Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๗๒

คุยเรื่องสังฆทาน (ตอนที่ ๑)

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

phpEf6JXDAM

การถวายสังฆทานเป็นสิ่งที่ชาวพุทธเรามุ่งทำกันอย่างแพร่หลายนะครับ
เนื่องจากเรามีความเข้าใจว่าเป็นทานที่ทำแล้วให้ผลบุญมาก หรือได้อานิสงส์มาก
แต่ความเข้าใจในเรื่องการถวายสังฆทานนี้ก็ยังมีหลากหลายแตกต่างกันไป
ยกตัวอย่างเช่น บางท่านเข้าใจว่าการถวายสังฆทานนั้นต้องถวายสังฆภัณฑ์ใส่ถังสีเหลืองเท่านั้น
บางท่านเข้าใจว่าการถวายสังฆทานต้องสวดบทถวายสังฆทาน จึงจะเป็นการถวายสังฆทาน
บางท่านเข้าใจว่าการถวายสังฆทานจะต้องมีพระภิกษุรับถวายอย่างน้อยจำนวนเท่านั้นเท่านี้รูป
บางท่านเข้าใจว่าควรถวายสังฆทานให้แก่พระเถระผู้ใหญ่บางรูป เพื่อจะได้อานิสงส์มาก
บางท่านเข้าใจว่าควรถวายสังฆทานให้วัดแห่งหนึ่ง เพื่อจะได้อานิสงส์มากกว่าถวายอีกวัดหนึ่ง
บางท่านเข้าใจว่าควรถวายสังฆทานที่จะนำไปส่งต่อให้กับหลาย ๆ วัด เพื่อจะได้อานิสงส์มาก
บางท่านเข้าใจว่าการถวายทานให้พระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่งโดยไม่เจาะจง ย่อมถือเป็นสังฆทาน
บางท่านเข้าใจว่าการถวายสังฆทานให้แก่พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ย่อมได้อานิสงส์มากกว่า
การถวายสังฆทานให้แก่พระภิกษุทุศีล เป็นต้น

เราก็จะมาคุยกันว่าความเข้าใจต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นถูกต้องหรือไม่นะครับ
บางท่านอาจจะสงสัยว่า หากเรามีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องแล้ว จะส่งผลอย่างไร
ในประเด็นนี้ ขอเรียนว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
“ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ”
(จากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑)
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=268&Z=329
ดังนี้แล้ว หากเรามีความเข้าใจไม่ถูกต้อง ก็ส่งผลให้เราระลึกใจหรือเจตนาไม่ถูกต้อง
สิ่งที่เราตั้งใจทำนั้นย่อมไม่สำเร็จลงได้ เพราะว่าธรรมนั้นสำเร็จแล้วแต่ใจ
เช่น เราตั้งใจจะถวายสังฆทาน แต่เราเข้าใจไม่ถูกต้อง ระลึกใจไม่ถูกต้อง เจตนาไม่ถูกต้อง
ก็ย่อมจะส่งผลให้ทานที่เราได้ตั้งใจถวายเป็นสังฆทานนั้น ไม่เป็นสังฆทานก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเราได้ยินคนอื่นเล่าว่าเล่นกีฬาเทนนิสแล้วดีอย่างนั้นอย่างนี้
เราก็อยากเล่นกีฬาเทนนิสบ้าง แต่เราไม่รู้ว่ากีฬาเทนนิสเป็นอย่างไร เล่นอย่างไร
เราเห็นหลายคนเล่นยิมนาสติก เราก็หลงเข้าใจว่าการเล่นยิมนาสติกคือการเล่นเทนนิส
เราจึงไปทุ่มเทฝึกหัดเล่นยิมนาสติกจนเก่งจนชำนาญ ได้ลงทุนลงแรงไปมากมาย
ถามว่าการที่เราฝึกหัดเล่นยิมนาสติกจนเก่งจนชำนาญนี้ จะถือว่าเราเล่นเทนนิสหรือไม่
ก็ตอบว่า “ไม่” นะครับ ก็ยังถือว่าเราเล่นยิมนาสติก แต่เราไม่ได้เล่นเทนนิสเลย
ฉันใดก็ฉันนั้น หากเราไม่รู้และไม่เข้าใจว่าการถวายสังฆทานคืออะไร
เราอาศัยทำตาม ๆ คนอื่นเขาไปเรื่อย โดยเราไม่ได้มีความเข้าใจในเรื่องสังฆทานเลย
ก็ย่อมเป็นไปได้ว่า ทั้งหมดที่เราทำไปนั้นไม่เป็นสังฆทานและไม่ได้อานิสงส์แห่งสังฆทานครับ

