Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๗๕

คุยเรื่องสังฆทาน (ตอนจบ)

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dhamajaree

(ต่อจากตอนที่แล้ว)
ในตอนที่แล้วเราได้คุยกันถึงกรณีข้อ ๓ ของสังฆทาน ๗ ประการ
คือกรณี “ถวายทานในภิกษุสงฆ์” จบไปแล้ว

บางท่านอาจจะเข้าใจว่าการถวายสังฆทานนั้นต้องเป็นการถวายโดยฆราวาสถวายให้สงฆ์
แต่จริง ๆ แล้วผู้ถวายนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นฆราวาสก็ได้
โดยพระภิกษุก็สามารถถวายสังฆทานให้สงฆ์ได้เช่นกัน
ขอยกตัวอย่างในสมัยพุทธกาล ในกรณีของพระเถระรูปหนึ่งนามว่า “โปฏฐปาทะ”
ซึ่งบิดา มารดา และพี่ชายของท่านได้ทำอกุศลกรรมไว้
และทำให้ภายหลังจากถึงแก่มรณกรรมแล้ว ได้ไปเกิดเป็นเปรตเสวยทุกขเวทนาอย่างมาก
เปรตผู้เป็นพี่ชายของพระเถระจึงได้เปลือยกายไปนั่งคุกเข่าประนมมือแสดงตนแก่พระเถระ
เพื่อขอให้พระเถระได้ให้ทาน แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้พวกตน
ในเช้าวันนั้น พระเถระกับภิกษุอื่นอีก ๑๒ รูปเที่ยวไปบิณฑบาตแล้ว
เมื่อกลับมาประชุมในที่เดียวกัน พระเถระจึงกล่าวกับภิกษุทั้งหมดนั้นว่า
“ขอท่านทั้งหลายจงให้ภัตตาหารที่ท่านได้แล้วแก่ผมเถิด
ผมจักทำสังฆทานเพื่ออนุเคราะห์ญาติทั้งหลาย”
ภิกษุเหล่านั้นจึงมอบภัตตาหารถวายให้พระเถระ
พระเถระได้ถวายภัตตาหารนั้นเป็นสังฆทานแก่สงฆ์
แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้บิดามารดา และพี่ชาย
ด้วยเจตนาว่า ขอทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของเรา ขอญาติทั้งหลายจงมีความสุขเถิด
ในขณะที่อุทิศให้นั่นเอง โภชนะอันประณีต สมบูรณ์ มีแกงและกับหลายอย่าง
ก็ได้ปรากฏเกิดขึ้นแก่เปรตเหล่านั้น

ต่อมา เปรตผู้เป็นพี่ชายมีผิวพรรณดี มีกำลัง มีความสุข
ได้ไปแสดงตนแก่พระเถระ และกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ โภชนะอันมากมายที่พวกข้าพเจ้าได้แล้ว
แต่ขอท่านจงดูข้าพเจ้าทั้งหลายยังเป็นคนเปลือยกายอยู่
ขอท่านจงได้ให้ข้าพเจ้าทั้งหลายได้ผ้านุ่งผ้าห่มด้วยเถิด”
พระเถระได้เลือกเก็บผ้าจากกองหยากเยื่อเอามาทำจีวร แล้วถวายสงฆ์ซึ่งมาจากจตุรทิศ
ครั้นถวายแล้ว ได้อุทิศส่วนกุศลให้บิดามารดา และพี่ชาย
ด้วยเจตนาว่า ขอทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย ขอพวกญาติของเราจงมีความสุขเถิด
ในขณะที่อุทิศนั่นเอง ผ้าทั้งหลายได้เกิดขึ้นแก่เปรตเหล่านั้น

