Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๕๘

เจแตก เจด่างพร้อย

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 


dharmajaree-158s

ในช่วงเทศกาลทานเจนั้น ปกติแล้วจะมีอยู่ ๒ ประโยคที่ผมมักจะได้พบอยู่บ่อย ๆ
ประโยคแรกคือประโยคคำถามที่ญาติธรรมถามผมว่า “คุณทานเจหรือเปล่า”
ซึ่งถ้าท่านที่ถามสนิทกัน ผมก็มักจะตอบว่า “ทานเจอครับ”
(กล่าวคือ “เจอ” อะไรอร่อย ก็ทานหมดล่ะครับ ไม่ว่าจะเจหรือไม่เจก็ตาม)
ประโยคที่สองก็คือประโยคบอกเล่าว่า “เจแตกแล้ว”
ขออธิบายเพิ่มเติมสำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคยกับประโยคว่า “เจแตก” ครับ
ประโยคว่า “เจแตก” ในที่นี้หมายถึงกรณีที่ท่านตั้งใจทานเจตลอดเทศกาลทานเจ
แต่ว่าท่านพลาดพลั้งไปทานอาหารที่ไม่ใช่อาหารเจ ทั้งที่ทราบ

ทั้งนี้ ผมใช้ประโยคว่าไปทานอาหารที่ไม่ใช่อาหารเจ ทั้งที่ทราบ
ถามว่า ทำไมจะต้องมีคำว่า “ทั้งที่ทราบ” ด้วย
ตอบว่า หากไม่ได้กระทำโดยทั้งที่ทราบแล้ว ก็ย่อมจะไม่เรียกว่าเจแตก
อย่างเช่น ท่านไปทานเนื้อสัตว์โดยที่ท่านไม่ทราบ แต่ท่านเข้าใจว่าเป็นอาหารเจ
เช่นนี้ก็ถือว่าเจไม่แตก และท่านยังอยู่ในเจ
ในทำนองเดียวกับการถือศีลห้า ซึ่งสมมุติว่าเราเดินไปเหยียบมด โดยที่เราไม่เห็น
ก็คือเราไม่ได้เจตนาที่จะไปเหยียบมด ก็เท่ากับว่าเราไม่ได้ประพฤติผิดศีล

อย่างเมื่อไม่นานมานี้ ก็เคยมีข่าวปรากฏว่ามีพ่อค้าบางรายนำเนื้อสัตว์ไปผสมลงใน
วัตถุดิบเพื่อทำอาหารเจ เพื่อที่จะช่วยให้รสชาติของอาหารเจอร่อยมากขึ้น
หากสมมุติว่าเราไปทานอาหารที่ใช้วัตถุดิบดังกล่าวนั้น
แต่ว่าเราไม่ทราบแล้ว ก็เท่ากับว่าเจไม่แตกครับ

อย่างไรก็ดี ก็มีญาติธรรมท่านหนึ่งที่ทานเจได้เคยให้ความเห็นกับผมว่า
การทานเจที่ปลอดภัยจากเจแตกก็คือ ทานอาหารที่เป็นผักผลไม้นั่นแหละ
อย่างประเภทที่ทานอาหารเจเลียนแบบเนื้อสัตว์ เช่น
สเต็กเนื้อเจ ลาบเป็ดเจ หมูทอดเจ ไก่ทอดเจ หมูน้ำตกเจ ฯลฯ
ซึ่งใช้เนื้อสัตว์เทียมมาทำอาหารเจนั้น
ลำพังเพียงแค่เราระลึกในใจถึงชื่ออาหาร ก็สุ่มเสี่ยงกับเจด่างพร้อยในจิตใจแล้ว
โดยญาติธรรมท่านนี้มองว่า การทานเจนั้นก็เป็นทำนองเดียวกับการถือศีล
กล่าวคือจะต้องทานเจทั้งทางกาย วาจา และใจ
กรณีไม่ใช่ว่าทานอาหารเจแต่ทางกาย ส่วนในใจคิดว่าทานเนื้อสัตว์อยู่
หรือกำลังทานอาหารเจ แต่ก็กล่าววาจาเกี่ยวกับทานเนื้อสัตว์ เช่นนี้ก็คือเจด่างพร้อย