บางท่านอาจจะแย้งว่าก่อนที่เราจะถวายสังฆทานนั้น
เราก็มักจะได้กล่าวบทสวดถวายสังฆทานเสียก่อนด้วย
เช่นนี้แล้ว ทานที่เราถวายนั้นจะไม่ถือเป็นสังฆทานไปได้อย่างไร
ในประเด็นนี้ ขอเรียนย้ำว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า และสำเร็จแล้วแต่ใจ
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเรานำของไปเยี่ยมหัวหน้าที่กำลังป่วยหนักมาก
หัวหน้าคนนี้นิสัยไม่ดี ปากร้าย เอารัดเอาเปรียบ แถมโกงลูกน้อง
เราเกลียดและไม่ชอบหัวหน้าคนนี้อย่างมาก แต่โดยมารยาทแล้วก็ต้องไปเยี่ยม
ขณะที่เรานำของเยี่ยมมอบให้หัวหน้านั้น ปากเราก็กล่าวว่า “ขอให้หัวหน้าหายป่วยเร็ว ๆ นะ”
แต่ขณะนั้นในใจของเราระลึกว่า “ขอให้หัวหน้าจงตายเร็ว ๆ นะ”
ถามว่าการที่เราให้ของเยี่ยมแก่หัวหน้าในขณะนั้น
จะพึงถือว่าเป็นทาน ซึ่งเป็นกุศล หรือเป็นการแช่ง ซึ่งเป็นอกุศล
ตอบว่า เมื่อใจเป็นหัวหน้าแล้ว ขณะนั้นก็ถือว่าเป็นการแช่ง ซึ่งเป็นอกุศลนะครับ
ในทำนองเดียวกันนี้ แม้ว่าปากเราจะกล่าวบทสวดว่า ขอถวายสังฆทานก็ตาม
แต่หากใจเราไม่ได้ระลึกหรือเจตนาเป็นสังฆทานแล้ว ก็ย่อมไม่เป็นสังฆทานครับ

ในทางกลับกัน หากเราถวายสังฆทาน โดยเราระลึกหรือเจตนาในใจให้เป็นสังฆทาน
แม้เราจะไม่ได้กล่าวบทสวดสังฆทานเลยก็ตาม ทานนั้นก็ยังเป็นสังฆทานได้
ทีนี้ ปัญหาสำคัญคือว่า เราจะทำอย่างไร จึงจะระลึกใจให้เป็นสังฆทานได้อย่างถูกต้อง
เราจะคุยอธิบายประเด็นนี้กันต่อไปนะครับ

เกี่ยวกับเรื่องสังฆทานนี้ เห็นว่าควรเริ่มต้นด้วยพระสูตรที่ชื่อว่า “ทักขิณาวิภังคสูตร”
(พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์) โดยมีเนื้อหาดังนี้
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=+%B7%D1%A1%A2%D4%B3%D2%C7%D4%C0%D1%A7%A4%CA%D9%B5%C3&book=9&bookZ=33&original=1
ในสมัยหนึ่ง พระนางมหาปชาบดีโคตมี (ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้ออกผนวชเป็นภิกษุณี)
ได้ทรงกรอด้ายและทอผ้าห่มคู่หนึ่งด้วยพระองค์เอง โดยตั้งใจอุทิศถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
เมื่อทอเสร็จแล้ว พระองค์ได้เสด็จไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
และกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าใหม่คู่นี้
หม่อมฉันกรอด้าย ทอเอง ตั้งใจอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้า
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยความอนุเคราะห์ โปรดรับผ้าใหม่ทั้งคู่ของหม่อมฉันเถิด”
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบว่า “ดูกรโคตมี พระนางจงถวายสงฆ์เถิด
เมื่อถวายสงฆ์แล้ว จักเป็นอันพระนางได้บูชาทั้งอาตมภาพและสงฆ์”

พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้กราบทูลอ้อนวอนว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
หม่อมฉันอาจถวายผ้าจีวรทั้งหลายจากคลังผ้าแก่ภิกษุร้อยรูปบ้าง พันรูปบ้าง
แต่ผ้าใหม่คู่นี้ หม่อมฉันกรอด้ายเอง ทอเอง ตั้งใจอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดรับผ้าใหม่คู่นี้ของหม่อมฉันเถิด”
พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสตอบเช่นเดิมว่า “ดูกรโคตมี พระนางจงถวายสงฆ์เถิด
เมื่อถวายสงฆ์แล้ว จักเป็นอันพระนางได้บูชาทั้งอาตมภาพและสงฆ์”
แม้ในครั้งที่สอง แม้ในครั้งที่สาม พระนางมหาปชาบดีโคตมีก็ได้กราบทูลอ้อนวอนเช่นเดิม
แม้ในครั้งที่สอง แม้ในครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสตอบเช่นเดิมว่า
“ดูกรโคตมี พระนางจงถวายสงฆ์เถิด
เมื่อถวายสงฆ์แล้ว จักเป็นอันพระนางได้บูชาทั้งอาตมภาพและสงฆ์”

จากนั้น ท่านพระอานนท์จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดรับผ้าใหม่ทั้งคู่ของพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถิด
พระนางมหาปชาบดีโคตมี มีอุปการะมาก เป็นพระมาตุจฉาผู้ทรงบำรุงเลี้ยง
ประทานพระขีรรสแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อพระชนนีสวรรคตแล้ว
ได้โปรดให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดื่มเต้าพระถัน ฯลฯ”

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงอธิบายถึง
“ปาฏิปุคคลิกทาน” ๑๔ ประการ และ “สังฆทาน” ๗ ประการ
(คำว่า “ปาฏิปุคคลิก” หมายถึง เฉพาะบุคคล ไม่ทั่วไป เจาะจงบุคคล
ดังนั้น “ปาฏิปุคคลิกทาน” จึงหมายถึง ทานที่ถวายเฉพาะบุคคล หรือเจาะจงบุคคล
ส่วนคำว่า “สังฆทาน” นั้นหมายถึงทานเพื่อสงฆ์ การถวายแก่สงฆ์)

ปาฏิปุคคลิกทาน (หรือทักษิณาเป็นปาฏิปุคคลิก) ๑๔ ประการ ได้แก่
๑. ถวายทานในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. ถวายทานในพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
๓. ถวายทานในพระอรหันต์
๔. ถวายทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง
๕. ถวายทานในพระอนาคามี
๖. ถวายทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง
๗. ถวายทานในพระสกทาคามี
๘. ถวายทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง
๙. ถวายทานในพระโสดาบัน
๑๐. ถวายทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง
๑๑. ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม
๑๒. ให้ทานในบุคคลผู้มีศีล
๑๓. ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล
๑๔. ให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน

ส่วนสังฆทาน (หรือทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์) ๗ ประการได้แก่
๑. ถวายทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (คือภิกษุ และภิกษุณี) โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
๒. ถวายทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (คือภิกษุ และภิกษุณี) ในเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
๓. ถวายทานในภิกษุสงฆ์
๔. ถวายทานในภิกษุณีสงฆ์
๕. เผดียงสงฆ์ว่าขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า
แล้วถวายทาน (คำว่า “เผดียง” แปลว่าบอกแจ้งให้รู้ บอกนิมนต์ หรือบอกกล่าว)
๖. เผดียงสงฆ์ว่าขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วถวายทาน
๗. เผดียงสงฆ์ว่าขอได้โปรดจัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วถวายทาน

