Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๖๘

ทานอาหารก่อนประเคนพระ

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dharmajaree-168

ในคราวที่แล้ว เราได้คุยกันเรื่อง “ถวายทานด้วยของเหลือ” นะครับ
หลังจากนั้นก็มีญาติธรรมท่านหนึ่งซึ่งอยู่ต่างประเทศส่งอีเมล์มาเล่าเรื่องให้อ่าน
เธอเล่าว่าในช่วงเวลาที่เธออยู่ในต่างประเทศนั้น
เคยเห็นชาวต่างประเทศบอกให้ลูกนำขนมกล่องเล็กๆ ที่ตัวเองแกะกินแล้วไปถวายพระ
เธอก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจ โดยถ้าเป็นเธอเองแล้ว ปกติก็จะซื้อของใหม่ไปถวาย ก็สบายใจกว่า

เธอยังเล่าเรื่องของสามีภรรยาชาวต่างประเทศคู่หนึ่งซึ่งมาทำขนมในครัวเพื่อถวายพระภิกษุ
สามีนึกอยากทานขนมนั้นก่อนเวลาประเคนพระภิกษุ (โดยไม่ใช่การชิมเพื่อปรุงรส)
ภรรยาก็บอกสามีว่าให้เขาทานไปเถอะ
ญาติธรรมท่านนี้ไม่กล้าบอกพวกเขาว่า ไม่ควรจะทานอาหารที่จะถวายพระภิกษุ (ก่อนพระฉัน)
เหตุที่เธอไม่กล้าบอกเพราะอาจมีเรื่องโต้เถียงอื่น ๆ ตามมา เช่น
สามีคนนั้นอาจจะแย้งว่า นั่นเป็นเรื่องของวัฒนธรรมชาวไทย ไม่ใช่เรื่องของชาวพุทธ
และสามีภรรยาคู่นี้ก็ก็เป็นนักภาวนาที่มาวัดบ่อยเสียด้วย
สามีชาวต่างประเทศก็ทานขนมนั้น ญาติธรรมท่านนี้ก็สงสัยว่าเขาจะต้องไปเป็นเปรตหรือเปล่า
ในคราวนี้ เราก็จะคุยกันใน ๒ เรื่องนี้ครับ

ในเรื่องที่ชาวต่างประเทศบอกให้ลูกนำขนมกล่องเล็กๆ ที่ตัวเองแกะกินแล้วไปถวายพระนั้น
ผมได้กล่าวในบทความคราวก่อนแล้วว่า
“แม้ว่าจะไม่ใช่ของที่เป็นเดนก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะถวายได้ทั้งหมดนะครับ
โดยเราก็ควรต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย”
เช่น ให้ของสะอาดหรือไม่ ให้ของประณีตหรือไม่ ให้ของสมควรหรือไม่ เป็นต้น
อย่างกรณีเด็กนำขนมที่แกะทานแล้วไปถวายพระนั้น
ก็ควรจะต้องดูด้วยว่าขนมยังสะอาดอยู่ไหม เหมาะสมที่คนอื่นจะทานได้ไหม
เป็นของที่สมควรกับพระภิกษุหรือเปล่า เราไม่ได้ดูแค่ว่าขนมนั้นเป็นของที่ยังไม่ทิ้งใช่ไหม

ยกตัวอย่างเช่น ขนมบางอย่างที่เขามีกระดาษห่อขนมแต่ละลูก ๆ แยกจากกัน
สมมุติว่ามี ๑๐ ลูก เวลาเด็กจะทาน ก็แกะกระดาษห่อออกทีละลูก
เด็กทานไป ๓ ลูก เหลืออยู่ ๗ ลูก โดยทั้ง ๗ ลูกก็ยังมีกระดาษห่อหุ้มอยู่
อย่างนี้ก็น่าจะถือว่าได้ยังเป็นของสะอาดอยู่
แต่หากเป็นขนมมันฝรั่งทอดเป็นห่อที่เด็กทาน โดยใช้มือหยิบไปทานไป
หากยังทานไม่หมดและจะนำไปถวายพระภิกษุ ก็น่าจะถือว่าขนมที่เหลือในห่อไม่สะอาดแล้ว
หรือยกตัวอย่างขนมเปี๊ยะหนึ่งชิ้น ซึ่งเด็กทานขนมเปี๊ยะ โดยใช้ปากกัดทานไปส่วนหนึ่งแล้ว
หากจะนำส่วนที่เหลือไปถวายพระภิกษุ ก็น่าจะถือว่าเป็นของที่ไม่สะอาดแล้ว

