Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๗๖

เก่ง ดี มีปัญญา

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dhammajaree

เมื่อประมาณ ๓ เดือนก่อน ผมได้ไปช่วยจัดคอร์สสุขภาพที่ชมรมธรรมะแห่งหนึ่ง
มีน้องผู้หญิงเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้นคนหนึ่งมาเข้าคอร์สด้วยกับคุณพ่อคุณแม่
เมื่อทราบว่าน้องผู้หญิงคนนี้กำลังเรียนอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นโรงเรียนชื่อดัง
และก็กำลังวางแผนว่าจะไปสอบเข้าโรงเรียนมัธยมปลายอีกแห่งหนึ่ง
ซึ่งก็เป็นโรงเรียนชื่อดังและสอบแข่งขันเข้าได้ยากมาก ๆ
ผมดูแล้วเห็นว่าน้องเขาเป็นเด็กเรียนดีและตั้งใจ จึงบอกน้องเขาว่า “ดีครับ ดี”

หลังจากนั้น ผมก็ได้สอนน้องเขาทำน้ำคลอโรฟิลด์ให้กับคุณพ่อ
พอน้องเขาทำเสร็จแล้ว ก็ถือมาให้คุณพ่อ ผมก็บอกว่า “สาธุ อนุโมทนาด้วยนะ”
ต่อมา ผมก็ได้ถามน้องเขาว่า “เห็นทำโน่นทำนี่ไม่ค่อยถนัดเลย
เวลาอยู่บ้าน ได้ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านบ้างหรือเปล่า ได้ช่วยทำอะไรให้พ่อแม่บ้างไหม?”
น้องเขาตอบว่า “ไม่ได้ทำอะไรค่ะ แม่บอกว่าให้หนูเรียนอย่างเดียว
ส่วนเรื่องอื่น ๆ นั้นให้แม่ทำเอง ก็เลยไม่ได้ช่วยทำอะไรที่บ้านเลย”

ผมจึงอธิบายให้น้องเขาฟังว่า มีอยู่ ๓ คำที่ผมอยากจะอธิบายให้ฟังคือ
คำว่า “เก่ง” “ดี” และ “มีปัญญา”
คำว่า “เก่ง” ก็คือ อย่างเราตั้งใจเรียน เราเรียนเก่ง เราสอบได้คะแนนดี
เราสอบเข้าไปเรียนในโรงเรียนที่ดีและมีชื่อเสียงได้
ส่วนคำว่า “ดี” ไม่เหมือนกับคำว่าเก่ง
คำว่า “ดี” หมายถึงทำดี สร้างกุศล เป็นคนดี เป็นคนมีศีลธรรม ทำในสิ่งที่เป็นบุญกุศล
ในความแตกต่างระหว่าง “เก่ง” และ “ดี” นั้น
คนเก่งไม่ได้แปลว่าจะเป็นคนดี และคนดีก็ไม่ได้จำเป็นว่าต้องเป็นคนเก่ง
คนเก่งที่เป็นคนชั่วหรือคนไม่ดีก็มีมาก และคนดีที่เป็นคนไม่เก่งก็มีอยู่เยอะ
กรณีจะเป็นประโยชน์มากเลยหากเราเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง
แต่ถามว่าการเป็นคนดีกับการเป็นคนเก่งนั้น อย่างไหนสำคัญกว่ากัน?
ตอบว่า การเป็น “คนดี” สำคัญกว่า
เพราะถ้าเป็นคนไม่ดีแล้ว ยิ่งเป็นคนเก่ง ก็จะยิ่งนำความเก่งไปทำสิ่งไม่ดี
นำความเก่งไปสร้างบาปอกุศล อันย่อมจะเป็นโทษแก่ตนเอง และเสียหายแก่ผู้อื่น
เมื่อตายไปแล้ว ก็จะนำติดตัวไปซึ่งสิ่งที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้น