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงอธิบายผลแห่งปาฏิปุคคลิกทาน ๑๔ ประการข้างต้นว่า
การให้ทานในสัตว์เดียรัจฉานพึงหวังผลแห่งทานได้ร้อยเท่า
การให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีลพึงหวังผลแห่งทานได้พันเท่า
การให้ทานในปุถุชนผู้มีศีลพึงหวังผลแห่งทานได้แสนเท่า
การให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกามพึงหวังผลแห่งทานได้แสนโกฏิเท่า
(คำว่า “โกฏิ” เป็นมาตรนับ แปลว่าสิบล้าน คำว่า “แสนโกฏิ” จึงเท่ากับล้านล้าน)
การถวายทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้งพึงหวังผลแห่งทานจนนับไม่ได้
หรือจนประมาณไม่ได้ ดังนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงผลแห่งทานที่ทำในพระโสดาบัน
ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ในพระสกทาคามี
ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ในพระอนาคามี
ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง ในพระอรหันต์
ในพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า และในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไปอีก เพราะยิ่งให้ผลจนประมาณไม่ได้

แม้การถวายทานให้แก่พระอริยบุคคลจะให้ผลจนประมาณไม่ได้ก็ตาม
แต่ก็ยังถือเป็นปาฏิปุคคลิกทาน ซึ่งเมื่อเปรียบกับสังฆทานแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า
“เราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทานว่ามีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์โดยปริยายไร ๆ เลย”
หมายถึงว่าปาฏิปุคคลิกทานนั้นไม่มีอานิสงส์หรือผลยิ่งไปกว่าสังฆทาน
โดยพระองค์ได้ตรัสว่า ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู มีผ้ากาสาวะพันคอ
เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น
ทานที่ถวายในสงฆ์แม้ในเวลานั้นก็กล่าวว่ามีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้
(คำว่า “ภิกษุโคตรภู” หมายถึงพระสงฆ์ที่ไม่เคร่งครัด ปฏิบัติเหินห่างพระธรรมวินัย
แต่ยังมีเครื่องหมายเพศ เช่น ผ้าเหลือง เป็นต้น และยังถือว่าตนเองเป็นภิกษุสงฆ์อยู่
หรือหมายถึงสงฆ์ในระยะหัวต่อจะสิ้นศาสนา
ส่วนคำว่า “ผ้ากาสาวะ” หมายถึง ผ้าย้อมฝาด หรือผ้าเหลืองสำหรับพระ)

เนื่องด้วยปาฏิปุคคลิกทานไม่มีอานิสงส์ยิ่งไปกว่าสังฆทานดังที่กล่าวแล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงแนะนำให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีถวายผ้าห่มคู่ดังกล่าว
ให้สงฆ์เพื่อเป็นสังฆทาน พระองค์มิได้ทรงให้พระนางถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
เพราะจะเป็นปาฏิปุคคลิกทาน การแนะนำดังกล่าวของพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเป็นไป
เพื่อทรงอนุเคราะห์พระนางมหาปชาบดีโคตมี อันจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุขตลอดกาลนานแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมีนั้นเอง

นอกจากนี้ ในอรรถกถาได้อธิบายว่าที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำให้ถวายสงฆ์นั้น
พระองค์ยังทรงมุ่งหมายเพื่อชนรุ่นหลัง และเพื่อทรงให้เกิดความยำเกรงในสงฆ์
(คำว่า “ยำเกรง” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงกลัวนะครับ แต่หมายถึงเคารพ นอบน้อม)
โดยที่พระชนม์ชีพของพระองค์ไม่ดำรงอยู่นาน แต่พระศาสนาจะดำรงตั้งอยู่ในพระภิกษุสงฆ์
ชนรุ่นหลังจึงพึงยังความยำเกรงในสงฆ์ให้เกิดขึ้น พึงสำคัญว่าปัจจัยสี่เป็นสิ่งพึงถวายสงฆ์
เมื่อภิกษุสงฆ์ไม่ลำบากด้วยปัจจัยสี่ พึงเรียนพระธรรมคำสอนและปฏิบัติสมณธรรม
เมื่อนั้นพระศาสนาพึงตั้งดำรงอยู่ได้ อันย่อมเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนรุ่นหลังต่อไป

หมายเหตุ – คำแปลของคำศัพท์ (บางส่วน) ข้างต้นนั้น ได้นำมาจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์
ฉบับประมวลศัพท์ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)

(ขอยกไปคุยต่อในตอนหน้านะครับ)