Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๖๐

ลอยกระทงที่ใจ

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 


dharmajaree-160

สัปดาห์หน้าก็จะถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง หรือวันลอยกระทงแล้วนะครับ
ในสัปดาห์นี้ ผมก็เริ่มได้ยินเสียงพลุและเสียงประทัดแถวบ้านแล้ว
เดาว่าสัปดาห์หน้าคงจะได้ยินเสียงพลุ เสียงประทัดมากขึ้นอีก
สำหรับเทศกาลลอยกระทงนั้น มีข้อมูลว่า มาจากความเชื่อหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น
- เป็นการขอขมา
พระแม่คงคาที่มนุษย์ได้ใช้และดื่มน้ำ รวมถึงได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงในแม่น้ำ
- เป็นการสักการะรอย
พระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าทรงได้ประทับรอยพระบาทไว้
ที่หาดทราย
แม่น้ำนัมมทานทีในประเทศอินเดีย
- เป็นการลอยความทุกข์ ความโศกรวมถึงโรคภัยต่าง ๆ ให้ลอยไปกับแม่น้ำ
- เป็นการบูชา
พระอุปคุต ซึ่งตามตำนานเล่าว่า พระอุปคุตทรงสามารถปราบพระยามารได้ ฯลฯ
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%87

ถามว่าในปัจจุบันนี้แต่ละคนไปลอยกระทงเพื่ออะไร?
ผมเชื่อว่าคำตอบคงจะมีหลากหลายมากมายนะครับ
ยกตัวอย่างเช่น บางท่านอาจจะต้องการเพียงไปสนุกสนานในงานลอยกระทง
บางท่านต้องการพาแฟนไปเที่ยวงาน บางท่านต้องการไปซื้อของหรือหาของกินในงาน
บางท่านต้องการพาลูกหลานไปเที่ยว ไปเดินดูบรรยากาศในงานลอยกระทง
บางท่านต้องการไปเดินถ่ายรูปงานกลางคืน ถ่ายรูปแสงไฟในกระทงกลางลำน้ำ
บางท่านถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ไปทำบุญที่วัดในเวลากลางคืน
บางท่านต้องการไปลอยความทุกข์ และปัญหาชีวิตให้ไปกับสายน้ำ ฯลฯ
ส่วนพวกมิจฉาชีพก็มีนะครับ โดยถือเป็นโอกาสที่จะได้ล้วงกระเป๋าลักขโมยคนอื่น เป็นต้น

ฉะนั้นแล้ว การไปลอยกระทงนั้น ไม่ได้แปลว่าจะได้ทำบุญหรือได้ทำบาป
หรือจะช่วยให้มีความสุขมากขึ้น หรือช่วยให้มีความทุกข์มากขึ้น
แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราไปลอยกระทงเพื่ออะไร และไปลอยกระทงอย่างไร
กล่าวคือก็ย้อนกลับมาขึ้นอยู่กับกาย วาจา และใจของเรานั่นเองครับ
เช่น บางคนตั้งใจจะไปทำบุญที่วัดในงานลอยกระทง หวังว่าจะได้บุญ
ยังไปไม่ถึงงาน โดนล้วงกระเป๋าเสียก่อน โกรธแค้นสาปแช่งหัวขโมย เลยได้บาปแทนก็ได้
หรือบางท่านไปลอยกระทงหวังว่าจะได้ความสุข ปรากฏว่าในงานมีคนเยอะ
โดนเบียด โดนแซง โดนเหยียบเท้า เลยโมโหแล้วทะเลาะกับคนอื่น ได้ความทุกข์แทนก็ได้

บางท่านอาจจะมีความเชื่อเรื่องการลอยความทุกข์ และปัญหาชีวิตให้ไปกับกระทงในสายน้ำ
ถามว่าจะเป็นไปได้ไหม
? ผมเห็นว่า ก็เป็นไปได้นะครับ
แต่มีเงื่อนไขว่าเราต้องมาลอยกระทงกันที่ใจนะครับ ไม่ใช่ลอยกันที่ร่างกายภายนอก
ในเมื่อความทุกข์นั้นอยู่ภายในใจเรา การลอยกระทงภายนอกนั้น จึงลอยทุกข์ออกไปไม่ได้

