Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๗๔

คุยเรื่องสังฆทาน (ตอนที่ ๓)

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

Dhammajaree

(ต่อจากตอนที่แล้ว)
ในตอนที่แล้วเราได้คุยกันว่าการถวายสังฆทานในปัจจุบันที่เราสามารถทำได้นั้น
เหลือเพียง ๒ กรณีคือ กรณีข้อ ๖ และกรณีข้อ ๓ ของสังฆทาน ๗ ประการ
โดยเราได้คุยกรณีข้อ ๖ จบไปแล้ว ในตอนนี้ เราก็จะมาคุยกันต่อในกรณีข้อ ๓ นะครับ

ในกรณีข้อ ๓ บอกว่า “ถวายทานในภิกษุสงฆ์”
มีประเด็นที่เราควรพิจารณาคือ คำว่า “ภิกษุสงฆ์” ในที่นี้หมายถึงภิกษุสงฆ์จำนวนเท่าใด
ในประเด็นนี้ เราพึงย้อนกลับไปพิจารณาว่า “สังฆทาน” นั้นเป็นการถวายแก่ “สงฆ์”
โดยหมายถึงสงฆ์ทั้งหมด และไม่ได้จำกัดเฉพาะเจาะจงว่าถวายพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
ในอรรถกถาของทักขิณาวิภังคสูตรได้กล่าวว่า “ความยำเกรงในสงฆ์นั้นทำได้ยาก”
คำว่า “สงฆ์” ดังกล่าวนั้นก็หมายถึงสงฆ์ทั้งหมดเช่นกัน
ดังนั้นแล้ว คำว่า “ถวายทานในภิกษุสงฆ์” จึงหมายถึงถวายให้ “ภิกษุสงฆ์ทั้งหมด”
หรือเพื่อประโยชน์แก่ “ภิกษุสงฆ์ทั้งหมด” (กล่าวคือมีพระภิกษุกี่รูป เราก็ถวายให้ทั้งหมด)
โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะว่าถวายให้แก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเท่านั้น

ในประเด็นเรื่องจำนวนพระภิกษุที่จะรับถวายสังฆทานนั้น
เราอาจจะเคยได้อ่านหรือได้ฟังมาเป็น ๒ แนวทางคือ
แนวทางแรกบอกว่า แม้มีพระภิกษุรับเพียงรูปเดียวก็ตาม เราก็ถวายสังฆทานได้
แนวทางที่สองบอกว่า ในการรับถวายสังฆทานนั้น จะต้องมีพระภิกษุอย่างน้อย ๔ รูป
ซึ่งเราอาจจะสับสนว่าตกลงแล้วยังไงกันแน่ สรุปแล้วอย่างน้อยต้องมี ๔ รูปหรือเปล่า?

อนึ่ง ขอย้ำว่าในกรณีนี้เราคุยกันอยู่ในกรณีข้อ ๓ ของสังฆทาน ๗ ประการนะครับ
เพราะว่ากรณีข้อ ๖ ของสังฆทาน ๗ ประการนั้น ชัดเจนว่าพระภิกษุที่มานั้น
จะมีจำนวนกี่รูปก็ได้แล้วแต่ตามจำนวนที่เราได้นิมนต์และตามที่สงฆ์ได้จัดให้มานั้น

ตามที่ได้กล่าวแล้วว่า ในกรณีข้อ ๓ นั้น “ภิกษุสงฆ์” หมายถึงภิกษุสงฆ์ทั้งหมด
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เจตนาเราจะต้องระลึกว่าเราถวายภิกษุสงฆ์ทั้งหมดนะครับ
ไม่ใช่เจตนาว่าถวายให้พระภิกษุรูปเดียว หรือพระภิกษุ ๔ รูป
ถามว่าแล้วจำนวนพระภิกษุรูปเดียว และพระภิกษุ ๔ รูปมาเกี่ยวข้องอย่างไร?
ตอบว่า ในเมื่อเจตนาเราคือถวายให้แก่ภิกษุสงฆ์ทั้งหมดแล้ว
แม้ว่าพระภิกษุที่มารับนั้นจะมีเพียงรูปเดียวก็ตาม
เราก็สามารถระลึกใจว่าเราถวายให้กับภิกษุสงฆ์ทั้งหมดได้
เพียงแต่ว่าพระภิกษุที่มารับสังฆทานนั้นมารับเพียงรูปเดียว

