Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๕๙

เทศกาลรับซองแจกซอง

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 


dharmajaree-159

ช่วงระยะเวลา ๑ เดือนหลังจากวันปวารณาออกพรรษา
คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ (หรือวันเพ็ญ) เดือน ๑๒
เป็นช่วงระยะเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงอนุญาตให้สงฆ์รับผ้ากฐินได้
โดยเหตุที่กฐินทานเป็นทานที่ถวายตามกาล หรือพระภิกษุสามารถรับได้ตามกาล
จึงเรียกว่าเป็น “กาลทาน” ซึ่งหมายถึงทานหรือสิ่งของที่มีกำหนดระยะเวลาถวายภิกษุสงฆ์
เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุรับทานเช่นนั้นได้
หากถวายก่อนหรือหลังระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ย่อมไม่ถือว่าเป็นกาลทาน

ในช่วงเวลากฐินนี้ ญาติธรรมหลาย ๆ ท่านก็มักจะแจกซองกฐินเพื่อให้ร่วมทำบุญ
โดยเวลาที่มีการแจกซองกฐินนั้น คนที่รับซองแต่ละท่านก็อาจจะรู้สึกแตกต่างกันไป
บางท่านอาจรู้สึกว่า แหม พวกนี้หาเรื่องมาให้เราเสียเงินอีกแล้ว
บางท่านอาจรู้สึกว่า ดีใจจังเป็นโอกาสที่เราจะได้ร่วมทำบุญในงานกฐิน
บางท่านอาจรู้สึกว่า ขอดูก่อนว่าเป็นกฐินของวัดไหน และวัตถุประสงค์จะนำไปสร้างอะไร ฯลฯ
ซึ่งก็แล้วแต่จริตนิสัยของแต่ละท่าน

ยกตัวอย่างเช่น ผมเคยได้ยินเพื่อนเล่าถึงบางท่านเกี่ยวกับเรื่องซองกฐินนะครับ
มีท่านหนึ่งได้รับซองกฐินมา และเปิดซองเห็นชื่อตนเองเป็นกรรมการแล้ว เขาก็บอกว่า
“โอ มีชื่อเราเป็นกรรมการด้วย แสดงว่าเราได้เคยให้เงินกฐินไปแล้ว จึงได้มีชื่อเรา”
อีกท่านหนึ่งได้รับซองกฐินมา และเปิดซองแล้ว เขาไม่เห็นชื่อตนเองเป็นกรรมการ ก็บอกว่า
“เอ ไม่มีชื่อเราเป็นกรรมการ แสดงว่าเราไม่ต้องให้เงินกฐิน เพราะเราไม่ใช่กรรมการ”
อีกท่านหนึ่งได้รับซองไปแล้ว บอกว่าคืนซองให้แล้ว แต่คนแจกซองตรวจดูแล้วก็ไม่พบ
พอไปถามว่าให้เมื่อไร วางไว้ตรงไหน ก็ตอบแบบหลบ ๆ เลี่ยง ๆ จับความไม่ได้
อะไรทำนองนี้ก็มีอยู่ไม่น้อยนะครับ ไม่ใช่ว่าทุกคนได้รับซองกฐินแล้วจะอยากทำบุญทุกคน
ดังนั้น เวลาที่เรารับซองกฐินมาแจกนั้น เราจะแจกให้ใคร
เราก็พึงพิจารณาก่อนด้วยว่าคนรับซองนั้น เขาจะพอใจร่วมทำบุญหรือเปล่า

อนึ่ง ขอแนะนำให้ระมัดระวังด้วยว่า เคยพบว่ามีญาติธรรมบางท่านทำซองกฐินแจก
โดยเวลาทำซองนั้นใช้กระดาษ หมึกพิมพ์ และเครื่องพิมพ์ของที่ทำงาน
ซึ่งในกรณีดังกล่าวย่อมจะกลายเป็นว่าใช้ทรัพย์สินส่วนกลางในเรื่องส่วนตัว
โดยได้บุญกุศลจากการเรี่ยไรกฐิน แต่ได้บาปอกุศลจากการผิดศีลข้ออทินนาฯ
หากได้ทำทานแต่ว่าต้องผิดศีลนี้ ถือว่าไม่เหมาะสมครับ โดยเราพึงรักษาศีลไว้เป็นสำคัญ