นอกจากนี้ ก็ควรพิจารณาด้วยว่าให้ของสมควรหรือไม่
ยกตัวอย่างว่า เด็กผู้หญิงชาวต่างประเทศจะถวายตุ๊กตาบาร์บี้ให้กับพระภิกษุ
สมมุติว่าตุ๊กตายังใหม่อยู่ ยังสะอาดอยู่ ยังไม่ได้แกะจากกล่องเลยด้วย
แต่ก็พึงพิจารณาตุ๊กตาบาร์บี้เป็นของที่สมควรจะนำไปถวายให้พระภิกษุหรือเปล่า
เจตนาเราคืออะไร ต้องการจะให้พระภิกษุท่านนำตุ๊กตาไปเล่นหรือ หรือไปวางโชว์
หรือว่าเจตนาจะให้พระภิกษุท่านไปแจกให้เด็กผู้หญิงยากไร้คนอื่น ๆ ต่อไป
ซึ่งเราก็ต้องพิจารณาดูเจตนาที่แตกต่างกันไปด้วยครับ

บางท่านอาจจะบอกว่าเวลาที่ตนเองถวายของเก่าแล้ว รู้สึกไม่สบายใจ
ตนเองอยากจะถวายของใหม่มากกว่า เพราะถวายแล้วสบายใจ
หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ท่านก็ควรถวายของใหม่ เพราะว่าในสัปปุริสทาน ๘ ประการ
(ตามสัปปุริสสูตร) นั้นรวมถึง “เมื่อให้จิตผ่องใส” และ “ให้แล้วดีใจ” ด้วย
ฉะนั้น หากท่านถวายแล้วทำให้จิตไม่ผ่องใสและกลับกังวลใจ ก็พึงถวายตามที่ถูกจริตตน
แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นการบังคับว่าคนอื่นทุกคนจะต้องถวายของใหม่ตามเรา
เพราะว่าฐานะ กำลัง สภาพ และสถานการณ์ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน

ในเรื่องของการทานอาหารก่อนพระภิกษุฉันอาหารนั้น ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า
จุดอ่อนที่สำคัญประการหนึ่งของชาวพุทธจำนวนมากก็คือ เราไม่ได้จำแนก
ส่วนใหญ่แล้ว เราใช้วิธีการเหมารวม โดยไม่ได้จำแนกพิจารณารายละเอียด
พอเราเหมารวมบ่อย ๆ เข้า ก็ทำให้กลายเป็นความเชื่อ พิธีกรรม หรือประเพณีขึ้นมา
แล้วเราก็ไปเหมารวมว่าทำตามความเชื่อ พิธีกรรม หรือประเพณีนั้นแล้วจะดี จะเป็นบุญกุศล
หลายท่านก็ไปหลงยึดความเชื่อ พิธีกรรม หรือประเพณี
มากกว่าจะพิจารณากุศลและอกุศลในจิตใจ และความเหมาะสมในเรื่องนั้น ๆ