แต่เมื่อพระภิกษุรูปเดียวนั้นได้รับของสังฆทานไปแล้ว
ท่านจะดำเนินการใด ๆ กับของสังฆทาน (ซึ่งเป็นของสงฆ์) อย่างไรต่อไปนั้น
ท่านก็ย่อมจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามพระวินัย
โดยตามพระวินัยนั้น หมู่สงฆ์แบ่งออกเป็น ๕ ประเภท ได้แก่
๑. ภิกษุสงฆ์จตุรวรรค (สงฆ์พวก ๔) ซึ่งพร้อมเพรียงเข้ากรรมได้ในกรรมทุกอย่าง
ยกเว้นกรรม ๓ อย่าง คือ อุปสมบท ปวารณา อัพภาน
๒. ภิกษุสงฆ์ปัญจวรรค (สงฆ์พวก ๕) ซึ่งพร้อมเพรียงเข้ากรรมได้ในกรรมทุกอย่าง
ยกเว้นกรรม ๒ อย่าง คือ อุปสมบทในมัชฌิมชนบท และอัพภาน
๓. ภิกษุสงฆ์ทสวรรค (สงฆ์พวก ๑๐) ซึ่งพร้อมเพรียงเข้ากรรมได้ในกรรมทุกอย่าง
ยกเว้นอัพภานกรรมอย่างเดียว
๔. ภิกษุสงฆ์วีสติวรรค (สงฆ์พวก ๒๐) ซึ่งพร้อมเพรียงเข้ากรรมได้ในกรรมทุกอย่าง
๕. ภิกษุสงฆ์อดิเรกวีสติวรรค (สงฆ์พวกเกิน ๒๐) ซึ่งพร้อมเพรียงเข้ากรรมได้ในกรรมทุกอย่าง
(จากพระวินัยปิฎก มหาวรรค)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=05&A=4964&Z=5050

ด้วยความที่ภิกษุสงฆ์จตุรวรรค (สงฆ์พวก ๔ หรือพระภิกษุจำนวน ๔ รูป)
สามารถพร้อมเพรียงเข้ากรรมได้ในกรรมทุกอย่าง
(ยกเว้นกรรม ๓ อย่างคือ อุปสมบท ปวารณา อัพภานแล้ว)
ดังนั้นแล้ว หากภิกษุสงฆ์ไม่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่าจะดำเนินการกับของสังฆทานอย่างไรแล้ว
กรณีจึงจำเป็นต้องมีพระภิกษุอย่างน้อย ๔ รูป
มาอุปโลกน์เป็นหมู่สงฆ์เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับของสังฆทานนั้น
ประเด็นที่ว่าต้องมีพระภิกษุอย่างน้อยจำนวน ๔ รูปจึงเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องในส่วนนี้

