Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๖๗

ถวายทานด้วยของเหลือ

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้พบคำถามของญาติธรรมท่านหนึ่งในเรื่องการถวายของเหลือ
โดยญาติธรรมท่านนี้ได้ขับรถไปพบกับพระธุดงค์ซึ่งกำลังเดินอยู่ท่ามกลางแดดร้อน
แต่ในบริเวณนั้นก็ไม่มีร้านค้าขายน้ำ และไม่ได้อยู่ใกล้ร้านค้าขายน้ำด้วย
ขณะนั้นในรถของเขามีน้ำที่ดื่มแล้วเหลืออยู่ขวดหนึ่ง
เขาจึงตั้งใจจะถวายน้ำขวดนั้นให้พระธุดงค์
แต่เขาก็สงสัยว่าการที่เขาถวายน้ำขวดนั้นให้พระธุดงค์จะเป็นการสมควรหรือไม่
เพราะน้ำขวดนั้นเขาได้ดื่มไปบางส่วนแล้ว

ในเรื่องเกี่ยวกับการถวายของเหลือนี้ ขอแนะนำให้พิจารณาพระสูตรชื่อ
“อสัปปุริสทานสูตร” ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่า
อสัปปุริสทาน ๕ ประการคือ อสัตบุรุษย่อมให้โดยไม่เคารพ ๑
ให้โดยไม่อ่อนน้อม ๑ ไม่ให้ด้วยมือตนเอง ๑
ให้ของที่เป็นเดน ๑ และไม่เห็นผลที่จะพึงมาถึงให้ ๑
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=22&A=4014

คำว่า “สัตบุรุษ” หมายถึงคนดี คนมีศีลธรรม
คำว่า “อสัตบุรุษ” จึงหมายถึงคนไม่ดี คนไม่มีศีลธรรม
ในส่วนเกี่ยวกับการถวายของเหลือนั้น จะเป็นข้อที่ว่า “ให้ของที่เป็นเดน”
คำว่า “เดน” หมายถึง ของเศษของเหลือที่ไม่ต้องการ ของเหลืออันเกินจากที่ต้องการ
(อ้างอิงจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
ของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต))
เช่นนี้ การที่ให้ของเศษของเหลือที่ไม่ต้องการนั้น จึงไม่ใช่ทานของสัตบุรุษ

ทีนี้ เราลองย้อนไปพิจารณากรณีน้ำในรถของญาติธรรมท่านที่กำลังขับรถอยู่นะครับ
โดยพิจารณาว่าน้ำในรถของเขาถือว่าเป็นของที่เป็นเดนหรือไม่
การจะพิจารณาว่าเป็นเดนหรือไม่ ก็พึงพิจารณาที่เจตนา
ว่าญาติธรรมท่านนั้นเห็นว่าน้ำขวดนั้นเป็นอย่างไร
หากเขายังต้องการน้ำขวดนั้นอยู่ โดยตั้งใจจะเก็บน้ำขวดนั้นไว้ดื่ม
แต่เมื่อไปพบพระธุดงค์กลางแดดร้อน จึงตั้งใจถวายให้พระธุดงค์นั้น
เช่นนี้น้ำขวดนั้นก็ไม่ใช่ของที่เป็นเดน เพราะไม่ใช่ของที่เป็นเศษเหลือที่เขาไม่ต้องการ

ในทางกลับกัน สมมุติว่าน้ำขวดบนรถของเขายังไม่ได้เปิด เพิ่งซื้อใหม่ และเย็นด้วย
เช่น เขาแวะซื้อน้ำขวดแช่เย็นขวดหนึ่งที่ร้านสะดวกซื้อ
แล้วนำมาวางตากแอร์บนรถ ยังไม่ได้เปิดขวดทานเลย
ต่อมา เขาได้แวะร้านกาแฟสด แล้วซื้อกาแฟเย็นมาแก้วหนึ่ง
ทีนี้ พอขับรถไปแล้ว เขาก็ดื่มกาแฟสดไปเรื่อย แต่ก็ไม่สะดวก เพราะไม่มีที่วาง
เขาคิดว่าอยากจะทิ้งน้ำขวดที่ซื้อมานั้น ก็กำลังมองหาที่ทิ้งอยู่ (คือไม่ต้องการแล้ว)
เขาขับรถผ่านไปพบพระธุดงค์ จึงจอดรถและถวายขวดน้ำนั้นแก่พระธุดงค์นั้น
โดยเป็นน้ำขวดใหม่ ยังไม่ได้เปิด และเย็นด้วย
แต่ด้วยความที่เป็นของที่เขาไม่ต้องการแล้ว เป็นของที่เขาจะทิ้งแล้ว
นั่นก็ถือว่าเขาได้ถวายของที่เป็นเดนครับ

ยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง สมมุติว่าบ้านเราต้มแกงเขียวหวานหม้อใหญ่หม้อหนึ่ง
ซึ่งเราสามารถอุ่นและทานไปได้หลายวัน โดยในวันแรก เราก็ตักแบ่งออกมาทานไปแล้ว
ในวันที่สอง เราเห็นพระเดินบิณฑบาตผ่านหน้าบ้านเรา จึงนิมนต์พระท่านให้รอ
แล้วเราก็ไปตักแกงเขียวหวานจากหม้อนั้นมาใส่ถุงแล้วใส่บาตรลงไป
เช่นนี้ ก็ไม่ถือว่าเป็นของที่เป็นเดน เพราะเราเองยังตั้งใจเก็บแกงเขียวหวานนั้นไว้ทานอยู่
แกงเขียวหวานนั้นไม่ใช่เศษเหลือที่เราไม่ต้องการ

ในทางกลับกัน หากบ้านเราต้มแกงเขียวหวานหม้อใหญ่แล้ว
ปรากฏว่ามีญาติท่านมาที่บ้าน และชวนเราและทุกคนในบ้านไปเที่ยวต่างจังหวัด
ทุกคนก็ตกลงจะไปต่างจังหวัดและเก็บของเสร็จแล้ว มานึกได้ว่ามีแกงหม้อใหญ่เหลืออยู่
แต่จะนำไปกินระหว่างเที่ยวด้วยก็ไม่สะดวก เพราะตั้งใจว่าจะไปทานอาหารอย่างอื่น
เราจึงตั้งใจว่าจะทิ้งแกงหม้อนั้นแล้ว
แต่ในขณะนั้น เรามองไปหน้าบ้านเห็นพระหลายรูปเดินเรียงแถวบิณฑบาต
เราก็เลยนำแกงนั้นไปตักบาตรทั้งหมดทั้งหม้อ
ในกรณีนี้แม้ว่าเราเองจะยังไม่ได้ทานแกงหม้อนั้นเลยก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นของที่เป็นเดน
เพราะว่าเป็นของที่เราไม่ต้องการแล้ว และต้องการทิ้งแล้ว

ทั้งนี้ ขอยกตัวอย่างเรื่องในสมัยพุทธกาล โดยมีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ “จูเฬกสาฎก”
พราหมณ์ผู้นี้และนางพราหมณีผู้เป็นภรรยามีผ้าเพียงผืนเดียวในบ้าน
เวลาที่พราหมณ์ หรือนางพราหมณีจะออกไปภายนอกบ้านนั้น ก็ต้องผลัดกันห่มผ้าผืนนั้น
จึงสามารถออกไปนอกบ้านได้คราวละคนเท่านั้น
ทั้งสองคนไม่อาจะไปพร้อมกันได้ เพราะไม่มีผ้าห่มตัว
รวมทั้งเวลาที่พราหมณ์ หรือนางพราหมณีจะออกไปฟังธรรมก็เช่นกัน ซึ่งจะไปได้คราวละคน
โดยทั้งสองคนตกลงกันว่านางพราหมณีจะไปฟังธรรมในเวลากลางวัน
ส่วนจูเฬกสาฎกพราหมณ์จะไปฟังธรรมในเวลากลางคืน

ต่อมาในคืนหนึ่ง ระหว่างที่จูเฬกสาฎกพราหมณ์ได้นั่งฟังธรรมต่อหน้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
เขาเกิดปีติและใคร่จะบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยผ้าที่ตนกำลังห่มอยู่
แต่ก็ครุ่นคิดว่า ถ้าตนเองถวายผ้าผืนนี้แล้ว นางพราหมณีและตนเองก็จะไม่มีผ้าสำหรับห่มใส่
(ก็จะออกมาฟังธรรมไม่ได้) ขณะนั้น จิตประกอบด้วยความตระหนี่เกิดขึ้นแก่พราหมณ์นั้น
และจิตประกอบด้วยศรัทธาก็เกิดขึ้นแก่พราหมณ์นั้น สลับไปสลับมา
พราหมณ์ก็คิดสลับไปสลับมาว่า "จักถวาย” และ “จักไม่ถวาย"
จนกระทั่งปฐมยามล่วงไปแล้ว มัชฌิมยามล่วงไปแล้ว
(เมื่อแบ่งเวลากลางคืนเป็น ๓ ส่วนแล้ว “ปฐมยาม” หมายถึง ส่วนที่หนึ่งแห่งราตรี
“มัชฌิมยาม” หมายถึงส่วนที่สองแห่งราตรี “ปัจฉิมยาม” หมายถึงส่วนที่สามแห่งราตรี)
เขาไม่อาจถวายในมัชฌิมยามนั้นได้
เมื่อถึงปัจฉิมยาม เขาคิดว่าตนเองได้รบระหว่างความตระหนี่และศรัทธาจน ๒ ยามล่วงไปแล้ว
เขาจึงข่มความตระหนี่ลงได้ และยึดถือให้ศรัทธาเป็นสิ่งนำ
เขาได้ถือผ้าของตนไปวางถวายแทบบาทมูลพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้วได้เปล่งเสียงดังขึ้น ๓ ครั้งว่า "ข้าพเจ้าชนะแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้ว"