ขอยกตัวอย่างเรื่องเล่าธรรมะเกี่ยวกับสังครวพราหมณ์ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปโปรดนะครับ
โดยผมใช้คำว่า “เรื่องเล่าธรรมะ” เพราะอ่านเจอเรื่องนี้ในบางเว็บไซต์
แต่ลองค้นพระสูตรแบบเร็ว ๆ แล้ว (รวมถึงสังครวสูตรด้วย) ยังหาไม่พบว่ามาจากตรงไหน
อย่างไรก็ดี พิจารณาเนื้อหาแล้ว เห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงนำมาแชร์ครับ

ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จไปโปรดพราหมณ์ผู้หนึ่งนามว่า “สังครวะ”
สังครวพราหมณ์เป็นผู้มีความเชื่อว่า บุคคลจะบริสุทธิ์ได้ด้วยการอาบน้ำในแม่น้ำคงคา
วันละสามครั้ง คือ เช้า กลางวัน และเย็น
บาปใดที่ได้ทำในเวลากลางคืน บาปนั้นย่อมล้างได้ ด้วยการอาบน้ำในเวลาเช้า
บาปใดที่ได้ทำในเวลาเช้าถึงเที่ยง บาปนั้นย่อมล้างได้ ด้วยการอาบน้ำในเวลากลางวัน
บาปใดที่ได้ทำในเวลาเที่ยงถึงเย็น บาปนั้นย่อมล้างได้ ด้วยการอาบน้ำในเวลากลางคืน
โดยน้ำที่จะอาบนั้นต้องเป็นน้ำในแม่คงคา เพราะถือว่าเป็นน้ำที่ไหลมาจากแดนสวรรค์
ผ่านเศียรพระศิวะผู้เป็นเจ้ามาแล้ว และเมื่ออาบน้ำในพระแม่คงคาทุกวัน ตายแล้วย่อมไปสู่สวรรค์

พระพุทธองค์ได้เสด็จไปสั่งสอนพราหมณ์ผู้นี้ โดยทรงถามว่า
“พราหมณ์ ท่านเห็นประโยชน์อย่างไร จึงต้องอาบน้ำในแม่น้ำคงคานี้วันละสามเวลา
?
พราหมณ์ทูลตอบว่า “พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้รับฟังมาว่า แม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์
สามารถชำระบาปมลทินทั้งปวงได้ เพราะได้ไหลผ่านเศียรพระศิวะผู้เป็นเจ้าลงมา
ข้าพเจ้าจึงเลื่อมใส และปฏิบัติตามบรรพชน ซึ่งเคยถือปฏิบัติกันมา โดยข้าพเจ้าเชื่อว่าสามารถล้างบาปได้”
พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “บาปนั้นอยู่ที่กายหรืออยู่ที่ใจ
?"
“บาปอยู่ที่ใจ” พราหมณ์ทูลตอบ

“เมื่อบาปอยู่ที่ใจแล้ว การอาบน้ำชำระกายในแม่น้ำคงคาจะทำให้น้ำนั้นซึมซาบลงไปล้างใจได้หรือ?
พราหมณ์ทูลตอบว่า “พระโคดมผู้เจริญ ท่านต้องเข้าใจว่า น้ำในแม่น้ำคงคานี้มิใช่น้ำธรรมดา
แต่เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าสามารถล้างบาปภายในใจได้”

“ท่านเห็นว่าความเชื่อสามารถเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงให้เป็นอีกอย่างหนึ่งตามที่เราเชื่อหรือ?
พราหมณ์ทูลตอบว่า “เป็นไปมิได้เลย พระโคดมผู้เจริญ ความเชื่อมิอาจบิดเบือนความจริงได้
ความจริงย่อมทรงตัวของมันอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม”
พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า “ในเมื่อท่านยอมรับว่า ความเชื่อไม่อาจไปบิดเบือนความจริงได้
แล้วการที่ท่านเชื่อว่า น้ำในแม่น้ำคงคาสามารถล้างบาปภายในใจได้ มันจะเป็นจริงอย่างที่ท่านเชื่อได้หรือ
?