หากสมมุติเปรียบเทียบกับกรณีของการถือศีลแล้ว
เราลองเปรียบเทียบกับกรณีเราดื่มเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์
แต่ในใจเราระลึกตลอดว่าเป็นแอลกอฮอล์ และระลึกว่าเรากำลังทานแอลกอฮอล์
กับอีกกรณีหนึ่ง เราหลงไปดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ โดยที่เราไม่ทราบ
และเราเข้าใจว่าเป็นเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์
ลองเปรียบเทียบสองกรณีนี้แล้ว เห็นว่ากรณีไหนศีลขาดและด่างพร้อย

ญาติธรรมท่านนี้จึงให้ความเห็นว่าบางคนนั้นทานอาหารเจอยู่
แต่ว่าเจด่างพร้อยหรือเจแตกไปแล้ว แม้กระทั่งทานอาหารเจนั่นแหละ
เพราะเลือกทานแต่ประเภทอาหารเจที่มีชื่อเป็นเนื้อสัตว์ทั้งนั้น ใจหมกมุ่นอยู่กับเนื้อสัตว์
ยิ่งปรุงอาหารได้ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์มากเท่าไร ก็ยิ่งชื่นชมและติดใจในรสชาติ
แต่หากปรุงอาหารมีรสชาติห่างไกลกับเนื้อสัตว์แล้ว ก็ตำหนิไม่พอใจ
อย่างนี้ก็เท่ากับว่า ร่างกายทานอาหารเจ แต่ในใจระลึกคิดถึงเนื้อสัตว์ จึงไม่ใช่เจแท้ ๆ
เพราะเจอยู่แค่ที่ร่างกายเท่านั้น แต่ไม่ได้เจมาถึงวาจา และใจด้วย
(คือขณะที่สั่งอาหารชื่อเนื้อสัตว์ดังกล่าว เจก็ด่างพร้อยทั้งทางวาจาและใจแล้ว)

ผมเคยถามญาติธรรมท่านนี้ว่า “ทานเจเพื่ออะไร”
เขาตอบว่า ทานเจเป็นเพื่อนคุณแม่ เพราะคุณแม่เป็นคนเดียวที่ทานเจในบ้าน
หากคุณแม่ทานเจแค่คนเดียว เวลาซื้อ ทำ หรือทานอาหารเจ ก็จะไม่ค่อยสะดวกใจ
เขาก็เลยทานเป็นเพื่อนคุณแม่ เพื่อให้คุณแม่สบายใจและสะดวกใจ
ซึ่งก็ถือว่าเป็นตัวอย่างของความกตัญญู และการปฏิบัติที่น่าชื่นชมนะครับ
โดยเพียงแค่ทานเป็นเพื่อนคุณแม่เท่านั้น ก็ยังมุ่งมั่นรักษาเจไว้อย่างเข้มแข็งและประณีตเช่นนี้

ทีนี้ ในประโยคว่า “เจแตก” ที่ผมมักจะได้ยินในช่วงเทศกาลทานเจนั้น
ญาติธรรมที่กล่าวประโยคนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ กลุ่มครับ
กลุ่มแรกคือกลุ่มที่เจแตกแล้ว ก็แตกเลย
ทำนองว่าไหน ๆ ก็เจแตกแล้วในปีนี้ ก็เลยหันมาทานเนื้อสัตว์ต่อไปเลย เดี๋ยวปีหน้าค่อยว่ากันใหม่
ส่วนกลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่เจแตกแล้ว ก็ถือว่าแตกเฉพาะมื้อนั้น ๆ แต่ก็ยังทานเจต่อไป

