Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๗๘

จับสัตว์ไปทำหมัน

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

phpEnwPMTAM

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ผมได้สนทนากับญาติธรรม ๒ ท่านในเรื่องการจับสัตว์ไปทำหมัน
โดยญาติธรรมหนึ่งในสองท่านนั้นเป็นจิตอาสาช่วยจับสุนัขจรจัดและแมวจรจัดไปทำหมัน
เพื่อช่วยไม่ให้มีการเพิ่มประชากรของสุนัขจรจัดและแมวจรจัดตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ
ทีนี้ เวลาที่ไปลงพื้นที่จับสุนัขจรจัดและแมวจรจัดไปทำหมันนั้น
บางทีก็จะมีประชาชนในพื้นที่บางท่านมาตำหนิว่าเป็นการทำบาปอกุศล
ที่พวกเขาจับสุนัขจรจัดและแมวจรจัดเหล่านั้นไปทำหมัน
เราจึงได้สนทนากันในเรื่องนี้ว่าการจับสัตว์ไปทำหมันนั้นเป็นบาปอกุศลหรือไม่อย่างไร

ก่อนอื่นนั้น ผมขออธิบายว่า การทำหมันและการทำแท้งนั้นแตกต่างกันอย่างไร
โดยหากเราพิจารณาความหมายตามพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานแล้วจะพบว่า
“ทำหมัน” หมายถึง ทําการคุมกําเนิด โดยกรรมวิธีที่จะไม่ให้ชายหรือหญิงสามารถมีลูกอีกต่อไป
ส่วน “ทำแท้ง” หมายถึง รีดลูก, มีเจตนาทําให้ทารกออกจากครรภ์มารดาก่อนกําหนดและตาย
http://www.royin.go.th/th/home/

ถ้าจะให้ผมอธิบายความแตกต่างของทั้งสองคำนี้ในภาษาง่าย ๆ ผมขออธิบายว่า
การทำหมันเป็นการคุมกำเนิดไม่ให้ตั้งครรภ์ โดยทำในระหว่างที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์
แต่การทำแท้งนั้นทำหลังจากได้ตั้งครรภ์แล้ว และทำเพื่อทำลายบุตรในครรภ์นั้น
ส่วนกรณีที่แท้งเอง โดยไม่ได้เจตนาทำให้ตนเองแท้ง ก็ไม่เรียกว่าเป็นการทำแท้งนะครับ
แต่ปกติแล้วก็จะเรียกว่าเป็นการแท้งบุตรเฉย ๆ

ในเรื่องของการทำหมันนั้น เห็นว่าเรื่องที่น่าจะเกี่ยวข้องมากที่สุด
ย่อมได้แก่เรื่องศีลข้อแรกในศีลห้า หรืออกุศลกรรมบถข้อแรกในอกุศลกรรมบถ ๑๐
คือเรื่องปาณาติบาต ซึ่งหมายถึง การฆ่าสัตว์และการทำร้ายสัตว์
โดยใน “จุนทสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต) ใช้ถ้อยคำว่า
“บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีปรกติฆ่าสัตว์ หยาบช้า มีมือชุ่มด้วยโลหิต
ตั้งอยู่ในการฆ่าและการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์มีชีวิต”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=24&A=6275&Z=6419&pagebreak=0

ในอรรถกถาของสัมมาทิฏฐิสูตร (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)
ได้อธิบายถึงองค์ประกอบของปาณาติบาตไว้ ๕ ประการได้แก่
๑. สัตว์มีชีวิต
๒. ความรู้ว่าสัตว์มีชีวิต
๓. จิตคิดจะฆ่า
๔. ความพยายามฆ่า
๕. สัตว์ตายเพราะความพยายามนั้น

อนึ่ง ปาณาติบาตมีโทษน้อยเมื่อกระทำต่อสัตว์มีชีวิตตัวเล็ก
แต่มีโทษมากเมื่อกระทำต่อสัตว์มีชีวิตตัวใหญ่
ปาณาติบาตมีโทษน้อยเมื่อกระทำต่อสัตว์มีคุณน้อย
แต่มีโทษมากเมื่อกระทำต่อสัตว์มีคุณมาก
ปาณาติบาตมีโทษน้อยเมื่อกระทำด้วยกิเลสและความพยายามอ่อน
แต่มีโทษมากเมื่อกระทำด้วยกิเลสและความพยายามแรงกล้า
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12.0&i=110&p=1