อย่างกรณีของน้องนะ ทุกวันนี้เรามุ่งแต่เรียนอย่างเดียว
โดยไม่ได้ช่วยเหลืออื่น ๆ หรือทำอะไรอื่น ๆ ให้กับพ่อแม่ ก็เท่ากับเสียโอกาสตนเอง
เพราะว่าการเรียนนั้นเป็นเพียงการสร้างความ “เก่ง” ของเรา
แต่เราไม่ได้ฝึกฝนสร้างความ “ดี” ของเราเอง
ในขณะที่ชีวิตของคนเรานั้นไม่แน่นอน อย่างสมมุติว่า น้องเกิดประสบอุบัติเหตุตายไปในขณะนี้
ถามว่าจะมีอะไรดี ๆ ติดตัวไปได้บ้าง ในเมื่อได้ใช้เวลาเกือบทั้งหมดไปกับการฝึกความเก่ง
ซึ่งความเก่งในด้านความรู้วิชาการที่เราเรียนนี้ มันไม่ได้ติดตัวเราไปด้วย
สมมุติว่าเราได้ไปเกิดใหม่เป็นมนุษย์ในชาติหน้า เราก็ต้องเริ่มเรียนกันใหม่
แต่ว่าความดีหรือสิ่งที่เป็นบุญกุศลนี้มันติดตัวเราไปได้ด้วย
ฉะนั้นแล้ว จึงแนะนำให้น้องมาแบ่งเวลาสนใจในเรื่องการฝึกฝนตนเองให้ “ดี” ด้วย

ส่วนคำสุดท้ายคือคำว่า “มีปัญญา” หมายถึงว่ามีปัญญาในทางธรรม
มีความรู้ความเข้าใจในสัจธรรมของชีวิตของเรา และช่วยไม่ให้กิเลสทั้งหลายครอบงำจิตใจ
เมื่อกิเลสทั้งหลายครอบงำจิตใจเราไม่ได้แล้ว เราก็ไม่เป็นทุกข์เพราะกิเลส
แม้ว่าเราจะเป็นคน “เก่ง” และเราจะเป็นคน “ดี” ก็ตาม
แต่หากเรายังโดนกิเลสทั้งหลายครอบงำจิตใจอยู่ เราก็ยัง “ทุกข์” ใจอยู่
และเราก็ยังต้องใช้ชีวิตไปตามที่กิเลสบงการเรา ทำให้เราไม่ได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง
ฉะนั้นแล้ว หากเราสามารถศึกษาและฝึกฝนตนเองให้ “มีปัญญา” ได้
เราก็จะพ้นจากทุกข์เพราะไม่โดนกิเลสครอบงำ
และเราก็จะช่วยเหลือแนะนำพ่อแม่ และคนอื่น ๆ ในเรื่องนี้ได้ด้วยเช่นกัน

จากนั้น ผมก็ถามน้องเขาว่า “จำได้ไหมว่า เวลาที่พี่ทราบว่าน้องเรียนที่ไหน
และจะไปสอบเข้าที่ไหน แล้วพี่บอกว่ายังไง”
น้องตอบว่า “พี่บอกว่า ดี ๆ”
ผมถามต่อว่า “ถูกต้องครับ แล้วจำได้ไหมว่า
เวลาที่น้องทำ และถือน้ำคลอโรฟิลด์มาให้คุณพ่อนั้น พี่บอกว่ายังไง”
น้องตอบว่า “พี่บอกว่า สาธุ อนุโมทนา”
ผมจึงอธิบายว่า นั่นแหละ เห็นไหมว่าเรื่องแรกเป็นเรื่อง “เก่ง” พี่ก็แค่บอกว่า “ดี ๆ”
แต่เรื่องหลัง เป็นเรื่อง “ดี” พี่ยกมือไหว้แล้วบอกว่า “สาธุ อนุโมทนา”
๒ เรื่องนี้ระดับมันแตกต่างกันเป็นคนละระดับเลยนะ

สรุปนะ ที่น้องตั้งใจเรียนอยู่นี้ ก็ถือว่าเป็นประโยชน์นะ แล้วก็ช่วยให้พ่อแม่สบายใจ
แต่ว่าอยากจะให้แบ่งเวลามาฝึกฝนทำอย่างอื่นด้วย เพื่อฝึกฝนตนเองในเรื่อง “ดี”
เรื่องงานบ้านทั้งหลายหรือเรื่องอื่น ๆ ที่เราช่วยพ่อแม่ทำได้ เราก็ควรทำนะ
โดยควรทำอะไรอื่น ๆ ให้พ่อแม่ด้วย เพื่อเป็นบุญกุศลแก่ตนเอง
แล้วเมื่อเราสามารถฝึกฝนตนเองให้ “ดี” ได้แล้ว ก็อย่าหยุดแค่นั้น
พึงพยายามศึกษาและฝึกฝนตนเองให้ “มีปัญญา” (ในทางธรรม) ด้วย
ผมก็อธิบายให้น้องเขาฟังมาถึงเพียงแค่ตรงนี้

