Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๗๓

คุยเรื่องสังฆทาน (ตอนที่ ๒)

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

phpJerDf1AM

(ต่อจากตอนที่แล้ว)
ในตอนที่แล้วเราได้คุยกันจนถึง “ทักขิณาวิภังคสูตร”
ซึ่งเราได้อธิบายปาฏิปุคคลิกทาน ๑๔ ประการ และสังฆทาน ๗ ประการแล้ว
โดยสังฆทานนั้นมีอานิสงส์ยิ่งกว่าปาฏิปุคคลิกทาน
พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านจึงได้ทรงแนะนำให้พระนางมหาปชาบดีโคตมี
ถวายผ้าห่มคู่ดังกล่าวให้สงฆ์ เพื่อเป็นสังฆทาน

ในเรื่องอานิสงส์แห่งสังฆทานนี้ ผมขอยกเรื่อง “ทัททัลลวิมาน” มาเล่านะครับ
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=%B7%D1%B7%B7%D1%C5%C5%C7%D4%C1%D2%B9&book=9&bookZ=33&original=1
ซึ่งเป็นเรื่องราวของนางภัททาเทพธิดา และนางสุภัททาเทพธิดา

ในอดีตชาตินั้น นางภัททาเทพธิดาเป็นพี่สาว และนางสุภัททาเทพธิดาเป็นน้องสาว
โดยนางภัททาเทพธิดาผู้เป็นพี่สาวในอดีตชาตินั้นได้ถวายทานแด่พระภิกษุทั้งหลาย
ซึ่งเป็นผู้สำรวมอินทรีย์และเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์จำนวนมากมายกว่าน้องสาว
แต่หลังจากทั้ง ๒ คนถึงแก่มรณกรรมแล้ว พี่สาวได้ไปเกิดเป็นเทพธิดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ส่วนน้องสาวได้ไปเกิดเป็นเทพธิดาในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นสูงกว่าพี่สาว

เมื่อนางสุภัททาเทพธิดาลงมาจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดีมาสนทนากับนางภัททาเทพธิดา
นางภัททาเทพธิดาผู้เป็นพี่สาวสงสัยว่าตนเองได้ถวายทานให้พระภิกษุจำนวนมากมายกว่า
แต่ทำไมจึงได้เกิดเป็นเทพธิดาในสวรรค์ชั้นต่ำกว่าเทพธิดาผู้เป็นน้องสาว
จึงได้สอบถามเทพธิดาผู้เป็นน้องสาวว่า ทำไมน้องสาวจึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นสูงกว่าตนเอง
น้องสาวได้ทำบุญอะไรไว้? นางสุภัททาเทพธิดาผู้เป็นน้องสาวได้ตอบว่า
เมื่อชาติก่อน ตนเองได้เห็นพระภิกษุคือพระเรวตเถระ
จึงได้นิมนต์ท่าน รวมกับภิกษุอื่นเป็น ๘ รูปให้ฉันภัตตาหาร
ท่านพระเรวตเถระมุ่งจะให้เกิดประโยชน์แก่โยมผู้ถวายภัตตาหาร
จึงบอกโยมว่า จงถวายสงฆ์เถิด และโยมได้ทำตามคำแนะนำของท่านพระเรวตเถระนั้น
ดังนี้ ทานของน้องสาวในอดีตชาติดังกล่าวจึงเป็นสังฆทาน มีผลหาประมาณมิได้
ในขณะที่ทานของพี่สาวในอดีตชาติที่ถวายพระภิกษุจำนวนมากนั้น
เป็นปาฏิปุคคลิกทาน ซึ่งให้ผลด้อยกว่า