ในองค์ประกอบของศีลในเรื่องปาณาติบาตข้างต้นนั้น
ข้อเจตนาฆ่าย่อมรวมถึงเจตนาทำร้าย
ข้อพยายามฆ่าย่อมรวมถึงพยายามทำร้าย
และข้อสัตว์ตายเพราะความพยายามนั้น ย่อมรวมถึงสัตว์โดนทำร้ายด้วย

ทีนี้ ในการที่เราพิจารณาถึงเรื่องของการทำหมันนั้น
เราควรพิจารณาถึงสัตว์ที่เกี่ยวข้องโดยแบ่งเป็น ๒ จำพวกอันได้แก่
สัตว์จำพวกแรกคือ สัตว์ที่ไม่ได้มาเกิด เพราะมีการทำหมัน
สัตว์จำพวกที่สองคือ สัตว์ตัวที่เราจับทำหมัน

สำหรับสัตว์จำพวกแรก คือ สัตว์ที่ไม่ได้มาเกิด เพราะมีการทำหมันนั้น
เมื่อเราพิจารณาตามองค์ประกอบของศีลในเรื่องปาณาติบาตแล้ว
ย่อมจะเห็นได้ว่า เมื่อยังไม่มีสัตว์ที่มีชีวิตมาเกิด จึงไม่ได้มีเจตนาฆ่า และไม่มีการลงมือฆ่า
เมื่อยังไม่มีการเกิด ก็ย่อมจะไม่มีการตาย
ดังนั้นแล้ว การทำหมันจึงไม่ได้เป็นการฆ่าหรือทำร้ายสัตว์จำพวกที่หนึ่งดังกล่าว

บางท่านอาจจะสงสัยว่าการทำหมันไม่ให้สัตว์อื่นได้เกิดแล้ว ไม่เป็นการผิดศีลหรือ
ตอบว่า ศีลเรื่องปาณาติบาตนั้นต้องมีการฆ่าหรือทำร้ายสัตว์ที่มีชีวิตนะครับ
หากสัตว์นั้นยังไม่ได้เกิดขึ้นมา คือยังไม่มีชีวิตเลย ก็ย่อมไม่มีการฆ่า และไม่มีการทำร้าย
กรณีที่ทำหมันโดยไม่เปิดโอกาสให้สัตว์ได้เกิดขึ้นมาเลย
กับกรณีที่เกิดมาแล้วฆ่าให้ตายหรือทำร้ายให้บาดเจ็บนี้ แตกต่างกันนะครับ

ยกตัวอย่างสมมุติว่า เรากำลังจะไปทานอาหารอร่อยที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง
กรณีแรก พอไปถึงแล้วก็พบว่าร้านแห่งนั้นได้ปิดกิจการและเลิกกิจการแล้ว
กรณีที่สอง พอไปถึงแล้ว ร้านแห่งนั้นยังเปิดกิจการอยู่ คนขายก็ให้เราเข้าไปนั่งในร้าน
เมื่อเราเข้าไปนั่งในร้านแล้ว ยังไม่ได้กินอะไรเลย
อยู่ ๆ คนขายก็ไล่เราออกจากร้าน โดยไม่มีเหตุผล

สังเกตว่าทั้ง ๒ กรณีนี้ไม่เหมือนกันนะครับ
กรณีแรก คนขายเขาเลิกกิจการ ไม่รับลูกค้าแล้ว เราก็คงไม่ได้ไม่พอใจอะไรเขานะครับ
เพราะว่าเขาก็ไม่ได้มาเบียดเบียนอะไรเรา เขาปิดกิจการแล้วก็เป็นเรื่องของเขา
เราอาจจะเห็นใจเขาเสียด้วยที่เขาต้องมาปิดร้านอาหารของเขา
ส่วนกรณีที่สอง คนขายให้เราเข้าไปในร้านและนั่งรออาหารแล้ว อยู่ ๆ ก็มาไล่เราออกจากร้าน
กรณีนี้เราคงจะไม่พอใจคนขายอยู่บ้างนะครับว่าเขามาไล่เราออกจากร้าน โดยไม่มีเหตุผล
โดยในกรณีที่สองนี้น่าจะถือได้ว่าคนขายได้เบียดเบียนเราแล้ว