ถามว่าทั้งสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร?
ตอบว่าแนะนำให้เราลองเปรียบเทียบกับการรักษาศีลห้านะครับ
มีบางท่านที่เมื่อศีลขาดในเวลาใดแล้ว ก็บอกว่าไหน ๆ ก็ศีลขาดแล้ว ก็เลยปล่อยเลยตามเลย
เช่นสมมุติว่า ไปกินเลี้ยงกับเพื่อน แล้วก็ห้ามใจตัวเองไม่ได้ จนดื่มสุราไปแก้วหนึ่งแล้ว
จึงคิดว่าไหน ๆ ก็ศีลขาดแล้ว ก็ปล่อยให้ขาดไปเลย ก็เลยดื่มสุราต่อเสียเยอะ
จากนั้นก็ไปเที่ยวกลางคืน หรือไปทำเรื่องอื่น ๆ ซึ่งผิดศีลข้ออื่น ๆ ด้วย หรือผิดศีลข้อเดิมมากยิ่งขึ้น
แต่มีบางท่านที่เมื่อศีลขาดไปแล้ว รีบรู้สึกตัว และกลับตัวกลับใจมารักษาศีลให้เข้มแข็ง
อย่างเช่นไปกินเลี้ยงกับเพื่อน แล้วก็ห้ามใจตัวเองไม่ได้ จนดื่มสุราไปแก้วหนึ่งแล้ว
ก็รู้สึกตัวขึ้นมาได้ แล้วก็หยุดไม่กระทำผิดศีลต่อไป จากนั้นระมัดระวังไม่ให้ศีลขาดอีก

ในลักษณะวิธีการหลังนี้เป็นวิธีการของชาวพุทธเราครับ
กล่าวคือว่าเมื่อรู้ตัวว่าได้ทำผิดพลาดอะไรลงไปแล้ว ให้รีบสำนึกผิด แล้วตั้งใจว่าจะไม่ทำผิดซ้ำอีก
ไม่ใช่ว่าพอผิดไปแล้ว ก็คิดว่าไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว ก็ปล่อยเลยตามเลยไปเลยก็แล้วกัน
ในลักษณะของการปล่อยเลยตามเลย ไหลไปทำผิดมากขึ้น หรือทำผิดซ้ำนั้น
ไม่ใช่แนวทางตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าครับ
โดยหากเราจะลองเปรียบเทียบกับแนวทางปฏิบัติของพระภิกษุแล้ว
ก็จะพบว่าเวลาที่พระภิกษุได้ประพฤติสิ่งใด ๆ อันเป็นอาบัติแล้ว
ท่านก็พึงปลงอาบัติ กล่าวคือสารภาพผิด และตั้งใจว่าจะไม่ทำผิดอีก

ในที่นี้ ขอยกพระสูตรชื่อ “สามัญผลสูตร” มาเล่า (พระสูตรนี้ยาวมาก ก็ขอเล่าแบบย่อ ๆ นะครับ)
ในสมัยพุทธกาลนั้น มีกษัตริย์องค์หนึ่งชื่อพระเจ้าอชาตศัตรู
โดยพระเจ้าอชาตศัตรูไปหลงเชื่อพระเทวทัตจนทำปิตุฆาต คือฆ่าบิดาตนเอง
ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูได้สำนึกในการกระทำผิดของตน
และได้ไปยังสำนักต่าง ๆ เพื่อสอบถามในเรื่องการบำเพ็ญทักษิณาทาน
โดยได้ไปสอบถามเจ้าสำนักทั้ง ๖ ในเวลานั้น ซึ่งได้แก่ ศาสดาปูรณะ กัสสป
ศาสดามักขลิ โคศาล ศาสดาอชิตะ เกสกัมพล ศาสดาปกุธะ กัจจายนะ
ศาสดานิครนถ์ นาฏบุตร และศาสดาสญชัย เวลัฏฐบุตร
แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ตนเองพอใจ เชื่อถือได้ และสมควรใส่ใจ

