Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๘๐

ปัญหาอยู่ที่ขาดอะไร

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

At Hand

หากเราติดตามข่าวในช่วงนี้ เราคงจะได้พบคำว่า “ปฏิรูป” อยู่บ่อย ๆ นะครับ
ตามข่าวที่ปรากฏในช่วงนี้ก็เป็นเรื่องของการปฏิรูปการเมือง
แต่ที่เราจะคุยกันในบทความนี้ เราไม่ได้จะมุ่งคุยในเรื่องปฏิรูปการเมือง
โดยเราจะมุ่งคุยในเรื่องปฏิรูปตนเอง เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตเรา

ในพจนานุกรมบอกว่า คำว่า “ปฏิรูป” (ใช้เป็นคำวิเศษณ์) หมายถึงสมควรหรือเหมาะสม
และ (ใช้เป็นคำกิริยา) หมายถึง ปรับปรุงให้สมควร
ฉะนั้นในที่นี้แล้ว สมมุติว่าในชีวิตเราได้ประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย
และเรามุ่งจะปฏิรูปตนเองเพื่อแก้ไข หรือบรรเทาปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้น
ก็คือเรามุ่งจะปรับปรุงตนเองให้สมควร หรือให้เหมาะสม
ทีนี้ เราจะปรับปรุงอย่างไรนั้น เราก็พึงพิจารณาก่อนว่า ต้นเหตุแห่งปัญหาอยู่ที่ตรงไหน
เราขาดอะไรไป จึงทำให้เกิดปัญหาเหล่านั้นขึ้นมา

เวลาที่เราพิจารณาว่าปัญหาชีวิตของเราเกิดจากอะไร เกิดเพราะเราขาดอะไรไป
บางท่านก็อาจจะมองว่าชีวิตเรามีปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้เพราะว่าขาดเงิน
โดยหากมีเงินแล้ว ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาชีวิตของเราได้
ซึ่งก็ส่งผลให้บางท่านนั้นมุ่งเน้นแต่หาเงิน โดยหวังว่าเงินจะช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้น
ช่วยให้มีความสุขมากขึ้น และช่วยแก้ไขปัญหาชีวิตทั้งหลายได้
แต่หากลองพิจารณาปัญหาชีวิตกันให้ดีด้วยใจที่เป็นกลางแล้ว
เราจะพบว่าปัญหาชีวิตทั้งหลายนั้น ส่วนใหญ่แล้วเงินแก้ไขปัญหาไม่ได้ครับ
ในทางกลับกัน ในบางครั้งแล้ว เงินอาจจะเป็นตัวทำให้ปัญหาร้ายแรงมากขึ้นเสียด้วย
ผมจะลองยกปัญหาในชีวิตบางอย่างขึ้นมาให้เราพิจารณากันนะครับ
แล้วเรามาพิจารณากันว่าเงินจะช่วยแก้ไขปัญหาชีวิตเราได้จริงไหม

สมมุติว่าผู้หญิงคนหนึ่งมีปัญหาเรื่องสามีนอกใจไปมีผู้หญิงอื่น
ถามว่าหากสามีมีรายได้มากขึ้น ได้เงินเดือนสูงขึ้น หรือค้าขายได้กำไรมากขึ้นแล้ว
จะส่งผลให้สามีเลิกนอกใจไปมีผู้หญิงอื่นหรือเปล่า
หรือว่าสามีมีเงินเยอะ ๆ แล้ว สามีกลับจะยิ่งไปหาผู้หญิงอื่นได้สะดวกขึ้น

สมมุติว่าผู้หญิงคนหนึ่งมีปัญหาเรื่องสามีชอบไปดื่มสุรากับเพื่อน ๆ
ถามว่าหากสามีมีรายได้มากขึ้น ได้เงินเดือนสูงขึ้น หรือค้าขายได้กำไรมากขึ้นแล้ว
จะส่งผลให้สามีเลิกไปดื่มสุรากับเพื่อน ๆ หรือเปล่า
หรือว่าสามีมีเงินเยอะ ๆ แล้ว สามีกลับจะยิ่งไปดื่มสุราได้สะดวกขึ้น และมากขึ้น

สมมุติว่าพ่อแม่มีปัญหาเรื่องลูกติดยาเสพติด หรือโดดเรียนไปเล่นเกมในร้านเกม
ถามว่าหากพ่อแม่เพิ่มค่าขนมให้ลูกมากขึ้นแล้ว
จะส่งผลให้ลูกเลิกติดยาเสพติด หรือเลิกโดดเรียนไปเล่นเกมในร้านเกมหรือเปล่า
หรือว่ากลับจะยิ่งทำให้ลูกมีเงินไปเสพยามากขึ้น และมีเงินไปเล่นเกมในร้านเกมได้มากขึ้น

