Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๖๕

หมาขี้เรื้อน

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dharmajaree-165

เวลาผ่านไปรวดเร็วนะครับ เพิ่งปีใหม่ได้ไม่นาน นี่ก็สิ้นเดือนมกราคมแล้ว
เราก็พึงพิจารณาตนเองอยู่เนือง ๆ นะครับว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านไปนี้
เราได้พัฒนาทาน ศีล และภาวนาของตนเองไปแล้วเพียงไร
เราได้สร้างกุศลไว้อย่างไรบ้าง หรือพลาดไปสร้างอกุศลไว้อย่างไรบ้าง

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมได้สนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่งซึ่งเธอบ่นรำคาญในหลายคนหลายเรื่อง
คนที่ทำงานก็น่ารำคาญ เรื่องงานก็น่าหงุดหงิด คนที่บ้านก็น่ารำคาญ
กระทั่งเธอไปกินข้าวที่ร้านอาหารก็ยังเจอพนักงานที่ทำให้หงุดหงิดอีก
ผมก็แนะนำว่า การที่เธอมีเรื่องที่น่าหงุดหงิดรำคาญใจบ่อย ๆ เช่นนี้
ปัญหาอยู่ที่ไหนกันแน่ ปัญหาอยู่ที่สิ่งรอบตัวและคนรอบตัวเธอ หรือว่าอยู่ที่ใจของเธอเอง
แทนที่เธอจะไปรำคาญคนอื่น และไปรำคาญเรื่องอื่น ๆ แล้ว
เธอเคยรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจบ้างไหมที่เธอเป็นคนขี้หงุดหงิดรำคาญใจเช่นนี้
เธอฟังแล้วก็ตอบว่า เธอก็ชักจะเริ่มรำคาญตัวเองเหมือนกันที่เธอเป็นแบบนี้
ผมจึงสรุปให้ฟังว่าปัญหานี้ต้องแก้ไขที่ตัวเธอเอง ไม่ได้แก้ไขที่คนอื่น ๆ

เกี่ยวกับเรื่องความเป็นคนขี้หงุดหงิดรำคาญใจนี้
ผมเห็นว่าเราอาจจะเทียบได้กับเรื่องของ “หมาขี้เรื้อน” นะครับ
(ขออภัยที่ไม่เรียกว่า “สุนัขขี้เรื้อน” นะครับ เพราะฟังแล้วไม่ค่อยได้บรรยากาศเท่าไร)
หลายท่านอาจจะเคยอ่านเจอเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งในฟอร์เวิร์ดอีเมล์ หรือในเว็บไซต์
เกี่ยวกับเรื่องพระบวชใหม่ และหมาขี้เรื้อน ซึ่งผมขอนำมาเล่า ณ ที่นี้


+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +


ลูกชายนักธุรกิจใหญ่มีชื่อเสียงระดับประเทศคนหนึ่ง เพิ่งสำเร็จการศึกษากลับมาจากต่างประเทศ
เขายังไม่ทันทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ก็ถูกแม่ขอร้องให้เขาบวชเรียนเสียก่อนเพื่อเห็นแก่แม่

บัณฑิตใหม่หมาดจากเมืองนอกจึงบวชอย่างเสียไม่ได้
เมื่อเสร็จพิธีบวชที่วัดใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แล้ว
ผู้เป็นแม่จึงพาเขาไปฝากให้จำพรรษาอยู่กับพระวิปัสสนาจารย์รูปหนึ่งที่วัดป่าแถวภาคอีสาน พระหนุ่มการศึกษาสูงมาจากตระกูลผู้ดีมีแต่ความสุขสบาย
เมื่อมาอยู่วัดป่า กว่าจะปรับตัวได้จึงใช้เวลานานเป็นแรมเดือน

แต่ก็นั่นแหละ กว่าจะนิ่งได้ ก็ทำเอาพระร่วมวัดหลายรูประอาใจไปตาม ๆ กัน
ปัญหาที่ทำให้พระทั้งวัดระอาใจ
ก็เพราะพระใหม่มีนิสัยชอบจับผิด และชอบอวดรู้ ยกหู ชูหางตัวเองอยู่เป็นประจำ

