Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๖๖

ผิดศีลแล้ว ควรทำอย่างไร

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dharmajaree-166

คำถามที่ว่า เมื่อทำผิดศีลแล้ว ควรทำอย่างไร
เป็นคำถามที่หลายท่านอาจจะมีข้อสงสัยเหมือนกันนะครับ
ผมเคยเห็นบางท่านถามว่า หากเราทำผิดศีลไปแล้ว
เราจะไปแก้ไขสิ่งที่เราได้ทำผิดศีลไว้แล้ว เพื่อไม่ให้ผิดศีลได้ไหม?
อย่างเช่น สมมุติว่าเราลักขโมยของเขามาแล้ว เราก็นำของที่ลักขโมยของนั้นไปคืน
หรือเราโกหกเขาแล้ว เราก็ไปสารภาพความจริงให้เขาได้ทราบ เป็นต้น
โดยสงสัยว่าหากเราแก้ไขเช่นนี้แล้ว ก็ถือว่าไม่ผิดศีลแล้วได้ไหม?

แต่ทีนี้ หากว่าเราฆ่าสัตว์ตายไปล่ะ เราจะทำให้สัตว์ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาได้อย่างไร?
หรือเราประพฤติผิดในกามแล้ว เราจะไปแก้ไขอดีตได้อย่างไร?
หรือเราดื่มสุราลงไปแล้ว เราจะนำสุราคืนกลับออกมาได้อย่างไร?
หรือในกรณีที่เราโกหกคนอื่น ต่อมาคนที่โดนเราโกหกนั้นถึงแก่กรรมไปแล้ว
เราจะไปสารภาพความจริงแก่เขาได้อย่างไร จะไปสารภาพหน้าหลุมศพหรือ?
หรือในกรณีที่เราลักทรัพย์คนอื่นมา ต่อมาเจ้าของทรัพย์นั้นถึงแก่ความตาย
หรือเราตามตัวเขาไม่พบ ไม่รู้ว่าอยู่ไหน แล้วเราจะไปคืนทรัพย์ให้เขาได้อย่างไร?

เราจะเห็นได้ว่าการที่ประพฤติผิดศีลไปแล้วจะพยายามไปแก้ไขไม่ให้ผิดศีลนั้น
มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ก็คือเกิดขึ้นและจบไปแล้วในอดีต
การที่เราประพฤติผิดศีลไปแล้ว ก็คือผิดไปแล้ว จะไปย้อนทำให้ไม่ผิดศีลนั้น เป็นไปไม่ได้
ยกตัวอย่างว่า สมมุติมีคน ๆ หนึ่งถือท่อนไม้มาตีศีรษะเราอย่างแรง ทำให้เราเจ็บศีรษะมาก
หลังจากนั้น เขาก็มาขอโทษขอโพยเรา และช่วยทายาให้เราจนเราหายเจ็บศีรษะ
ถามว่าการที่เขามาขอโทษและทายาให้เรานั้น จะทำให้เราไม่เจ็บศีรษะในอดีตได้หรือไม่?
ก็ตอบว่า “ไม่” นะครับ เพราะเราเจ็บศีรษะไปแล้ว และเป็นเรื่องอดีตที่ผ่านไปแล้ว
เราจะบอกว่าในปัจจุบัน เขามาทายาให้เรา และเราไม่เจ็บศีรษะแล้ว
จะแปลว่าในอดีตเราไม่เคยเจ็บศีรษะนั้น ย่อมไม่ใช่หรอกครับ

ในทำนองเดียวกันกับเรื่องการประพฤติผิดศีลนะครับ
หากเราประพฤติผิดศีลไปแล้ว แม้ต่อมาเราจะพยายามทำสิ่งดี ๆ เพื่อแก้ไขก็ตาม
ก็ไม่ได้เป็นการทำให้การผิดศีลในอดีตนั้นกลายเป็นไม่ผิดศีลไปได้
แต่ว่าการที่เราพยายามทำดีเพื่อแก้ไขนั้น เป็นลักษณะของการกลับตัวกลับใจ
หรือเป็นการที่เราปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น และพยายามทำสิ่งดี ๆ เพื่อชดเชยสิ่งที่ไม่ดีที่ได้ทำไว้
แต่ไม่ได้แปลว่าเป็นการทำสิ่งที่ผิดไปแล้วให้กลายเป็นว่าไม่เคยทำสิ่งผิดมาก่อน