คุยมาถึงตรงนี้แล้ว ก็ขออธิบายต่อไปว่าการถวายสังฆทานนั้นทำอย่างไร
โดยในทักขิณาวิภังคสูตรนั้นได้แบ่งสังฆทานออกเป็น ๗ ประการคือ
๑. ถวายทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (คือภิกษุ และภิกษุณี) โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
๒. ถวายทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (คือภิกษุ และภิกษุณี) เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
๓. ถวายทานในภิกษุสงฆ์
๔. ถวายทานในภิกษุณีสงฆ์
๕. นิมนต์สงฆ์ขอให้จัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์ แล้วถวายทาน
๖. นิมนต์สงฆ์ขอให้จัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์ แล้วถวายทาน
๗. นิมนต์สงฆ์ขอให้จัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์ แล้วถวายทาน

พึงทราบว่าหากเรายึดถือพระธรรมวินัยตามหลักของเถรวาทแล้ว
เราพึงถือว่าในปัจจุบันนี้ไม่มีภิกษุณีแล้วนะครับ
เราจึงจะตัดข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๔ ข้อ ๕ และข้อ ๗ ข้างต้นออกไป
และเหลือแค่เพียงข้อ ๓ และข้อ ๖ เท่านั้น
กล่าวคือถวายทานในภิกษุสงฆ์ (ตามข้อ ๓) และ
นิมนต์สงฆ์ขอให้จัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์ แล้วถวายทาน (ตามข้อ ๖)

ในอรรถกถาของทักขิณาวิภังคสูตรได้อธิบายว่า
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ปรินิพพานแล้วก็ตาม
เราก็ยัง “อาจ” ถวายทานแด่พระสงฆ์ ๒ ฝ่าย โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขได้อยู่
โดยการตั้งพระพุทธรูปที่มีพระธาตุ ในฐานะประมุขของสงฆ์ ๒ ฝ่ายในอาสนะ
และถวายวัตถุทั้งหมด มีทักขิโณทกเป็นต้น แด่พระศาสดาก่อน
แล้วจึงถวายแด่พระสงฆ์ ๒ ฝ่าย ทานเป็นอันชื่อว่าถวายสงฆ์ ๒ ฝ่ายมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
แม้อรรถกถาจะอธิบายดังนั้นก็ตาม แต่เนื่องจากขณะนี้สงฆ์เหลือฝ่ายเดียว
เพราะไม่มีภิกษุณีแล้ว ผมจึงเห็นว่าพึงตัดข้อ ๑ ออกไปอยู่ดีนะครับ

(อนึ่ง ในเรื่อง “ภิกษุณี” นั้น บางท่านอาจจะบอกว่าตนเองเคยเห็นว่ายังมีภิกษุณีอยู่
ผมขอเรียนว่าภิกษุณีที่ท่านอาจจะเคยพบเห็นนั้น
คณะสงฆ์ไทยไม่ได้รับรองภิกษุณีดังกล่าวนะครับ
ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็ขอยกไปเล่าให้ฟังในอนาคตเมื่อโอกาสอำนวยครับ)

ผมขออธิบายกรณีตามข้อ ๖ ก่อนนะครับคือ
กรณีนิมนต์สงฆ์ขอให้จัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์ แล้วถวายทาน
ซึ่งขอยกตัวอย่างเรื่องในอรรถกถาของทักขิณาวิภังคสูตรว่า
ในสมัยหนึ่ง ได้มีอุบาสกคนหนึ่งต้องการถวายสังฆทาน จึงได้เข้าไปหาสงฆ์
และนิมนต์ขอสงฆ์ให้จัดพระภิกษุรูปหนึ่งมารับภัตตาหาร
ปรากฏว่าสงฆ์ได้จัดให้พระภิกษุทุศีลรูปหนึ่งมา
อุบาสกท่านนั้นได้พาพระภิกษุทุศีลรูปดังกล่าวไปสู่สถานที่ถวายภัตตาหาร
เขาได้ปูอาสนะ ผูกเพดานเบื้องบน บูชาด้วยของหอม ธูป และดอกไม้ ล้างเท้าทาด้วยน้ำมัน
จากนั้นได้ถวายไทยธรรมด้วยความเคารพนอบน้อมในสงฆ์ดุจทำความนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า

