Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๗๗

คุยเรื่องศีลข้อสาม (กาเมสุมิจฉาจาร)

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dharmajaree-177

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมได้พบคำถามเกี่ยวกับเรื่องศีลข้อสาม (กาเมสุมิจฉาจาร)
โดยในคำถามได้ถามว่า การไปเที่ยวโสเภณีถือว่าเป็นการทำผิดศีลข้อสามหรือไม่
ซึ่งในบทความนี้ นอกจากเราจะสนทนาเพื่อตอบคำถามดังกล่าวแล้ว
เราจะสนทนาเพื่อตอบคำถามอีกเรื่องหนึ่งด้วย คือคำถามที่ว่า
กรณีที่ร่วมประเวณีกับแฟน ซึ่งยังไม่ได้แต่งงานกัน จะถือว่าเป็นการทำผิดศีลข้อสามหรือไม่
เพราะว่าทั้งสองคำถามนี้สามารถตอบได้โดยอธิบายเนื้อหาในคราวเดียวกันนะครับ

ในองค์ประกอบของเรื่องการผิดศีลข้อสามนั้น
ตามอรรถกถาของ “สัมมาทิฏฐิสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)
ได้อธิบายว่า “กาเมสุมิจฉาจาร” นั้น มีองค์ประกอบ ๔ ประการ คือ
๑. เป็นบุคคลต้องห้าม (เรียกว่า “อคมนียฐาน”)
๒. จิตคิดจะเสพในบุคคลต้องห้ามนั้น
๓. การประกอบการเสพ
๔. การยังมรรคให้ดำเนินไปในมรรคหรือหยุดอยู่
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12.0&i=110&p=1

ปัญหาใหญ่ที่มักจะถกเถียงกันก็คือว่าบุคคลที่ร่วมประเวณีด้วยกันนั้น
ถือเป็นบุคคลต้องห้าม (“อคมนียฐาน”) หรือไม่
โดยในอรรถกถาของสัมมาทิฏฐิสูตรนั้นได้อธิบายดังนี้ครับว่า

“ที่ชื่อว่าเป็นอคมนียฐาน (หญิงที่ต้องห้าม) สำหรับผู้ชายในกาเมสุมิจฉาจารนี้
ได้แก่หญิง ๒๐ จำพวก คือ หญิงที่มีมารดารักษา เป็นต้น
หญิง ๑๐ จำพวก คือ หญิงที่มารดารักษา ๑ ที่บิดารักษา ๑ ที่ทั้งมารดาและบิดารักษา ๑
ที่พี่ชายน้องชายรักษา ๑ ที่พี่หญิงน้องหญิงรักษา ๑ ที่ญาติรักษา ๑ ที่โคตรรักษา ๑
ที่ธรรมรักษา ๑ ที่มีการอารักขา ๑ ที่มีอาชญารอบด้าน (อยู่ในกฏมณเฑียรบาล) ๑
และหญิงอีก ๑๐ จำพวก มีหญิงที่ไถ่มาด้วยทรัพย์เป็นต้นเหล่านี้
คือภรรยาที่ซื้อมาด้วยทรัพย์ (ภรรยาสินไถ่) ๑ ที่อยู่ด้วยกันเพราะความพอใจ ๑
ที่อยู่ด้วยกันเพราะโภคะ ๑ ที่อยู่ด้วยกันเพราะเครื่องนุ่งห่ม ๑ ที่ผู้ปกครองเต็มใจยกให้ ๑
ที่ชายยกเทริดลงจากศีรษะ ๑ ที่เป็นทั้งภรรยาเป็นทั้งทาส ๑ ที่เป็นทั้งภรรยาเป็นทั้งลูกจ้าง ๑
ที่เป็นเชลยศึก ๑ ที่อยู่ด้วยกันเพียงครู่เดียว ๑

ส่วนชายอื่น นอกจากสามีของตน ชื่อว่าเป็นอคมนียฐาน (ชายต้องห้าม)
สำหรับหญิง ๑๒ จำพวก คือ ๒ จำพวกสำหรับหญิงมีอารักขาและหญิงมีอาชญารอบด้าน
และ ๑๐ จำพวกสำหรับภรรยาที่ไถ่มาด้วยทรัพย์เป็นต้น
ในจำนวนหญิงทั้งหลาย (๑๐ จำพวก) สำหรับภรรยา”