ในเรื่องที่ว่าทานอาหารก่อนประเคนพระภิกษุแล้วจะตายไปเป็นเปรตนั้น
(ซึ่งสมัยก่อนผมก็เคยเข้าใจทำนองนี้เช่นกัน)
ผมเห็นว่าเป็นการเชื่อต่อ ๆ กันมา แต่ว่ายังเข้าใจกันอย่างคลาดเคลื่อนอยู่
ในเรื่องนี้ ผมเข้าใจว่าเรานำมาจากเรื่องเปรตซึ่งเคยเป็นญาติพระเจ้าพิมพิสารในอดีตชาติ
(ท่านผู้อ่านสามารถค้นในกูเกิ้ล โดยค้นคำว่า “เปรต” และ “ญาติพระเจ้าพิมพิสาร” ครับ)
โดยในเนื้อเรื่องเขาเล่าว่าในสมัยอดีตชาตินั้น พระเจ้าพิมพิสารได้เกิดเป็นเจ้าหน้าที่คลัง
และได้รับมอบหมายจากพระราชบุตรทั้ง ๓ ของพระราชาให้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้า
ในการจัดหาอาหารทั้งคาวและหวานมาถวายพระพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์ในช่วงเวลาหนึ่ง
เจ้าหน้าที่คลังจึงชักชวนบรรดาญาติ ๆ ของตน ให้มาช่วยทำอาหารเลี้ยงหมู่สงฆ์
โดยในช่วงแรก ๆ บรรดาญาติของเจ้าหน้าที่คลังก็ยังปฏิบัติตนดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป
บรรดาญาติ ๆ นั้นก็แอบบริโภคอาหารก่อนหมู่ภิกษุสงฆ์เสียบ้าง
แอบขโมยอาหารที่เขาทำไว้นั้นไปเลี้ยงลูกเมียและญาติของตนเสียบ้าง
โดยทำผิดเช่นนี้อยู่เป็นนิตย์ ด้วยความละโมบ
จากนั้น หลังจากที่ตายลงแล้ว ญาติเหล่านั้นก็ต้องชดใช้บาปกรรมตนเอง
โดยมาเป็นเปรตในภัทรกัปนี้ และสามารถพ้นจากการเป็นเปรตได้
เมื่อพระเจ้าพิมพิสารซึ่งเคยเป็นญาติ (เจ้าหน้าที่คลัง) ในอดีตชาตินั้น
ได้ถวายทานแต่พระพุทธเจ้า และได้อุทิศบุญกุศลให้แก่บรรดาเปรตเหล่านั้น

เวลาเราอ่านเรื่องเปรตซึ่งเคยเป็นญาติพระเจ้าพิมพิสารในอดีตชาตินี้แล้ว
เราก็อ่านพบว่ามีการ “แอบบริโภคอาหารก่อนหมู่ภิกษุสงฆ์”
แล้วก็พบว่าบุคคลเหล่านี้ได้มาเป็นเปรต และต้องรอรับผลบุญจากพระเจ้าพิมพิสาร
หลายท่านอ่านแล้วก็เหมารวมว่า การทานอาหารก่อนพระภิกษุสงฆ์นั้นเป็นบาปอกุศล
และหากเรากระทำดังกล่าวแล้ว เราก็จะต้องไปเป็นเปรตในภายหลัง
ผมเห็นว่าความเข้าใจดังกล่าวนี้ยังเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนะครับ

ผมขอแนะนำให้เรามาอ่านอรรถกถาในพระไตรปิฎกครับว่ามีเนื้อหาอย่างไร
“... พระราชโอรสทั้ง ๓ พระองค์ก็ส่งหัตถเลขาลายพระหัตถ์ไปแจ้งแก่พนักงานเก็บส่วย
(ผู้จัดผลประโยชน์) ในชนบทของพระองค์ว่า เราจะอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอดไตรมาสนี้
เจ้าจงจัดเครื่องประกอบการอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าไว้ให้พร้อมทุกประการ
ตั้งแต่สร้างพระวิหารเป็นต้นไป เจ้าพนักงานเก็บส่วยนั้นจัดการพร้อมทุกอย่างแล้ว
ก็ส่งหนังสือรายงานให้ทรงทราบ พระราชโอรสเหล่านั้นก็ทรงนุ่งห่มผ้ากาสายะ
ทรงอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยเคารพ ด้วยบุรุษไวยาจักร ๒,๕๐๐ คน
นำเสด็จสู่ชนบทมอบถวายพระวิหาร ให้ทรงอยู่จำพรรษา

