Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๖๒

วัวตัวใหญ่กับวัวตัวเล็ก

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 


dharmajaree-162

เมื่อเดือนก่อนผมได้พาญาติผู้สูงอายุไปซื้อกล้วยที่ตลาดและนำไปเลี้ยงวัวที่วัดแห่งหนึ่ง
จริง ๆ แล้ว ที่วัดเขาก็มีหญ้าไว้ให้สำหรับวัวนะครับ
โดยเราก็นำเงินใส่ตู้ทำบุญค่าหญ้าของทางวัด แล้วก็นำหญ้าไปเลี้ยงวัวได้
หรือเราไม่ต้องให้หญ้าเลี้ยงวัวเลย แต่เพียงแค่นำเงินใส่ตู้ร่วมทำบุญปล่อยวัวก็ได้
แต่ที่ผมไปซื้อกล้วยนี้ ก็เพื่อให้มีกิจกรรมที่ญาติผู้สูงอายุชื่นชอบให้พวกเขาได้ทำนะครับ
โดยผู้สูงอายุบางท่านก็ชอบให้อาหารสัตว์ต่าง ๆ เช่น หมา แมว นก ปลา วัว ฯลฯ
เวลาที่เราพาผู้สูงอายุไปวัดนั้น หากให้เขาได้ทำกิจกรรมที่เขาชอบแล้ว
ก็จะจูงใจให้เขาชอบไปวัดได้บ่อยมากขึ้น (แต่กิจกรรมที่ชอบก็ต้องเป็นกุศลนะครับ)
แต่เราก็ยังคงเน้นทำกิจกรรมอื่นที่สำคัญคือ ไหว้พระ สวดมนต์ และถวายสังฆทาน เป็นต้น
อนึ่ง ถ้าผู้สูงอายุท่านสามารถภาวนาในรูปแบบได้ ก็ควรจะให้ภาวนาในรูปแบบด้วยเลย

เวลาที่ไปซื้อกล้วยที่ตลาดเพื่อไปเลี้ยงวัวที่วัดนั้น
ก็ถือได้ว่าได้ทำบุญตั้งแต่ที่ตลาดเลยครับ เพราะเราไปซื้อกล้วยที่งอมมาก ๆ
โดยกล้วยที่งอมมาก ๆ นี้ก็ไม่ค่อยจะมีใครซื้อแล้ว
(คนขายก็ขายได้ยาก แม้ว่าเขาจะขายในราคาไม่แพงก็ตาม)
การที่เราไปช่วยซื้อหรือเหมากล้วยงอมมาก ๆ มา ก็เป็นการช่วยเหลือคนขายเขาด้วยครับ

จากประสบการณ์ที่นำกล้วยไปเลี้ยงวัว ก็คือ
วัวจะชอบทานกล้วยมากกว่าทานหญ้าครับ
(ผมเดาส่วนตัวว่ากล้วยคงจะหวานกว่า หรือไม่วัวก็ทานหญ้าเป็นประจำอยู่แล้ว)
เวลาที่เรานำกล้วยไปเลี้ยงวัวนี้ วัวจะหยุดทานหญ้าที่ญาติธรรมท่านอื่นให้
แล้วเดินจะมาทานกล้วยเพียงอย่างเดียว
ก็จะกลายเป็นว่าเราไปรบกวนการให้หญ้าแก่วัวของญาติธรรมท่านอื่นได้
ดังนั้นแล้ว เราจึงควรดูจังหวะด้วยว่าการให้กล้วยของเราจะไม่ไปรบกวนท่านอื่น ๆ

ระหว่างที่เราได้ให้กล้วยกับวัวไปได้สักพักหนึ่ง
ปรากฏว่าจู่ ๆ ก็มีวัวตัวใหญ่ตัวหนึ่งโผล่มาเบียดวัวตัวอื่น ๆ เพื่อแย่งรับกล้วย
เราก็พยายามจะให้ได้กินกล้วยทุกตัวแบบทั่วถึงนะครับ
แต่ก็ยอมรับว่าจะให้ถึงขนาดอิ่มทุกตัวก็คงเป็นไปไม่ได้
ก็เพียงแค่พยายามจะให้ได้กินกันทุกตัว แต่ละตัวมากบ้างน้อยมาก ก็ว่ากันไป
วัวตัวใหญ่นี้ก็เบียดวัวตัวอื่น ๆ จนกระเจิง โดยวัวตัวอื่น ๆ ต้องหลีกหลบให้นะครับ
มีวัวบางตัวโดนเบียดเสียจนเดินถอยหลังกลับไปนั่ง และไม่มารอรับกล้วยแล้วก็มี
บางตัวก็หลบออกไปยืนรอกล้วยในจุดที่ห่างออกไปนิดนึง
คนดูแลคอกวัวของทางวัดซึ่งอยู่ใกล้ ๆ ก็กล่าวให้เราได้ยินว่า
“เอ้อ เจ้าวัวตัวนี้มันตัวใหญ่ ก็เลยหิวมาก และก็ต้องกินมากล่ะ”