สำหรับเรื่องทำบุญด้วยตนเองและชักชวนคนอื่นทำบุญนี้ ในพระไตรปิฎกได้สอนว่า
เวลาที่เราทำทานเอง ก็ย่อมจะได้อานิสงส์ในส่วนโภคสมบัติของตนเอง
หากเราชักชวนคนอื่นทำทาน ก็ย่อมจะได้อานิสงส์ในส่วนบริวารสมบัติ
หากเราทั้งทำทานเอง และชักชวนคนอื่นทำทาน ก็ย่อมจะได้ทั้งสองอย่าง
โดยได้กล่าวในเรื่องเล่าเกี่ยวกับเศรษฐีชื่อ “พิฬาลปทกะ” ว่า
ในสมัยหนึ่ง ชาวเมืองสาวัตถีพากันถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
อยู่มาวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำอนุโมทนา โดยได้ตรัสว่า
"อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ให้ทานด้วยตน แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น
เขาย่อมได้โภคสมบัติ แต่ไม่ได้บริวารสมบัติ ในที่แห่งตนเกิดแล้ว
บางคนไม่ให้ทานด้วยตน ชักชวนแต่คนอื่น
เขาย่อมได้บริวารสมบัติ แต่ไม่ได้โภคสมบัติ ในที่แห่งตนเกิดแล้ว
บางคนไม่ให้ทานด้วยตนด้วย ไม่ชักชวนคนอื่นด้วย
เขาย่อมไม่ได้โภคสมบัติไม่ได้บริวารสมบัติ ในที่แห่งตนเกิดแล้ว เป็นคนเที่ยวกินเดน
บางคนให้ทานด้วยตนด้วย ชักชวนคนอื่นด้วย
เขาย่อมได้ทั้งโภคสมบัติและบริวารสมบัติ ในที่แห่งตนเกิดแล้ว

ครั้งนั้น มีบัณฑิตบุรุษผู้หนึ่งฟังธรรมเทศนาดังกล่าวแล้ว คิดว่า
"โอ เหตุนี้น่าอัศจรรย์ บัดนี้ เราพึงจะทำกรรมที่เป็นไปเพื่อสมบัติทั้งสอง"
บัณฑิตบุรุษนั้นจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พรุ่งนี้ ขอพระองค์จงทรงรับภิกษาของพวกข้าพระองค์"
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า “ท่านมีความต้องการด้วยภิกษุสักเท่าไร”
บัณฑิตบุรุษนั้นตอบว่า “ภิกษุทั้งหมด พระเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับแล้ว
หลังจากนั้น บัณฑิตบุรุษนั้นก็เข้าไปยังบ้านเรือนต่าง ๆ พร้อมกับเที่ยวป่าวร้องว่า
"ข้าแต่แม่และพ่อทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
เพื่อฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ ผู้ใดอาจถวายแก่ภิกษุทั้งหลายมีประมาณเท่าใด
ผู้นั้นจงให้วัตถุต่างๆ มีข้าวสารเป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่อาหาร มียาคูเป็นต้น
เพื่อภิกษุทั้งหลายมีประมาณเท่านั้น พวกเราจักหุงต้มในที่แห่งเดียวกันแล้วถวายทาน"

ในครานั้นเอง มีเศรษฐีคนหนึ่งเห็นบัณฑิตบุรุษนั้นมาถึงประตูร้านตลาดของตน
ก็โกรธว่า "เจ้าคนนี้ ไม่นิมนต์ภิกษุแต่พอกำลังของตน ต้องมาเที่ยวชักชวนชาวบ้านทั้งหมดอีก"
จึงบอกว่า "เจ้าจงนำเอาภาชนะที่เจ้าถือมา"
ดังนี้แล้ว เอานิ้วมือ ๓ นิ้วหยิบ ได้ให้ข้าวสารหน่อยหนึ่ง ถั่วเขียว ถั่วราชมาษก็เหมือนกัน
แม้เมื่อจะให้เภสัชมีเนยใสและน้ำอ้อยเป็นต้น
ก็เอียงปากขวดเข้าที่หม้อ ทำให้ปากขวดนั้นติดเป็นอันเดียวกัน
ให้เภสัชมีเนยใสและน้ำอ้อยเป็นต้น ไหลลงทีละหยดๆ ได้ให้หน่อยหนึ่งเท่านั้น

