ และเขาก็ครอบงำใจเราไม่ได้อีก
ฉะนั้นแล้ว ถ้าให้ตัณหาเลือกระหว่างปล่อยให้เรานอนหลับ กับ ให้เรานั่งภาวนาแล้ว
เชื่อเถอะครับว่า ตัณหาจะเลือกว่าให้เรานอนหลับไปดีกว่าจะให้เรานั่งภาวนา
เรานอนหลับไปแล้ว เราก็ไม่ได้พ้นจากการที่ถูกตัณหาครอบงำ
แต่หากเราภาวนา (อย่างถูกทาง) ไปเรื่อย ๆ แล้ว เราย่อมจะพ้นได้
ดังนั้น บรรดาตัณหาทั้งหลาย ฟุ้งซ่านก็ดี กลัวก็ดี อยากก็ดี เขาไม่อยากให้เราภาวนาหรอกครับ
เขาก็จะปล่อยให้เรานอนหลับไปแหละ

สำหรับบางท่านที่ภาวนาไม่เป็น เวลาที่ท่านนอนไม่หลับนั้น
ท่านก็อาจจะนึกถึงวิธีการสมัยโบราณที่เขาสอนให้เรานับลูกแกะ
โดยก็นับไปเรื่อยว่า ลูกแกะ ๑ ตัว ลูกแกะ ๒ ตัว ลูกแกะ ๓ ตัว ฯลฯ นับไปเรื่อย ๆ
แต่ถ้าจะลองปรับเปลี่ยนสักนิด ผมขอแนะนำว่าให้เปลี่ยนจากนับลูกแกะมาลองนับ “พุทโธ”
โดยเราก็นับไปเรื่อย หายใจเข้า “พุท” หายใจออก “โธ” นับ ๑
หายใจเข้า “พุท” หายใจออก “โธ” นับ ๒ หายใจเข้า “พุท” หายใจออก “โธ” นับ ๓ ฯลฯ นับไปเรื่อย
ก็จะเป็นประโยชน์กว่านับลูกแกะนะครับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเรานับลูกแกะทุกคืน แล้วสมมุติว่าเราเกิดตายไปในระหว่างนั้น
จิตใจเราก็กำลังหมกมุ่นอยู่กับลูกแกะ แล้วเราก็ได้ไปเกิดเป็นลูกแกะแล้วจะยุ่งเลย
(กรณีเรานอนนับลูกสุนัข ลูกหมู หรือลูกแมว ฯลฯ ก็ทำนองเดียวกันนะครับ)
โดยที่วิธีการนับนี้ก็เป็นเพียงวิธีการมุ่งทำสมาธิ เพื่อระงับความฟุ้งซ่าน
จึงแนะนำให้ระลึกถึง “พุทโธ” จะเป็นประโยชน์มากกว่า และลดความเสี่ยงได้มากกว่าครับ