ขอยกตัวอย่างนะครับ สมมุติว่ามีพระภิกษุรูปหนึ่งเดินบิณฑบาตหน้าบ้านผมทุกวัน
ต่อมา ทางวัดของท่านได้จัดงานผ้าป่าเพื่อซ่อมแซมอุโบสถของวัด
พระภิกษุท่านนี้ได้นำซองทำบุญผ้าป่าของทางวัดมาแจกให้ผม
ผมก็นำปัจจัยใส่ซองทำบุญผ้าป่า แล้วก็ถวายซองผ้าป่าให้พระภิกษุท่านนี้ในวันรุ่งขึ้น
ถามว่าผมทำบุญผ้าป่าถวายให้วัด หรือถวายให้พระภิกษุรูปนี้เป็นการส่วนตัว?
ตอบว่า ผมทำบุญถวายให้วัดนะครับ ผมไม่ได้ถวายให้พระภิกษุรูปนี้เป็นการส่วนตัว
ถามว่าพระภิกษุท่านนี้รับซองผ้าป่าจากผมได้หรือไม่?
ตอบว่า รับได้ แต่เมื่อท่านรับแล้ว ท่านก็ต้องนำไปให้กับทางวัด
เพื่อที่ทางวัดจะได้นำปัจจัยดังกล่าวไปร่วมดำเนินการตามวัตถุประสงค์ต่อไป
ถามว่าพระภิกษุท่านนี้รับซองผ้าป่าจากผมแล้ว ท่านจะนำปัจจัยไปใช้จ่ายส่วนตัวได้ไหม?
ตอบว่า ไม่ได้ เพราะว่าผมถวายให้วัด ไม่ได้ถวายให้ท่านเป็นการส่วนตัว
ถามว่าเมื่อผมถวายซองผ้าป่าให้พระภิกษุแล้ว ถือว่าผมถวายผ้าป่าในส่วนของผมเสร็จหรือยัง?
ตอบว่า ถือว่าผมถวายผ้าป่าในส่วนของผมเสร็จแล้ว
ถามว่าหลังจากถวายซองให้พระภิกษุท่านนี้แล้ว หากพระภิกษุท่านนี้แอบนำปัจจัยดังกล่าว
ไปใช้จ่ายส่วนตัวแล้ว จะมีผลกระทบต่อบุญกุศลที่ผมจะได้รับหรือไม่?
ตอบว่า เมื่อผมได้ถวายซองผ้าป่าให้พระภิกษุท่านนี้แล้วย่อมถือว่าผมถวายในส่วนของผมเสร็จแล้ว
ดังนั้น แม้ว่าพระภิกษุท่านนี้จะแอบนำปัจจัยที่ผมถวายนั้น ไปใช้จ่ายส่วนตัวใด ๆ ก็ตาม
ก็ถือว่าเป็นบาปอกุศลของท่านเอง แต่ไม่ได้กระทบกับบุญกุศลใด ๆ ที่ผมจะได้รับแต่อย่างใด
ถามว่าเมื่อผมถวายซองผ้าป่าให้พระภิกษุแล้ว ถือว่าทางวัดได้รับผ้าป่าแล้วหรือยัง?
ตอบว่า ตอบว่า “ยัง” นะครับ เพราะพระภิกษุท่านนี้ไม่ใช่วัด
โดยพระภิกษุท่านนี้มีหน้าที่ต้องนำซองผ้าป่าดังกล่าวไปให้กับทางวัดต่อไป
และเมื่อทางวัดได้รับปัจจัยแล้ว ทางวัดจะนำไปดำเนินการอย่างไรนั้น
ก็ย่อมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพระวินัย และระเบียบของทางวัด

จากตัวอย่างข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า พระภิกษุท่านนี้ไม่ใช่วัด แต่ท่านก็รับถวายผ้าป่าของวัดได้
ในกรณีของการถวายสังฆทานก็เช่นกันที่ว่าพระภิกษุรูปเดียวไม่ใช่ “ภิกษุสงฆ์ทั้งหมด”
แต่ท่านย่อมสามารถรับของถวายสังฆทานเพื่อภิกษุสงฆ์ทั้งหมดนั้นได้
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าผมเดินเข้าไปในวัดแห่งหนึ่ง
และพบพระภิกษุรูปหนึ่งกำลังเดินออกมาจากกุฏิของท่าน
ผมก็เข้าไปหาท่านและขอถวายสังฆทาน
(โดยที่พระภิกษุรูปนี้ไม่ได้รับการมอบหมายจากภิกษุสงฆ์ในวัดให้เป็นผู้รับสังฆทานด้วยนะครับ)
ผมก็สามารถถวายสังฆทานได้ โดยระลึกใจว่าถวายให้แก่ภิกษุสงฆ์ทั้งหมด
และเมื่อพระภิกษุท่านนี้เมื่อรับของสังฆทานแล้ว ก็คือท่านรับของสงฆ์เอาไว้แล้ว
โดยของที่ผมถวายนี้ไม่ได้ถวายให้ท่านเป็นการส่วนตัว
ท่านจึงต้องนำของถวายดังกล่าวไปให้สงฆ์ดำเนินการจัดสรรให้ถูกต้องตามพระวินัย
เช่น หากภายในวัดดังกล่าว ภิกษุสงฆ์ได้มีตกลงกันไว้ล่วงหน้าแล้ว
ว่าให้ดำเนินการกับของสังฆทานไว้อย่างไรแล้ว
ท่านก็ย่อมสามารถดำเนินการตามที่ได้ตกลงกันไว้นั้นได้
แต่หากไม่ได้มีการตกลงกันไว้ก่อนแล้ว ท่านก็จำเป็นต้องทำการอุปโลกน์หมู่สงฆ์ขึ้นมา
โดยอย่างน้อยจำเป็นจะต้องได้ภิกษุสงฆ์จตุรวรรค (พระภิกษุจำนวน ๔ รูป)
เพื่อให้เป็นหมู่สงฆ์ที่จะดำเนินการเกี่ยวกับของสังฆทานที่ได้รับถวายมานั้น