ต่อมา ท่านหมอชีวก โกมารภัจจ์ ได้แนะนำพระเจ้าอชาตศัตรูให้ไปพบกับพระผู้มีพระภาคเจ้า
ซึ่งประทับอยู่ ณ สวนอัมพวัน พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป
พระเจ้าอชาตศัตรูได้เสด็จไปตามคำแนะนำของท่านหมอชีวก โกมารภัจจ์นั้น
โดยในระหว่างที่เสด็จใกล้จะถึงสวนอัมพวันนั้น
พระเจ้าอชาตศัตรูได้เกิดทรงหวาดหวั่นครั่นคร้าม และทรงมีความสยดสยองขึ้นว่า
ทำไมบรรยากาศแห่งสวนอัมพวันจึงได้เงียบสงัดเช่นนี้
พระองค์จึงได้ตรัสกับหมอชีวก โกมารภัจจ์ว่า
"ชีวกผู้สหาย ท่านไม่ได้ลวงเราหรือ ชีวกผู้สหาย ท่านไม่ได้หลอกเราหรือ
ชีวกผู้สหาย ท่านไม่ได้ล่อเรามาให้ศัตรูหรือ เหตุไฉนเล่า ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ตั้ง ๑๒๕๐ รูป
จึงไม่มีเสียงจาม เสียงกระแอม เสียงพึมพำเลย”

ท่านหมอชีวก โกมารภัจจ์ได้กราบทูลให้พระเจ้าอชาตศัตรูทรงสบายพระทัยแล้ว
พระเจ้าอชาตศัตรูก็เสด็จไปจนถึงที่เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระเจ้าอชาตศัตรูได้ประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว
ทรงชำเลืองเห็นหมู่ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่นิ่งสงบเหมือนห้วงน้ำใส
ทรงเปล่งพระอุทานว่า ขอให้ “อุทยภัทท์กุมาร” ของเราจงมีความสงบอย่างภิกษุสงฆ์นี้เถิด
(อุทยภัทท์กุมาร คือพระราชโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรู)

จากนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูจึงได้สอบถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
บรรดาศิลปศาสตร์ทั้งหลาย (เช่น การเป็นทหาร การเป็นช่าง การเป็นนักบัญชี หรืออื่น ๆ)
ย่อมทำให้คนเราอาศัยผลแห่งศิลปศาสตร์นั้น บำรุงตน มารดาบิดา บุตรภริยา
มิตรอำมาตย์ให้เป็นสุขอิ่มหนำสำราญได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้
แต่สำหรับการบำเพ็ญทักษิณาทานอันมีผลอย่างสูง เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี
มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ในสมณพราหมณ์ทั้งหลายนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าอาจบัญญัติสามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้บ้างหรือไม่?

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้สอบถามพระเจ้าอชาตศัตรูว่า
พระเจ้าอชาตศัตรูได้เสด็จไปสอบถามคำถามนี้กับสมณพราหมณ์สำนักอื่น ๆ แล้วเป็นอย่างไร
พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเล่าคำตอบของสมณพราหมณ์สำนักอื่น ๆ ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ
และทรงสรุปว่าตนเองไม่ได้รับคำตอบที่ตนเองพอใจ เชื่อถือได้ และสมควรใส่ใจ
จากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงตอบ โดยถามพระเจ้าอชาตศัตรูว่า
สมมติว่ามีบุรุษผู้เป็นทาสกรรมกรคนหนึ่ง มีหน้าที่ปกติตื่นก่อน นอนทีหลัง
คอยรับฟังพระบัญชาว่า จะโปรดให้ทำอะไร พึงประพฤติให้ถูกพระทัย
พึงกราบทูลไพเราะ คอยเฝ้าสังเกตพระพักตร์
ต่อมา ทาสกรรมกรผู้นี้เห็นว่าคติของบุญ วิบากของบุญ น่าอัศจรรย์นัก
พระเจ้าอชาตศัตรูพระองค์นี้เป็นมนุษย์ แม้เราก็เป็นมนุษย์
แต่พระองค์ท่านทรงเอิบอิ่มพรั่งพร้อมบำเรออยู่ด้วยเบญจกามคุณดุจเทพเจ้า
ส่วนเราเป็นทาสรับใช้ของพระองค์ท่าน ต้องตื่นก่อนนอนทีหลัง
ต้องคอยฟังพระบัญชาว่าโปรดให้ทำอะไร ต้องประพฤติให้ถูกพระทัย ต้องกราบทูลไพเราะ
ต้องคอยเฝ้าสังเกตพระพักตร์ ดังนี้ เราพึงทำบุญจะได้เป็นเหมือนพระองค์ท่าน
ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต
ต่อมา เขาได้ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต
เป็นผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจอยู่
สันโดษด้วยความมีเพียงอาหารและผ้าปิดกายเป็นอย่างยิ่ง ยินดียิ่งในความสงัด
ถ้าพวกราชบุรุษพึงกราบทูลถึงพฤติการณ์ของเขาอย่างนี้ว่า
ขอเดชะ ขอพระองค์พึงทรงทราบเถิด บุรุษผู้เป็นทาสกรรมของพระองค์ผู้ตื่นก่อน นอนทีหลัง
คอยฟังพระบัญชาว่าจะโปรดให้ทำอะไร ประพฤติถูกพระทัย กราบทูลไพเราะ
คอยเฝ้าสังเกตพระพักตร์อยู่นั้น เขาปลงผมและหนวด นุ่งผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต
เมื่อบวชแล้ว เป็นผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจอยู่ สันโดษด้วยความมีเพียงอาหาร
และผ้าปิดกายเป็นอย่างยิ่ง ยินดียิ่งในความสงัดแล้ว
มหาบพิตรจะพึงตรัสอย่างนี้ไหมว่า เจ้าคนนั้น จงมาสำหรับข้า
จงมาเป็นทาสและกรรมกรของข้า จงตื่นก่อนนอนทีหลัง จงคอยฟังบัญชาว่าจะให้ทำอะไร
ประพฤติให้ถูกใจ พูดไพเราะ คอยเฝ้าสังเกตดูหน้าอีกตามเดิม?