วันแรกที่มาอยู่วัดป่าก็นึกเหยียดพระเจ้าถิ่นทั้งหลายว่า ไม่ได้รับการศึกษาสูงเหมือนอย่างตน
ออกบิณฑบาตได้อาหารท้องถิ่นมาก็ทำท่าว่าจะฉันไม่ลง
เห็นที่วัดใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดแทนไฟฟ้า ก็วิพากษ์วิจารณ์เสียเป็นการใหญ่
หาว่าล้าสมัยไม่รู้จักใช้เทคโนโลยี

ตอนหัวค่ำมีการทำวัตรสวดมนต์เย็นก็บ่นว่า ท่านรองเจ้าอาวาสทำวัตรนานเหลือเกิน
กว่าจะสิ้นสุดยุติได้ก็นั่งจนขาเป็นเหน็บชา ครั้นพอถึงเวรตัวเองล้างห้องน้ำเข้าบ้าง
ก็ทำท่าจะล้างอย่างขอไปที ล้างไปบ่นไปประเภทข้าพเจ้าจบปริญญาโทมาจากเมืองนอก
ต้องมาเข้าเวรล้างห้องน้ำร่วมกับใครก็ไม่รู้

โอ้ ชีวิต! ความสำรวยทำให้พระใหม่ไม่พอใจสิ่งนั้นสิ่งนี้
ถือดีว่าตัวเองมีชาติตระกูลสูง มีการศึกษาสูงกว่าใครในวัดนั้น
ผิวพรรณก็ดูสะอาดสะอ้านชวนเจริญศรัทธากว่าพระรูปไหนทั้งหมด
มองตัวเองเปรียบกับพระรูปอื่นแล้วช่างรู้สึกว่า ตัวเองเหนือกว่าทุกประตู
นึกแล้วก็ยิ้มกระหยิ่มอยู่ในใจ
กลับเข้ากุฏิเมื่อไหร่ ก็เอาปากกามาขีดเครื่องหมายกากบาทบนปฏิทิน
นับถอยหลัง รอวันสึกด้วยใจจดจ่อ

อยู่มาได้พักใหญ่พระใหม่อดีตนักเรียนนอกก็สังเกตเห็นว่า
ท่านเจ้าอาวาสวัดป่าแห่งนี้ไม่ค่อยพูดไม่ค่อยจา
ซ้ำนาน ๆ ครั้งจะออกมาให้โอวาทกับลูกศิษย์เสียทีหนึ่ง
วัน ๆ ไม่เห็นท่านทำอะไรเอาแต่กวาดใบไม้ เก็บขยะ ซักผ้าเอง (เณรน้อยก็มีไม่รู้จักใช้)
สอนก็ไม่สอน การบริหารวัดก็มอบให้ท่านรองเจ้าอาวาสเป็นคนจัดการไปเสียทุกอย่าง

เห็นแล้วเลยนึกร้อนวิชาเสนอให้ปรับโน่นลดนี่สารพัดที่ตัวเองเห็นว่าไม่เข้าท่าล้าสมัย
รวมทั้งเสนอให้วัดใช้ไฟฟ้าแทนตะเกียงด้วย
อีกข้อหนึ่งเพราะตนเห็นว่ายุคสมัยก้าวไกลมามากแล้ว
ไม่ควรจะทำตนเป็นคนหลังเขาให้คนอื่นเขาดูถูก

อีกหนึ่งในข้อวิจารณ์จุดด้อยของวัดทั้งหลายเหล่านั้น
พระใหม่เสนอให้หลวงพ่อเจ้าอาวาสมีปฏิสัมพันธ์กับพระลูกวัดให้มากขึ้นกว่านี้
สอนให้มากขึ้น เทศน์ให้มากขึ้น และแนะนำว่าคนระดับผู้บริหารไม่ควรจะทำงานด้วยตนเอง
เช่น การซักจีวรเอง เป็นต้น ควรจะกระจายอำนาจมอบงานให้คนอื่นทำดีกว่า

เย็นวันนั้นเป็นวันพระสิบห้าค่ำ
หลวงพ่อเจ้าอาวาสมานั่งทำวัตรที่โบสถ์ธรรมชาติกลางลานทรายด้วย
ท่านไม่ลืมที่จะหยิบข้อเสนอแนะจากพระใหม่มาอ่านให้พระหนุ่มสามเณรน้อยทั้งหลายฟัง
แต่ท่านไม่บอกว่าพระรูปไหนเป็นคนเขียน