สมมุติว่าพ่อแม่มีปัญหาเรื่องลูกไม่ตั้งใจเรียน มัวแต่ดูโทรทัศน์หรือดูการ์ตูนทั้งวัน
ถามว่าหากพ่อแม่เพิ่มค่าขนมให้ลูกมากขึ้นแล้ว
จะส่งผลให้ลูกกลายเป็นเด็กตั้งใจเรียนขึ้นมา และเลิกดูโทรทัศน์และเลิกดูการ์ตูนหรือเปล่า

สมมุติว่าพ่อแม่มีปัญหาเรื่องลูกใช้เงินฟุ่มเฟือย ใช้เงินอย่างไม่เป็นประโยชน์
ถามว่าหากพ่อแม่เพิ่มค่าขนมให้ลูกมากขึ้นแล้ว
จะส่งผลให้ลูกกลายเป็นเด็กใช้เงินอย่างประหยัด และใช้เงินอย่างเป็นประโยชน์ได้ไหม
หรือจะยิ่งเป็นการส่งเสริมฝึกให้ลูกได้ใช้เงินฟุ่มเฟือยมากยิ่งขึ้น

สมมุติว่าลูกน้องมีเจ้านายที่เป็นคนปากจัด ชอบพูดจารุนแรงทำร้ายจิตใจคนอื่น
ถามว่าหากเจ้านายคนนี้ได้รับเงินเดือนมากขึ้น หรือมีรายได้มากขึ้นแล้ว
จะส่งผลให้เขากลับกลายเป็นคนพูดจาอ่อนหวาน และไม่ปากจัดได้หรือเปล่า

สมมุติว่าเรามีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งเป็นคนชอบเที่ยวกลางคืน และมาทำงานสาย
ถามว่าหากเพื่อนร่วมงานคนนี้ได้รับเงินเดือนมากขึ้น หรือได้เงินโบนัสเยอะ ๆ แล้ว
จะส่งผลให้เขาเลิกเที่ยวกลางคืน และกลายมาเป็นคนทำงานตรงเวลาหรือเปล่า

สมมุติว่าเรามีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งที่ชอบลาป่วย หรือโดดงานไปเที่ยวส่วนตัว
ถามว่าหากเพื่อนร่วมงานคนนี้ได้รับเงินเดือนมากขึ้น หรือได้เงินโบนัสเยอะ ๆ แล้ว
จะส่งผลให้เขาเลิกชอบลาป่วยเท็จ หรือเลิกโดดงานไปเที่ยวส่วนตัวหรือเปล่า

เรายังยกตัวอย่างกรณีปัญหาอื่น ๆ ได้อีกหลากหลายนะครับ แต่เพียงเท่านี้ก็น่าจะเพียงพอ
โดยหากเราได้ลองพิจารณาปัญหาทั้งหลายต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว
เราย่อมจะเห็นได้ว่า ปัญหาทั้งหลายเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะว่าขาดเงิน
และก็ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้เงิน หรือได้เงินเพิ่มมากขึ้น
ในทางกลับกันแล้ว หากใช้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาในบางเรื่องนั้นแล้ว
กลับจะเป็นการสนับสนุนทำให้ปัญหาบางเรื่องยิ่งร้ายแรงมากขึ้น

ทีนี้ หากปัญหาเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้น เพราะว่าขาดเงินแล้ว
ถามว่าปัญหาเหล่านั้นเกิดขึ้นเพราะขาดอะไร?
ผมเห็นว่าปัญหาเหล่านั้นเกิดขึ้นเพราะว่าขาดศีลธรรมหรือขาดธรรมะครับ
เรามาลองพิจารณากันนะครับว่าถ้ามีศีลธรรม หรือมีธรรมะแล้ว จะแก้ไขปัญหาได้ไหม