ดังนี้ เวลาที่เราเคยได้อ่านหรือเคยได้ฟังว่า ในการถวายสังฆทานนั้น
แม้มีพระภิกษุสงฆ์เพียงรูปเดียว เราก็ถวายสังฆทาน (ในกรณีข้อ ๓) ได้
ก็ถือว่าถูกต้องนะครับ เพราะเป็นการอธิบายในมุมของผู้ถวายสังฆทาน
ในขณะเดียวกัน เวลาที่เราเคยได้อ่านหรือเคยได้ฟังว่าในการรับถวายสังฆทานนั้น
จะต้องมีพระภิกษุสงฆ์อย่างน้อย ๔ รูป จึงรับถวายสังฆทาน (ในกรณีข้อ ๓) ได้
ก็ถือว่าถูกต้องเช่นกันครับ เพราะเป็นการมองในมุมของผู้รับถวายสังฆทาน
โดยพิจารณาในส่วนพระวินัย เพื่อป้องกันไม่ให้พระภิกษุอาบัติกรณีน้อมของสงฆ์
ซึ่งผมก็เคยอ่านพบว่าครูบาอาจารย์บางท่านจะเน้นมาก
ในเรื่องให้พระภิกษุระมัดระวังเกี่ยวกับของถวายสังฆทาน เพราะเป็นของสงฆ์ไม่ใช่ของส่วนตัว
โดยท่านเล่าว่ามีพระภิกษุจำนวนไม่น้อยที่บกพร่องในเรื่องนี้แล้วต้องไปอบายภูมิในท้ายที่สุด
กล่าวคือรับถวายสังฆทานซึ่งเป็นของสงฆ์ แต่กลับนำของสงฆ์มาเป็นของตนหรือใช้เองส่วนตัว
โดยไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามพระวินัย ท่านจึงเน้นว่าต้องให้มีพระภิกษุอย่างน้อย ๔ รูป
เพื่อความปลอดภัยแก่พระภิกษุในการรับสังฆทานและดำเนินการกับของสังฆทานนั้น

ทั้งนี้ พระวินัยได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
“ภิกษุรู้อยู่ น้อมลาภที่เขาน้อมไว้เป็นของจะถวายสงฆ์มาเพื่อตน ต้องอาบัติ”
โดยเมื่อเริ่มกระทำ ต้องอาบัติทุกกฎ
หากทำเสร็จแล้ว คือได้ลาภมาแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=08&A=2588&Z=2657

ในเมื่อการถวายสังฆทานนั้นเป็นการถวายให้ “ภิกษุสงฆ์ทั้งหมด” แล้ว
หากเราไปจำกัดว่าเราถวายพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ย่อมทำให้ทานดังกล่าวไม่ถึงสงฆ์ และไม่ใช่สังฆทาน
ในกรณีนี้ บางท่านอาจจะเคยได้ยินหรือได้ฟังคำกล่าวที่บอกว่า
“ถวายสังฆทาน ๙ วัด” หรือ “ถวายสังฆทาน ๑๐๐ วัด” หรือจำนวนวัดมากกว่านั้นก็ตาม
การถวายโดยระลึกใจดังกล่าวนั้น ย่อมทำให้ทานดังกล่าวไม่ถึงสงฆ์ และไม่ใช่สังฆทานได้
เพราะไม่ได้เป็นการถวายให้ “ภิกษุสงฆ์ทั้งหมด” แล้ว
แต่ไปจำกัดขอบเขตให้แคบลงว่าเราถวายทานให้พระภิกษุแค่ ๙ วัด ๑๐๐ วัด ฯลฯ เท่านั้น
โดยเราไม่ได้เจตนาถวายให้ภิกษุสงฆ์ทั้งหมด