เมื่อเราได้อ่านเรื่องหญิง ๒๐ จำพวกที่ได้อธิบายในอรรถกถาของสัมมาทิฏฐิสูตรข้างต้นแล้ว
ก็คงจะเห็นได้ว่าเนื้อหาซับซ้อนไม่น้อยนะครับ (หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “ยาก” นั่นแหละครับ)
แต่ผมก็เห็นสมควรยกขึ้นมาอ้างอิงก่อน เพราะเป็นอรรถกถาที่อธิบายในเรื่องอคมนียฐาน

อย่างไรก็ดี ในการตอบคำถาม ผมจะขอตอบโดยใช้อีกพระสูตรหนึ่งคือ “จุนทสูตร”
(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต)
ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า “... ละการประพฤติผิดในกาม
เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม ไม่ถึงความประพฤติล่วงในสตรีที่มารดารักษา บิดารักษา
พี่ชายน้องชายรักษา พี่สาวน้องสาวรักษา ญาติรักษา ธรรมรักษา มีสามี มีอาชญาโดยรอบ
โดยที่สุดแม้สตรีที่บุรุษคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย ...”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=24&A=6275&Z=6419&pagebreak=0

ในหญิงบางจำพวกข้างต้นนั้น ถ้อยคำมีว่า มารดารักษา บิดารักษา ญาติรักษา เป็นต้น
กล่าวคือสำหรับหญิงจำพวกที่มีผู้รักษานั้น จะมีคำว่า “รักษา” อยู่ด้วย
ดังนี้แล้ว หากผู้รักษาเขาไม่รักษา กล่าวคือเขาได้อนุญาตแก่ชายที่ร่วมประเวณีนั้นแล้ว
เช่นนี้ ชายนั้นก็ย่อมไม่ผิดในประเด็นที่มีคนอื่นรักษา
(แต่อาจจะผิดประเด็นอื่นได้ ดังจะได้อธิบายต่อไป)

ทีนี้ สังเกตว่าในกรณีของสามีนั้น ถ้อยคำใช้คำว่า “มีสามี” นะครับ ไม่ได้ใช้คำว่า “สามีรักษา”
เช่นนี้แล้ว กรณีที่ชายร่วมประเวณีกับหญิงมีสามี (ซึ่งไม่ใช่ตนเอง) นั้น
แม้ว่าสามีของหญิงนั้นจะอนุญาตแก่ชายนั้นก็ตาม ก็ยังถือว่าชายนั้นทำผิดศีลข้อสาม

ขอย้อนกลับไปกรณีหญิงซึ่งมีผู้รักษา โดยชายนั้นได้ร่วมประเวณี โดยผู้รักษาได้อนุญาตแล้ว
เราก็อย่าเพิ่งรีบไปด่วนสรุปว่า เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็ถือว่าไม่ผิดศีลข้อสามนะครับ
เพราะว่าเราพึงต้องพิจารณาในประเด็นอื่น ๆ กันต่อไปอีก
(ที่ผมกล่าวใน ๒ ย่อหน้าก่อนนั้น ผมใช้คำว่า “ไม่ผิดในประเด็นที่มีคนอื่นรักษา” ครับ
ผมไม่ได้ใช้คำว่า “ไม่ผิดศีลข้อสาม” นะครับ เพราะว่ายังอาจจะผิดศีลข้อสามก็ได้)
ถ้าเรารีบไปด่วนสรุปว่า เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็ถือว่าไม่ผิดศีลข้อสาม
ก็จะทำให้มีคำถามที่น่าสงสัยตามมาอีกมากมาย
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่ามีพี่ชายและน้องสาวอยู่คู่หนึ่ง โดยพ่อแม่และญาติอื่น ๆ ตายหมดแล้ว
ต่อมา พี่ชายและน้องสาว ๒ คนนั้นได้ร่วมประเวณีกันเอง โดยทั้งสองคนต่างยินยอม
กรณีนี้ เราก็อาจจะเข้าใจว่าพวกเขาอนุญาตกันแล้ว และไม่มีคนรักษา ก็ไม่ผิดศีล

หรือยกตัวอย่างว่า สมมุติว่าพ่อคนหนึ่งมีลูกสาว และพ่อเป็นหม้ายเพราะเมียตาย
ต่อมา พ่อคนนี้ได้ร่วมประเวณีกับลูกสาวตนเอง โดยลูกสาวก็ยินยอมด้วย
กรณีนี้ เราก็อาจจะเข้าใจว่าพวกเขาอนุญาตกันแล้ว และไม่มีคนรักษา ก็ไม่ผิดศีล
ซึ่งโดยสภาพแล้ว เราก็เห็นได้ชัดเจนว่าควรจะต้องผิดศีลอยู่แล้ว