ปัญหาเรื่องสามีนอกใจไปมีผู้หญิงอื่นหรือสามีไปดื่มสุรานั้น
ถ้าสามีถือศีลหรือรักษาศีล หรือมีธรรมะ ก็จะไม่เกิดปัญหานี้ขึ้น
เพราะการดื่มสุราเป็นการผิดศีล และถือเป็นอบายมุขที่ควรหลีกเลี่ยง
ปัญหาเรื่องลูกติดยาเสพติด หรือโดดเรียนไปเล่นเกมในร้านเกมนั้น
ถ้าลูกถือศีล ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องยาเสพติด โดยการเสพยาเสพติดก็ถือว่าผิดศีลข้อห้าด้วย
เพราะเป็นของที่ทำให้มึนเมาและตั้งอยู่ในความประมาท
ถ้าลูกมีธรรมะ ลูกก็จะไม่มีปัญหาเรื่องโดดเรียนไปเล่นเกมในร้านเกม
เช่น ลูกมีธรรมะเรื่อง “กตัญญู” ก็จะตั้งใจเรียนเพื่อไม่ให้พ่อแม่เป็นห่วงหรือเสียใจ
หรือลูกมี “หิริ” และ “โอตตัปปะ” ก็จะมีความละอายและเกรงกลัวในการทำสิ่งไม่ดี
แล้วก็จะไม่ทำสิ่งไม่ดีคือการโดดเรียนนั้น

ปัญหาเรื่องลูกไม่ตั้งใจเรียน มัวแต่ดูโทรทัศน์หรือดูการ์ตูนทั้งวัน ก็ทำนองเดียวกันนะครับ
ถ้าลูกมีความกตัญญู หรือมีธรรมะเกี่ยวกับความขยัน เช่น “วิริยะ” แล้ว ปัญหานี้ก็จะไม่เกิดขึ้น
หรือลูกทำหน้าที่ของตนเองให้ถูกต้องตามพระธรรมคำสอนในเรื่องหน้าที่ของลูกต่อพ่อแม่
ซึ่งมีข้อหนึ่งสอนว่าบุตรจักปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก ปัญหานี้ก็จะไม่เกิดขึ้น
(ขอให้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในสิงคาลกสูตร)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=%CA%D4%A7%A4%D2%C5%A1%CA%D9%B5%C3&book=9&bookZ=33&original=1

ปัญหาเรื่องลูกใช้เงินฟุ่มเฟือย ใช้เงินอย่างไม่เป็นประโยชน์นั้น
ถ้าลูกมีธรรมะในเรื่อง “สมชีวิตา” แล้ว ปัญหานี้ก็จะไม่เกิดขึ้น
“สมชีวิตา” คือ รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์
แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะพอดี ไม่ให้ฟุ่มเฟือยและไม่ให้ฝืดเคือง
(ขอให้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในทีฆชาณุสูตร)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=%B7%D5%A6%AA%D2%B3%D8%CA%D9%B5%C3&book=9&bookZ=33&original=1

ปัญหาเรื่องเจ้านายที่เป็นคนปากจัดชอบพูดจารุนแรงทำร้ายจิตใจคนอื่นนั้น
ถ้าเจ้านายเป็นผู้มีศีลธรรม ไม่ก่ออกุศลกรรมในทางวาจาคือ
ไม่กล่าว “มุสาวาท” คือ พูดเท็จ พูดโกหก พูดไม่มีมูลความจริง
ไม่กล่าว “ปิสุณวาจา” หมายถึง พูดส่อเสียด พูดยุยงให้เขาแตกสามัคคี
ไม่กล่าว “ผรุสวาจา” หมายถึง พูดคำหยาบ พูดไม่สุภาพ หรือพูดทำร้ายจิตใจคนอื่น
ไม่กล่าว “สัมผัปปลาปะ” หมายถึง พูดเพ้อเจ้อ พูดเลื่อนลอยแล้ว ปัญหานี้ก็จะไม่เกิดขึ้น

ปัญหาเรื่องเพื่อนร่วมชอบเที่ยวกลางคืน และมาทำงานสาย
และปัญหาเรื่องเพื่อนร่วมงานชอบลาป่วยเท็จ หรือโดดงานไปเที่ยวส่วนตัวนั้น
ถ้าเพื่อนร่วมงานมีศีลธรรมแล้ว เขาย่อมไม่เที่ยวกลางคืน เพราะถือเป็นสิ่งอบายมุขที่ต้องหลีกเลี่ยง
เขาย่อมจะไม่มาสาย หรือโดดงานไปเที่ยวส่วนตัว เพราะถือเป็นการขโมยเวลางาน
และเขาย่อมไม่ลาป่วยเท็จ เพราะถือเป็นการกล่าวเท็จ และขโมยเวลางานด้วย ซึ่งผิดศีล