หลังจากได้ถวายภัตตาหารแล้ว ในวันเดียวกันนั้นเอง
พระภิกษุทุศีลรูปนั้นได้มาหาอุบาสกคนดังกล่าวที่เรือนของอุบาสกนั้น และกล่าวขอจอบ
อุบาสกคนนั้นได้เขี่ยจอบให้ด้วยเท้า แล้วกล่าวว่า “จงรับไป”

คนอื่นที่เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวก็สงสัย และสอบถามอุบาสกคนดังกล่าวว่า
ในยามเช้า ท่านได้ทำการสักการะอันนอบน้อมอย่างยิ่งแด่พระภิกษุรูปนี้
แต่เหตุไฉน ในบัดนี้ท่านจึงได้ทำสิ่งซึ่งไร้มารยาทเช่นนี้ต่อพระภิกษุรูปเดียวกันนี้
อุบาสกคนดังกล่าวตอบว่า ตนเองให้ความยำเกรงและความนอบน้อมนั้นต่อ “สงฆ์”
แต่ตนเองไม่ได้ให้ความยำเกรงและความนอบน้อมแก่ “พระภิกษุรูปนั้น”

ในเรื่องนี้ เราจะเห็นได้ว่าสงฆ์สามารถจัดให้พระภิกษุรูปเดียวมารับสังฆทานก็ได้
โดยสังเกตว่าในกรณีข้อ ๖ นั้น ใช้คำว่านิมนต์ “สงฆ์” ขอให้จัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็น “สงฆ์”
ฉะนั้นแล้ว ภิกษุจำนวนเท่านั้นเท่านี้ที่มา (จะจำนวนเท่าไรก็ตาม) ก็ถือเป็นสงฆ์แล้ว
เวลาเราปฏิบัติต่อภิกษุที่มา หรือถวายสิ่งใด ๆ ต่อภิกษุที่มา
จึงสมควรจะระลึกใจว่าเราปฏิบัติต่อและถวายต่อสงฆ์
ไม่ใช่ระลึกว่าปฏิบัติต่อและถวายต่อเหล่าพระภิกษุที่มานั้น

นอกจากนี้ สงฆ์จะจัดพระภิกษุรูปใดมาก็ได้ ก็ถือว่าเป็นสงฆ์
แม้พระภิกษุรูปนั้นจะเป็นภิกษุทุศีลก็ตาม ก็สามารถรับถวายสังฆทานได้
และผู้ถวายสังฆทานดังกล่าวก็ยังได้อานิสงส์แห่งสังฆทานนั้น
ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ในทักขิณาวิภังคสูตรว่า
“ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู มีผ้ากาสาวะพันคอ
เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น
ทานที่ถวายในสงฆ์แม้ในเวลานั้นก็กล่าวว่ามีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้”