ทีนี้ เรามาคุยกันเองในฐานะที่พวกเราเป็นผู้ใหญ่นะครับ
พ่อแม่หลาย ๆ ท่านอาจจะเป็นห่วงลูกและต้องการให้ลูกเรียนดี เพื่อมีอนาคตที่ดี
แต่ก็พึงมีความเข้าใจในทำนองเดียวกันนะครับว่านั่นเป็นเรื่องของการฝึกฝนให้ “เก่ง”
ไม่ได้เป็นการฝึกฝนในเรื่องของความ “ดี”
การที่ให้ลูกได้ฝึกฝนแต่เรื่องของ “เก่ง” เท่านั้น มุ่งเรียนอย่างเดียว
แต่ไม่ได้มีโอกาสทำ “ดี” อย่างอื่นเลย เพราะว่าพ่อแม่ทำให้ทุกอย่างแล้ว
เท่ากับว่าเป็นการเสียโอกาสของเด็กนั้นเอง
หากสมมุติว่าเกิดมีอุบัติเหตุใด ๆ ที่ให้เด็กต้องเสียชีวิตไปอย่างทันทีแล้ว
เด็กก็ไม่ได้มีสิ่งดี ๆ ติดตัวไป เพราะไม่ได้สร้างสมสิ่งดี ๆ เอาไว้เลย
ดังนั้น หากเรารักลูกแล้ว ก็พึงให้ลูกได้ทำสิ่ง “ดี” และสะสมสิ่ง “ดี” ไว้ด้วยครับ

กรณีที่เราสอนลูกว่า ลูกไม่ต้องทำอะไรให้พ่อแม่หรอก แต่ให้พ่อแม่ทำให้ลูกเอง
อย่างนี้เราจะมองว่าเป็นประโยชน์แก่ลูกจริงหรือไม่?
ยกตัวอย่างสมมุติว่า เราไปที่วัดแห่งหนึ่ง เพื่อจะนำภัตตาหารไปถวายพระภิกษุ
พระภิกษุท่านก็บอกว่าให้เราไปรอที่ศาลา และจะได้ถวายภัตตาหารที่ศาลา
พอเราเข้าไปในศาลาแล้ว เราได้พบเศษขยะที่มีคนนำมาทิ้งไว้เกลื่อนกลาดในศาลา
เราจึงเดินเก็บเศษขยะเหล่านั้น และทยอยนำไปทิ้งลงถังขยะ
พระภิกษุท่านเดินมาถึงก็บอกเราว่า “โยมไม่ต้องทำหรอก ให้โยมนั่งเฉย ๆ นะ
ปล่อยให้อาตมาเป็นคนเก็บเศษขยะเหล่านี้ไปทิ้งเอง”
ผมถามว่า เมื่อเราได้ยินเช่นนั้นแล้ว เราจะทำอย่างไร?
เราจะเลือกอยู่เฉย ๆ โดยปล่อยให้พระภิกษุท่านเป็นผู้เก็บเศษขยะไปทิ้ง
หรือว่าเราจะช่วยเก็บเศษขยะไปทิ้งต่อไป โดยเรียนพระภิกษุว่าให้เราช่วยเก็บไปทิ้งเถิด
ผมเห็นว่าพวกเราคงไม่มีใครปล่อยให้พระภิกษุท่านเป็นผู้เก็บเศษขยะไปทิ้ง
โดยที่เราอยู่เฉยไม่ทำอะไรนะครับ เพราะว่าการที่เราช่วยเก็บเศษขยะในศาลานั้น
ย่อมถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้สร้างบุญกุศลสำหรับตัวเราเองแล้ว

ฉันใดก็ฉันนั้น พ่อแม่เปรียบเสมือนเป็นพระอรหันต์ของลูก
การที่ให้โอกาสแก่ลูกได้ทำโน่นทำนี่ให้กับพ่อแม่ตามสมควรนั้น
ย่อมเท่ากับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้สร้างบุญกุศลนะครับ (และก็เป็นบุญใหญ่ด้วย)
ในทางกลับกัน หากบอกว่าลูกไม่ต้องทำอะไรให้พ่อแม่หรอก
ก็เท่ากับว่าปิดโอกาสของลูกที่จะได้สร้างบุญกุศลกับพ่อแม่ตนเอง