พระเจ้าปเสนทิโกศลกำลังทรงฟังธรรม ได้สดับเสียงนั้นแล้ว จึงตรัสแก่เหล่าราชบุรุษว่า
“พวกท่านจงถามพราหมณ์นั้นดู ได้ยินว่า เขาชนะอะไร”
พราหมณ์ถูกพวกราชบุรุษถามแล้วจึงได้แจ้งความนั้นแก่เหล่าราชบุรุษ
พระราชาได้สดับความนั้นแล้ว ทรงดำริว่า
"พราหมณ์ทำสิ่งที่บุคคลทำได้ยาก เราจักทำการสงเคราะห์เขา"
จึงพระราชทานผ้าสาฎก ๑ คู่แก่พราหมณ์
เมื่อได้รับผ้าสาฎก ๑ คู่แล้ว พราหมณ์ก็ได้ถวายผ้านั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าเช่นกัน
พระราชาจึงรับสั่งให้พระราชทานผ้าให้อีกเป็นทวีคูณ คือ ๒ คู่ ๔ คู่ ๘ คู่ ๑๖ คู่
พราหมณ์ก็ได้ถวายผ้าเหล่านั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหมด

ต่อมา พระราชารับสั่งให้พระราชทานผ้าสาฎก ๓๒ คู่แก่พราหมณ์
เพื่อจะป้องกันวาทะว่า "พราหมณ์ไม่ถือเอาเพื่อตน สละผ้าที่ได้แล้วๆ เสียสิ้น"
พราหมณ์จึงถือเอาผ้าสาฎก ๒ คู่จากผ้า ๓๒ คู่นั้น คือเพื่อตน ๑ คู่ เพื่อนางพราหมณี ๑ คู่
จากนั้น เขาได้ถวายผ้าสาฎก ๓๐ คู่แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

เมื่อพราหมณ์นั้นถวายถึง ๗ ครั้งแล้ว พระราชาทรงประสงค์จะพระราชทานให้อีก
พระราชาจึงได้พระราชทานผ้ากัมพล ๒ ผืนมีค่าแสนหนึ่งแก่เขา
พราหมณ์คิดว่า "ผ้ากัมพลเหล่านี้ไม่สมควรแตะต้องที่สรีระของเรา
ผ้าเหล่านี้สมควรแก่พระพุทธศาสนาเท่านั้น" พราหมณ์จึงได้ขึงผ้ากัมพลผืนหนึ่ง
ทำให้เป็นเพดานไว้เบื้องบนที่บรรทมของพระศาสดาภายในพระคันธกุฎี
และขึงผืนหนึ่งทำให้เป็นเพดานในที่ทำภัตกิจของพระภิกษุ

ในเวลาเย็น พระราชาเสด็จไปสู่สำนักของพระศาสดาและทรงจำผ้ากัมพลได้
จึงทูลถามว่าใครทำการบูชาผ้ากำพลดังกล่าว เมื่อพระศาสดาตรัสตอบแล้ว
พระราชาทรงดำริว่า "พราหมณ์นี้เลื่อมใสในฐานะที่เราเลื่อมใสเหมือนกัน"
จึงรับสั่งให้พระราชทานหมวด ๔ แห่งวัตถุทุกอย่างจนถึงร้อยแห่งวัตถุทั้งหมด
ทำให้เป็นอย่างละ ๔ แก่พราหมณ์นั้น คือช้าง ๔ ม้า ๔ กหาปณะ ๔ พัน
สตรี ๔ ทาสี ๔ บุรุษ ๔ บ้านส่วย ๔ ตำบล แก่พราหมณ์ดังกล่าว
(พระสุตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปาปวรรค)
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=19&p=1