ทีนี้ เราย้อนกลับมาที่คำถามว่า “เมื่อทำผิดศีลแล้ว ควรทำอย่างไร?
ในที่นี้ขอแนะนำให้เราพิจารณา “สามัญญผลสูตร” ครับ
(พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค)
โดยในพระสูตรนี้ได้เล่าถึงพระเจ้าอชาตศัตรู ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินมคธ
และท่านได้กระทำผิด โดยกระทำปิตุฆาต กล่าวคือฆ่าพระราชบิดาตนเอง
หลังจากนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูได้มีโอกาสไปฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคเจ้า
และได้สำนึกผิดในอกุศลกรรมของตนเองที่ได้กระทำปิตุฆาตนั้น

พระเจ้าอชาตศัตรูได้ตรัสกับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ... โทษได้ครอบงำหม่อมฉัน ซึ่งเป็นคนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด
หม่อมฉันได้ปลงพระชนม์ชีพ พระบิดาผู้ดำรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เพราะเหตุแห่งความเป็นใหญ่
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับทราบความผิดของหม่อมฉัน โดยเป็นความผิดจริง เพื่อสำรวมต่อไป”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า “จริง จริง ความผิดได้ครอบงำมหาบพิตร ซึ่งเป็นคนเขลา
คนหลง ไม่ฉลาด มหาบพิตรได้ปลงพระชนม์ชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม
เพราะเหตุแห่งความเป็นใหญ่ แต่เพราะมหาบพิตรทรงเห็นความผิดโดยเป็นความผิดจริงแล้ว
ทรงสารภาพตามเป็นจริง ฉะนั้น อาตมภาพขอรับทราบความผิดของมหาบพิตร
ก็การที่บุคคลเห็นความผิด โดยเป็นความผิดจริง แล้วสารภาพตามเป็นจริง รับสังวรต่อไปนี้
เป็นความชอบในวินัยของพระอริยเจ้า”

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=%CA%D2%C1%D1%AD%AD%BC%C5%CA%D9%B5%C3&book=9&bookZ=33


พระเจ้าอชาตศัตรูได้กระทำผิดโดยปลงพระชนม์พระบิดาตนเอง  
ซึ่งเมื่อแต่พระองค์ได้ทรงเห็นความผิดของตนเองตามจริง สารภาพตามจริง และรับจะสำรวมระวังต่อไป
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่า การที่บุคคลเห็นความผิด โดยเป็นความผิดจริง
แล้วสารภาพตามเป็นจริง รับสังวรต่อไปนี้เป็นความชอบในวินัยของพระอริยเจ้า

ก็ทำนองเดียวกับพระภิกษุนะครับ โดยเวลาที่พระภิกษุรูปใดประพฤติผิดศีลแล้ว
ท่านก็ปลงอาบัติ โดยสารภาพผิด และตั้งใจว่าจะไม่ทำอีก (เฉพาะศีลในข้อที่ปลงอาบัติได้)
สังเกตว่าจะต้องมีการตั้งใจว่า “จะไม่ทำอีก” (คือ “รับสังวรต่อไป”) นะครับ
ไม่ใช่ว่าทำผิดแล้วก็สารภาพ แล้วก็ทำเฉย ๆ ไป หลังจากนั้น ก็ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก
เช่นนั้นก็ไม่มีการปรับปรุงและพัฒนาตนเองครับ
เมื่อเราประพฤติผิดศีลแล้ว ก็ทำนองเดียวกันครับ
คือเราเห็นความผิด โดยเป็นความผิดจริง สารภาพตามเป็นจริง และรับสังวรต่อไป