พ่อแม่บางคนอาจจะสอนลูกว่าให้ตั้งใจเรียนเพื่อให้ได้เกรดดี ๆ
เพื่อให้ได้เข้ามหาวิทยาลัยคณะดี ๆ เพื่อจะได้จบมามีงานดี ๆ และเพื่อให้มีรายได้ดี ๆ
มีคำว่า “ดี ๆ” อยู่เยอะนะครับ แต่ไม่ได้หมายถึงคุณความดี หรือศีลธรรมครับ
โดยกลับไหลไปในเรื่องของทรัพย์สิน โดยมุ่งเพียงว่ามีรายได้ดี ๆ มีเงินเยอะ ๆ เท่านั้น
แต่ถามว่าคนเราควรจะถือเงินหรือทรัพย์สินเป็นเป้าหมายของชีวิตหรือเปล่า?
ในที่นี้ขอยกพระสูตรชื่อ “รัฐปาลสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์)
โดยได้เล่าว่าพระรัฐปาละได้ทรงแสดงธรรมเรื่องธัมมุทเทส ๔ แก่พระราชาพระองค์หนึ่ง
ธัมมุทเทส ๔ ได้แก่ ๑. โลกอันชรานำเข้าไป ไม่ยั่งยืน
๒. โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน
๓. โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป
๔. โลกบกพร่องอยู่เป็นนิตย์ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา

โดยในประการที่ ๔ นั้น พระราชาทรงถามพระรัฐปาละว่า
“โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา จะพึงเห็นได้อย่างไร?”
พระรัฐปาละถามพระราชาว่า “ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรทรงครอบครองกุรุรัฐอันเจริญอยู่หรือ?”
พระราชาทรงตอบว่า “อย่างนั้น ท่านรัฐปาละ ข้าพเจ้าครอบครองกุรุรัฐอันเจริญอยู่”
พระรัฐปาละถามต่อว่า “หากราชบุรุษของมหาบพิตรที่กุรุรัฐนี้ เป็นที่เชื่อถือได้ เป็นคนมีเหตุ
มาจากทิศบูรพา มาเข้าเฝ้ามหาบพิตร แล้วกราบทูลว่า เขามาจากทิศบูรพา
ในทิศนั้น เขาได้เห็นชนบทใหญ่ มั่งคั่งและเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น ในชนบทนั้น
มีพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้ามาก มีสัตว์อชินะที่ฝึกแล้วมาก มีเงินและทองทั้งที่ยังไม่ได้ทำ
ทั้งที่ทำแล้วก็มาก ในชนบทนั้น สตรีปกครอง พระองค์อาจจะรบชนะได้ด้วยกำลังพลประมาณเท่านั้น
ขอพระองค์จงไปรบเอาเถิด ดังนี้ มหาบพิตรจะทรงทำอย่างไรกะชนบทนั้น?”
พระราชาทรงตอบว่า “ดูกรท่านรัฐปาละ พวกเราก็ไปรบเอาชนบทนั้นมาครอบครองน่ะซิ”

พระรัฐปาละถามต่อว่า “หากราชบุรุษของมหาบพิตรที่กุรุรัฐนี้ เป็นที่เชื่อถือได้ เป็นคนมีเหตุ
มาจากทิศปัจจิม มาเข้าเฝ้ามหาบพิตร แล้วกราบทูลว่า เขามาจากทิศปัจจิม
ในทิศนั้น เขาได้เห็นชนบทใหญ่ มั่งคั่งและเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น ในชนบทนั้น
มีพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้ามาก มีสัตว์อชินะที่ฝึกแล้วมาก มีเงินและทองทั้งที่ยังไม่ได้ทำ
ทั้งที่ทำแล้วก็มาก ในชนบทนั้น สตรีปกครอง พระองค์อาจจะรบชนะได้ด้วยกำลังพลประมาณเท่านั้น
ขอพระองค์จงไปรบเอาเถิด ดังนี้ มหาบพิตรจะทรงทำอย่างไรกะชนบทนั้น?”
พระราชาทรงตอบว่า “ดูกรท่านรัฐปาละ พวกเราก็ไปรบเอาชนบทนั้นมาครอบครองน่ะซิ”