ทีนี้ ด้วยความที่เรามีหลายคน จึงใช้วิธีการว่าให้คนหนึ่ง (คือผมเองล่ะครับ)
ถือกล้วยล่อวัวตัวใหญ่เอาไว้ ณ จุดหนึ่ง โดยให้เขากินกล้วยพร้อมกับวัวตัวอื่น ๆ ในจุดนั้นด้วย
แล้วคนอื่น ๆ ก็ไปให้กล้วยแก่วัวตัวอื่น ๆ ในจุดอื่น ๆ (จุดอื่น ๆ ก็จะไม่วุ่นวายเหมือนจุดที่ผมให้)
เจ้าวัวตัวใหญ่นี้กินกล้วยแล้ว ก็ยังพยายามจะเบียดวัวตัวอื่นที่อยู่ใกล้ ๆ เพื่อแย่งกล้วยนะครับ
แล้วก็ยังไปหันไปมองที่จุดอื่น ๆ อีกว่าตรงที่อื่นมีกล้วยแจกหรือเปล่า (เหมือนจะไปแย่งอย่างนั้น)
จนท้ายสุดเมื่อกล้วยหมดแล้ว วัวตัวอื่น ๆ ก็แยกย้ายไปตามที่ต่าง ๆในคอก
เจ้าวัวตัวใหญ่ก็จะยังเดินวนอยู่อีกนิดนึงนะครับ ดูว่ามีแจกกล้วยตรงไหนอีกไหม

ญาติธรรมท่านหนึ่งที่ไปด้วยกันได้กล่าวว่า “เจ้าวัวตัวใหญ่นี้นิสัยไม่ดี เบียดวัวตัวอื่นกระเจิงเลย”
ช่วงแรก ๆ ที่ผมเห็นเจ้าวัวตัวใหญ่นี้มาเบียดแย่งวัวตัวอื่น ๆ
ผมก็รู้สึกว่าเจ้าวัวตัวใหญ่นี้นิสัยไม่ดีนะครับ แต่เราก็พยายามจะให้กล้วยแก่วัวทุกตัวอย่างทั่วถึง
ไม่ได้ไปจำกัดว่าวัวตัวใหญ่มาเบียดวัวตัวอื่นแล้ว เราจะไม่ให้กล้วยเขา เราก็ให้เหมือน ๆ กับตัวอื่น ๆ
เพราะว่าเราตั้งใจจะมาทำบุญให้อาหารวัวทุกตัว ไม่ได้แบ่งแยกว่าต้องตัวใหญ่หรือตัวเล็ก
แต่เมื่อผมได้ยินคนดูแลคอกวัวของทางวัดกล่าวว่า
“เอ้อ เจ้าวัวตัวนี้มันตัวใหญ่ ก็เลยหิวมาก และก็ต้องกินมากล่ะ”
ความรู้สึกผมกลับเปลี่ยนไปนะครับ ผมไม่สนใจว่าวัวตัวใหญ่นี้นิสัยไม่ดี
แต่ผมกลับรู้สึกว่าวัวตัวใหญ่นี้เขาน่าสงสาร เขาต้องไปเบียดวัวตัวอื่น เพราะเขาหิว
และที่เขาหิวก็เพราะว่าเขาตัวใหญ่ แต่เขายิ่งกินมาก เขาก็ยิ่งตัวใหญ่
และเมื่อเขายิ่งตัวใหญ่ เขาก็ยิ่งหิว และยิ่งต้องกินมาก
แล้วเขาเองก็ไม่มีสติปัญญาพอที่จะพาตนเองไปให้พ้นจากวังวนแห่งความหิวนี้

