Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๖๙

ถือวิสาสะ

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

phpLtSFCxAM

ในเรื่องของการผิดศีลข้ออทินนาทาน หรือการลักขโมยนั้น
มีองค์ประกอบ ๕ ประการ ดังต่อไปนี้
๑. ทรัพย์นั้นมีเจ้าของหวงแหน
๒. เราก็รู้ว่าทรัพย์นั้นมีเจ้าของหวงแหน
๓. ตั้งจิตคิดจะลัก
๔. ทำความพยายามที่จะลัก
๕. ได้ของนั้นมาด้วยความพยายามนั้น
ศีลข้ออทินนาทานย่อมขาดต่อเมื่อกระทำครบองค์ประกอบทั้ง ๕ ข้างต้น

ในกรณีที่เจ้าของเขามอบของให้เราอย่างชัดเจน
หรือเขาอนุญาตให้เรานำของไปได้อย่างชัดเจนแล้ว ก็ย่อมไม่มีปัญหาอะไร
แต่ก็อาจจะมีบางกรณีที่เจ้าของไม่อยู่ในเวลานั้น
และด้วยความที่เราสนิทสนมกับเจ้าของนั้น
เราจึงเข้าใจว่าเขาคงไม่ว่าอะไร เขาคงให้เรานำของไปได้
เราจึงนำของไปใช้ หรือนำสิ่งของของเขาไป
ในกรณีเช่นนี้ เรามักจะเรียกว่า “ถือวิสาสะ”

การถือวิสาสะนี้เกิดขึ้นได้กับคนในครอบครัวเดียวกัน ในบ้านเดียวกัน
ญาติในตระกูลเดียวกัน เพื่อนบ้านอยู่ติดกัน เพื่อนในที่ทำงาน คนรู้จัก ฯลฯ
โดยขณะที่นำของไปนั้น เราก็เข้าใจว่าเจ้าของเขายินยอมและไม่ติดใจอะไร
และเราเข้าใจว่าเราไม่ได้กระทำผิดศีลข้ออทินนาทาน

ทีนี้ ถามว่าในพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้อย่างไร?
ในเรื่องนี้ก็เคยมีเหตุการณ์ตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาลนะครับ
โดยเจ้าโรชะมัลลกษัตริย์ ซึ่งเป็นพระสหายของท่านพระอานนท์
ได้ฝากผ้าโขมพัสตร์ผืนเก่า ๆ ไว้กับท่านพระอานนท์
ต่อมา พระอานนท์ท่านมีความต้องการด้วยผ้าโขมพัสตร์ผืนเก่า ๆ นี้
ก็มีปัญหาว่าพระอานนท์จะนำผ้าโขมพัสตร์ที่รับฝากนั้นมาใช้ได้หรือไม่
โดยได้มีพระภิกษุไปกราบทูลเรื่องดังกล่าวแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสอนุญาตไว้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถือวิสาสะแก่บุคคลผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
เคยเห็นกันมา ๑
เคยคบกันมา ๑
เคยบอกอนุญาตกันไว้ ๑
เขายังมีชีวิตอยู่ ๑
รู้ว่าเมื่อเราถือเอาแล้ว เขาจักพอใจ ๑
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถือวิสาสะแก่บุคคลที่ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=05&A=4195&Z=4237

จะเห็นได้ว่าการที่เราพิจารณาเพียงแค่เขาคงไม่เอาเรื่อง แค่นั้นยังไม่เพียงพอนะครับ
อย่างสมมุติว่า เราหยิบเงินของพ่อแม่เราไปโดยท่านไม่ได้อนุญาต
แม้ว่าท่านจะไม่แจ้งความต่อตำรวจให้มาดำเนินคดีกับเราก็ตาม
แต่ก็ไม่ได้แปลว่าท่านจะพอใจนะครับ โดยท่านอาจจะไม่พอใจก็ได้
และเมื่อท่านไม่พอใจแล้ว ก็ย่อมจะไม่ใช่การถือวิสาสะครับ
แต่ถือว่าเป็นการลักขโมย ซึ่งผิดศีลข้ออทินนาทานแล้ว

ดังนี้ หากเราจะนำพระธรรมคำสอนในเรื่องการถือวิสาสะมาปรับใช้ในชีวิตของเรา
ก่อนที่เราจะถือวิสาสะหยิบของของคนอื่นหรือนำของของคนอื่นไป
ก็ให้ระลึกถึงและพิจารณาองค์ประกอบ ๕ ข้อเหล่านี้ก่อนครับ
หากพิจารณาแล้ว เห็นว่าไม่ครบ ๕ ข้อ
เช่น เจ้าของเขาไม่เคยบอกอนุญาตไว้ หรือ
ไม่แน่ใจว่าเจ้าของเขาจะพอใจหรือไม่ เป็นต้น
ถ้าจะให้แน่ใจ ก็ควรจะรอสอบถามเจ้าของเขาให้แน่นอนเสียก่อน
เราไม่หยิบไปโดยพลการ ก็ย่อมจะเป็นการปลอดภัย
และไม่ทำให้ตนเองผิดศีลข้ออทินนาทานครับ