จากนั้น พระพุทธองค์ทรงสอนต่อว่า “อุปมาเหมือนบุรุษผู้หลงทางในป่า แล้วบ่ายหน้าไปทางทิศหนึ่ง
ซึ่งเขาเข้าใจว่าเป็นทิศตะวันออก แต่ความจริงแล้วทิศนั้นเป็นทิศตะวันตก
ความเชื่อของเขาไม่อาจจะไปเปลี่ยนทิศตะวันตกให้เป็นทิศตะวันออกได้ฉันใด
ความเชื่อของพราหมณ์เป็นอันมากที่เชื่อว่าแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สามารถล้างบาปได้
ก็ไม่อาจทำให้แม่น้ำนั้นล้างบาปได้จริงเลย จึงชวนกันเข้าใจผิดเหมือนบุรุษผู้หลงทางในป่านั้น”

พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า “อุปมาเหมือนบุรุษผู้หนึ่งมีหม้อทองแดงอยู่ใบหนึ่ง
หม้อนั้นเปรอะเปื้อนด้วยสิ่งสกปรกทั้งภายในและภายนอก เขาพยายามชำระล้างด้วยน้ำจำนวนมาก
แต่ล้างเพียงภายนอกเท่านั้น โดยไม่ได้ล้างภายใน ท่านคิดว่าสิ่งสกปรกภายในหม้อนั้นจะหมดไปด้วยหรือ
?"
พราหมณ์ทูลตอบว่า “เป็นไปมิได้เลย พระโคดมผู้เจริญ บุรุษผู้นั้นย่อมเหนื่อยแรงเปล่า
ไม่อาจทำให้ภายในหม้อสะอาดได้ สิ่งสกปรกภายในหม้อที่เปรอะเปื้อนอยู่อย่างไร ก็ย่อมคงอยู่อย่างนั้น”

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูกรพราหมณ์ เรากล่าวกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตว่าเป็นสิ่งทำให้จิตใจสกปรก
และสามารถชำระล้างได้ด้วยธรรม คือความสุจริต มิใช่ด้วยการอาบน้ำธรรมดา
น้ำดื่มของบุคคลผู้มีกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ย่อมเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปในตัวแล้ว
มาเถิดพราหมณ์ มาอาบน้ำในธรรมวินัยของเรานี้ ที่ลึกซึ้งสะอาด ไม่ขุ่นมัว
มีศีลเป็นท่าลง บัณฑิตสรรเสริญ เป็นที่ที่ผู้รู้นิยมอาบกัน อาบแล้วข้ามฝั่งได้โดยที่ตัวไม่เปียก”

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสจบดังนี้ สังครวพราหมณ์ได้กล่าวด้วยความเบิกบานใจว่า
“แจ่มแจ้งจริงพระโคดม แจ่มแจ้งจริง เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ให้ผู้มีนัยน์ตาดีได้เห็นรูป
ข้าพระพุทธเจ้าขอปฏิญาณตนเป็นอุบาสก ถึงพระองค์พร้อมด้วยพระธรรม และพระสงฆ์
นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจวบจนสิ้นชีวิต”


จากเรื่องเล่าธรรมะข้างต้นนั้น บาปนั้นอยู่ที่ใจ จะใช้น้ำธรรมดาภายนอกล้างออกไม่ได้ฉันใด
ความทุกข์ที่อยู่ภายในใจนั้น เราจะใช้กระทงภายนอกลอยออกไป ย่อมไม่ได้ฉันนั้น
หากจะลอยความทุกข์ในใจออกไป ก็ต้องใช้กระทงในใจลอยความทุกข์ออกจากใจ
การลอยกระทงในใจก็คือการเข้าถึงทาน ศีล และภาวนา

หากเรามีความทุกข์เพราะโกรธแค้นใคร เราพึงให้อภัยทานที่ใจ แล้วลอยความโกรธแค้นนั้นออกไปจากใจ
หากเรามีความทุกข์เพราะโลภหรือราคะ เราพึงตั้งใจรักษาศีลที่ใจ (เราไม่ต้องการได้อะไรที่ไม่ใช่ของตน
หรืออะไรที่เราไม่สมควรจะได้) แล้วลอยความโลภหรือราคะนั้นออกไปจากใจ
หากเรามีความทุกข์จากปัญหาชีวิตหรือความอยากในเรื่องใด ๆ ก็ตาม
เราพึงมีสติรักษาใจเรา ไม่ปล่อยให้ความทุกข์จากปัญหาชีวิตหรือความอยากนั้นมาครอบงำใจ
แล้วลอยความทุกข์จากปัญหาชีวิตหรือความอยากนั้นออกไปจากใจ
จากนั้น เราพึงงดสร้างเหตุปัจจัยทั้งหลายที่ทำให้เกิดปัญหาชีวิตและความอยากนั้น ๆ
แต่หากเรายังคงสร้างเหตุปัจจัยทั้งหลายที่ทำให้เกิดปัญหาชีวิตและความอยากนั้นต่อไป
ความทุกข์จากปัญหาชีวิตหรือความอยากนั้นก็จะย้อนกลับมาอีกเป็นธรรมดาครับ