บุตรคฤหบดีผู้หนึ่งเป็นพนักงานที่รักษาเรือนคลังของพระราชโอรสเหล่านั้น พร้อมทั้งภรรยา
เป็นคนมีศรัทธาปสาทะ เขาได้ปฏิบัติการถวายทานแก่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขโดยเคารพ
เจ้าพนักงานเก็บส่วยในชนบทพาบุตรคฤหบดีนั้นให้ดำเนินการถวายทานโดยเคารพ
พร้อมด้วยบุรุษชาวชนบทประมาณ ๑๑,๐๐๐ คน

บรรดาคนเหล่านั้น ชนบางพวกมีจิตถูกอิสสามัจฉริยะครอบงำ
พวกเขาก็พากันทำอันตรายแก่ทาน กินไทยธรรมด้วยตนเองบ้าง
ให้แก่พวกลูก ๆ เสียบ้าง และเอาไฟเผาโรงอาหาร
ครั้นปวารณาออกพรรษา พระราชโอรสทั้งหลายก็ทรงทำสักการะยิ่งใหญ่แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าไปเฝ้าพระราชบิดา
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปในที่นั้นแล้วก็ปรินิพพาน
พระราชา พระราชโอรส เจ้าพนักงานเก็บส่วยในชนบท
และเจ้าพนักงานรักษาเรือนคลังทำกาละไปตามลำดับ ก็เกิดในสวรรค์พร้อมด้วยบริษัทบริวาร
เหล่าชนที่มีจิตถูกอิสสามัจฉริยะครอบงำก็พากันไปเกิดในนรกทั้งหลาย
เมื่อคน ๒ คณะนั้นจากสวรรค์เข้าถึงสวรรค์ จากนรกเข้าถึงนรกด้วยอาการอย่างนี้ กัปก็ล่วงไป ๙๒ กัป

ต่อมา ในภัทรกัปนี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป
ชนที่มีจิตถูกอิสสามัจฉริยะครอบงำเหล่านั้น ก็เกิดเป็นเปรต
ครั้งนั้น มนุษย์ทั้งหลายถวายทาน อุทิศเพื่อประโยชน์แก่พวกเปรตที่เป็นญาติของตนว่า
ขอทานนี้จงมีแก่พวกญาติของเรา เปรตเหล่านั้นก็ได้สมบัติ
ขณะนั้น เปรตแม้พวกนี้เห็นดังนั้น ก็เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะ
ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทำอย่างไรหนอ พวกข้าพระองค์จึงจะได้สมบัติบ้าง พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บัดนี้ พวกท่านยังไม่ได้ดอก
ก็แต่ว่า ในอนาคต จักมีพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
จักมีพระราชาพระนามว่าพิมพิสาร ท้าวเธอได้เป็นญาติของพวกท่านนับแต่นี้ไป ๙๒ กัป
ท้าวเธอจักถวายทานแด่พระพุทธเจ้าอุทิศส่วนกุศลแก่พวกท่าน ครั้งนั้น พวกท่านจึงจักได้ ...”
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=8

สังเกตว่าในอรรถกถาในพระไตรปิฎกนั้น ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องทานอาหารก่อนประเคนแก่พระภิกษุ
แต่ว่าใช้ถ้อยคำว่า “ทำอันตรายแก่ทาน กินไทยธรรมด้วยตนเองบ้าง
ให้แก่พวกลูกๆ เสียบ้าง และเอาไฟเผาโรงอาหาร”
บาปอกุศลที่ทำนั้นคืออะไร? ก็คือทำอันตรายแก่ทาน ไม่ว่าจะกินเอง หรือนำไปให้ลูก ๆ กิน
และก็ยังมีการเผาโรงอาหาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นการกระทำผิดศีลทั้งสิ้น
โดยเมื่อกระทำเช่นนั้นแล้ว พวกเขาก็ไม่ได้แค่ไปเกิดเป็นเปรตเท่านั้นนะครับ
แต่ว่าได้เกิดในนรก และตายจากนรก ก็ไปเกิดในนรก เป็นเช่นนี้ ต่อเนื่องยาวนานถึง ๙๒ กัป
(ระยะเวลา ๑ กัปคือระยะเวลาตั้งแต่จักรวาลเกิดจนถึงจักรวาลดับ
โดยหากท่านผู้อ่านต้องการทราบว่ายาวนานเพียงไร ขอให้ค้นหาในกูเกิ้ลเองได้ครับ
หรือจะอ่านจากบทความจุดหมายปลายธรรมในตอน “น้ำบ่อนี้หรือน้ำบ่อหน้า” ก็ได้)
http://www.dlitemag.com/index.php?option=com_content&view=article&id=791:2012-05-24-02-20-37&catid=66:-desitinationdhamma&Itemid=59

