Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๗๐

เทศกาลกุศลหรืออกุศล

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dharmajaree-170

ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีวันหยุดต่อเนื่องอยู่หลายวัน
แต่การมีวันหยุดต่อเนื่องหลายวันก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นประโยชน์หรือเกิดกุศลเสมอไป
เพราะเราอาจจะหลงใช้เวลาไปเพื่อเรื่องไร้ประโยชน์ หรือเรื่องอกุศลก็ได้
โดยก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่า เราจะใช้เวลาในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างไร

กรณีที่เราใช้ช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อสร้างกุศล ยกตัวอย่างเช่น
บางท่านระลึกว่าวันที่ ๑๓ เมษายนของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ
และวันที่ ๑๔ เมษายนของทุกปีเป็นวันครอบครัว
ท่านไหนที่อยู่ห่างไกลบิดามารดา ก็เดินทางกลับไปเยี่ยมเยียนและดูแลบิดามารดา
ซื้อของไปเยี่ยม เอาของไปให้ พาบิดามารดาไปทานข้าว พาบิดามารดาไปทำบุญ ฯลฯ
ท่านไหนอยู่ใกล้บิดามารดาอยู่แล้ว ก็พาบิดามารดาไปทานข้าว พาบิดามารดาไปทำบุญ ฯลฯ

บางท่านเห็นว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย
จึงพากันไปทำบุญในช่วงเทศกาลสงกรานต์
บางท่านเห็นว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นวันหยุดยาว
จึงไปอยู่ปฏิบัติธรรมที่วัด หรือสถานที่ปฏิบัติธรรมต่าง ๆ
บางท่านไม่สะดวกจะเดินทางไปพักที่อื่นนอกบ้าน
จึงอาศัยปฏิบัติธรรมอยู่ที่บ้านตนเอง และก็อาจจะถือศีลแปดด้วย
บางท่านเห็นว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์มีวันหยุดหลายวัน ก็ใช้เวลามาอ่านหนังสือธรรมะ
หรือบทความธรรมะ ฟังพระธรรมเทศนา หรือศึกษาหาความรู้ทางธรรมะเพิ่มเติม
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ล้วนเป็นประโยชน์และก่อให้เกิดกุศลนะครับ

บางท่านทำงานอยู่ในส่วนของการให้บริการสาธารณะ ซึ่งไม่สามารถหยุดงานได้
ตัวอย่างที่ชัดเจนก็เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ขนส่งต่าง ๆ
โดยในการทำงานของท่านนั้น ๆ หากท่านระลึกใจว่าตั้งใจเสียสละและ
ทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อดูแลหรือช่วยเหลือผู้อื่น ก็ย่อมจะก่อให้เกิดกุศลได้เช่นกัน

ในทางกลับกัน เราอาจหลงใช้ช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อสร้างอกุศลได้เช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น บางท่านเห็นว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นวันหยุดยาว
จึงไปเที่ยวฉลองดื่มสุราเมามายกับเพื่อน ๆ หรือไปเที่ยวกลางคืน
หรือไปเที่ยวสถานเริงรมย์ หรือสถานที่อบายมุข หรือสถานที่อโคจรต่าง ๆ
ในลักษณะอย่างนี้ก็ก่อให้เกิดอกุศลได้

นอกจากนี้แล้ว ในหลายคราว เราอาจได้ประสบกับเหตุการณ์หรือสิ่งต่าง ๆ
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งอาจจะทำให้เราก่ออกุศลขึ้นด้วยก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการเล่นสาดน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์
สมมุติว่าเราไม่ได้ต้องการเล่นสาดน้ำ โดยเราแต่งชุดสุภาพ เพื่อจะไปทำธุระในที่ต่าง ๆ
เช่น ไปงานแต่งงาน หรือไปงานศพ แต่พอออกมาจากบ้านแล้ว โดนสาดน้ำเปียกทั้งตัว
ก็ทำให้เราต้องกลับบ้านไปเปลี่ยนชุดใหม่ กรณีนี้ก็อาจทำให้โดนโทสะครอบงำใจได้
ซึ่งการโดนสาดน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ มีโอกาสจะโดนได้ตั้งแต่ยังเดินไม่พ้นซอย
พอออกมาจากซอยมารอรถที่ป้ายรถเมล์ ก็ยิ่งมีโอกาสโดนมากกว่าเดิม
ขนาดขึ้นไปนั่งบนรถเมล์แล้ว ก็ยังมีตามขึ้นมาสาดน้ำบนรถเมล์ได้อีก