ในกรณีของภิกษุสงฆ์จตุรวรรค (สงฆ์พวก ๔ หรือพระภิกษุจำนวน ๔ รูป) ก็เช่นกัน
สมมุติว่าเราเจตนาจะถวายสังฆทาน เราทราบว่าหมู่ภิกษุสงฆ์จตุรวรรคมีจำนวนพระภิกษุ ๔ รูป
เราจึงนำของถวาย ๔ ชุดเข้าไปที่วัด และถวายให้พระภิกษุสงฆ์จำนวน ๔ รูปที่นั่งอยู่ด้วยกัน
ซึ่งแม้ว่าเราจะถวายทานให้แก่ภิกษุสงฆ์จตุรวรรคนั้นก็ตาม
แต่หากเราระลึกใจว่าเราถวายทานให้พระภิกษุ ๔ รูปนั้น
ทานนั้นก็ย่อมจะไม่ถึงสงฆ์ และไม่เป็นสังฆทานก็ได้
เพราะเราไม่ได้ระลึกใจว่าถวายให้ภิกษุสงฆ์ทั้งหมด หรือเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุสงฆ์ทั้งหมด

ในทำนองเดียวกันกับคำกล่าวที่บอกว่า “ถวายสังฆทานให้พระภิกษุวัดนี้แล้ว
จะได้บุญมากกว่าถวายสังฆทานให้แก่พระภิกษุวัดอื่น” ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง
เพราะการถวายสังฆทานนั้นเป็นการถวายให้ “ภิกษุสงฆ์ทั้งหมด” อยู่แล้ว
ดังนั้น เราจะถวายสังฆทานให้ที่วัดไหนก็ตาม ก็ย่อมจะเป็นสังฆทานเหมือนกัน
และควรจะเท่าเทียมกัน เพราะว่าถวายให้ภิกษุสงฆ์ทั้งหมดเหมือนกัน
ในขณะที่หากใจเราไประลึกว่าเราถวายจำกัดเฉพาะให้พระภิกษุวัดนี้เท่านั้น
ทานของเรานั้นย่อมอาจจะไม่ถึงสงฆ์ และไม่เป็นสังฆทานได้

ในเมื่อเราบอกว่า ในมุมมองของผู้ถวายสังฆทานแล้ว
แม้จะมีพระภิกษุเพียงรูปเดียวก็ตาม เราก็ถวายสังฆทานได้
บางท่านก็อาจจะเคยได้ฟังหรือได้อ่านมาว่า เวลาเราตักบาตรตอนเช้านั้น
หากเราตักบาตรแม้ให้พระภิกษุสงฆ์รูปเดียว โดยไม่เฉพาะเจาะจงแล้ว ก็ถือว่าเป็นสังฆทานได้
ในกรณีดังกล่าว เห็นว่าเราควรต้องขยายความกันเพิ่มเติมนะครับว่ากรณีไหน และอย่างไร
เพราะการตักบาตรให้แก่พระภิกษุโดยไม่เฉพาะเจาะจงนั้นอาจจะไม่ใช่การถวายสังฆทานก็ได้
ยกตัวอย่างนะครับ สมมุติว่าเราเดินออกมาหน้าบ้านเพื่อมาตักบาตรแล้ว
เราได้มาพบพระภิกษุรูปหนึ่งเดินมาถึงหน้าบ้านพอดี
เราก็ระลึกในใจว่า “ตักถวายรูปนี้ล่ะ” หรือ “รูปนี้มาถึงพอดีเลย ตักบาตรรูปนี้ล่ะ”
ในกรณีเช่นนี้ เราไม่ได้ระลึกใจว่าเราถวายภิกษุสงฆ์ทั้งหมด หรือเพื่อภิกษุสงฆ์ทั้งหมด
แต่เราระลึกใจว่าเราตักบาตรรถวายพระภิกษุรูปนี้ ก็ย่อมเป็นเพียงปาฏิปุคคลิกทานเท่านั้น
ในหลาย ๆ คราวนั้น เราบอกว่า เราจะถวายทานหรือตักบาตรโดยไม่เฉพาะเจาะจง
แต่เราระลึกในใจว่า เราจะถวายพระภิกษุที่มาถึงก่อน หรือพระภิกษุที่มาพบพอดี เป็นต้น
นั่นก็เป็นการที่เราไม่ได้ระลึกใจว่าถวายภิกษุสงฆ์ทั้งหมดแล้ว แต่เราถวายให้เฉพาะรูปนั้น ๆ