พระรัฐปาละถามต่อว่า “หากราชบุรุษของมหาบพิตรที่กุรุรัฐนี้ เป็นที่เชื่อถือได้ เป็นคนมีเหตุ
มาจากทิศอุดร มาเข้าเฝ้ามหาบพิตร แล้วกราบทูลว่า เขามาจากทิศอุดร
ในทิศนั้น เขาได้เห็นชนบทใหญ่ มั่งคั่งและเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น ในชนบทนั้น
มีพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้ามาก มีสัตว์อชินะที่ฝึกแล้วมาก มีเงินและทองทั้งที่ยังไม่ได้ทำ
ทั้งที่ทำแล้วก็มาก ในชนบทนั้น สตรีปกครอง พระองค์อาจจะรบชนะได้ด้วยกำลังพลประมาณเท่านั้น
ขอพระองค์จงไปรบเอาเถิด ดังนี้ มหาบพิตรจะทรงทำอย่างไรกะชนบทนั้น?”
พระราชาทรงตอบว่า “ดูกรท่านรัฐปาละ พวกเราก็ไปรบเอาชนบทนั้นมาครอบครองน่ะซิ”

พระรัฐปาละถามต่อว่า “หากราชบุรุษของมหาบพิตรที่กุรุรัฐนี้ เป็นที่เชื่อถือได้ เป็นคนมีเหตุ
มาจากทิศทักษิณ มาเข้าเฝ้ามหาบพิตร แล้วกราบทูลว่า เขามาจากทิศทักษิณ
ในทิศนั้น เขาได้เห็นชนบทใหญ่ มั่งคั่งและเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น ในชนบทนั้น
มีพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้ามาก มีสัตว์อชินะที่ฝึกแล้วมาก มีเงินและทองทั้งที่ยังไม่ได้ทำ
ทั้งที่ทำแล้วก็มาก ในชนบทนั้น สตรีปกครอง พระองค์อาจจะรบชนะได้ด้วยกำลังพลประมาณเท่านั้น
ขอพระองค์จงไปรบเอาเถิด ดังนี้ มหาบพิตรจะทรงทำอย่างไรกะชนบทนั้น?”
พระราชาทรงตอบว่า “ดูกรท่านรัฐปาละ พวกเราก็ไปรบเอาชนบทนั้นมาครอบครองน่ะซิ”

พระรัฐปาละถามต่อว่า “หากราชบุรุษของมหาบพิตรที่กุรุรัฐนี้ เป็นที่เชื่อถือได้ เป็นคนมีเหตุ
มาจากฟากสมุทรฟากโน้น มาเข้าเฝ้ามหาบพิตร แล้วกราบทูลว่า เขามาจากฟากมหาสมุทรฟากโน้น
ในฟากมหาสมุทรนั้น เขาได้เห็นชนบทใหญ่ มั่งคั่งและเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น ในชนบทนั้น
มีพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้ามาก มีสัตว์อชินะที่ฝึกแล้วมาก มีเงินและทองทั้งที่ยังไม่ได้ทำ
ทั้งที่ทำแล้วก็มาก ในชนบทนั้น สตรีปกครอง พระองค์อาจจะรบชนะได้ด้วยกำลังพลประมาณเท่านั้น
ขอพระองค์จงไปรบเอาเถิด ดังนี้ มหาบพิตรจะทรงทำอย่างไรกะชนบทนั้น?”
พระราชาทรงตอบว่า “ดูกรท่านรัฐปาละ พวกเราก็ไปรบเอาชนบทนั้นมาครอบครองน่ะซิ”
พระรัฐปาละจึงอธิบายว่า “ดูกรมหาบพิตร เนื้อความนี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้
ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงหมายถึงตรัสธัมมุทเทสข้อที่สี่ว่า
โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา ที่อาตมภาพรู้เห็นและได้ฟังแล้ว”
พระราชาจึงอุทานว่า “น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ข้อว่า โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม
เป็นทาสแห่งตัณหานี้ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตรัสดีแล้ว ท่านรัฐปาละ เป็นความจริง โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา”