ที่ได้ยกตัวอย่างดังนี้ เพราะว่าผมเองก็เคยโดนสาดน้ำมาในกรณีดังกล่าวข้างต้นแล้ว
คือผมเคยแต่งชุดสูท เดินออกจากซอย เพื่อจะไปร่วมงานแต่งงานของคนรู้จัก
แต่ยังเดินไปไม่พ้นซอยก็โดนเด็ก ๆ สาดน้ำใส่จนเปียก ทำให้ต้องกลับบ้านไปเปลี่ยนชุดใหม่
เคยจะไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า และยืนรอรถอยู่ที่ป้ายรถเมล์ แล้วก็โดนสาดน้ำจนเปียก
เคยนั่งรถเมล์ ซึ่งพอรถเมล์จอดที่ป้าย ก็มีวัยรุ่น ๒ คนถือถังน้ำวิ่งขึ้นมาบนรถเมล์
จากนั้นทั้ง ๒ คนก็สาดน้ำในถังกระจายไปทั่วรถเลย

เราอาจจะได้พบเหตุการณ์เกี่ยวกับการจราจรซึ่งติดขัดมากมาย
เช่น เดิมทีเราเดินทางไปต่างจังหวัดบางจังหวัดจะใช้เวลา ๒ ถึง ๓ ชั่วโมง
แต่พอเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็กลายเป็นใช้เวลา ๗ ถึง ๘ ชั่วโมงก็มี
แถมในระหว่างทางก็อาจจะได้พบเพื่อนร่วมทางที่ไร้น้ำใจ หรือไร้มารยาทด้วยก็ได้
เช่น อาจจะมาเบียดมาแทรก หรือขอทางแล้วก็ไม่ให้ หรือขับแบบผิดกฎจราจร เป็นต้น

ปกติแล้ว ถนนในกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้นก็จะโล่งนะครับ
แต่หากเราไปในถนนที่เขาเล่นสาดน้ำสงกรานต์แล้ว ก็จะพบการจราจรติดขัดรุนแรงได้
อย่างผมเองเคยพาญาติสูงอายุไปทำบุญที่วัดไร่ขิง
และขากลับได้ผ่านไปทางถนนพุทธมณฑลสาย ๔
ซึ่งปรากฏว่าในช่วงบ่ายวันนั้น เป็นช่วงที่หลาย ๆ ท่านกำลังเล่นสงกรานต์บริเวณนั้น
รถที่วิ่งบนถนนพุทธมณฑลสาย ๔ จึงขยับตัวได้ช้ามาก ๆ
เวลาส่วนใหญ่บนถนนดังกล่าวหมดไปกับการจอดอยู่เฉย ๆ
โดยรถจำนวนมากก็เป็นรถกระบะที่มาเล่นสงกรานต์สาดน้ำใส่กัน
กว่ารถจะค่อย ๆ ขยับผ่านถนนพุทธมณฑลสาย ๔ มาได้ ก็ใช้เวลาเกือบ ๓ ชั่วโมง
(ทั้ง ๆ ที่ปกติแล้วจะใช้เวลาแค่ไม่เกิน ๑๐ นาทีเท่านั้น)
แถมเมื่อรถหลุดออกมาจากถนนดังกล่าวได้แล้ว รถก็เปียกปอนและเต็มไปด้วยแป้งครับเราอาจจะได้พบเหตุการณ์ในลักษณะการแย่งกันกินแย่งกันใช้

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ เวลาไปทานอาหารนอกบ้านที่ไหนก็ตาม
เรามักจะพบว่าคิวลูกค้ายาวเหยียด เจ้าหน้าที่บริการไม่พอ
รายการอาหารหลายอย่างก็หมด หรือไม่มี บางแห่งก็ไม่ได้จัดคิวให้เหมาะสม
ปล่อยให้มีการแซงคิวกันวุ่นวาย เจ้าหน้าที่บริการบางแห่งก็บริการด้วยกิริยาที่ไม่ดี
(ด้วยความที่เจ้าหน้าที่เองก็คงจะต้องอยู่กับเรื่องวุ่นวายและเหนื่อยอยู่ทั้งวัน
ก็คงทำให้อารมณ์ไม่ดีค่อยจะดี และก็เหนื่อยมากด้วย)

แม้กระทั่งจะไปวัดก็ตาม เราก็อาจจะพบเหตุการณ์ที่ว่าคนเยอะเบียดเสียดกันมาก
บางแห่งหรือบางคนก็ไม่ได้เข้าคิวในการทำกิจกรรม เช่น ซื้อดอกไม้ธูปเทียน
ซื้อน้ำมันใส่ตะเกียง จุดธูปเทียน หยอดเงินทำบุญใส่ตู้ หรือถวายสังฆทาน เป็นต้น
ก็กลายเป็นว่าเบียดเสียดแก่งแย่งกัน แซงกันวุ่นวายก็มี แถมบางคนก็ยังมีพูดจาไม่ดีใส่กันอีก
เหตุการณ์ข้างต้นเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างนะครับที่ว่าเราไปประสบแล้ว
อาจทำให้เกิดโทสะ ราคะ โมหะมาครอบงำใจเรา และทำให้เราสร้างอกุศลได้