ต่อมา เปรตเหล่านั้นนุ่งห่มผ้าเรียบร้อยแล้วได้มาแสดงตนแก่พระเถระ และกล่าวว่า
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายมีผิวพรรณดี มีกำลัง มีความสุข
มีผ้านุ่งผ้าห่มมากกว่าผ้าที่มีในแคว้นของพระเจ้านันทราช
ผ้านุ่งผ้าห่มทั้งหลายของพวกเรานั้นไพบูลย์และมีค่ามาก คือ ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์
ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าป่าน ผ้าด้ายแกมไหม ผ้าเหล่านั้นแขวนอยู่ในอากาศ
ข้าพเจ้าทั้งหลายเลือกนุ่งห่มแต่ผืนที่พอใจ แต่ว่าพวกข้าพเจ้ายังไม่มีบ้านเรือนอยู่
ขอท่านจงได้ให้พวกข้าพเจ้าได้บ้านเรือนเถิด”
พระเถระจึงได้สร้างกุฎีอันมุงด้วยใบไม้ แล้วได้ถวายสงฆ์ซึ่งมาจากจตุรทิศ
ครั้นแล้ว ได้อุทิศส่วนกุศลให้บิดามารดา และพี่ชาย ด้วยเจตนาว่า
ขอผลแห่งการถวายกุฎีนี้ จงสำเร็จแก่พวกญาติของเรา ขอพวกญาติของเราจงมีความสุขเถิด
ในขณะที่อุทิศนั่นเอง เรือนทั้งหลายคือปราสาทและเรือนอย่างอื่น ๆ
อันบุญกรรมกำหนดแบ่งไว้เป็นส่วน ๆ เกิดขึ้นแล้วแก่เปรตเหล่านั้น
โดยเรือนใน “เปตโลก” (หมายถึงโลกของเปรต) ไม่เป็นเช่นกับเรือนในมนุษยโลก
เรือนของเหล่าเปรตดังกล่าวในเปตโลกนั้นงามรุ่งเรืองสว่างไสวไปทั่วทั้ง ๘ ทิศ
เหมือนเรือนในเทวโลก (หมายถึงโลกของเทวดา)

แต่ว่าเหล่าเปรตดังกล่าวยังไม่มีน้ำดื่ม จึงได้มาแสดงตนแก่พระเถระ และกล่าวว่า
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงได้ให้พวกข้าพเจ้าได้ดื่มน้ำด้วยเถิด”
พระเถระจึงตักน้ำเต็มธมกรก แล้วถวายสงฆ์ซึ่งมาจากจตุรทิศ
(“ธมกรก” คือ กระบอกกรองน้ำ ซึ่งเป็นบริขารอย่างหนึ่งในบริขาร ๘ ของสงฆ์)
ครั้นแล้ว ได้อุทิศส่วนกุศลให้บิดามารดา และพี่ชาย ด้วยเจตนาว่า
ขอผลทานนี้จงสำเร็จแก่พวกญาติของเรา ขอพวกญาติของเราจงมีความสุขเถิด
ในขณะที่อุทิศนั่นเอง น้ำดื่มคือสระโบกขรณี กว้าง ๔ เหลี่ยม ลึก มีน้ำเย็น มีท่าราบเรียบดี
น้ำเย็นมีกลิ่นหอมหาที่เปรียบมิได้ ดารดาษด้วยกอปทุมและอุบล
เต็มด้วยละอองเกสรบัวอันล่วงบนวารี ได้เกิดขึ้นแก่เปรตเหล่านั้น

เปรตเหล่านั้นได้อาบและดื่มน้ำในสระนั้นแล้ว ก็ได้ไปแสดงตนแก่พระเถระ และกล่าวว่า
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ น้ำดื่มของพวกข้าพเจ้ามากเพียงพอแล้ว
บาปย่อมเผล็ดผลเป็นทุกข์แก่พวกข้าพเจ้า
พวกข้าพเจ้าพากันเที่ยวไปลำบากในภูมิภาคอันมีก้อนกรวดและหน่อหญ้าคา
ขอท่านจงได้ให้พวกข้าพเจ้าได้ยานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยเถิด”
พระเถระได้รองเท้าแล้ว และได้ถวายให้สงฆ์ซึ่งมาจากจตุรทิศ
ครั้นแล้ว ได้อุทิศส่วนกุศลให้บิดามารดา และพี่ชาย ด้วยเจตนาว่า
“ขอผลทานนี้จงสำเร็จแก่พวกญาติของเรา ขอพวกญาติของเราจงมีความสุขเถิด”
ในขณะที่อุทิศนั่นเอง เปรตทั้งหลายได้พากันมาแสดงตนให้ปรากฏด้วยรถ แล้วกล่าวว่า
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าเป็นผู้อันท่านได้อนุเคราะห์แล้ว
ด้วยการให้ข้าว ผ้านุ่งผ้าห่ม เรือน น้ำดื่ม และยาน
ฉะนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงมาเพื่อกราบไหว้ท่านผู้เป็นมุนีมีความกรุณาในโลก”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=4038&Z=4107