พระเจ้าอชาตศัตรูทูลตอบว่า จะเป็นเช่นนั้นไม่ได้เลย พระเจ้าข้า
อันที่จริงหม่อมฉันเสียอีก ควรจะไหว้เขา ควรจะลุกรับเขา ควรจะเชื้อเชิญเขาให้นั่ง
ควรจะบำรุงเขาด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
ควรจะจัดการรักษาป้องกันคุ้มครองเขาอย่างเป็นธรรม
พระเจ้าอชาตศัตรูจึงได้ยอมรับว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสามัญผลที่เห็นประจักษ์เป็นข้อแรก
และได้ขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสามัญผลที่เห็นประจักษ์ในข้ออื่น ๆ

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงอธิบาย โดยถามพระเจ้าอชาตศัตรูว่า
สมมุติว่ามีบุรุษเป็นชาวนา เป็นคหบดี ซึ่งเสียค่าอากรเพิ่มพูนพระราชทรัพย์อยู่คนหนึ่ง
เขาเห็นอย่างนี้ว่า คติของบุญ วิบากของบุญ น่าอัศจรรย์นัก
พระเจ้าอชาตศัตรูพระองค์นี้ เป็นมนุษย์ แม้เราก็เป็นมนุษย์
แต่พระองค์ท่านทรงเอิบอิ่มพรั่งพร้อมบำเรออยู่ด้วยเบญจกามคุณดุจเทพเจ้า
ส่วนเราเป็นชาวนา เป็นคหบดีต้องเสียค่าอากรเพิ่มพูนพระราชทรัพย์
ดังนี้ เราพึงทำบุญ จะได้เป็นเหมือนพระองค์ท่าน
ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต
สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่
ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต
เมื่อบวชแล้ว เป็นผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจอยู่
สันโดษด้วยความมีเพียงอาหารและผ้าปิดกายเป็นอย่างยิ่ง ยินดียิ่งในความสงัด
ถ้าพวกราชบุรุษพึงกราบทูลพฤติการณ์ของเขาอย่างนี้ว่า
ขอเดชะ ขอพระองค์พึงทรงทราบเถิด บุรุษผู้เป็นชาวนา เป็นคฤหบดี
ซึ่งเสียค่าอากรเพิ่มพูนพระราชทรัพย์ของพระองค์อยู่นั้น
เขาปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต
เมื่อบวชแล้ว เขาเป็นผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ
อยู่สันโดษด้วยความมีเพียงอาหารและผ้าปิดกายเป็นอย่างยิ่ง ยินดียิ่งในความสงัด
มหาบพิตรจะพึงตรัสอย่างนี้ไหมว่า เจ้าคนนั้น เจ้าจงมาสำหรับข้า
จงมาเป็นชาวนา เป็นคหบดีเสียค่าอากรเพิ่มพูนทรัพย์ตามเดิม?