บัณฑิตบุรุษนั้นนำวัตถุทานที่คนอื่นให้มารวมกัน แต่ได้แยกเอาสิ่งของที่เศรษฐีนี้ให้ไว้ต่างหาก
เศรษฐีนั้นเห็นกิริยาของบัณฑิตบุรุษนั้นแล้ว ก็คิดว่า
“ทำไมหนอ เจ้าคนนี้จึงแยกสิ่งของที่เราให้ไว้ต่างหาก
?
เศรษฐีจึงส่งบริวารคนหนึ่งไปสืบดู บริวารของเศรษฐีดังกล่าวได้พบว่า
บัณฑิตบุรุษกล่าวว่า “ขอผลใหญ่จงมีแก่เศรษฐี” จากนั้นก็ใส่ข้าวสาร ๑-๒ เมล็ด
เพื่อประโยชน์แก่ยาคู ภัต และขนม ใส่ถั่วเขียวถั่วราชมาษบ้าง
หยาดน้ำมันและหยาดน้ำอ้อยเป็นต้นบ้าง ลงในภาชนะทุกๆ ภาชนะ
บริวารของเศรษฐีได้ไปแจ้งความดังกล่าวให้แก่เศรษฐีแล้ว
เศรษฐีได้ทราบความนั้นแล้วคิดว่า
"หากเจ้าคนนั้นกล่าวโทษเราในท่ามกลางบริษัทแล้ว
พอมันเอ่ยชื่อของเราขึ้นเท่านั้น เราจะประหารมันให้ตาย"
ในวันรุ่งขึ้น เศรษฐีจึงเหน็บกฤชไว้ในระหว่างผ้านุ่งแล้ว ได้ไปยืนอยู่ที่โรงครัว

บัณฑิตบุรุษนั้นได้ถวายภัตตาหารแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานแล้ว
จากนั้น เขาได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ชักชวนมหาชนถวายทานนี้
พวกมหาชนที่ข้าพระองค์ชักชวนแล้วได้ให้ข้าวสารเป็นต้นมากบ้างน้อยบ้างตามกำลังของตน
ขอผลอันไพศาลจงมีแก่มหาชนเหล่านั้นทั้งหมด”
เศรษฐีได้ยินคำนั้นแล้วคิดว่า “เรามาด้วยตั้งใจว่า พอมันเอ่ยชื่อของเราขึ้นว่า
เศรษฐีชื่อโน้นถือเอาข้าวสารเป็นต้นด้วยหยิบมือให้ เราก็จักฆ่าบุรุษนี้ให้ตาย
แต่บัณฑิตบุรุษนี้ทำทานให้รวมกันทั้งหมด แล้วกล่าวว่า ทานที่ชนเหล่าใดตวงด้วยทะนานเป็นต้นแล้วให้ก็ดี
ทานที่ชนเหล่าใดถือเอาด้วยหยิบมือแล้วให้ก็ดี ขอผลอันไพศาล จงมีแก่ชนเหล่านั้นทั้งหมด
ถ้าเราจักไม่ให้บุรุษเห็นปานนี้อดโทษแล้ว เราคงจะได้รับผลกรรมหนักเป็นแน่แท้”

เศรษฐีนั้นจึงออกมาหมอบลงแทบเท้าของบัณฑิตบุรุษนั้นแล้วกล่าวว่า
“นาย ... ขอนายจงอดโทษให้ผมด้วย”
บัณฑิตบุรุษนั้นถามว่า “นี้คือเรื่องอะไรกัน
?
เศรษฐีนั้นจึงเล่าเรื่องนั้นทั้งหมดแก่บัณฑิตบุรุษ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นดังนั้นแล้ว จึงได้ตรัสว่า
“อุบาสก ขึ้นชื่อว่าบุญ อันใคร ๆ ไม่ควรดูหมิ่นว่าเล็กน้อย
อันบุคคลถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเช่นเราเป็นประธานแล้ว
ไม่ควรดูหมิ่นว่าเป็นของเล็กน้อย ด้วยว่าบุรุษผู้บัณฑิตทำบุญอยู่ย่อมเต็มไปด้วยบุญโดยลำดับแน่แท้
เปรียบเหมือนภาชนะที่เปิดปากย่อมเต็มไปด้วยน้ำ ฉะนั้น”
หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระคาถานี้ว่า

มาวมญฺเญถ ปุญฺญสฺส ......... น มตฺตํ อาคมิสฺสติ
อุทพินฺทุนิปาเตน ......... อุทกุมฺโภปิ ปูรติ
อาปูรติ ธีโร ปุญฺญสฺส ......... โถกํ โถกํปิ อาจินํ.
บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญว่า “บุญมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง”
แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมา (ทีละหยาดๆ) ได้ฉันใด
ธีรชน (ชนผู้มีปัญญา) สั่งสมบุญแม้ทีละน้อย ๆ ย่อมเต็มด้วยบุญได้ฉันนั้น

เมื่อจบธรรมเทศนา เศรษฐีผู้นั้นได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว
อนึ่ง พระธรรมเทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่เหล่าหมู่ชนทั้งหลายที่ได้มาประชุมกัน
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=19&p=6