ถึงตรงนี้แล้ว เราก็คงพอจะเข้าใจแล้วนะครับว่าการทำสังฆทานนั้นทำอย่างไร
ผมก็จะขอตอบคำถามทั้งหลายเกี่ยวกับสังฆทานตามที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนแรก


บางท่านเข้าใจว่าการถวายสังฆทานนั้นต้องถวายสังฆภัณฑ์ใส่ถังสีเหลืองเท่านั้น
ตอบ ไม่จำเป็นต้องใส่ถังสีเหลืองครับ แต่ควรเป็นของที่สมควรแก่ภิกษุสงฆ์
โดยการถวายนั้นเป็นไปตามกรณีข้อ ๓ หรือกรณีข้อ ๖ ของสังฆทาน ๗ ประการ
และประกอบด้วยเจตนาของเราที่มุ่งถวายให้สงฆ์ หรือเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์
โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งหรือหมู่ใดหมู่หนึ่ง


บางท่านเข้าใจว่าการถวายสังฆทานต้องสวดบทถวายสังฆทาน จึงจะเป็นการถวายสังฆทาน
ตอบ ไม่จำเป็นครับ โดยแม้ว่าเราจะสวดบทถวายสังฆทานก็ตาม
แต่หากเราเจตนาถวายแบบปาฏิปุคคลิกทานแล้ว ทานนั้นจะไม่ถึงสงฆ์ก็ได้
สิ่งที่สำคัญคือเจตนาของเราที่มุ่งถวายให้สงฆ์
ซึ่งถ้าเราสวดบทถวายแล้วจะช่วยให้เราระลึกใจว่าถวายให้สงฆ์ได้ ก็พึงสวดครับ
หรือเวลาที่เราไปถวายสังฆทานในวัดต่าง ๆ ที่มีพิธีกรรมให้สวดบทถวายก่อน
เราก็ควรสวดตามพิธีกรรมของทางวัดครับ ไม่ได้จำกัดห้ามอะไร
แต่สิ่งสำคัญกว่าพิธีกรรมคือเจตนาของผู้ถวาย


บางท่านเข้าใจว่าการถวายสังฆทานจะต้องมีพระภิกษุรับถวายอย่างน้อยจำนวนเท่านั้นเท่านี้รูป
ตอบ ประเด็นนี้ได้อธิบายไปแล้วในตอนที่สองและตอนที่สามว่า
การถวายสังฆทานตามกรณีข้อ ๖ ของสังฆทาน ๗ ประการนั้นชัดเจนกว่า
พระภิกษุที่สงฆ์จัดให้มานั้นจะมีจำนวนเท่าไรก็ได้ตามที่เรานิมนต์ไว้
แม้ว่าจะมีพระภิกษุเพียงรูปเดียวก็ถือว่าเป็นสงฆ์ที่มารับสังฆทานได้

ส่วนการถวายสังฆทานตามกรณีข้อ ๖ ของสังฆทาน ๗ ประการนั้น
แม้จะมีพระภิกษุสงฆ์รูปเดียวรับสังฆทานก็ตาม เราก็ถวายสังฆทานได้
แต่ว่าพระภิกษุท่านไม่สามารถนำของสงฆ์นั้นไปใช้ส่วนตัวได้ทันที
โดยจะต้องมีการอุปโลกน์หมู่สงฆ์ขึ้นมาเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับของสงฆ์นั้น
ซึ่งหมู่สงฆ์ในที่นี้ก็ต้องมีอย่างน้อย ๔ รูป คือเป็นภิกษุสงฆ์จตุรวรรค