อ่านจบแล้วหลวงพ่อก็ยิ้มอย่างมีเมตตาพลางหยิบไมโครโฟนขึ้นมา
แล้วชี้ให้ภิกษุหนุ่มสามเณรน้อยทั้งหลาย
ดูหมาขี้เรื้อนตัวหนึ่งที่นอนอยู่ใต้ม้าหินอ่อนตัวหนึ่งใต้ต้นอโศกที่อยู่ใกล้ ๆ

“เธอทั้งหลายเห็นหมาขี้เรือนตัวนั้นหรือไม่ เจ้าหมาตัวนั้นน่ะมันเป็นขี้เรื้อนคันไปทั้งตัว
ฉันเห็นมันวิ่งวุ่นไปมาทั้งวัน เดี๋ยวก็วิ่งไปนอนตรงนั้น
เดี๋ยวก็ย้ายมานอนตรงนี้อยู่ที่ไหนก็อยู่ไม่ได้นานเพราะมันคัน
แต่พวกเธอรู้ไหม เจ้าหมาตัวนั้นน่ะมันไปนอนที่ไหน
มันก็นึกด่าสถานที่นั้นอยู่ในใจหาว่า แต่ละที่ไม่ได้ดั่งใจตัวเองสักอย่าง
นอนที่ไหนก็ไม่หายคัน สถานที่เหล่านั้นช่างสกปรกสิ้นดี”

“คิดอย่างนี้แล้วมันจึงวิ่งหาที่ที่ตัวเองนอนแล้วจะไม่คัน แต่หาเท่าไหร่มันก็หาไม่พบสักที
เลยต้องวิ่งไปทางนี้ทางโน้นอยู่ทั้งวัน เจ้าหมาโง่ตัวนั้นมันหารู้สักนิดไม่ว่า
สาเหตุแห่งอาการคันนั้นหาใช่เกิดจากสถานที่เหล่านั้นแต่อย่างใด
แต่สาเหตุแห่งอาการคันนั้นอยู่ที่โรคของตัวมันเองนั่นต่างหาก”

พูดจบแล้วหลวงพ่อก็วางไมโครโฟนลงเป็นสัญญาณให้รู้ว่า
ได้เวลาภาวนาหลังการทำวัตรสวดมนต์เย็นแล้ว
ขณะที่ทุกรูปนั่งหลับตาภาวนาอย่างสงบนั้น
ในใจของพระใหม่กลับร้อนเร่าผิดปกติ นอกสงบแต่ในวุ่นวาย
นึกอย่างไรก็มองเห็นตัวเองไม่ต่างไปจากหมาขี้เรื้อนที่หลวงพ่อชี้ให้ดู
ยิ่งนั่งสมาธินาน ๆ ยิ่งคันคะเยอในหัวใจทั้งอายทั้งสมเพชตัวเอง

นับแต่วันนั้นเป็นต้นมาพระใหม่อดีตนักเรียนนอกก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน
จากคนพูดมากกลายเป็นคนพูดน้อย จากคนที่หยิ่งยโสกลายเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน
จากคนที่ชอบจับผิดคนอื่นกลายเป็นคนที่หันมาจับผิดตัวเอง

แม้เมื่อออกพรรษาแล้วโยมแม่มาขอให้ลาสิกขา เพื่อกลับไปสืบต่อธุรกิจจากครอบครัว
ท่านก็ยังไม่ยอมสึก โดยกล่าวกับโยมแม่ว่า
“อาตมาเป็นหมาขี้เรื้อน ขออยู่รักษาโรคจนกว่าจะหายคันกับครูบาอาจารย์ที่นี่อีกสักหนึ่งพรรษา”
โยมแม่ได้ฟังแล้วก็ได้แต่ยกมืออนุโมทนาสาธุการ
กราบลาพระลูกชายแล้วก็เดินออกจากวัดไปขึ้นรถ พลางนึกถามตัวเองอยู่ในใจว่า
คำว่า "หมาขี้เรื้อน" ของพระลูกชายหมายความว่าอย่างไรกันแน่