ดังนี้ เมื่อเราได้รับซองมาแล้ว แม้ว่าเราจะไม่ได้เงินทำบุญมากมายอะไร
หากเรามีกำลังน้อย เราก็พึงทำไปตามกำลังที่เรามี เช่น หนึ่งบาท ห้าบาท สิบบาท ก็ได้
ในทำนองเดียวกัน เวลาที่เราเห็นคนอื่น ๆ ทำบุญใส่ซองด้วยจำนวนเงินน้อย ๆ
เราก็ไม่ควรไปดูหมิ่นครับ โดยพระพุทธองค์ได้ทรงสอนแล้วว่า
“ขึ้นชื่อว่าบุญแล้ว ไม่ควรไปดูหมิ่นว่าเล็กน้อย” (โดยในกรณีนี้เป็นบุญกฐินด้วย)

บางท่านนั้น เวลาแจกซองกฐินก็มุ่งแต่ว่าต้องการจะทำยอดให้ได้เงินเยอะ ๆ
(เขาอาจจะมุ่งให้ได้บริวารสมบัติเยอะ ๆ หรือเปล่าก็ไม่ทราบ) โดยก็แจกซองเยอะมาก
อย่างผมเองเคยได้จากท่านเดียวส่งมาให้ถึง ๑๕๐ ซอง
(ลองนับญาตินับเพื่อนแล้ว ก็ยังนึกไม่ออกว่าจะไปแจก ๑๕๐ ซองให้หมดได้อย่างไร)
ซึ่งนอกจากท่านดังกล่าวนี้ ก็ยังได้รับซองกฐินจากท่านอื่น ๆ อีก
บางท่านก็ให้มาซองเดียว บางท่านก็ให้มาเป็นสิบซอง ให้ช่วยฝากแจกด้วยก็มี

ในสมัยเมื่อหลายปีก่อนนั้น เวลาที่ผมได้รับซองวัดเดียวกันมาเยอะ ๆ
ผมก็จะนำเงินไปแตกเป็นธนบัตรย่อย ๆ แล้วก็พยายามใส่ให้ครบทุกซอง
เพื่อว่าเวลาคืนซองให้กับท่านที่ให้ซองมานั้น จะได้คืนซองให้โดยมีเงินทุกซอง
ต่อมา ก็คิดได้ว่าทำอย่างนั้นมันก็เพิ่มงานตัวเอง แถมเปลืองซอง เปลืองกระดาษ
ดังนี้ ในหลายปีหลัง ๆ มานี้ เวลาที่ผมได้รับซองเรี่ยไรงานเดียวมาจำนวนเยอะมาก
ผมก็จะปฏิเสธและคืนซองส่วนเกินไปทันที โดยจะรับไว้เฉพาะเท่าจำนวนที่เราบริหารได้
เพราะเราเองก็ไม่ได้รับซองมาแค่วัดเดียวหรือจากท่านเดียว
แต่ปกติแล้ว เราก็จะได้รับมาจากหลายวัด และจากหลายท่าน
ดังนี้ เราก็พึงพิจารณาทำไปตามกำลังของเราครับ (ไม่ไหวก็ไม่ต้องไปฝืนทำเกินกำลัง)
โดยการทำทานจนเกินกำลังนั้น ย่อมจะเป็นการสร้างภาระแก่ตนเอง
ซึ่งเมื่อตนเองมีภาระหนักเกินแล้ว ก็อาจจะมีผลกระทบต่อการปฏิบัติธรรมอื่น ๆ ได้
เช่น มุ่งทำทานหนักมากจนกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ก็กระทบต่อการภาวนาได้ครับ

ในท้ายนี้ สำหรับบางท่านอาจจะไม่ได้รับซองกฐินเลย หรือไม่ได้แจกซองกฐินก็ตาม
ก็สามารถร่วมทำบุญถวายกฐินได้ไม่ยากนะครับ โดยสามารถค้นจากอินเตอร์เน็ต
หรือเว็บบอร์ดธรรมะต่าง ๆ ที่มีการประชาสัมพันธ์งานกฐินของวัดต่าง ๆ
ดยเราสามารถทำการโอนปัจจัยไปร่วมทำบุญกฐินได้ครับ
บางท่านนั้นไม่ได้เดินทางไปวัดแห่งไหนเลย ไม่ได้เดินทางไปร่วมงานกฐินที่วัดใดเลย
แต่สามารถโอนปัจจัยไปร่วมงานบุญกฐินได้หลายสิบวัดเลยทีเดียวก็มี
ส่วนท่านไหนที่ยังไม่ได้ร่วมทำบุญกฐินเลยในปีนี้
หรือยังไม่ได้วางแผนเลยว่าจะร่วมทำบุญกฐินที่ไหน เพราะมีกิจธุระมากก็ตาม
ท่านก็สามารถลองค้นหาข้อมูลดู และโอนปัจจัยไปร่วมทำบุญกฐินได้ครับ
โดยผมก็ขอแนะนำอีกครั้งหนึ่งนะครับว่า “ขึ้นชื่อว่าบุญ อย่าดูหมิ่นว่าเล็กน้อย”