บางท่านเข้าใจว่าควรถวายสังฆทานให้แก่พระเถระผู้ใหญ่บางรูป เพื่อจะได้อานิสงส์มาก
ตอบ ไม่ใช่เช่นนั้นครับ สังฆทานนั้นเป็นการถวายให้สงฆ์ โดยไม่ได้เจาะจงพระภิกษุรูปใด
หากเรามุ่งถวายให้แก่พระเถระผู้ใหญ่บางรูป กลับจะได้อานิสงส์น้อยลง
เพราะจะทำให้ทานนั้นจะเป็นเพียงปาฏิปุคคลิกทาน
และทานนั้นไม่ถึงสงฆ์ กล่าวคือไม่เป็นสังฆทานแล้ว
ดังนั้น เมื่อใดที่เราได้ระลึกใจว่าเราถวายสังฆทานกับพระภิกษุรูปนี้ได้บุญมากกว่าถวายให้รูปอื่น
ก็พึงทราบว่าการถวายทานดังกล่าวนั้นเป็นเพียงปาฏิปุคคลิกทานครับ ไม่ใช่สังฆทาน

ในบางกรณีนั้น เราไม่ได้เลือกว่าจะถวายให้พระภิกษุรูปไหน เพื่อให้ได้อานิสงส์มาก
แต่เราเผลอไปเลือกพระภิกษุก็มีอยู่บ่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น
สมมุติว่าเราไปถวายสังฆทานที่วัดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีพระภิกษุรอรับสังฆทานอยู่ ๓ รูป
และมีญาติโยมจำนวนมากมาร่วมกันถวายสังฆทานพร้อมกันในเวลานั้น
หลังจากสวดบทถวายสังฆทานจบ เราก็คิดว่าเราไปถวายพระภิกษุที่นั่งหัวแถวดีกว่า
นี่ก็อาจจะทำให้ทานนั้นกลายเป็นปาฏิปุคคลิกทานแล้ว
ในทำนองเดียวกัน หากเราคิดว่าไปถวายพระภิกษุที่นั่งกลางแถวดีกว่า หรือท้ายแถวดีกว่า
ก็อาจจะทำให้ทานนั้นกลายเป็นปาฏิปุคคลิกทานได้เช่นกัน
ถามว่าแล้วเราควรจะทำอย่างไร จะถวายพระภิกษุรูปไหนดีล่ะ
ตอบว่า เราจะถวายพระภิกษุที่นั่งหัวแถว กลางแถว หรือท้ายแถวก็ได้ครับ
แต่สำคัญตรงที่ว่าเราระลึกใจและรักษาเจตนาของเราให้ได้ว่า เราเจตนาถวายให้สงฆ์
ไม่ใช่ไประลึกใจว่าเราถวายให้พระภิกษุรูปไหน หรือนั่งตรงไหนในแถว


บางท่านเข้าใจว่าควรถวายสังฆทานให้วัดแห่งหนึ่ง เพื่อจะได้อานิสงส์มากกว่าถวายอีกวัดหนึ่ง
ตอบ ไม่ใช่เช่นนั้นครับ เพราะสังฆทานเป็นการที่เราเจตนาถวายให้สงฆ์ทั้งหมด
เราระลึกใจโดยใช้คำว่า “สงฆ์” นะครับ ไม่มีคำว่าพระวัดไหนครับ
หากใจเราไประลึกว่าถวายให้พระวัดนั้นวัดนี้ กลับจะได้อานิสงส์น้อยลง
เพราะอาจจะทำให้ทานนั้นเป็นเพียงปาฏิปุคคลิกทาน
และทานนั้นไม่ถึงสงฆ์ กล่าวคือไม่เป็นสังฆทานแล้ว


บางท่านเข้าใจว่าควรถวายสังฆทานที่จะนำไปส่งต่อให้กับหลาย ๆ วัด เพื่อจะได้อานิสงส์มาก
ตอบ ไม่จำเป็นครับ เพราะการถวายสังฆทานนั้นเราถวายให้แก่สงฆ์
ซึ่งหมายความถึงสงฆ์ทั้งหมด โดยไม่จำกัดอยู่แล้ว
การที่บางท่านบอกว่า ถวายสังฆทาน ๙ วัด ๑๐๐ วัด พันวัด หรือหมื่นวัด ก็ตาม
อาจจะทำให้ทานนั้นเป็นปาฏิปุคคลิกทาน และไม่เป็นสังฆทานครับ
เพราะเป็นการไปจำกัดเฉพาะเจาะจงเสียแล้ว