เราจะเห็นได้ว่าในตัวอย่างทั้งหมดที่ยกมาข้างต้นนั้น
หากมีศีลธรรมและธรรมะแล้ว ปัญหาชีวิตทุกอย่างก็คลี่คลายได้
แต่หากคนที่เกี่ยวข้องขาดเสียซึ่งศีลธรรมและธรรมะเสียแล้ว
จะปฏิรูปยังไงก็แล้วแต่ มันก็ย่อมมีปัญหาครับ
ในเมื่อคนเรามุ่งที่จะโกหก มุ่งที่จะโกง มุ่งที่จะเบียดเบียนกันแล้ว
ต่อให้เราจะไปแก้หรือเปลี่ยนกฎระเบียบหรือข้อตกลงอย่างไรก็ตาม
เราก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง เพราะในเมื่อคนที่เกี่ยวข้องจะไม่ทำดีเสียอย่าง มันก็เท่านั้น

บางท่านอาจจะบอกว่า ในบรรดาปัญหาทั้งหลายนั้น ปัญหาที่เกี่ยวกับเงินก็มีนะ
เช่น ปัญหาเงินไม่พอใช้ เป็นต้น ซึ่งสำหรับปัญหาเงินไม่พอใช้นี้
หากเรามีธรรมะในเรื่อง “สมชีวิตา” แล้ว เราใช้เท่าที่เรามี ยังไงก็พอ
แต่ถ้าเราใช้เท่าที่เราอยาก ใช้เกินที่เรามี มีเท่าไรก็ไม่พอ
จึงให้ลองพิจารณาดี ๆ ครับว่า ถ้าเราพอใจจะใช้ไม่เกินที่เรามีเสียแล้ว
ปัญหาที่ว่าเงินไม่พอใช้นั้นจะเกิดขึ้นได้หรือไม่

ทีนี้ เวลาเราบอกว่าปัญหาอยู่ที่ขาดศีลธรรมและธรรมะนั้น
แนะนำว่าให้เริ่มต้นที่ตัวเราก่อนนะครับ
โดยหากตัวเราเองยังไม่มีศีลธรรม และธรรมะแล้ว
อยู่ ๆ จะไปบอกให้คนอื่นในครอบครัว หรือคนรอบข้างมีศีลธรรมและธรรมะ ก็คงยาก

ผมเคยได้ฟังเรื่องเล่านะครับว่า ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง มีครูท่านหนึ่งจับได้ว่า
เด็กนักเรียนคนหนึ่งขโมยปากกาของเพื่อนนักเรียนด้วยกัน
คุณครูจึงโทรตามพ่อของเด็กนักเรียนคนนั้นมา เพื่อจะแจ้งให้ปรับปรุงนิสัยเด็ก
พ่อของเด็กนักเรียนคนนั้นมาถึงโรงเรียนแล้ว ก็ตำหนิลูกต่อหน้าคุณครูทันทีว่า
“ทำไมลูกถึงไปขโมยปากกาของเพื่อนเขาล่ะ พ่อไม่เคยสอนให้ทำอย่างนี้เลยนะ”
ลูกตอบว่า “เพราะผมอยากได้ปากกาครับ”
พ่อบอกว่า “ลูกอยากได้ปากกาก็ให้บอกพ่อสิ ไม่ต้องไปขโมยเพื่อน
เดี๋ยวพ่อเอาปากกาของที่ทำงานพ่อมาให้ได้ก็ได้ มีเยอะแยะเลย”

สรุปของเรื่องก็คือในเมื่อพ่อเองยังขโมยปากกาของที่ทำงานแล้ว
จะให้พ่อมาแก้ไขนิสัยของลูกก็คงทำได้ยาก เพราะพ่อทำเป็นตัวอย่างเสียแล้ว
ฉะนั้นแล้ว หากเราต้องการให้สามีหรือภรรยาหรือลูกเรา
หรือคนรอบข้างเรามีศีลธรรมหรือมีธรรมะก็ตาม
ให้พึงเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อน โดยให้เรามีศีลธรรมและมีธรรมะเสียก่อนครับ
เมื่อตัวเรามีศีลธรรมและมีธรรมะแล้ว
เราจึงจะมีโอกาสช่วยเหลือให้คนในครอบครัวเราหรือคนรอบข้างเรามีได้
และเมื่อคนเหล่านั้นมีศีลธรรมและมีธรรมะแล้ว ก็ย่อมจะแก้ไขปัญหาทั้งหลายเหล่านั้นได้