พระเจ้าอชาตศัตรูทูลตอบว่า จะเป็นเช่นนั้นไม่ได้เลย พระเจ้าข้า
อันที่จริงหม่อมฉันเสียอีก ควรจะไหว้เขา ควรจะลุกรับเขา ควรจะเชื้อเชิญเขาให้นั่ง
ควรจะบำรุงเขาด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
ควรจะจัดการรักษาป้องกันคุ้มครองเขาอย่างเป็นธรรม
พระเจ้าอชาตศัตรูได้ยอมรับว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสามัญผลที่เห็นประจักษ์เป็นข้อที่สอง
และได้ขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสามัญผลในข้ออื่นที่ดียิ่งกว่า
และประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์เหล่านี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้แสดงธรรม โดยอธิบายถึงพุทธคุณ
อธิบายถึงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล อินทรียสังวร อุปมานิวรณ์ รูปฌาน ๔
วิชชา ๘ (วิปัสสนาญาณ มโนมยิทธิญาณ อิทธิวิธญาณ ทิพยโสตญาณ
เจโตปริยญาณ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ)
จากนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูได้กราบทูลต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูป
ดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจำหม่อมฉันว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ผมได้เล่าสามัญผลสูตรมายาว แต่ส่วนที่ต้องการยกมาอธิบายคือส่วนตรงนี้ครับว่า
ภายหลังจากที่พระเจ้าอชาตศัตรูได้กราบทูลแสดงตนเป็นอุบาสกแล้ว
พระเจ้าอชาตศัตรูได้กราบทูลต่อไปว่า “โทษได้ครอบงำหม่อมฉัน ซึ่งเป็นคนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด
หม่อมฉันได้ปลงพระชนม์ชีพ พระบิดาผู้ดำรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เพราะเหตุแห่งความเป็นใหญ่
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับทราบความผิดของหม่อมฉัน โดยเป็นความผิดจริง เพื่อสำรวมต่อไป”
(หมายถึงว่าจะสำรวมระวังและจะไม่ทำผิดต่อไป)

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบว่า “จริง จริง ความผิดได้ครอบงำมหาบพิตรซึ่งเป็นคนเขลา
คนหลง ไม่ฉลาด มหาบพิตรได้ปลงพระชนม์ชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม
เพราะเหตุแห่งความเป็นใหญ่ แต่เพราะมหาบพิตรทรงเห็นความผิด โดยเป็นความผิดจริงแล้ว
ทรงสารภาพตามเป็นจริง ฉะนั้น อาตมภาพ ขอรับทราบความผิดของมหาบพิตร
ก็การที่บุคคลเห็นความผิดโดยเป็นความผิดจริง แล้วสารภาพตามเป็นจริง รับสังวรต่อไป
นี้เป็นความชอบในวินัยของพระอริยเจ้า”

เช่นนี้แล้ว หากเราพลาดเจแตกไปแล้ว ก็พึงสำนึกผิดตามจริง และตั้งใจว่าจะสำรวมระวังต่อไป
หากเราพลาดศีลขาดหรือศีลด่างพร้อยไปแล้ว ก็พึงสำนึกผิดตามจริง และตั้งใจว่าจะสำรวมระวังต่อไป
หากเราพลาดกระทำสิ่งใด ๆ ไม่ดีลงไปแล้ว ก็พึงสำนึกผิด และตั้งใจจะสำรวมระวังต่อไป
ไม่ใช่จะไปคิดว่า ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว ก็ปล่อยเลยตามเลย
หากเราไหลไปในทางไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว จะยิ่งทำให้เราผิดมากขึ้นไปอีก
เสมือนกับพลาดทำสกปรกไปแล้ว แต่กลับทำสกปรกมากขึ้นอีก ก็ยิ่งล้างทำความสะอาดยากขึ้นครับ