Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๖๔

วันเด็กและวันผู้ใหญ่

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dharmajaree-164


วันเด็กแห่งชาติประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้ผ่านไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
ในคราวนี้ ผมขอคุยเกี่ยวกับเรื่องวันเด็กแห่งชาติครับ
หลายประเทศทั่วโลกได้เริ่มจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติกันขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๘
ตามความเห็นคล้อยตามองค์การสหประชาชาติที่นำปัญหาเรื่องเด็ก
มาร่างเป็นปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของเด็กขึ้นมา

ในส่วนของประเทศไทยนั้น เราได้เริ่มจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติ
เป็นครั้งแรกในวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๘
หลังจากนั้น ทางราชการได้กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันเด็กแห่งชาติ
และได้จัดติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๖
ซึ่งประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติจึงได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า
สมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสียใหม่
ด้วยเหตุผลว่าในเดือนตุลาคมนั้น ประเทศไทยยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก
เด็ก ๆ ไม่สะดวกในการมาร่วมงาน และวันจันทร์ก็เป็นวันทำงานของผู้ปกครองอีกด้วย
จึงไม่สะดวกที่จะพาลูกหลานของตนไปร่วมงานได้

ต่อมา คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสนอ
โดยให้เปลี่ยนวันจัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติจากวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม
มาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลทำให้ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ไม่มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
เพราะการประกาศเปลี่ยนวันนั้นได้ล่วงเลยวันในปีนั้นมาแล้ว
งานวันเด็กแห่งชาติได้เริ่มจัดขึ้นใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ และจัดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับคำขวัญวันเด็กแห่งชาตินั้น เป็นคำขวัญที่นายกรัฐมนตรีมอบให้เด็กไทย
เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติของทุกปี โดยประเทศไทยได้เริ่มมีคำขวัญวันเด็ก
เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
และก็ถือเป็นธรรมเนียมว่าให้มีคำขวัญวันเด็กสืบเนื่องมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน
สำหรับในปี ๒๕๕๖ นี้ นายกรัฐมนตรีท่านได้ให้คำขวัญแก่เด็กไทยว่า
“รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน”
(หมายเหตุ ข้อมูลเกี่ยวกับวันเด็กแห่งชาติจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

ในช่วงวันเด็กแห่งชาตินั้น ผู้ใหญ่มักบอกให้เด็กปฏิบัติตามคำขวัญวันเด็ก
ซึ่งโดยหลัก ๆ แล้วก็คือ เพื่อให้เด็กโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี
โดยผู้ใหญ่ก็มักจะมองไปที่เด็ก แต่มักจะไม่ได้หันมามองตัวเองเท่าไรว่า
ผู้ใหญ่เองได้ประพฤติตนเองดีหรือไม่ ได้ทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีหรือเปล่า
เพราะหากผู้ใหญ่ประพฤติไม่ดี เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี แสดงแต่สิ่งที่ไม่ดีแล้ว
แล้วผู้ใหญ่จะสอนให้เด็กเป็นเด็กดีได้อย่างไร

ผมเคยได้ฟังแม่ชีท่านหนึ่งเทศน์สอนว่า เมื่อเวลาที่ผู้หญิงเริ่มตั้งครรภ์มีลูกนั้น
พ่อแม่ก็มักจะอธิษฐานขอให้ลูกที่จะเกิดมานั้นเป็นเด็กดี มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง
ซึ่งอันที่จริงแล้ว การอธิษฐานเช่นนั้นยังไม่ใช่การอธิษฐานที่ถูกต้อง
แต่พ่อแม่ควรจะอธิษฐานว่า ต่อไปนี้ฉันจะเป็นคนดี ฉันจะทำดี ฉันจะเลิกทำสิ่งไม่ดี
และฉันจะสอนสิ่งดี ๆ ให้ลูก เพื่อให้ลูกเป็นเด็กดี
ฉันจะดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อที่จะให้ลูกมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง
โดยหากพ่อแม่เองยังประพฤติไม่ดี และทำแต่สิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
แล้วจะให้ลูกเป็นเด็กดี และมีสุขภาพแข็งแรงก็คงจะเป็นไปได้ยาก
ฉะนั้นแล้ว เด็กจะดีได้ ก็ต้องเริ่มต้นที่ผู้ใหญ่ก่อน

ทีนี้ เหล่าเด็ก ๆ มีวันเด็กแห่งชาตินะครับ
ถามว่าผู้ใหญ่ควรจะต้องมีวันผู้ใหญ่แห่งชาติด้วยไหม?
ในความเห็นส่วนตัวผมนะครับ วันผู้ใหญ่แห่งชาติก็คือ “ทุกวัน” ล่ะครับ
แล้วคำขวัญของวันผู้ใหญ่แห่งชาติล่ะคืออะไร?
ขอตอบว่าผู้ใหญ่ทุกคนโตแล้วก็พึงจะต้องรู้ว่าคำขวัญของตนเองคืออะไร
โดยแต่ละคนต่างพิจารณาตนเองว่า ตนเองยังมีข้อบกพร่องตรงไหน
ตนเองควรจะต้องลด ละ เลิกประพฤติสิ่งไม่ดีอะไรบ้าง
ตนเองยังขาดตกบกพร่องหรือไม่ได้ประพฤติสิ่งดี ๆ อะไรบ้าง
ก็นำสิ่งเหล่านั้นมาตั้งเป็นคำขวัญให้แก่ตนเองได้ครับ

ยกตัวอย่างเช่น เราตั้งคำขวัญให้แก่ตนเองว่า
ประหยัดมัธยัสถ์ ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ เลิกนินทาคนอื่น
หรือ เลิกเล่นเกม เลิกนอนตื่นสาย ขยันทำงาน
หรือ เลิกนอนดึก กินให้น้อยลง หมั่นสวดมนต์
หรือ เลิกอบายมุข รักครอบครัว ดูแลพ่อแม่
หรือ ขยันหมั่นเพียร รักษาสุขภาพ ศึกษาธรรมะ
หรือ ปฏิบัติธรรมทุกวัน มีสติทุกเมื่อ รักษาศีลทุกเวลา
หรือ เลิกโกรธ เลิกโมโห เวลาโกรธให้นับ ๑ ถึง ๑๐๐
หรือ อยู่กับพุทโธทุกลมหายใจ ฯลฯ

โดยเราแต่ละคนก็จะรู้ตนเองดีที่สุดว่า ตนเองควรจะปรับปรุงตนเองตรงไหน
แล้วก็นำข้อควรปรับปรุงนั้นมาตั้งเป็นคำขวัญให้แก่ตัวเอง
จากนั้น เราก็นำมาประพฤติปฏิบัติเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องตนเอง
และพัฒนาตนเองให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ซึ่งเมื่อปรับปรุงได้พอสมควรแล้ว
เราย่อมสามารถปรับคำขวัญสำหรับตนเองไปได้เรื่อย ๆ ครับ
ทั้งนี้ การตั้งคำขวัญทำนองนี้ เราอย่าไปตั้งให้คนอื่นนะครับ
แค่เราตั้งให้แก่ตนเองและนำไปประพฤติปฏิบัติเองเท่านั้น
หากเราไปตั้งให้คนอื่นและไปพยายามบังคับคนอื่นแล้ว
ก็น่าจะทะเลาะกันและทำให้เกิดผลเสียมากกว่าครับ