เมื่ออ่านตัวอย่างกรณีอุบาสกนิมนต์ให้สงฆ์จัดพระภิกษุให้มารับถวายสังฆทานข้างต้นแล้ว
เราอาจจะนึกถึงกรณีที่เราไปนิมนต์พระภิกษุมาฉันภัตตาหารที่บ้าน
แล้วทางวัดก็ได้คัดเลือกพระภิกษุมาฉันภัตตาหารที่บ้าน เราก็เข้าใจว่าเป็นสังฆทานแล้ว
ขอเรียนว่ายังไม่แน่ว่าจะเป็นสังฆทานนะครับ
เพราะหากขณะที่ถวายทานนั้น เราไม่ได้เจตนาถวาย “สงฆ์”
แต่เราเจตนามุ่งถวายพระภิกษุที่มารับภัตตาหารแล้ว ก็ย่อมไม่เป็นสังฆทานครับ
โดยอรรถกถาของทักขิณาวิภังคสูตรได้กล่าวว่า “ความยำเกรงในสงฆ์นั้นทำได้ยาก”
(คำว่า “ความยำเกรง” ในที่นี้หมายถึงความเคารพนอบน้อม)
และได้ยกตัวอย่างว่า บุคคลใดไปถึงวัดและนิมนต์ขอให้สงฆ์จัดตัวแทนมารับทานแล้ว
ปรากฏว่าสงฆ์ได้จัดให้สามเณรไปรับทาน บุคคลนั้นก็คิดว่า เราได้สามเณรแล้ว
เช่นนี้ทานดังกล่าวก็ไม่ถึงสงฆ์แล้ว (คือไม่เป็นสังฆทาน)
หรือปรากฏว่าสงฆ์ได้จัดให้พระมหาเถระไปรับทาน
บุคคลนั้นก็เกิดปีติโสมนัสคิดว่า เราได้พระมหาเถระแล้ว
เช่นนี้ทานดังกล่าวก็ไม่ถึงสงฆ์แล้ว (คือไม่เป็นสังฆทาน)
ทำนองเดียวกันนะครับ ถ้าเรานิมนต์พระภิกษุมารับภัตตาหาร สมมุติว่า ๔ รูป หรือ ๙ รูปก็ดี
เราระลึกใจว่า เราได้พระภิกษุ ๔ รูป หรือ ๙ รูปนี้มารับภัตตาหารแล้ว
เช่นนี้ก็มีโอกาสที่ทานดังกล่าวจะไม่ถึงสงฆ์แล้ว (คือไม่เป็นสังฆทาน)
เพราะเราไประลึกใจว่าเราถวายภัตตาหารให้พระภิกษุ ๔ รูป หรือ ๙ รูปนี้
แต่เราไม่ได้ระลึกใจว่าเราถวายภัตตาหารถวายสงฆ์

ทานดังกล่าวจะถึงสงฆ์ได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นได้สามเณร ภิกษุหนุ่ม หรือมหาเถระ
(ไม่ว่าจะเป็นผู้พาล หรือบัณฑิตก็ตาม) รูปใดรูปหนึ่งหรือหลายรูปจากสงฆ์แล้ว
บุคคลนั้นไม่สงสัยใด ๆ และทำความเคารพนอบน้อมในสงฆ์ว่าเราจะถวายสงฆ์
ทานของบุคคลนั้นจึงเป็นอันชื่อว่าถึงสงฆ์

ในเรื่องที่สงฆ์จัดพระภิกษุจำนวนเท่านั้นเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์มารับสังฆทานนั้น
เวลาที่เราไปทำบุญถวายสังฆทานตามวัดต่าง ๆ
เราอาจจะเคยพบเห็นบางวัดที่จัดสถานที่รับสังฆทานไว้ และมีพระภิกษุนั่งรับสังฆทานอยู่
หรืออาจจะมีป้ายบอกว่าถวายสังฆทานให้เดินไปทางนี้ แล้วก็มีพระภิกษุออกมารับสังฆทาน
โดยลักษณะเช่นนี้ เห็นว่าเราควรจะถือได้ว่าสงฆ์ได้จัดพระภิกษุไว้ให้แล้วนะครับ
ก็สะดวกกับญาติโยม โดยเราไม่จำเป็นต้องไปนิมนต์ให้สงฆ์จัดพระภิกษุขึ้นเป็นสงฆ์ให้อีก
โดยถือว่าทางสงฆ์ได้จัดพระภิกษุจำนวนเท่านั้นเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์ให้เราแล้ว
เราย่อมสามารถถวายสังฆทานให้สงฆ์ตามนั้นได้เลย
ไม่ว่าพระภิกษุที่มารับจะมีกี่รูปก็ตาม จะเป็นรูปเดียว ๒ รูป ๔ รูป หรือหลายรูปก็ได้
โดยเราย่อมระลึกใจว่าเราถวายให้ “สงฆ์” อันเป็นการถวายสังฆทานได้ครับ

(ขอยกกรณีที่ ๓ ไปคุยต่อในตอนหน้านะครับ เพราะเป็นกรณีที่ต้องคุยกันยาวครับ)