อีกตัวอย่างหนึ่ง สมมุติว่ามีเด็กคนหนึ่งยังไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียน เขาอยู่ที่บ้านเฉย ๆ
โดยไม่ได้สมัครไปเป็นนักเรียนที่โรงเรียนไหนเลย
แต่แล้วอยู่ ๆ ก็มีคุณครูโรงเรียนประถมคนหนึ่งมาบอกว่า
คุณครูให้เกรดสอบตกแก่เด็กคนนี้ และให้เรียนซ้ำชั้น
ถามว่าคุณครูโรงเรียนประถมท่านนี้จะให้เกรดสอบตกแก่เด็กคนนี้ และให้เรียนซ้ำชั้นได้หรือ
ในเมื่อเด็กคนนี้ไม่ได้ไปสมัครเป็นนักเรียนของโรงเรียนแห่งนั้นเลย?
เราก็คงจะตอบตรงกันว่า “ไม่ได้” นะครับ
เพราะเด็กคนนี้ยังไม่ได้เป็นนักเรียนของโรงเรียนแห่งนั้นเลย
กรณีฆ่าสัตว์ที่ยังไม่ได้มาเกิดนั้นก็ทำนองเดียวกันครับว่า ฆ่าไม่ได้ เพราะว่าสัตว์ยังไม่ได้เกิดเลย

อนึ่ง ถ้าเราบอกว่าการทำหมันหรือคุมกำหนดให้แก่สัตว์ ถือเป็นการฆ่าสัตว์ที่ยังไม่ได้มาเกิดแล้ว
เช่นนี้แล้ว การที่มนุษย์ทำหมัน หรือคุมกำเนิดตนเองด้วยวิธีการต่าง ๆ
(เช่น การใช้ถุงยางอนามัย หรือการนับวันมีประจำเดือน เป็นต้น)
ก็ย่อมจะถือว่าเป็นการฆ่ามนุษย์ที่ยังไม่ได้มาเกิดด้วยเช่นกัน
และการวางแผนครอบครัวโดยการคุมกำเนิด ก็จะเป็นการผิดศีลเรื่องปาณาติบาตไปด้วย
โดยถือว่าเป็นการฆ่ามนุษย์ที่ยังไม่ได้มาเกิด
ซึ่งผมเห็นว่าความเข้าใจนี้ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาพุทธนะครับ

สำหรับสัตว์จำพวกที่สองนั้น เราจะพิจารณาได้ยากกว่าครับ
โดยเราพึงพิจารณาว่า การทำหมันเป็นการทำร้ายหรือทรมานสัตว์ที่โดนทำหมันนั้นหรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น การตัดหรือตอนอวัยวะเพศของสัตว์ก็เป็นการทำหมันวิธีการหนึ่ง
แต่การตัดหรือตอนอวัยวะเพศนั้นย่อมถือเป็นการทำร้ายร่างกายสัตว์ที่เราจับทำหมันนั้น
โดยเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของศีลเรื่องปาณาติบาตแล้ว เห็นว่าครบองค์ประกอบคือ
๑. สัตว์มีชีวิต ๒. รู้ว่าสัตว์มีชีวิต ๓. จิตคิดจะทำร้าย ๔. ลงมือทำร้าย
๕. สัตว์โดนทำร้ายเพราะการลงมือทำร้ายนั้น ดังนี้ก็ย่อมเป็นการผิดศีลข้อปาณาติบาตแล้ว

บางท่านอาจจะบอกว่า เราเจตนาจะทำหมันให้แก่สัตว์นะ เราไม่ได้เจตนาจะทำร้ายมันหรอก
ผมขอตอบโดยถามกลับว่า สมมุติว่ามีคนอื่นมาจับท่านไปทำหมัน โดยตัดอวัยวะเพศของท่านทิ้ง
ทั้งที่ท่านไม่ได้ยินยอมและไม่ได้เต็มใจ ท่านจะถือว่าเป็นการทำร้ายร่างกายท่านหรือไม่
ถ้าท่านบอกว่า ถือว่าเป็นการทำร้ายท่านแล้ว ในกรณีของสัตว์ก็พึงเป็นทำนองเดียวกันครับ

