Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๖๑

ธรรมนูญชีวิต

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 


dharmajaree-161

วันจันทร์หน้าก็จะถึงวันรัฐธรรมนูญแล้ว
เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ ผมก็ขอคุยแตะ ๆ เรื่องรัฐธรรมนูญบ้างนะครับ
คำว่า “รัฐธรรมนูญ” ประกอบด้วยคำว่า “รัฐและ “ธรรมนูญ
คำว่า “รัฐ หมายถึง ประเทศ หรือบ้านเมือง
ส่วนคำว่า “ธรรมนูญหมายถึง บทกฎหมายที่ว่าด้วยระเบียบการ
เมื่อรวมสองคำเข้าด้วยกัน “รัฐธรรมนูญจึงหมายถึง “กฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองรัฐ
หรือหลายท่านได้ให้คำนิยามสั้น ๆ ว่า กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ

แม้เราจะยึดถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศก็ตาม
แต่หากลองพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญบ้านเมืองเราได้รับการยึดถือและปฏิบัติตามเพียงไร
เราก็คงพอจะเห็นได้นะครับว่า ในบ้านเมืองเรานั้น ที่ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนั้นก็มีไม่น้อย
ที่ผ่านมา ก็มีการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งอยู่หลายหน และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่หลายครั้ง
บางท่านก็อาจจะรู้สึกส่วนตัวว่าหมดศรัทธาในรัฐธรรมนูญไปนานแล้ว ไม่ได้เห็นความสำคัญอะไร
แต่จริง ๆ แล้ว รัฐธรรมนูญก็ยังคงมีความสำคัญอยู่มากนะครับ
เพราะเป็นกติกาในการปกครองประเทศ และวางระเบียบสำหรับการใช้อำนาจของรัฐไว้
โดยรัฐธรรมนูญเป็นกรอบที่ช่วยให้สามารถร่างกฎหมายฉบับอื่น ๆ ให้อยู่ภายในกรอบดังกล่าวนั้น

แม้รัฐธรรมนูญไทยถือเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญสำหรับการปกครองประเทศไทย
และสำหรับเราในฐานะที่เป็นประชาชนไทยก็ตาม
แต่ก็ไม่ได้แปลว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเพียงสิ่งเดียว
เพราะก่อนหน้าของการได้มาซึ่ง “สถานะความเป็นประชาชนชาวไทย” นั้น
เราต้องมีสิ่งหนึ่งที่เป็นพื้นฐานและมาก่อนครับ นั่นก็คือ “สถานะของความเป็นมนุษย์”
หากเราไม่มีสถานะของความเป็นมนุษย์แล้ว เช่น
สมมุติว่าเราเป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นสัตว์นรก หรือเป็นเปรต เป็นต้น
ถึงเราจะไปขอบันทึกเป็นประชาชนคนไทย เจ้าหน้าที่ก็ย่อมไม่รับจดให้
และเราก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปเกี่ยวข้องรัฐธรรมนูญของประเทศใด ๆ ด้วย

ทีนี้ เรามีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศแล้ว
มีคำถามว่า เราเคยลองย้อนมาพิจารณาบ้างไหมว่า
เรามีหลักหรือระเบียบในการดำเนินชีวิตในสถานะของความเป็นมนุษย์ของเราหรือเปล่า?
(โดยเราจะเรียกหลักหรือระเบียบดังกล่าวว่า “ธรรมนูญชีวิต” ก็ได้)
หลายท่านนั้นอาจไม่มีหลักในการดำเนินชีวิต โดยก็อยู่กินและหาเลี้ยงชีพไปวันหนึ่ง ๆ
พิจารณาแต่เพียงว่าทำอะไรแล้วได้ผลประโยชน์ ทำอะไรแล้วได้เงิน ก็มุ่งทำไปทางนั้น
โดยหลงลืมที่จะหันมาพิจารณาว่าที่จริงแล้ว “สถานะของความเป็นมนุษย์” สมควรมีไว้เพื่ออะไร
และไม่มีความรู้ความเข้าใจว่าตนเองจะใช้ประโยชน์จากสถานะของความเป็นมนุษย์อย่างไร
จึงจะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ตนเองและผู้อื่น

หากถามผมว่าหลักสูงสุดในการดำเนินชีวิตในสถานะของความเป็นมนุษย์คืออะไร?
ผมก็จะตอบว่าคือ พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งพระธรรมคำสอนนี้มีอยู่หลากหลายมากมาย
โดยแต่ละท่านก็อาจจะให้ความสำคัญสูงสุดในแต่ละเรื่องที่แตกต่างกันไป
ตามแต่ความแข็งแรงของอินทรีย์ของแต่ละท่าน
โดยถึงแม้ว่าแต่ละท่านอาจจะให้ความสำคัญสูงสุดในแต่ละเรื่องแตกต่างกัน
แต่ก็เห็นได้ว่าทุกท่านควรจะมีหมวดธรรมพื้นฐานที่เหมือนกัน
เพราะคำว่า “มนุษย์” นี้แปลว่า “ผู้มีใจสูง” หมายถึงว่า “เป็นผู้มีศีลธรรม”
ดังนี้ พื้นฐานของการดำรงสถานะของความเป็นมนุษย์นั้นก็คือ
จะต้องเป็น “ผู้มีศีลธรรม” โดยศีลอย่างต่ำที่สุดก็คือ “ศีลห้า”
และมี “ธรรม” พื้นฐาน เช่น หิริโอตตัปปะ กตัญญูกตเวที ขันติโสรัจจะ เมตตากรุณา เป็นต้น

หากเราลองเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญของประเทศแล้ว จะเห็นได้ว่า
รัฐธรรมนูญของประเทศนั้น ถูกแก้ไขปรับปรุงได้ และโดนฉีกได้
แต่ศีลธรรมนั้น ไม่มีการแก้ไขปรับปรุง และไม่มีใครมาฉีกได้
ประชาชนบางคนที่ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ก็ยังถือว่าเป็นประชาชนได้
แต่หากมนุษย์ผู้ใดละทิ้งศีลธรรมแล้ว ก็ขาดจากความเป็นมนุษย์ในขณะนั้นทันที
เช่น จิตใจของมนุษย์ที่ไม่มีศีลห้า ก็กลายเป็นจิตใจที่ไปอยู่ภพภูมิอื่นในอบายภูมิ เป็นต้น
หากเราปราศจากศีลห้าแล้ว ก็เรียกว่า “ผู้มีใจสูง” ไม่ได้ และก็ไม่เรียกว่า “มนุษย์”
แต่ควรจะต้องเรียกว่า “ผู้มีใจต่ำ” และเรียกว่า “คน” ซึ่งแปลว่า “ยุ่ง”

ในวาระโอกาสแห่งวันรัฐธรรมนูญนี้ บางท่านอาจจะไม่สนใจอะไรเท่าไร
โดยเห็นว่าเป็นเพียงวันหยุดของพวกเราเหล่าลูกจ้าง หรือยอดมนุษย์เงินเดือนเท่านั้น
บางท่านให้ความสำคัญและระลึกถึงรัฐธรรมนูญของประเทศไทย
หรือระลึกถึงการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญครั้งแรกของประเทศไทย เป็นต้น
แต่นอกเหนือจากการระลึกถึงหลักหรือระเบียบในการปกครองประเทศแล้ว
ผมขอแนะนำให้เราลองพิจารณาถึงหลักในการดำเนินสถานะความเป็นมนุษย์ด้วย

หากระลึกถึงเรื่องอะไรไม่ออก ก็แนะนำให้พิจารณา ๓ เรื่องครับ
คือเรื่องแรก ศีลห้า ถือเป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์
เรื่องที่สอง คือธรรมพื้นฐาน เช่น หิริโอตตัปปะ กตัญญูกตเวที ขันติโสรัจจะ เมตตากรุณา เป็นต้น
เรื่องที่สาม คือสิ่งที่เราพึงพิจารณาอยู่ตลอดเนือง ๆ อันได้แก่
“ปัญจอภิณหปัจจเวกขณะ” ดังต่อไปนี้

ชะราธัมโมมหิ ... เรามีความแก่เป็นธรรมดา,
ชะรัง อะนะตีโต ... ล่วงความแก่ไปไม่ได้,
พยาธิธัมโมมหิ ... เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา,
พยาธิง อะนะตีโต ... ล่วงความเจ็บไข้ไปไม่ได้,
มะระณะธัมโมมหิ ... เรามีความตายเป็นธรรมดา,
มะระณัง อะนะตีโน ... ล่วงความตายไปไม่ได้,
สัพเพหิ เม ปิเยหิ มะนาเปหิ นานาภาโว วินาภาโว ...
เราจักเป็นไปต่างๆ คือว่าพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง,
กัมมัสสะโกมหิ ... เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของ ๆ ตน,
กัมมะทายาโท ... เป็นผู้รับผลของกรรม,
กัมมะโยนิ ... เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด,
กัมมะพันธุ ... เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์,
กัมมะปะฏิสะระโณ ... เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย,
ยัง กัมมัง กะริสสามิ ... จักทำกรรมอันใดไว้,
กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา ... ดีหรือชั่ว,
ตัสสะ ทายาโท ภะวิสสามี ... จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น,
เอวัง อัมเหหิ อะภิณหัง ปัจจะเวกขิตัพพัง ... เราทั้งหลายพึงพิจารณาเนือง ๆ อย่างนี้แล

เราก็พยายามจะรักษาศีลห้าให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอครับ
โดยที่เราพึงรักษาศีลห้าอย่างสม่ำเสมอนี้ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของคนอื่นนะครับ
แต่เพื่อประโยชน์ของท่านที่รักษาศีลห้านั้นเอง
เพราะเมื่อไรที่รักษาศีลห้าได้ ก็เป็นผู้มีศีล ก็อยู่ในสถานะที่เป็นผู้มีใจสูงได้
หากขาดหล่นลงไปจากศีลห้าแล้ว ก็ย่อมหล่นจากสถานะผู้มีใจสูง และสถานะมนุษย์ครับ
เรื่องธรรมพื้นฐาน เช่น หิริโอตตัปปะ กตัญญูกตเวที ขันติโสรัจจะ เมตตากรุณา ฯลฯ
ก็เป็นสิ่งที่พึงประพฤติปฏิบัติอยู่อย่างสม่ำเสมอเช่นกัน
ปฏิบัติแล้วคนที่มีความสุขก็คือผู้ปฏิบัติเอง และคนรอบข้างครับ

ส่วนบท “ปัญจอภิณหปัจจเวกขณะ” นั้น ก็ไว้สำหรับระลึกถึงหรือสวดมนต์ด้วยก็ได้
หลาย ๆ คนที่กล้าทำชั่วในขณะนี้
ก็เพราะว่าไม่ระลึกว่า หรือไม่เชื่อว่า ตนจะต้องรับผลของกรรมชั่วนั้น
แต่ว่าพอถึงเวลาที่กรรมชั่วให้ผลแล้ว ก็ตัวใครตัวมันล่ะครับ
กรรมของใครก็เป็นกรรมของคนนั้น โดยเราทุกคนมีกรรมเป็นของ ๆ ตน