ถามว่าในเทศกาลวันหยุดยาวเช่นนี้ จะเกิดกุศลหรืออกุศลมากกว่ากัน ขึ้นอยู่กับอะไร?
ก็ตอบว่า ขึ้นอยู่กับตัวเองครับ
กล่าวคือ ขึ้นอยู่ว่าเราจะใช้เวลาของเราอย่างไร ตัวเราจะมีสติรู้ทันใจตนเอง
รู้ทันอกุศลที่เกิดขึ้นในจิตใจหรือไม่ เราจะขาดสติปล่อยให้อกุศลเข้าครอบงำใจหรือไม่

สำหรับบางท่านที่ไม่เคยฝึกเจริญสติมา ก็ควรจะอาศัยการเจริญเมตตาให้มาก
หรือมองว่าเมื่อมีอะไรที่ไม่ดีมากระทบใจ ทำให้มีโทสะแล้ว
ย่อมถือเป็นโอกาสที่จะได้ทำอภัยทาน กล่าวคือฝึกให้อภัยแก่คนอื่น ๆ นั่นแหละ
หรือมองว่าเมื่อเกิดความอยากที่รุนแรงในใจ ทำให้มีราคะแล้ว
ย่อมถือเป็นโอกาสที่จะได้ฝึกขันติ หรือฝึกความอดทนของตนเอง
หรือไม่ก็ฝึกมองว่า ทุกคนเป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน น่าสงสารด้วยกันทั้งนั้น
ไม่ควรจะไปถือโกรธเคืองใคร เพราะเราเองก็เคยทำผิดทำพลาดด้วยกันทุกคน

ยกตัวอย่างว่า เมื่อคราวที่ผมใส่ชุดสูทออกมาจากบ้าน เพื่อจะไปร่วมงานแต่งงานของคนรู้จัก
แล้วโดนสาดน้ำ ทำให้ต้องกลับบ้านเปลี่ยนชุดนั้น สมัยนั้นผมยังไม่ได้ฝึกหัดเจริญสตินะครับ
โดยวูบแรกในใจก็คือ ผมรู้สึกโมโห แต่ถัดจากนั้นแล้ว ผมก็รู้สึกสำนึกผิด
ทำไมรู้สึกสำนึกผิด? ไม่ได้สำนึกผิดว่าผมโมโห หรือมีโทสะนะครับ
แต่ว่าใจผมไประลึกถึงเรื่องอดีตในสมัยที่ผมยังเป็นเด็ก ๆ
โดยสมัยที่ผมยังเด็ก ๆ ผมก็เคยไปยืนริมถนนแล้วก็สาดน้ำใส่คนอื่น ๆ
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในลักษณะเดียวกันนี้เหมือนกัน
(ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า ผมก็ได้สาดน้ำใส่คนอื่น ๆ ที่เขาไม่ต้องการจะเปียกด้วยเช่นกัน)
เมื่อระลึกได้ดังนี้แล้ว แทนที่จะไปโกรธเด็กเหล่านั้น ผมกลับให้อภัยแก่เด็ก ๆ เหล่านั้น
ซึ่งแม้ว่าเราจะเจริญสติไม่เป็น แต่เมื่อมองในมุมเช่นนี้แล้ว เราก็ไม่ไปโกรธคนอื่นนะครับ
เรากลับให้อภัยคนอื่น และเรามีความตั้งใจที่จะปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น

สรุปแล้วในช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดต่อเนื่องนั้น ไม่ได้แปลว่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งกุศลเสมอไป 
เพราะอาจจะเป็นช่วงเวลาแห่งกุศลหรืออกุศลก็ได้ โดยขึ้นอยู่กับเราเองว่า 
เราจะใช้เวลาอย่างไร ตัวเราจะมีสติรู้ทันใจตนเอง รู้ทันอกุศลที่เกิดขึ้นในจิตใจหรือไม่ 
เราจะมองสิ่งที่เกิดขึ้นหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไร 
หากเราไม่ปล่อยตัวปล่อยใจโดยไม่ได้ตั้งอยู่ในความประมาทแล้ว 
ยิ่งมีวันหยุดยาวมาก เราก็ยิ่งเกิดกุศลมาก 
แต่หากเราปล่อยตัวปล่อยใจหลงอยู่ในความประมาทแล้ว 
ยิ่งมีวันหยุดยาวมาก เราก็ยิ่งเกิดอกุศลมากครับ