สรุปแล้ว หากเราอ่านจากอรรถกถาในพระไตรปิฎกแล้ว
ประเด็นสำคัญที่เป็นบาปอกุศลในเรื่องนี้ไม่ใช่การทานอาหารก่อนประเคนต่อพระภิกษุ
แต่เป็นเรื่องของการประพฤติผิดศีล หรือการลักขโมยของที่จะถวายต่อพระภิกษุ
ซึ่งเมื่อพวกเขากระทำบาปอกุศลดังกล่าวแล้ว ไม่ใช่ว่าไปเป็นแค่เปรตเท่านั้น
แต่ว่าไปเกิดในนรกอยู่เนิ่นนานหลายกัป และพอพ้นจากนรกแล้ว ก็ค่อยมาเป็นเปรตต่อไป

ทีนี้ เราย้อนกลับมาพิจารณาเรื่องความเชื่อ พิธีกรรม หรือประเพณีของเรานะครับ
หลาย ๆ ท่านไปเน้นว่าหากเราทานอาหารหลังประเคนต่อพระภิกษุแล้ว ถือว่าใช้ได้
แต่หากเราทานอาหารก่อนประเคนต่อพระภิกษุนั้น ถือว่าใช้ไม่ได้ และเป็นบาปอกุศล
โดยที่หลาย ๆ ท่านเหล่านั้นมองข้ามเรื่องศีล หรือไม่ได้เน้นมองในเรื่องศีลเท่าไร
ในอันที่จริงแล้ว ประเด็นของเรื่องไม่ใช่ว่าทานก่อนหรือหลังประเคนต่อพระภิกษุครับ
แต่ประเด็นของเรื่องนั้นคือ สิ่งที่เราทำนั้นเป็นการประพฤติผิดศีลหรือไม่
ซึ่งเมื่อหลายท่านไปเน้นยึดเรื่องความเชื่อ พิธีกรรม หรือประเพณีเสียแล้ว
ก็อาจจะทำให้ท่านถวายทานอย่างลำบากขึ้น หรืออาจไปหลงตำหนิคนอื่น ๆ ด้วย

ขอยกตัวอย่างนะครับ สมมุติว่าในเย็นวันนี้ เราได้ทำไข่พะโล้หนึ่งหม้อ
(โดยเราซื้อทุกอย่างมาเอง และเราทำกับข้าวเอง) เพื่อที่ว่าจะไว้ทานเองส่วนหนึ่ง
และอีกส่วนหนึ่งเพื่อจะถวายเพลต่อพระภิกษุในวันพรุ่งนี้
พอถึงเวลาอาหารเย็น เราก็แบ่งพะโล้ในหม้อนี้ออกมาทานเป็นอาหารเย็นของเรา
แต่ก็มีเพื่อนบ้านมาบอกเราว่า เราทานอาหารก่อนประเคนต่อพระภิกษุจึงเป็นบาปอกุศล
ถามว่าเราเห็นด้วยกับเพื่อนบ้านเราไหมครับ? เราทำผิดศีลตรงไหน?
ไข่พะโล้นั้น เราซื้อมาเอง เราทำเอง เรายังไม่ได้ถวาย และเราก็แบ่งออกมาทานของเรา
กรณีเช่นนี้ ใครจะบอกว่าเรายังแบ่งพะโล้ในหม้อออกมาทานไม่ได้นะ
แต่เราจะต้องรอประเคนถวายพระภิกษุก่อน กล่าวคือ
เรายังทานพะโล้ในหม้อนี้ไม่ได้ เราจะต้องไปรอจนกว่าจะถวายเพลพรุ่งนี้เสร็จแล้ว
เราจึงจะทานได้เช่นนั้นหรือ หรือว่าจะต้องให้เราไปตลาดเพื่อซื้อไข่อีกรอบหนึ่ง
และกลับมาต้มไข่พะโล้อีกหม้อหนึ่ง เราจึงจะทานได้