ในกรณีของจูเฬกสาฎกพราหมณ์ที่ถวายผ้าสาฎกดังกล่าวนั้น
เราอาจจะมองว่าผ้าห่มของพราหมณ์และนางพราหมณีนั้นเป็นของใช้แล้ว
เป็นของเก่า เป็นของที่ไม่มีค่า หรือเป็นของที่ไม่ได้มีคุณค่าอะไร
แต่สำหรับพราหมณ์นั้นแล้ว ผ้านั้นเป็นผ้าผืนเดียวในบ้านของเขา
เป็นผ้าที่เขาและนางพราหมณีจำเป็นต้องใช้ผ้าผืนดังกล่าวเพื่อมาฟังธรรม
ฉะนั้นแล้ว แม้ว่าผ้านั้นจะเก่าขนาดไหน หรือจะโทรมขนาดไหนก็ตาม
ผ้านั้นไม่ใช่ของที่เป็นเดน แต่เป็นของที่สำคัญมากสำหรับเขาและนางพราหมณี
แต่เขามีศรัทธาแก่กล้าพอที่จะสละของสำคัญนี้เพื่อถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า

ถึงตรงนี้ เราก็น่าจะพอเข้าใจในเรื่องของที่เป็นเดนแล้วนะครับ
สรุปคือของที่เราถวายจะถือว่าเป็นของที่เป็นเดนหรือไม่นั้น
ไม่ได้อยู่ที่ว่าของนั้นเป็นของใช้แล้ว หรือของที่ได้กินแล้ว
แต่อยู่ที่เจตนาของเราต่อสิ่งของนั้นว่าเป็นของที่เรายังต้องการอยู่
หรือว่าเป็นของที่เราไม่ต้องการแล้ว หรือเป็นของที่ทิ้งหรือจะทิ้งแล้ว

ทีนี้ แม้ว่าจะไม่ใช่ของที่เป็นเดนก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะถวายได้ทั้งหมดนะครับ
โดยเราก็ควรต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย
ยกตัวอย่างเช่น บางคนดื่มสุราและเห็นว่าสุราเป็นสิ่งสำคัญมาก
เขาจึงนำสุราไปถวายให้พระภิกษุ เช่นนี้ก็ถือว่าเป็นบาปอกุศลครับ
หรือเราถวายไม่เป็นเวลา เช่นไปถวายภัตตาหารในเวลาบ่าย เป็นต้น
เราจึงควรพิจารณาด้วยว่าการให้ทานของคนดี คนมีศีลธรรมนั้นพึงทำอย่างไร

ใน “สัปปุริสทานสูตร” สอนว่า สัปปุริสทาน ๕ ประการคือ
สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยศรัทธา ๑ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ๑
ย่อมให้ทานโดยกาลอันควร ๑ เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน ๑
ย่อมให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น ๑
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=22&A=4024

นอกจากนี้ ใน “สัปปุริสสูตร” สอนว่า สัปปุริสทาน ๘ ประการคือ
ให้ของสะอาด ๑ ให้ของประณีต ๑ ให้ตามกาล ๑ ให้ของสมควร ๑
เลือกให้ ๑ ให้เนืองนิตย์ ๑ เมื่อให้จิตผ่องใส ๑ ให้แล้วดีใจ ๑
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=23&A=5047

ฉะนั้นแล้ว เราก็พึงพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น ให้ของสะอาดไหม
หรือให้ของตามกาลที่เหมาะสมหรือเปล่า เป็นต้น
อย่างเช่นกรณีของญาติธรรมที่จะถวายน้ำขวดที่เหลือให้พระธุดงค์นั้น
ก็ควรจะพิจารณาเพิ่มเติมด้วยว่า น้ำที่เราดื่มแล้วนั้นเป็นของสะอาดหรือไม่
เช่น เราดื่มน้ำจากขวดโดยตรงหรือเปล่า เรากำลังป่วยด้วยหรือเปล่า
น้ำขวดนั้นยังถือเป็นของสะอาดที่ทุกคนควรดื่มได้หรือไม่
(เช่น คนอื่นดื่มน้ำจากขวดโดยตรงแล้วให้เราดื่ม เราจะถือว่าสะอาดและดื่มได้ไหม)
หรือพิจารณาว่าสมควรไหมที่จะถวายน้ำในเวลานั้น จะกระทบคนอื่นหรือไม่
เช่น สมมุติว่าบริเวณที่จะจอดรถเพื่อถวายน้ำนั้นเป็นถนนแคบ จอดรถแล้วกีดขวาง
หรือเป็นถนนที่รถวิ่งเร็ว จอดรถแล้วอาจจะเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น
สรุปแล้ว เราก็พึงพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ แวดล้อมประกอบด้วยครับ