กรณีดังกล่าวนี้เป็นทำนองเดียวกับตัวอย่างจากอรรถกถาของทักขิณาวิภังคสูตร
ซึ่งผมได้ยกมาในตอนที่แล้วว่า บุคคลหนึ่งไปถึงวัดและนิมนต์ขอให้สงฆ์จัดตัวแทนมารับทานแล้ว
ปรากฏว่าสงฆ์ได้จัดให้สามเณรไปรับทาน บุคคลนั้นก็คิดว่า เราได้สามเณรแล้ว
หรือปรากฏว่าสงฆ์ได้จัดให้พระมหาเถระไปรับทาน บุคคลนั้นก็คิดว่า เราได้พระมหาเถระแล้ว
ทั้งสองกรณีนี้ ทานดังกล่าวก็ไม่ถึงสงฆ์แล้ว คือไม่เป็นสังฆทาน
ในกรณีที่เราตักบาตรหรือถวายของก็เช่นเดียวกันครับ
เราระลึกใจว่าเราพระภิกษุรูปนี้มาถึงก่อน หรือมาถึงพอดี เราถวายพระภิกษุรูปนี้
เช่นนี้ทานดังกล่าวก็ไม่ถึงสงฆ์แล้ว แต่ถึงแค่พระภิกษุที่เดินมาถึงก่อน หรือมาถึงพอดี
ถ้าจะให้ถึงสงฆ์และเป็นสังฆทานแล้ว เราพึงระลึกใจว่าเราถวาย “สงฆ์” ครับ

ขอยกตัวอย่างเทียบเคียงในกรณีของ “สลากภัต”
ซึ่งสลากภัตนั้นเป็นชื่อเรียกวิธีถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์วิธีหนึ่ง
โดยการจับสลากเพื่อแจกภัตตาหาร หรือปัจจัยวัตถุที่ได้รับจากผู้ศรัทธาถวาย
เพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธาที่มีปัจจัยวัตถุจำกัด และไม่สามารถถวายแก่พระสงฆ์ทั้งหมดได้
โดยในประเทศไทยเรามีประเพณีสลากภัตเช่นกัน และมักจะถือว่าเป็นการถวายสังฆทานด้วย
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%95
ตัวอย่างของสลากภัตในพระไตรปิฎกก็ยกตัวอย่างเช่น
ในอดีตชาติของท่านพระโสปากเถระ ท่านมีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในภิกษุสงฆ์
โดยเริ่มตั้งสลากภัต ถวายภัตแด่ภิกษุ ๓ รูป อุทิศเป็นสังฆทานจนตลอดชีวิต เป็นต้น
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=170
อย่างไรก็ดี กรณีที่เราถวายสลากภัตนั้นอาจจะไม่เป็นการถวายสังฆทานก็ได้
เพราะหากเราได้สลากเพื่อถวายพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งแล้ว
เราไประลึกใจว่า เราได้ถวายภัตตาหารให้พระภิกษุรูปนี้ หรือพระภิกษุรูปนั้น
เช่นนี้ เราไม่ได้ระลึกใจว่าเราถวายให้สงฆ์ ทานดังกล่าวก็ย่อมจะไม่ถึงสงฆ์แล้ว

บางท่านอาจจะมีข้อสงสัยต่อไปว่า ในกรณีถวายของสังฆทานที่มีการกล่าวคำถวายนั้น
พระภิกษุท่านที่ได้รับถวายย่อมทราบได้ว่า เราถวายทานให้แก่สงฆ์ ไม่ได้ถวายให้ท่านเป็นส่วนตัว
แต่ในกรณีของการตักบาตรนั้น หากเราเพียงแต่ระลึกในใจว่า เราถวายให้สงฆ์
โดยเราไม่ได้เอ่ยปากบอกพระภิกษุที่รับบิณฑบาตแล้ว ผลจะเป็นอย่างไร?
ตอบว่า ใจเป็นประธานนะครับ ดังนั้น เมื่อใจเราระลึกว่าถวายให้สงฆ์ทั้งหมด
หรือเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ทั้งหมด ก็พึงถือว่าทานดังกล่าวนั้นเป็นสังฆทาน
แต่ในส่วนของพระภิกษุที่รับบิณฑบาตนั้น ในเมื่อท่านไม่ทราบเจตนาในใจของเรา
และหากท่านเข้าใจว่าเราตักบาตรถวายท่านเป็นส่วนตัว
ท่านก็ย่อมฉันของบิณฑบาตนั้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปทำการอุปโลกน์หมู่สงฆ์เสียก่อน