อย่างไรก็ดี ในสมัยปัจจุบันนั้น การทำหมันไม่ได้จำเป็นจะต้องตัดหรือตอนอวัยวะเพศเท่านั้น
แต่ยังมีวิธีการทำหมันวิธีอื่น ๆ อีก เช่น วิธีผูกถุงอสุจิ เป็นต้น
ซึ่งวิธีการดังกล่าวทำให้มีแผลขนาดเล็ก และใช้เวลารักษาบาดแผลไม่นาน
อนึ่ง บางท่านก็อาจบอกว่านี่ก็เป็นการทำร้ายร่างกายสัตว์เหมือนกัน เพียงแต่แผลเล็กกว่าเท่านั้น
ซึ่งก็จริงนะครับ เพราะว่าก็เป็นการทำให้เกิดแผลเล็กน้อยเช่นกัน
แต่หากเราลองพิจารณาเทียบความแตกต่างแล้ว
อย่างสมมุติว่ามีชายคนหนึ่งไปให้แพทย์ทำหมัน
แพทย์ก็ทำหมันโดยการผ่าตัดเล็ก และผูกถุงอสุจิให้
ถามว่าชายคนดังกล่าวจะรู้สึกว่าการทำดังกล่าวเป็นการทำร้ายร่างกายตนเองไหม
เทียบกับอีกกรณีหนึ่ง แพทย์ไม่ได้ทำวิธีดังกล่าวให้ แพทย์กลับตอนอวัยวะเพศเขาทิ้งเลย
ชายคนดังกล่าวจะรู้สึกว่าโดนทำร้ายร่างกายมากกว่าหรือไม่
เราจะรู้สึกว่า ๒ กรณีนี้แตกต่างกันอยู่มากนะครับ
โดยกรณีหลังนั้นย่อมจะรู้สึกว่าเป็นการทำร้ายร่างกายมากกว่า
(ทั้งนี้ ผมยกตัวอย่างได้แต่กรณีของผู้ชายนะครับ เพราะพอจะทราบมากกว่า
ส่วนกรณีของผู้หญิงนั้น ขอให้ท่าน ๆ ไปพิจารณากันเองโดยอาศัยหลักการเดียวกันครับ)

บางท่านอาจจะถามว่า เราจะนำไปเทียบเคียงกับกรณีรักษาโรคได้หรือไม่
เช่นกรณีที่แพทย์ต้องผ่าตัดผู้ป่วย หรือตัดอวัยวะบางอย่างของผู้ป่วยเพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วย
หรือรักษาอาการป่วย หรืออาการบาดเจ็บของผู้ป่วยนั้น ๆ?
ตอบว่ากรณีก็มีความแตกต่างกันอยู่นะครับ เพราะว่ากรณีผ่าตัดเพื่อรักษาผู้ป่วยนั้น
มีอาการป่วยทางร่างกายของผู้ป่วยเป็นสาเหตุ และการผ่าตัดนั้นก็เป็นไปเพื่อรักษาโรค
แต่กรณีการทำหมันนั้น สัตว์ไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยอะไร และก็ไม่ได้ทำหมันเพื่อรักษาชีวิต
แต่การทำหมันนั้น เจ้าของสัตว์อาจจะทำไปเพื่อหลากหลายเหตุผลแตกต่างกัน
เช่น เจ้าของบางรายก็จับสัตว์ทำหมันเพื่อมุ่งความสะดวกสบายของตนเอง เป็นต้น