การที่เราเห็นความผิดตามจริงนั้น ไม่ได้แปลว่าให้เราหมกมุ่นครุ่นคิดเรื่องที่ทำผิดศีลในอดีตไปเรื่อย
การที่เรามัวแต่หมกมุ่นครุ่นคิดเรื่องที่ทำผิดศีลในอดีตไปเรื่อยนั้น ไม่ได้เป็นการเห็นความผิดตามจริง
แต่เป็นการที่เราขาดสติ มัวแต่ไปหลงคิดเรื่องในอดีต ซึ่งเป็นเรื่องอกุศลเสียด้วย
ฉะนั้นแล้ว การที่เรามัวแต่หมกมุ่นครุ่นคิดเรื่องที่เราทำผิดศีลในอดีต จึงไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ
(หากจำเป็นจะต้องหมกมุ่นครุ่นคิดแล้ว แทนที่เราจะไประลึกถึงเรื่องอกุศลที่ทำผิดศีลแล้ว
เราไประลึกถึงสิ่งที่เป็นกุศล ก็จะเป็นประโยชน์กว่า เช่น ระลึกถึงกุศลที่เราได้เคยทำไว้ดีแล้ว
ระลึกถึงศีลที่เราได้รักษาไว้ดีแล้ว ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น)
การที่เราเห็นความผิดตามจริงในกรณีนี้คือ เรายอมรับอย่างจริงใจว่าเราทำผิดศีล
เราเห็นตามจริงว่าการทำผิดศีลว่าเป็นสิ่งไม่ดี และจะส่งผลร้ายทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
เมื่อเห็นผิดตามจริงแล้ว เราก็ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่ทำผิดศีลอีก

บางท่านอาจจะบอกว่าทำผิดศีลไปแล้ว เราไปถวายสิ่งของเพื่อเป็นการชดเชยได้ไหม?
ในเรื่องนี้ ขอเรียนว่า ในสมัยพุทธกาลนั้น ก็ได้มีพราหมณ์ที่ประพฤติเช่นนี้
คือกระทำการปลงบาปด้วยการถวายของแก่พราหมณ์อื่น ๆ
โดยเราลองศึกษาจาก “ปัจโจโรหณีสูตร” นะครับ
(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต)
ตามพระสูตรนี้ ได้มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่า “ชาณุสโสณี”
โดยพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามชาณุสโสณีพราหมณ์ว่า
“ดูกร พราหมณ์ ก็พิธีปลงบาปของพราหมณ์ทั้งหลายย่อมมีด้วยประการไรเล่า”

ชาณุสโสณีพราหมณ์ได้ตอบว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พราหมณ์ทั้งหลายในโลกนี้
ในวันอุโบสถ สนานเกล้า นุ่งห่มผ้าไหมทั้งคู่อันใหม่ ทาแผ่นดิน ด้วยโคมัยอันสด
ลาดด้วยหญ้าคาที่เขียวสดแล้ว สำเร็จการนอนในระหว่างกองทรายและเรือนไฟ
พราหมณ์เหล่านั้นย่อมลุกขึ้นประนมอัญชลี นมัสการไฟ ๓ ครั้งในราตรีนั้น
ด้วยการกล่าวว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายขอปลงบาปกะท่านผู้เจริญ ดังนี้
และย่อมยังไฟให้อิ่มหนำด้วยเนยใส น้ำมัน และเนยข้นอันเพียงพอ และโดยล่วงราตรีนั้นไป
ก็เลี้ยงพราหมณ์ทั้งหลายให้อิ่มหนำด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พิธีปลงบาปของพราหมณ์ทั้งหลายย่อมมีด้วยประการอย่างนี้”

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า
“ดูกร พราหมณ์ พิธีปลงบาปในวินัยของพระอริยะย่อมมีโดยประการอย่างอื่น”

ชาณุสโสณีพราหมณ์ได้สอบถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พิธีปลงบาปในวินัยของพระอริยะ ย่อมมีอย่างไรเล่า?
ขอประทานพระวโรกาส ขอพระโคดมผู้เจริญ โปรดทรงแสดงธรรม
โดยประการที่เป็นพิธีปลงบาปในวินัยของพระอริยะแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด”

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า “ดูกร พราหมณ์ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาทิฐิ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ
อริยสาวกนั้น ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาทิฐิ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาทิฐิ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาสังกัปปะ เป็นสิ่งที่ชั่วช้า ทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาสังกัปปะ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาสังกัปปะ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาวาจา เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาวาจา ย่อมปลงบาปจากมิจฉาวาจา
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉากัมมันตะ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉากัมมันตะ ย่อมปลงบาปจากมิจฉากัมมันตะ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาอาชีวะ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาอาชีวะ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาอาชีวะ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาวายามะ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาวายามะ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาวายามะ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาสติเป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาสติ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาสติ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาสมาธิ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาสมาธิ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาสมาธิ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาญาณะ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาญาณะ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาญาณะ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาวิมุติ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาวิมุติ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาวิมุติ
ดูกร พราหมณ์ พิธีปลงบาปในวินัยแห่งพระอริยะ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้แล”

ชาณุสโสณีพราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
พิธีปลงบาปของพราหมณ์ทั้งหลายย่อมมีโดยประการอย่างอื่น
ส่วนพิธีปลงบาปในวินัยของพระอริยะย่อมมีโดยประการอย่างอื่น
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็พิธีปลงบาปของพราหมณ์ทั้งหลาย
ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งพิธีปลงบาปในวินัยแห่งพระอริยะนี้
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก ฯลฯ
ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=24&A=5472


ตาม “ปัจโจโรหณีสูตร” นี้ จะเห็นได้ว่าการแต่งตัวเรียบร้อยในวันอุโบสถ
แล้วก็ไปกราบไหว้กองไฟ สวดมนต์ขอปลงบาป และถวายภัตตาหารเลี้ยงพราหมณ์ทั้งหลาย
เพื่อขอปลงบาปนั้น ไม่ถือเป็นการปลงบาปตามวินัยของพระอริยะแห่งพุทธศาสนา
การปลงบาปตามวินัยของพระอริยะแห่งพุทธศาสนานี้ กระทำโดยการที่เราเห็นว่า
วิบากแห่งสิ่งที่เป็นมิจฉา (สิ่งที่ผิด) ทั้งหลายนั้น เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ
เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้นแล้ว เราก็ละการกระทำสิ่งที่เป็นมิจฉา (สิ่งที่ผิด) ทั้งหลายนั้น
จึงจะถือว่าเป็นการปลงบาปจากสิ่งที่เป็นมิจฉา (สิ่งที่ผิด) ทั้งหลายดังกล่าว
ซึ่งก็เป็นทำนองเดียวกับคำสอนใน “สามัญญผลสูตร” ที่กล่าวแล้วนะครับ

ดังนี้ หากบางท่านเข้าใจว่าเราทำผิดศีลหรือทำบาปอกุศลไปแล้ว
จะไปทำพิธีถวายของสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพื่อจะช่วยแก้ไขไม่ให้ผิดศีล หรือเป็นการปลงบาปนั้น
ขอเรียนว่า ไม่ได้ถือว่าเป็นการปลงบาปวินัยของพระอริยะแห่งพุทธศาสนานะครับ
แต่ก็ย่อมถือเป็นการสร้างบุญกุศลที่ถวายวัตถุทาน ถือว่าเป็นกรรมใหม่ที่เป็นกรรมดี

บางท่านอาจจะสงสัยเพิ่มเติมว่า หากถวายสิ่งของไม่ได้ช่วยให้ปลงบาปได้แล้ว
ถามว่าหากให้ผู้อื่นมาสวดมนต์หรือทำพิธีกรรมใด ๆ ให้เรา เพื่อช่วยให้เราปลงบาปได้ไหม?
ในคำถามนี้ ขอแนะนำให้พิจารณา “ภูมกสูตร” ครับ
(พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค)
โดยในภูมกสูตรนั้น มีชายผู้หนึ่งนามว่า “อสิพันธกบุตร” ได้ถามปัญหาต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“พระผู้มีพระภาคเจ้าสามารถทำให้สัตว์โลกทั้งหมด เมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติได้หรือไม่?

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ย้อนตรัสถามปัญหาว่า “ดูกร อสิพันธกบุตร
บุรุษในโลกนี้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ
พูดเพ้อเจ้อ มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด
หมู่มหาชนมาประชุมกันแล้ว พึงสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบผู้นั้นว่า
ขอบุรุษนี้เมื่อตายไป จงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
บุรุษนั้นเมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุการสวดวิงวอน
เพราะเหตุการสรรเสริญ หรือเพราะเหตุการประนมมือเดินเวียนรอบดังนี้หรือ?

อสิพันธกบุตรตอบว่า “ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามเพิ่มเติมว่า “ดูกร อสิพันธกบุตร
เปรียบเหมือนบุรุษโยนหินก้อนหนาใหญ่ ลงในห้วงน้ำลึก
หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือ เดินเวียนรอบหินนั้นว่า
ขอจงโผล่ขึ้นเถิดท่านก้อนหิน ขอจงลอยขึ้นเถิดท่านก้อนหิน ขอจงขึ้นบกเถิดท่านก้อนหิน
ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ก้อนหินนั้นพึงโผล่ขึ้น พึงลอยขึ้น หรือพึงขึ้นบก
เพราะเหตุการสวดวิงวอน สรรเสริญประนมมือเดินเวียนรอบของหมู่มหาชนบ้างหรือ?