บางท่านอาจจะบอกว่า เช่นนี้แล้ว ในเวลาที่เราตักบาตรตอนเช้า
เราควรบอกพระภิกษุท่านด้วยเลยดีไหมว่า เราถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน?
ตอบว่า เวลาเราถวายทานนั้น เราก็พึงคำนึงถึงความสะดวกของพระภิกษุท่านด้วย
โดยหากเราถวายภัตตาหารให้พระภิกษุที่รับบิณฑบาต โดยบอกท่านว่าถวายสงฆ์แล้ว
ก็ย่อมจะเป็นภาระแก่ท่านว่าท่านนำภัตตาหารนั้นไปฉันเองทันทีไม่ได้
เพราะเราไม่ได้ถวายให้ท่านเป็นส่วนตัว
โดยท่านจะต้องไปอุปโลกน์หมู่สงฆ์เพื่อดำเนินการกับของสงฆ์ที่รับถวายนั้นก่อน
ทีนี้ หากในบาตรและย่ามของท่านมีของหลายส่วนปะปนกัน
ของที่โยมถวายท่านส่วนตัวบ้าง ของที่โยมถวายให้สงฆ์บ้าง ปะปนกันไปหมด
กรณีก็ย่อมจะเป็นการสร้างภาระวุ่นวายอย่างมากให้แก่พระภิกษุสงฆ์ที่รับบิณฑบาตนั้น ๆ
ผมจึงเห็นว่าเพียงแค่เราระลึกในใจว่าเราถวายให้สงฆ์ หรือเพื่อสงฆ์ ก็ควรจะเพียงพอแล้ว

นอกจากนี้ การทำทานนั้นเป็นการฝึกจิตใจเราให้รู้จักเสียสละ หรือสละออกในสิ่งต่าง ๆ
หากเราทำทานแล้ว เรามัวแต่หมกมุ่นว่าเราจะต้องได้บุญเยอะ ๆ ได้บุญมาก ๆ
กลับจะส่งผลให้จิตใจเราไปหมกมุ่นในสิ่งที่ต้องการได้ และเพิ่มความโลภในอีกด้านหนึ่ง
อนึ่ง เราพึงแยกความแตกต่างระหว่างการรู้จักเลือกเนื้อนาบุญ และการโลภต้องการได้บุญมาก
เราเลือกที่จะทำบุญถวายสังฆทาน เพราะเรารู้จักเลือกเนื้อนาบุญที่ให้อานิสงส์มาก
เปรียบเสมือนเวลาชาวนาหว่านพันธุ์ข้าว ก็ต้องรู้จักเลือกดิน โดยเลือกดินที่อุดมสมบูรณ์
ไม่ใช่ไปเลือกดินที่แห้งแล้ง หรือไปเลือกหว่านพันธุ์ข้าวบนพื้นคอนกรีต เป็นต้น
โดยการใช้เหตุผลและปัญญาในการเลือกดินหว่านข้าวนั้น ไม่ได้แปลว่าจะต้องโลภมาก
ในทำนองเดียวกันกับการตักบาตรตอนเช้าก็เช่นกัน เราก็พึงดูความเหมาะสมด้วย
ไม่ใช่ว่าเรามุ่งแต่โลภมากว่าเราอยากจะได้บุญเยอะ ๆ
และการที่เราโลภมากเช่นนั้น กลับจะได้บุญน้อยลง
แต่หากเราไม่คิดว่าต้องได้บุญมากมายอะไร ไม่ได้โลภมากว่าจะต้องได้บุญเยอะที่สุด
เรามุ่งถวายให้สงฆ์ เพราะเรามีความเคารพนอบน้อมในสงฆ์ เรากลับจะได้บุญมากกว่า
และไม่โดนความโลภอยากได้บุญเยอะ ๆ มารบกวนหรือครอบงำจิตใจเราเองด้วยนะครับ

หมายเหตุ ข้อมูลบางส่วนในบทความตอนนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อและคำแนะนำ
จากการสนทนากับเพื่อนสมาชิกกลุ่มหนึ่งในเว็บไซต์ “ลานธรรมเสวนา” ครับ

(ขอยกไปคุยต่อในตอนหน้า ซึ่งเป็นตอนจบของเรื่อง “คุยเรื่องสังฆทาน” นะครับ
โดยเราจะตอบคำถามทั้งหลายในเรื่องสังฆทานตามที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนแรกด้วย)