หรือยกตัวอย่างกรณีที่พ่อแม่นำลูกสาวตนเองไปค้าประเวณี
โดยยินยอมให้ชายอื่นมาร่วมประเวณีกับลูกสาวตนเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินตรา
กรณีนี้ เราก็อาจจะเข้าใจว่าพวกเขาอนุญาตกันแล้ว และไม่มีคนรักษา ก็ไม่ผิดศีล
ซึ่งโดยสภาพแล้ว เราก็ย่อมจะเห็นได้ว่าควรจะต้องผิดศีลเช่นกัน

ดังนั้นแล้ว แม้ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้รักษาหญิงนั้นแล้วก็ตาม
เราก็ยังต้องมาพิจารณาในประเด็นอื่น ๆ ต่อไปครับ เพราะยังมีคำว่า
“ธรรมรักษา” “มีอาชญาโดยรอบ” และ “โดยที่สุดแม้สตรีที่บุรุษคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย” อีกด้วย
แต่ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคำถามในบทความนี้
ผมจะกล่าวถึงเพียงแค่คำว่า “ธรรมรักษา” เท่านั้นนะครับ
โดยหากเราอ่านคำว่า “ธรรมรักษา” นี้แล้ว เราก็อาจเข้าใจว่าหมายถึง “นักบวช” เท่านั้น
แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่นั้น เพราะความหมายของคำว่า “ธรรมรักษา” นี้กว้างขวางกว่านั้น
ในหนังสือเบญจศีลเบญจธรรม โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ได้อธิบายความหมายของคำนี้ไว้ว่าหมายถึง
ธรรมรักขิตา หรือ จาริตา คือหญิงที่จารีตรักษา ที่เรียกว่า จารีตห้าม ได้แก่
(ก) หญิงที่เป็นเทือกเถาเหล่ากอ
เทือกเถา คือ ญาติผู้ใหญ่ นับย้อนขึ้นไป ๓ ชั้น มีย่าทวด ยายทวด ๑ ย่า ยาย ๑ แม่ ๑
เหล่ากอ คือ ผู้สืบสายจากตนลงไป ๓ ชั้น มีลูก ๑ หลาน ๑ เหลน ๑
(ข) หญิงที่อยู่ใต้พระบัญญัติในพระศาสนา อันห้ามสังวาสกับชาย
เช่น ภิกษุณี ในกาลก่อน หรือ แม่ชี ในสมัยปัจจุบัน เป็นต้น
(ค) หญิงที่บ้านเมืองห้าม เช่น แม่หม้ายงานท่าน อันมีในกฎหมาย
หญิง ๓ จำพวกนี้ จะมีฉันทะร่วมกัน หรือไม่ร่วมกัน ไม่เป็นประมาณ
ชายร่วมสังวาสด้วย ก็เป็นกามาสุมิจฉาจาร
http://www.dharma-gateway.com/dhamma/dhamma-sila-00-04.htm

เราจะเห็นได้ว่าคำว่า “ธรรมรักษา” นี้รวมถึงจารีตประเพณี และกฎหมายด้วย
และไม่ว่าหญิงนั้นจะมีฉันทะ (คือยินดีเต็มใจ) ร่วมกันหรือไม่ก็ตาม
ก็ถือว่าผิดศีลข้อสาม เพราะว่าเป็นการผิดต่อ “ธรรมรักษา” อยู่แล้ว
อย่างเช่นกรณีร่วมประเวณีกับหญิงซึ่งอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้
แม้ว่าพ่อแม่จะอนุญาตและหญิงนั้นยินยอมก็ตาม แต่ก็เป็นการผิดกฎหมาย
การร่วมประเวณีดังกล่าวก็ย่อมถือเป็นการผิดศีลข้อสามด้วย
เพราะถือว่าเป็นหญิงซึ่งมีธรรมรักษา หรือเป็นหญิงต้องห้าม