บางท่านอาจจะถามว่า เราจะพิจารณาอย่างนี้ได้ไหมว่า เราไม่ได้เจตนาทำร้ายสัตว์
เราเพียงแต่เจตนาที่จะไม่ให้สัตว์ตัวนั้นขยายพันธุ์เท่านั้น?
ตอบว่ากรณีไม่ได้ชัดเจนเหมือนอย่างการผ่าตัดเพื่อการรักษาโรคนะครับ
ยกตัวอย่างว่ามีเด็กคนหนึ่งซนมาก ชอบทำลายข้าวของนั่นโน่นนี่
แล้วก็มีชายคนหนึ่งจับเด็กคนนั้นไปตัดแขนและขา โดยบอกว่าไม่ได้เจตนาจะทำร้ายเด็ก
เขาเพียงแต่เจตนาจะไม่ให้เด็กคนนั้นไปซนทำลายข้าวของนั่นโน่นนี่เท่านั้นเอง
เราก็คงจะเห็นตรงกันว่าชายคนนั้นย่อมจะอ้างดังกล่าวไม่ได้นะครับ

เราจึงเห็นได้ว่าในสัตว์จำพวกที่สองคือสัตว์ตัวที่โดนจับไปทำหมันนี้
มีความเสี่ยงว่าผู้จับสัตว์ไปทำหมันอาจจะเข้าข่ายผิดศีลข้อปาณาติบาตได้อยู่นะครับ
โดยหากเราจะต้องการลดความเสี่ยงดังกล่าวแล้ว
ก็ขอแนะนำว่าพึงพิจารณาและตั้งเจตนาว่าเราจับสัตว์ดังกล่าวไปทำหมัน
ด้วยความจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่สัตว์ตัวนั้น ๆ เอง (ไม่ใช่เพื่อความสบายของเจ้าของสัตว์หรือผู้อื่น)
โดยหากเราไม่จับมันทำหมันแล้ว มันมีลูกขึ้นมาแล้ว
จะทำให้เกิดทุกข์โทษภัยแก่ตัวสัตว์นั้น และแก่ลูกของมันเอง
เช่น อาหารไม่เพียงพอ ที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ เกิดความเดือดร้อนต่าง ๆ แก่พวกมันเอง เป็นต้น
ซึ่งหากเราจับมันไปทำหมันเพื่อประโยชน์และความจำเป็นแก่ชีวิตสัตว์นั้น ๆ เอง
ก็น่าจะใกล้เคียงมากขึ้นกับการจำเป็นต้องจับสัตว์ไปผ่าตัดเพื่อรักษาโรคนะครับ
แต่หากเราพิจารณาและตั้งเจตนาว่าเราจับสัตว์ไปทำหมันเพื่อที่เราเองจะได้สบายแล้ว
เช่นนั้นก็จะเป็นการเบียดเบียนสัตว์นั้นเพื่อประโยชน์ของเราเอง
นอกจากนี้ เราพึงเลือกวิธีการทำหมันที่จะทำให้สัตว์บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยน้อยที่สุด
และหลีกเลี่ยงวิธีการตอนหรือตัดอวัยวะครับ

อนึ่ง พึงทราบว่ามีอาจารย์ทางธรรมบางท่านได้ให้ความเห็นว่า
การจับสัตว์ไปทำหมันนั้นอาจจะส่งผลให้เกิดวิบากกรรมแก่ผู้จับสัตว์ไปทำหมันนั้นเองด้วย
โดยในอนาคตนั้น (รวมถึงในภพหน้าต่อ ๆ ไป) อาจจะทำให้ผู้นั้นไม่มีลูก หรือมีลูกได้ยาก เป็นต้น

ผมเคยอ่านพบว่าบางท่านให้ความเห็นในอินเตอร์เน็ตว่าการจับสัตว์ไปทำหมันนี้
ถือว่าเป็นการเสียสละตนเอง โดยยอมทำผิดศีล เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้ได้บุญกุศลยิ่งใหญ่
อันนี้ขอเรียนว่าเป็นการโดนกิเลสหลอกแล้วล่ะครับ
การช่วยเหลือผู้อื่นนั้นไม่ว่าจะช่วยอย่างไรก็ตาม ก็อยู่เพียงในระดับของ “ทาน” ซึ่งต่ำกว่า “ศีล”
การที่บอกว่ายอมผิดศีล เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นนั้น
ย่อมเสมือนว่ายอมทิ้งศีลไปแลกกับทาน นำของมีค่ามากไปแลกของมีค่าน้อยครับ
กรณีไม่ได้แปลว่าผิดศีลเพื่อช่วยผู้อื่นแล้ว จะยกเว้นไม่ได้เป็นการผิดศีลนะครับ
โดยก็ย่อมจะถือว่าเป็นการผิดศีล และก่อให้เกิดอกุศลวิบากอยู่ดี
ในส่วนที่ช่วยเหลือผู้อื่นเป็นทานนั้น ก็ย่อมจะก่อให้เกิดกุศลวิบากเช่นกัน
แต่เทียบกันแล้วถือว่าไม่คุ้มครับ เหมือนกับการปล้นเงินคนอื่นมาให้ทานนั้น ขาดทุนยับเยินครับ
เราพึงตั้งใจถือศีลรักษาศีลให้เข้มแข็ง โดยยอมเสียโอกาสทำทานนั้น ย่อมจะดีกว่า และคุ้มกว่า