บางท่านเข้าใจว่าการถวายทานให้พระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่งโดยไม่เจาะจง ย่อมถือเป็นสังฆทาน
ตอบ ไม่ใช่เช่นนั้นครับ สังฆทานคือทานที่เจตนาถวายให้แก่สงฆ์ โดยไม่ได้เฉพาะเจาะจง
กรณีไม่ใช่ว่าเราเจตนาถวายของให้ “พระภิกษุ” รูปใดโดยไม่เจาะจงหรือโดยไม่เลือกแล้ว
จะทำให้กลายเป็นสังฆทานโดยอัตโนมัติ

ยกตัวอย่างว่า มีพระภิกษุหลายรูปยืนเรียงแถวรอรับบิณฑบาตอยู่
แล้วเราหลับตาแล้วชี้นิ้วออกไป
เราชี้ไปที่พระภิกษุรูปไหน เราก็จะตักบาตรถวายให้พระภิกษุรูปนั้น
แล้วเราบอกว่า เราไม่ได้เจาะจงเลือกท่าน จึงถือว่าเป็นสังฆทาน
ตอบว่าไม่เป็นสังฆทานนะครับ โดยเป็นเพียงปาฏิปุคคลิกทานเท่านั้น
เพราะว่าเราไม่ได้เจตนาถวายสงฆ์
แต่เราเจตนาถวายให้แก่พระภิกษุรูปที่เราหลับตาชี้นิ้วไปที่ท่าน

อีกตัวอย่างหนึ่ง สมมุติเราตั้งใจจะถวายของให้พระภิกษุรูปหนึ่งในวัดแห่งหนึ่ง
เรานำชื่อพระภิกษุแต่ละรูปในวัดมาใส่เขียนกระดาษแต่ละแผ่น
แล้วเราก็จับสลากหยิบขึ้นมาแผ่นหนึ่ง
หากได้ชื่อพระภิกษุรูปใดแล้ว เราก็จะถวายทานให้พระภิกษุรูปนั้น
แล้วเราก็บอกว่าเราไม่ได้เจาะจงเลือกพระภิกษุว่าจะเป็นรูปใด จึงถือเป็นการถวายสังฆทาน
ตอบว่าไม่เป็นสังฆทานเช่นกันครับ โดยเป็นเพียงปาฏิปุคคลิกทานเท่านั้น
เพราะว่าเราไม่ได้เจตนาถวายสงฆ์
แต่เราเจตนาถวายให้แก่พระภิกษุที่เราจับฉลากชื่อท่านได้


บางท่านเข้าใจว่าการถวายสังฆทานให้แก่พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ย่อมได้อานิสงส์มากกว่าการถวายสังฆทานให้แก่พระภิกษุทุศีล
ตอบ ไม่ใช่เช่นนั้นครับ เพราะสังฆทานเป็นการถวายให้สงฆ์ โดยไม่เฉพาะเจาะจง
หากเราระลึกใจว่าพระภิกษุที่มารับทานเรานั้นเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ย่อมทำให้ทานนั้นเป็นเพียงปาฏิปุคคลิกทาน เพราะเราไม่ได้เจตนาถวายสงฆ์


มาถึงตรงนี้แล้ว คงจะเห็นได้ว่าการถวายสังฆทานนั้น ดูเหมือนว่าน่าจะง่าย
แต่ก็ไม่ง่ายเสียทีเดียว เพราะเราจะต้องระลึกใจว่าถวายให้สงฆ์
ซึ่งแม้ว่าการทำสังฆทานอาจจะดูไม่ง่ายก็ตาม ก็ยังทำได้ง่ายกว่าปาฏิปุคคลิกทานในหลายกรณี
ยกตัวอย่างเช่น หากเราต้องการถวายภัตตาหารให้พระอรหันต์ในวันพรุ่งนี้
ถามว่าเราจะไปถวายภัตตาหารที่ไหนล่ะ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพระภิกษุรูปไหนเป็นพระอรหันต์บ้าง
ตอบว่าเราไม่รู้ และเราก็ไม่สามารถรู้ได้
แม้เราจะฟังใครร่ำลืออย่างไรก็ตาม เราก็ไม่สามารถพิสูจน์และยืนยันข้อมูลดังกล่าวได้
แต่หากเรามุ่งถวายให้สงฆ์แล้ว เราก็ถวายได้สะดวกกว่า และได้อานิสงส์ยิ่งกว่า