(ขออภัยว่าไม่สามารถหาข้อมูลของผู้เขียนเรื่องนี้ได้ แต่ผมสำเนามาจากเว็บเพจนี้ครับ
โดยมีการปรับถ้อยคำบางส่วน)
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9520000116675


+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +


เรื่องของหมาขี้เรื้อนข้างต้น หากจะเปรียบเทียบกับพระสูตรแล้ว
ก็สามารถเทียบได้กับ “สิคาลสูตร” ซึ่งมีเนื้อหาว่า

“พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและชื่อเสียง ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย
เป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ ซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ฯ

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นสุนัขจิ้งจอกแก่ซึ่งอยู่ในกลางคืนตลอดถึงเช้าตรู่หรือหนอ ฯ

ภิ. เห็นพระเจ้าข้า ฯ

พ. ภิกษุทั้งหลาย สุนัขจิ้งจอกแก่ตัวนั้นเป็นโรคอุกกรรณ์ (โรคเรื้อน)
อยู่บนบกก็ไม่สบาย อยู่โคนไม้ก็ไม่สบาย อยู่ในที่แจ้งก็ไม่สบาย
เดิน ยืน นั่ง นอนในที่ใดๆ ก็ไม่สบาย เป็นทุกข์ในที่นั้น ๆ
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อันลาภสักการะและชื่อเสียงครอบงำย่ำยีจิตแล้ว
อยู่ที่เรือนว่างก็ไม่สบาย อยู่ที่โคนไม้ก็ไม่สบาย อยู่ในที่แจ้งก็ไม่สบาย
เดินยืน นั่ง นอนในที่ใดๆ ก็ไม่สบาย เป็นทุกข์ในที่นั้น ๆ
ภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและชื่อเสียง ทารุณ ฯลฯ อย่างนี้แล
เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ ฯ”

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=16&A=6001


อนึ่ง แม้ผมจะบอกว่า เราพึงแก้ไขปัญหาความรำคาญใจของเราที่ใจเราเอง
แต่ก็ไม่ได้แปลว่าให้เราปล่อยปละละเลยปัญหาคนรอบข้าง หรือปัญหาเรื่องงานนะครับ
อย่างเช่นลูกหลานประพฤติไม่ดี ลูกน้องทำงานเสียหาย หรือเรามีปัญหางานคั่งค้าง ฯลฯ
เราก็พึงแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เพียงแต่เราไม่ได้แก้ไขปัญหาด้วยความหงุดหงิดรำคาญใจ
เราแก้ไขด้วยเหตุผล และด้วยสติปัญญา
แต่หากตัวเราเองยังหงุดหงิดรำคาญใจ ยังมีโทสะรุนแรง ยังโดนโทสะครอบงำใจ
การที่เราจะไปแก้ไขปัญหาในเรื่องอื่น ๆ ก็จะทำด้วยโทสะ หรือใช้โทสะนำหน้า
ไม่ได้ใช้เหตุผลและสติปัญญาในการแก้ไขปัญหานั้น ๆ เช่นนั้นแล้ว ก็แก้ไขปัญหาได้ยาก
หรืออาจจะเป็นการทำให้ปัญหาบานปลายยิ่งขึ้น หรือสร้างปัญหาอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย&nbspนอกจากนี้ ในบางเรื่องนั้น แท้จริงแล้วก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย 

แต่ด้วยความที่เราโดนโทสะครอบงำใจแล้ว ก็เหมาเอาว่ามันมีปัญหา
ซึ่งการที่เราพยายามจะแก้ไขปัญหาในสิ่งที่ไม่เป็นปัญหานั้น กลับเป็นการสร้างปัญหาเสียเอง
และเรานั้นแหละเป็นผู้สร้างปัญหาแก่ตัวเราเอง ไม่ใช่คนอื่น
(เช่น เราไปหงุดหงิดรำคาญใจในสิ่งที่ไม่สมควรหงุดหงิดรำคาญใจเลย)
หากเรารู้ทันและไม่ถูกโทสะครอบงำใจแล้ว เราก็จะหลีกเลี่ยงสิ่งดังกล่าวได้ครับ