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว บางท่านอาจจะบอกว่า ถ้าการจับสัตว์ไปทำหมันดังกล่าว
มีความเสี่ยงที่จะเป็นการทำร้ายสัตว์ที่ทำหมัน อันเป็นการผิดศีลเรื่องปาณาติบาต
แถมยังอาจมีวิบากกรรมเกิดขึ้นในอนาคตแก่ผู้จับสัตว์ไปทำหมันอีกด้วย
เช่นนี้เราก็ไม่ต้องจับสัตว์ไปทำหมัน โดยก็ปล่อยให้สัตว์มีลูกไปก่อน
จากนั้นเราค่อยจับลูกสัตว์ดังกล่าวไปปล่อยจะดีกว่าไหม?
ตอบว่าการจับลูกสัตว์ไปปล่อยนั้นก็น่าจะก่อบาปอกุศลได้ไม่น้อยกว่าจับสัตว์ทำหมันนะครับ
เพราะประการแรก เป็นการพรากลูกสัตว์ไปจากสัตว์ที่เป็นพ่อแม่
ประการที่สอง เป็นการเบียดเบียนให้ลูกสัตว์นั้นได้รับความลำบาก และอาจถึงตาย
ประการที่สาม เป็นการเบียดเบียนคนอื่นที่อยู่อาศัยในบริเวณที่นำสัตว์ไปปล่อยนั้น
โดยต้องให้เขามารับภาระดูแลหรือเดือดร้อนจากสัตว์ที่โดนนำไปปล่อยนั้น

ถามว่าทำอย่างไรที่จะให้ปลอดภัยที่สุดและไม่ต้องมีปัญหาในเรื่องจับสัตว์ไปทำหมันนี้
ตอบว่าหากเราไม่มีสัตว์เลี้ยงเลยตั้งแต่แรก เราก็ไม่จำเป็นต้องจับสัตว์เลี้ยงไปทำหมันนะครับ
และก็ไม่มีประเด็นว่าจะต้องจับสัตว์ใด ๆ ไปปล่อยเช่นกันครับ
แต่หากว่าเราเกิดมีสัตว์เลี้ยงขึ้นมาแล้ว
เราก็พึงหาวิธีการที่จะดูแลเขา โดยไม่ให้ตัวเราต้องผิดศีลครับ
ส่วนท่านที่เป็นจิตอาสาจับสัตว์ไปทำหมันนั้น
ก็พึงพิจารณาใช้วิธีการที่จะลดความเสี่ยงที่จะผิดศีล ดังที่ได้แนะนำไปแล้วข้างต้นครับ

สรุปแล้ว ในเรื่องของการจับสัตว์ไปทำหมันนั้น ไม่ได้เป็นการฆ่าสัตว์ที่ยังไม่ได้เกิดมานะครับ
แต่ว่ามีความเสี่ยงที่อาจจะเป็นการทำร้ายสัตว์ที่โดนจับไปทำหมันนั้นได้
หากเราจำเป็นจะต้องจับสัตว์ไปทำหมันจริง ๆ แล้ว
เราก็ควรพิจารณาและตั้งเจตนาเราให้เหมาะสม และเลือกวิธีการที่จะให้สัตว์บาดเจ็บน้อยที่สุด
ในขณะเดียวกัน เราพึงทราบว่ากรณีดังกล่าวอาจทำให้เกิดวิบากกรรมแก่เราในอนาคตด้วย