ผมเห็นดังนี้แล้วก็ได้ถามญาติธรรมที่ไปด้วยกันว่า
ในโลกแห่งปลาใหญ่กินปลาเล็กนี้ บางคนชอบที่จะเป็นปลาใหญ่ไปกินปลาเล็ก
แต่หากลองถามตัวเองว่า สมมุติว่าถ้าจะต้องเลือกเป็นระหว่างวัวตัวใหญ่กับวัวตัวเล็กแล้ว
เราอยากจะเป็นวัวตัวใหญ่ที่ไปเบียดแย่งวัวตัวเล็ก
หรือเราอยากจะเป็นวัวตัวเล็กที่โดนวัวตัวใหญ่เบียดแย่งกันแน่
ญาติธรรมนิ่งเงียบคิดอยู่ยังไม่ทันตอบ
ผมบอกต่อไปว่า หากเลือกได้แล้ว เราก็ไม่อยากมาเป็นวัวหรอก อันนี้เข้าใจ
แต่หากจะต้องเลือกระหว่างวัวตัวใหญ่กับวัวตัวเล็กแล้ว ผมไม่อยากเป็นวัวตัวใหญ่นะ
เพราะที่เห็นก็คือวัวตัวเล็กนั้น หิวน้อยกว่า กินกล้วยน้อยกว่า ไม่มีอาการดิ้นรนเท่าตัวใหญ่
วัวบางตัวนั้นโดนวัวตัวใหญ่เบียดกระเจิงแล้ว ก็ถอยกลับไปนั่งเฉย ๆ ไม่ได้ทุรนทุราย
วัวตัวใหญ่เองเสียอีกที่เบียดวัวตัวอื่นก็แล้ว กินกล้วยเยอะก็แล้ว แต่ยังหิวทุรนทุรายอยู่
ผมมองว่าจะต้องเลือกแล้ว ผมเลือกเป็นวัวตัวไม่ใหญ่ หิวน้อย กินน้อย และไม่เบียดใครดีกว่า
หากเป็นวัวตัวใหญ่แล้ว หิวมาก กินมาก และต้องไปเบียดวัวตัวอื่น ๆ
และถึงแม้จะได้กินมาก และเบียดวัวตัวอื่นแล้ว เขาก็ยังทุรนทุรายด้วยความหิวอยู่

ทีนี้ เราลองหันกลับมาพิจารณาที่ใจเรานะครับ
เราอยากจะให้ใจของเราเป็นเหมือนวัวตัวใหญ่หรือวัวตัวเล็ก
ใจที่มีความโลภมาก ๆ ก็เปรียบเสมือนกับวัวตัวใหญ่ ต้องได้กินมาก ยิ่งกินยิ่งโต ยิ่งโตยิ่งหิว
แม้ว่าจะได้โน่นนี่มากมายแล้วก็ตาม แต่ไฟแห่งความโลภก็ยังเผาใจไปเรื่อย ๆ
เราคงจะได้เห็นตัวอย่างของคนที่ไม่รู้จักพอในชีวิตจริงของเราได้อยู่นะครับ
เขาก็จะโดนไฟแห่งความโลภเผาใจไปเรื่อย ๆ
ส่วนใจที่มีความโลภน้อยหน่อย ก็เสมือนกับวัวตัวเล็กครับ
ก็โดนเผาด้วยไฟแห่งความโลภกองเล็กหน่อย ก็จะร้อนน้อยกว่า ดับไฟได้ง่ายกว่า
ไฟกองใหญ่ก็ย่อมจะดับยากกว่าไฟกองเล็กล่ะครับ

หากเราจะทำใจของเราให้เป็นวัวตัวใหญ่ล่ะ จะไปสิ้นสุดที่ไหน?
มันก็ไม่มีที่สิ้นสุดหรอกครับเสมือนกับว่า
มหาสมุทรย่อมไม่อิ่มด้วยน้ำ (เติมน้ำลงไปเรื่อย ๆ ก็รวมไปเป็นมหาสมุทร)
ไฟย่อมไม่อิ่มด้วยเชื้อไฟ (เติมเชื้อไฟลงไปเรื่อย ๆ ไฟก็เผาหมด)
ตัณหาเองก็ไม่เคยอิ่มหรือพอ โดยเราสนองตัณหาไปเท่าไร ๆ มันก็ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ

ทีนี้ เราทุกคนก็มีทางเลือกนะครับ
เราสามารถมีสติรู้ทันความโลภภายในใจเราได้
เราไม่ปล่อยให้ไฟแห่งความโลภมาเผาใจเรา
ความพอใจในสิ่งที่ตนเองมี และความพอเพียงในสิ่งที่เราสมควรจะได้
ย่อมเป็นเสมือนน้ำเย็นที่จะมาช่วยดับไฟแห่งความโลภได้
เราก็มีทางเลือกว่าเราจะสะสมน้ำเย็นไว้ในใจ หรือสุมไฟกองใหญ่เอาไว้นะครับ