ในทำนองเดียวกัน สมมุติว่าเราซื้อส้มมาหนึ่งลังในตอนเที่ยงของวันนี้
โดยเราตั้งใจจะแบ่งส้มบางส่วนมาใส่บาตรถวายพระภิกษุในวันรุ่งขึ้น
ถามว่าเราจะแบ่งส้มบางส่วนมาทานเองก่อน หรือให้พ่อแม่เราทานในเย็นวันนี้ได้ไหม?
เราจะมองว่าเรายังทานส้มในลังนี้ไม่ได้แม้แต่ลูกเดียว
โดยเราจะต้องรอให้พระภิกษุได้ฉันก่อนในวันพรุ่งนี้เช้าหรือเปล่า?

ทั้ง ๒ ตัวอย่างที่ผมยกมานี้ เห็นว่าเรื่องทานก่อนประเคนต่อพระภิกษุนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญครับ
แต่เรื่องสำคัญคือเรื่องศีล โดยเราพึงพิจารณาว่า เราไปขโมยพะโล้หรือส้มของคนอื่นหรือเปล่า?
หากพฤติการณ์เป็นขโมยแล้ว แม้ว่าจะทานทีหลังประเคนถวายพระภิกษุ เราก็ผิดศีลอยู่ดีครับ
ยกตัวอย่างว่า ในกรณีไข่พะโล้นั้น สมมุติว่าเราไม่ได้เป็นคนซื้อไข่ และไม่ได้เป็นคนทำไข่พะโล้
แต่ว่าเพื่อนบ้านเราเป็นคนซื้อและทำ และเขาได้นำมาฝากเราให้ช่วยนำไปถวายเพลที่วัดในวันพรุ่งนี้
ทีนี้ หากเราแบ่งไข่พะโล้ดังกล่าวออกมาทานเองในเย็นวันนี้ ก็ถือว่าเราเป็นขโมยและทำผิดศีลครับ
สมมุติว่าเรายังไม่ได้ทานในเย็นวันนี้ แต่เราเห็นพะโล้แล้วเราก็อยากทาน แต่จะรอให้พระภิกษุฉันก่อน
พอเราไปถวายเพลที่วัดในวันรุ่งขึ้น เราไม่ได้ถวายทั้งหม้อ แต่เราตักแบ่งส่วนหนึ่งไปถวายพระภิกษุ
อีกส่วนหนึ่ง เราตั้งใจเก็บไว้ทานเอง โดยเรารอให้พระภิกษุฉันเพลให้เสร็จก่อน
พอพระภิกษุฉันเพลเสร็จแล้ว เราก็นำเอาไข่พะโล้ส่วนที่เราเก็บเอาไว้นั้นออกมาทานเอง
ในลักษณะนี้แม้ว่าจะทานหลังประเคนพระภิกษุ และหลังพระภิกษุฉันก็ตาม แต่ก็ถือว่าผิดศีลครับ
เพราะอะไร? ก็เพราะว่าเพื่อนบ้าน (ซึ่งเป็นเจ้าของไข่พะโล้นั้น) ไม่ได้เจตนาให้ไข่พะโล้แก่เรา
แต่เพื่อนบ้านเจตนาถวายไข่พะโล้ทั้งหม้อให้แก่พระภิกษุ

กรณีส้มในลังก็เหมือนกันนะครับ หากเพื่อนบ้านฝากส้มหนึ่งลังให้เราช่วยนำไปถวายพระภิกษุ
เราแบ่งส้มนั้นไว้ทานเองส่วนหนึ่ง และแบ่งส่วนหนึ่งไปถวายพระภิกษุ เราให้พระภิกษุฉันก่อน
หลังจากพระภิกษุฉันเสร็จแล้ว เราก็นำส้มที่แบ่งไว้นั้นออกมาทานเอง หรือให้ลูกเราทาน
อย่างนี้ก็ถือว่าขโมยและผิดศีลครับ แม้ว่าเราจะทานหลังประเคนต่อพระภิกษุก็ตาม