หลังจากนั้น พระรัฐปาละได้กล่าวคาถาว่า
“เราเห็นมนุษย์ทั้งหลายในโลกที่เป็นผู้มีทรัพย์ ได้ทรัพย์แล้วย่อมไม่ให้ เพราะความหลง
โลภแล้วย่อมทำการสั่งสมทรัพย์ และยังปรารถนากามทั้งหลายยิ่งขึ้นไป
พระราชาทรงแผ่อำนาจชำนะตลอดแผ่นดิน ทรงครอบครองแผ่นดินมีสาครเป็นที่สุด
มิได้ทรงรู้จักอิ่มเพียงฝั่งสมุทรข้างหนึ่ง ยังทรงปรารถนาฝั่งสมุทรข้างโน้นอีก
พระราชาและมนุษย์เหล่าอื่นเป็นอันมาก ยังไม่สิ้นความทะเยอทะยาน ย่อมเข้าถึงความตาย
เป็นผู้พร่องอยู่ ละร่างกายไปแท้ ความอิ่มด้วยกามย่อมไม่มีในโลกเลย
อนึ่ง ญาติทั้งหลายพากันสยายผมคร่ำครวญถึงผู้นั้น พากันกล่าวว่า ได้ตายแล้วหนอ
พวกญาตินำเอาผู้นั้นคลุมด้วยผ้าไปยกขึ้นเชิงตะกอน แต่นั้นก็เผากัน
ผู้นั้นเมื่อกำลังถูกเขาเผา ถูกแทงอยู่ด้วยหลาวมีแต่ผ้าผืนเดียว ละโภคสมบัติไป
ญาติก็ดี มิตรก็ดี หรือสหายทั้งหลายเป็นที่ต้านทานของบุคคลผู้จะตายไม่มี
ทายาททั้งหลายก็ขนเอาทรัพย์ของผู้นั้นไป ส่วนสัตว์ย่อมไปตามกรรมที่ทำไว้
ทรัพย์อะไรๆ ย่อมติดตามคนตายไปไม่ได้ บุตร ภรรยา ทรัพย์ และแว่นแคว้นก็เช่นนั้น
บุคคลย่อมไม่ได้อายุยืนด้วยทรัพย์ และย่อมไม่กำจัดชราได้ด้วยทรัพย์
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนี้ ว่าน้อยนัก ว่าไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ทั้งคนมั่งมี ทั้งคนยากจน ย่อมกระทบผัสสะ ทั้งคนพาล ทั้งนักปราชญ์ ก็กระทบผัสสะเหมือนกัน
แต่คนพาลย่อมนอนหวาดอยู่ เพราะความที่ตนเป็นพาล
ส่วนนักปราชญ์อันผัสสะถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว
เพราะเหตุนั้นแล ปัญญาจึงประเสริฐกว่าทรัพย์ ปัญญาเป็นเหตุถึงที่สุดในโลกนี้ได้
คนเป็นอันมาก ทำบาปกรรมเพราะความหลงในภพน้อยภพใหญ่
เพราะไม่มีปัญญาเครื่องให้ถึงที่สุด สัตว์ที่ถึงการท่องเที่ยวไปมา ย่อมเข้าถึงครรภ์บ้าง ปรโลกบ้าง
ผู้อื่นนอกจากผู้มีปัญญานั้นย่อมเชื่อได้ว่า จะเข้าถึงครรภ์และปรโลก
หมู่สัตว์ผู้มีบาปธรรม ละโลกนี้ไปแล้วย่อมเดือดร้อน (เพราะกรรมของตนเอง) ในโลกหน้า
เปรียบเหมือนโจรผู้มีความผิด ถูกจับเพราะโจรกรรม มีตัดช่อง เป็นต้น
ย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตนเอง ฉะนั้น
ความจริง กามทั้งหลายวิจิตร รสอร่อยเป็นที่รื่นรมย์ใจ ย่อมย่ำยีจิตด้วยรูปมีประการต่างๆ
มหาบพิตร อาตมาภาพเห็นโทษในกามทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น จึงบวชเสีย
สัตว์โลกทั้งหลาย ทั้งหนุ่มทั้งแก่ เมื่อสรีระทำลายไป ย่อมตกตายไป
เหมือนผลไม้ทั้งหลายที่ร่วงหล่นไป มหาบพิตร อาตมภาพรู้เหตุนี้จึงบวชเสีย
ความเป็นสมณะ เป็นข้อปฏิบัติอันไม่ผิดเป็นผู้ประเสริฐแท้ ดังนี้แล”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=13&A=6825&Z=7248

จากพระสูตรดังกล่าวข้างต้น เราก็ย่อมจะเห็นได้ว่า “ปัญญาประเสริฐกว่าทรัพย์” นะครับ
ทีนี้ เราได้คุยในเรื่อง “เก่ง” “ดี” และ “มีปัญญา” ในกรณีของเด็กไปแล้ว
เราก็พึงย้อนนำมาพิจารณาตนเองด้วยนะครับว่า
ตัวเราเองได้ศึกษาและฝึกฝนตนเองให้ “เก่ง” “ดี” และ “มีปัญญา” ด้วยหรือเปล่า
หรือว่าเรามุ่งฝึกฝนตนเองและลงทุนตนเองเพื่อ “เก่ง” เพียงอย่างเดียว
โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับคำว่า “ดี” และ “มีปัญญา” ด้วยเลย