ทีนี้ เรามาพิจารณาในเรื่องการไปเที่ยวหญิงโสเภณี หรือร่วมประเวณีกับหญิงโสเภณีนะครับ
โดยสภาพแล้ว การค้าประเวณีเป็นเรื่องผิดจารีตประเพณีในปัจจุบัน และผิดกฎหมายในปัจจุบัน
กรณีจึงย่อมถือว่าโสเภณีนั้นเป็นหญิงต้องห้ามแล้ว เพราะว่าธรรมรักษา
การไปเที่ยวหญิงโสเภณี หรือร่วมประเวณีกับหญิงโสเภณี จึงเป็นการผิดศีลข้อสาม
โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าได้รับอนุญาตจากผู้รักษาของหญิงโสเภณีนั้นหรือไม่
และไม่จำต้องพิจารณาว่าหญิงโสเภณีนั้นจะยินยอมพร้อมใจหรือไม่

ในเรื่องเกี่ยวกับโสเภณีนั้น บางท่านอาจจะเคยอ่านพบในบางเว็บไซต์หรือบางเว็บบอร์ด
ที่ได้อธิบายเรื่องศีลข้อสาม โดยอ้างอิงถึงกรณีโสเภณีในสมัยพุทธกาล
ส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่ากรณีดังกล่าวนำมาเป็นตัวอย่างสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันไม่ได้
เพราะว่ากฎหมายและจารีตประเพณีในเรื่องนี้ในปัจจุบันแตกต่างจากในสมัยพุทธกาล
โดยกรณีโสเภณีในสมัยพุทธกาลนั้น ไม่ได้ผิดกฎหมาย และไม่ได้ผิดจารีตประเพณี
จึงไม่ได้ถือว่าหญิงนั้นมีธรรมรักษา (โดยในสมัยพุทธกาลนั้น มีหญิงโสเภณีประจำเมืองด้วย)

ในกรณีที่ร่วมประเวณีกับแฟน ซึ่งยังไม่ได้แต่งงานกันนั้น
เราก็พิจารณาได้ในหลักการทำนองเดียวกันครับว่า หญิงนั้นเป็นหญิงต้องห้ามหรือไม่
โดยอาจจะเริ่มพิจารณาก่อนว่ามีผู้รักษาหรือไม่ ถ้ามีผู้รักษาแล้ว ชายนั้นได้รับอนุญาตหรือไม่
สมมุติว่าชายนั้นได้รับอนุญาตแล้วก็ตาม แต่ว่ามีกฎหมาย หรือจารีตประเพณีรักษาไว้หรือไม่
กล่าวคือหญิงนั้นอายุเกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่
หากเกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว การร่วมประเวณีดังกล่าวขัดต่อจารีตประเพณีหรือไม่
ซึ่งถ้าถามผมนะครับ โดยส่วนตัวแล้ว ผมก็เห็นว่าจารีตประเพณีของประเทศไทย
น่าจะยังไม่ได้ถือว่าการร่วมประเวณีก่อนแต่งงานเป็นสิ่งถูกต้องตามจารีตประเพณีนะครับ
โดยส่วนตัวแล้ว ผมจึงเห็นว่าหญิงนั้นยังมีจารีตประเพณีรักษาอยู่ (คือธรรมรักษา) ครับ

อนึ่ง คำว่า “แต่งงานกัน” ในย่อหน้าก่อนหน้านี้ ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องจดทะเบียนสมรสเท่านั้น
โดยถ้าได้แต่งงานกันถูกต้องตามจารีตประเพณี แล้วก็อยู่กันกันเปิดเผยฉันท์สามีภรรยาแล้ว
แม้ว่าจะยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ก็ควรถือว่าได้แต่งงานกันแล้ว (ในแง่ของเรื่องศีลนะครับ)

ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะมีคำถามถึงกรณีอื่น ๆ สำหรับศีลข้อสามนะครับว่า
แล้วถ้าเป็นอย่างนี้ล่ะ ถ้าเป็นอย่างนั้นล่ะ ถ้าเป็นอย่างโน้นล่ะ
ผมขอแนะนำวิธีการง่าย ๆ นะครับ โดยให้ท่านใช้หลักตาม “กาลามสูตร” (เกสปุตตสูตร)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=20&A=4930&Z=5092
โดยให้ท่านพิจารณาอย่างเป็นกลางด้วยตนเองว่า
สิ่งประพฤติปฏิบัติที่ท่านสงสัยนั้น เป็นกุศล หรืออกุศล
เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษภัย ผู้รู้ติเตียนหรือชื่นชม บัณฑิตพึงละเว้นหรือพึงประพฤติสิ่งนั้น
เพียงเท่านี้ ท่านก็น่าจะพอได้คำตอบครับว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่สมควรประพฤติหรือไม่
ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรประพฤติแล้ว เราก็ไม่พึงประพฤติสิ่งนั้นครับ