ถามว่า แล้วอย่างนี้ กรณีใดบ้างที่จะไม่เป็นการผิดศีล?
ขอตอบว่าให้ดูที่เจตนาของเจ้าของสิ่งของที่ถวาย และเจตนาของเราประกอบกันครับ
หากเป็นของ ๆ เราเองแล้ว ก็ง่ายมาก เพราะเราจะแบ่งอย่างไร จะถวายอย่างไรก็แล้วแต่เรา
เช่น เราซื้อส้มมาหนึ่งลัง แต่ตั้งใจจะถวายพระภิกษุแค่ลูกเดียว จึงแบ่งส้มลูกนั้นออกมา
แล้วก็ทานส้มส่วนที่เหลือทั้งหมด โดยเราทานก่อนที่จะถวายส้มลูกนั้น ก็ไม่ผิดศีลอะไรครับ

แต่ทีนี้ หากเป็นสิ่งของ ๆ ของคนอื่นแล้ว
เราก็ต้องพิจารณาเจตนาของเจ้าของสิ่งของว่าเขามีเจตนาอย่างไร และดูเจตนาเราเองด้วย
สมมุติว่าเขาฝากแกงหนึ่งหม้อให้เราช่วยนำไปถวายพระภิกษุที่วัด
ถ้าจะให้ปลอดภัยก็คือ เราประเคนไปทั้งหมดก่อน
เมื่อพระภิกษุได้ตักแบ่งไปแล้ว หรือได้ฉันแล้ว และท่านได้ส่งคืนกลับมาให้เรา
ก็ถือว่าพระท่านได้สละให้เราแล้ว อย่างนี้ก็ปลอดภัย
หรือหากเจ้าของแกงนั้น บอกเราอย่างชัดเจนว่า ให้ตักแบ่งถวายพระส่วนหนึ่ง
และหากเหลือในหม้อก็ให้เรานำมาทานเองได้ อย่างนี้เราทานที่เหลือในหม้อ ก็ไม่ได้ขโมย

อนึ่ง เราอาจจะพบกรณียาก ๆ เช่น คนอื่นฝากแกงหนึ่งหม้อให้เรานำไปถวายพระภิกษุ
แต่เวลาประเคนถวายที่วัดนั้น เราไม่สามารถประเคนทั้งหม้อได้ โดยต้องตักแบ่งใส่ชาม
และนำชามไปประเคนถวายพระภิกษุที่จะนั่งเป็นกลุ่ม ๆ หรือนั่งเป็นวง ๆ
โดยที่เราก็ไม่สามารถตักแกงใส่ชามได้หมดทั้งหม้อ จึงมีแกงเหลืออยู่ในหม้อ
อย่างนี้จะถือว่าเราเจตนาแบ่งแกงไว้ทานเองหรือเปล่า ถือว่าขโมยแกงหรือไม่?
กรณีนี้ เราก็ต้องย้อนมาดูเจตนาเราเองแล้วล่ะครับว่าเราเจตนาอย่างไร
เวลาที่เราตักแบ่งแกงไปถวายพระภิกษุนั้น เราเจตนาเก็บแกงไว้ทานเองหรือเปล่า
หากเราไม่ได้มีเจตนาดังกล่าว แต่ว่าแกงนั้นมันเยอะเกิน ทำให้ตักถวายได้ไม่หมด
ก็คือแกงต้องเหลืออยู่ตามสภาพครับ ซึ่งในเมื่อเราไม่ได้เจตนาขโมยแกง เราก็ไม่ผิดศีล
แต่หากเราเจตนาแบ่งแกงไว้ทานเอง เช่น ตักแกงให้พระน้อย ๆ เพราะหวังจะไว้ทานเอง
แกงนั้นไม่ใช่ของเรา เจ้าของเขาเจตนาจะถวายพระ แต่เราเจตนาจะเก็บไว้ทานเอง ก็ผิดศีลครับ