อสิพันธกบุตรตอบว่า “ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสสอนว่า “ดูกร อสิพันธกบุตร ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษคนใดฆ่าสัตว์
ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด
หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า
ขอบุรุษนี้เมื่อตายไป จงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็จริง
แต่บุรุษนั้นเมื่อตาย พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก”

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามเพิ่มเติมว่า “ดูกร อสิพันธกบุตร
เปรียบเหมือนบุรุษลงยังห้วงน้ำลึกแล้ว พึงทุบหม้อเนยใสหรือหม้อน้ำมัน
เนยใสหรือน้ำมันที่มีอยู่ในหม้อนั้นพึงลอยขึ้น หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน
สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบเนยใสหรือน้ำมันนั้นว่า
ขอจงจมลงเถิดท่านเนยใสและน้ำมัน ขอจงดำลงเถิดท่านเนยใสและน้ำมัน
ขอจงลงภายใต้เถิดท่านเนยใสและน้ำมัน ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
เนยใสและน้ำมันนั้นพึงจมลง พึงดำลง พึงลงภายใต้ เพราะเหตุการสวดวิงวอน สรรเสริญ
หรือเพราะเหตุการประนมมือเดินเวียนรอบของหมู่มหาชนบ้างหรือ?

อสิพันธกบุตรตอบว่า “ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสสอนว่า “ดูกร อสิพันธกบุตร ฉันนั้นเหมือนกัน
บุรุษใดเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา
สัมผัปปลาปะ ไม่มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบ
หมู่มหาชนจะพากันมาประชุมแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า
ขอบุรุษนี้เมื่อตายไป จงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็จริง
แต่บุรุษนั้นเมื่อตายไปพึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์”

หลังจากนั้น อสิพันธกบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย
ดุจหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางให้แก่คนหลงทาง
หรือส่องไฟในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป
ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า
กับทั้งพระธรรมและภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์
ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=%C0%D9%C1%A1%CA%D9%B5%C3&book=9&bookZ=33


จาก “ภูมกสูตร” นี้ก็คงจะทำให้เห็นได้นะครับว่า
หากเราประพฤติผิดศีลแล้ว การที่เราจะไปทำพิธีกรรมใด ๆ หรือให้คนอื่นสวดมนต์อะไรให้เรา
เพื่อที่จะให้สิ่งที่ผิดศีลไปแล้วกลับเป็นไม่ผิดศีลนั้น เป็นไปไม่ได้ครับ
ในเมื่อเราไม่รักษาศีล เราก่ออกุศลกรรมไว้ เราก็พึงรับผลกรรมที่จะเกิดขึ้น
แต่ในทางกลับกัน หากเรารักษาศีลไว้ดีแล้ว แม้ใครจะมาทำพิธีกรรมสาปแช่งเราอย่างไรก็ตาม
ก็ไม่ได้ทำให้เราต้องไปอบายภูมิตามคำสาปแช่งของคนอื่นนั้น

สรุปสั้น ๆ นะครับ เมื่อทำผิดศีลแล้ว สิ่งที่เราควรทำก็คือ
เรายอมรับผิดตามจริง สารภาพตามจริง และรับสังวรต่อไปว่าจะไม่ทำผิดอีก
แต่หากจะทำบุญกุศลใด ๆ หรือพยายามทำความดีเพื่อบรรเทาผลเสีย ก็เป็นสิ่งที่ควรทำเช่นกัน
เพราะถือเป็นการสร้างกรรมใหม่ที่เป็นกรรมดี
ส่วนที่จะไปพึ่งพาอาศัยการถวายสิ่งของ หรือพิธีกรรมพิธีสวดใด ๆ เพื่อล้างอกุศลกรรมนั้น
พึงทำความเข้าใจในเรื่องนี้เสียใหม่ว่า ไม่สามารถไปล้างบาปอกุศลเดิมนั้นได้ครับ
หากเราไม่ต้องการรับผลกรรมจากบาปอกุศลในอดีตนั้น ก็มีเส้นทางเดียวครับ
คือหมั่นศึกษาและปฏิบัติธรรมให้บรรลุพระอรหันต์ และออกจากสังสารวัฏนี้