เรื่องราวทำนองนี้ก็เคยปรากฏในครั้งพุทธกาลนะครับ
โดยใน “ทารุกัมมิกสูตร” เล่าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำให้อุบาสกถวายสังฆทานดังนี้
(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=%B7%D2%C3%D8%A1%D1%C1%C1%D4%A1%CA%D9%B5%C3&book=9&bookZ=33&original=1

สมัยหนึ่ง คฤหบดีชื่อทารุกัมมิกะ ได้ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามว่า “ดูกรคฤหบดี ทานในสกุลท่านยังให้อยู่หรือ”

ทารุกัมมิกะได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังให้ทานอยู่
และทานนั้นแล ข้าพระองค์ให้ในภิกษุผู้เป็นอรหันต์ หรือผู้บรรลุอรหัตมรรค
ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ฯ”

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูกรคฤหบดี ท่านผู้เป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม อยู่ครองเรือน
นอนเบียดเสียดบุตร บริโภคจันทน์แคว้นกาสี ทัดทรงดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้
ยินดีทองและเงินอยู่ พึงรู้ข้อนี้ได้ยากว่า ภิกษุเหล่านี้เป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้บรรลุอรหัตมรรค”

จากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้อธิบายว่าการเป็นภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรหรือภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้าน
เป็นภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรหรือภิกษุผู้รับนิมนต์
เป็นภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรหรือภิกษุผู้ทรงคฤหบดีจีวรก็ตาม
ไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับว่าภิกษุนั้นเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว เห่อ ปากกล้า พูดพล่าม
มีสติเลอะเลือน ไม่มีสัมปชัญญะ มีใจไม่ตั้งมั่น มีจิตพลุ่งพล่าน ไม่สำรวมอินทรีย์
หรือว่าภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่เห่อ ไม่ปากกล้า ไม่พูดพล่าม
มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีใจตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง สำรวมอินทรีย์

หากภิกษุนั้นเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว เห่อ ปากกล้า พูดพล่าม
มีสติเลอะเลือน ไม่มีสัมปชัญญะ มีใจไม่ตั้งมั่น มีจิตพลุ่งพล่าน ไม่สำรวมอินทรีย์แล้ว
ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น
แต่หากภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่เห่อ ไม่ปากกล้า ไม่พูดพล่าม
มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีใจตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง สำรวมอินทรีย์แล้ว
ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น
(ซึ่งก็ย่อมเป็นการยากที่เราจะรู้ได้ว่าพระภิกษุรูปใดเป็นผู้ผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว เห่อ ปากกล้า พูดพล่าม
มีสติเลอะเลือน ไม่มีสัมปชัญญะ มีใจไม่ตั้งมั่น มีจิตพลุ่งพล่าน ไม่สำรวมอินทรีย์หรือไม่)

จากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสสอนทารุกัมมิกะว่า
“ดูกรคฤหบดี เชิญท่านให้สังฆทานเถิด เมื่อท่านให้สังฆทานอยู่ จิตจักเลื่อมใส
ท่านนั้นเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์”
ทารุกัมมิกะได้รับฟังแล้ว ก็กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้จักให้สังฆทานตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”

คุยกันมา ๔ ตอนแล้ว ผมก็ขอสรุปสั้น ๆ นะครับว่า
สังฆทานนั้นมีอานิสงส์หรือผลแห่งทานยิ่งกว่าปาฏิปุคคลิกทาน
และพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ทรงแนะนำให้ทำสังฆทาน
ซึ่งเมื่อเรามีความเข้าใจทั้งหลายที่ถูกต้องในการทำสังฆทานแล้ว
ก็จะอำนวยประโยชน์ให้เราสามารถทำสังฆทานได้อย่างถูกต้องต่อไปครับ