หากท่านไหนจะยึดหลักว่า การทานอาหารก่อนประเคนถวายพระภิกษุเป็นบาปอกุศลแล้ว
เช่นนี้ เวลาที่มีการเปิดโรงทานที่วัด และทำอาหารให้ญาติโยมทานกันตั้งแต่เช้า
ก่อนที่จะถวายเพลต่อพระภิกษุ ก็ต้องถือว่าเป็นบาปอกุศลกันทั้งโรงทานเลย ซึ่งไม่ใช่หรอกครับ
หากเจตนาของโรงทานที่ทำกันนั้น คือตั้งใจจะให้ญาติโยมทานกันส่วนหนึ่ง
และจะทำถวายพระภิกษุส่วนหนึ่งแล้ว การที่ทำอาหารให้ญาติโยมทานกันก่อนพระภิกษุนั้น
ไม่ได้ผิดศีลหรือเป็นบาปอกุศลตรงไหนเลย มีแต่ว่าจะเป็นบุญกุศลเสียอีก

แต่พอพูดอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า ผมแนะนำว่าท่านผู้อ่านไม่ต้องสนใจคนอื่น
หรือไม่ต้องสนใจธรรมเนียมของแต่ละวัดนะครับ
ในทางกลับกัน ผมแนะนำว่าให้ท่านผู้อ่านพิจารณาคนอื่น ๆ และธรรมเนียมของแต่ละวัดด้วย
ไม่ใช่ว่าญาติธรรมคนอื่น ๆ เขากำลังจัดเตรียมอาหารในศาลาเพื่อจะถวายต่อพระภิกษุ
แต่เรากลับหยิบข้าวกล่องของเราขึ้นมาทานเองอยู่คนเดียวต่อหน้าคนอื่น ๆ
แล้วก็อ้างว่าไม่ผิดศีล เพราะเราเตรียมมาเอง
โดยลักษณะนี้ เราก็ทำไม่ถูกกาลเทศะ และเป็นการสร้างความวุ่นวายให้กับส่วนรวมได้
ฉะนั้น หากเราหิวมากจะเป็นลม หรือเป็นโรคกระเพาะ หรือโรคอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องทานก่อน
เราก็ควรแยกตัวออกมาทานเงียบ ๆ ของเราก็ได้ ก็จะไม่ไปสร้างปัญหาให้แก่คนอื่น ๆ
แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราหิวจะเป็นลม หรือป่วยต้องทานยา หรือจำเป็นต้องทานด้วยเหตุอื่นแล้ว
แต่เรายังทานอาหารของเราเองไม่ได้ โดยต้องรอให้พระฉันอาหารเสร็จก่อน อย่างนี้ก็เข้าใจผิดแล้ว

ย้อนกลับไปยังเรื่องที่ญาติธรรมที่อยู่ต่างประเทศได้เล่ามาในอีเมล์นะครับ
ซึ่งเล่าว่าสามีชาวต่างประเทศได้ทานขนมของภรรยาก่อนประเคนพระภิกษุ
โดยที่ภรรยาบอกว่าให้เขาทานไปเถอะ ดังนี้ หากขนมนั้นเป็นขนมที่สามีหรือภรรยาซื้อมาเอง
(ไม่ใช่ขนมของคนอื่นที่ฝากมาถวาย) เป็นขนมที่ภรรยาได้ทำขึ้นเอง
โดยภรรยาเองก็บอกให้สามีทานได้แล้ว เช่นนี้ก็ไม่ได้ผิดศีลอะไรครับ
แต่หากขนมนั้นเป็นขนมที่ญาติธรรมคนอื่นเตรียมมา และได้วางอยู่ในบริเวณนั้น
และสามีไปแอบทาน โดยที่เจ้าของขนมนั้นไม่ได้อนุญาต เช่นนี้ก็ผิดศีลแล้ว
แต่หากสามีได้ขออนุญาตเจ้าของเสียก่อน และเจ้าของได้อนุญาตให้ทานได้ ก็ไม่ผิดศีลครับ
โดยสรุปแล้ว ก็ให้เราพึงพิจารณาเรื่อง “ศีล” เป็นสำคัญนะครับ
เรื่องทานก่อนหรือทานหลังนั้น ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าจะเป็นบาปอกุศลหรือไม่เป็น