Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๕๗

บูชาพระเครื่องโดยไม่เสียเงิน

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 


dharmajaree-157s

เมื่อสองเดือนก่อน ผมและญาติธรรมได้มีโอกาสไปถวายสังฆทานที่วัดแห่งหนึ่ง
หลังจากถวายสังฆทานแล้ว ก็ได้ไปกราบพระประธานและนั่งสมาธิในพระอุโบสถ
จากนั้น ก็เดินชมรอบบริเวณวัด เดินไปเดินมาก็มาถึงบริเวณจำหน่ายวัตถุมงคลของวัด
ได้พบพระภิกษุท่านที่ดูแลตู้วัตถุมงคลของวัด
โดยท่านได้เล่าให้ฟังถึงพระปิดทวารอันเป็นวัตถุมงคลประจำวัด
และจัดทำโดยหลวงปู่ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสองค์ก่อน
ซึ่งลักษณะของพระปิดทวารก็คือ ปิดตา หู จมูก ปาก ทวารหนัก และทวารเบา
รวมปิดทั้งหมด ๙ ทวาร
(อนึ่ง พระปิดทวารดังกล่าวไม่ใช่พระในภาพในคอลัมน์นี้นะครับ
พระในภาพในคอลัมน์นี้เป็นภาพของพระประธานของวัดอีกแห่งหนึ่ง)

พระภิกษุท่านเล่าให้ฟังว่าหลวงปู่ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสองค์ก่อนได้จัดทำพระปิดทวารนี้
เพื่อสอนว่า เราไม่ควรไปหลงตามใจทวารต่าง ๆ ในร่างกายเรา
เราไม่ควรใช้ตาดูสิ่งที่ไม่ดี ใช้หูรับฟังสิ่งไม่ดี ใช้ปากพูดสิ่งไม่ดี
ใช้จมูกดมสิ่งไม่ดี และไม่ควรไปใช้ทวารหนัก และทวารเบาไปในทางที่ไม่ดี
กล่าวคือ ให้เราคอยระมัดระวังดูแลทวารต่าง ๆ ในร่างกายเราไม่ให้ไปในทางที่ไม่ดี
และเมื่อเราประพฤติปฏิบัติดังกล่าวได้
ก็ย่อมจะเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้สิ่งไม่ดีทั้งหลายเข้ามาในชีวิตเรา
และช่วยป้องกันไม่ให้เราไปทำสิ่งไม่ดีแก่ชีวิตตนเอง

ผมได้ฟังพระภิกษุท่านเล่าจบแล้ว ก็กราบสาธุ จากนั้นก็ไปเดินชมบริเวณอื่น ๆ ต่อไป
ส่วนญาติธรรมที่มาด้วยก็ไปชมตู้วัตถุมงคลของวัด
สักพักหนึ่ง เราเดินกลับมาพบกันที่รถ และกำลังจะเดินทางกลับ
ผมได้ถามญาติธรรมว่า “เป็นยังไง ตกลงได้บูชาพระปิดทวารมาหรือเปล่า?
ญาติธรรมตอบว่า “ไม่ได้บูชามาด้วย เพราะราคาสูงมาก เงินไม่พอ
เหลือเงินติดกระเป๋าแค่ ๕๐๐ กว่าบาท แต่พระปิดทวารองค์ละหนึ่งพันกว่าบาท”
“โอ้โห ทำไมราคาสูงจังเลย” ผมอุทานขึ้นมา หลังจากได้ฟังราคาแล้ว
“ไม่มีพระปิดทวารที่จัดทำขึ้นมาใหม่นะ มีแต่เป็นพระปิดทวารที่จัดทำขึ้น
ในสมัยของหลวงปู่เจ้าอาวาสองค์ก่อนที่พระภิกษุท่านเล่านั่นแหละ
เพราะเป็นพระปิดทวารของสมัยดั้งเดิม ราคาจึงสูงหน่อย” ญาติธรรมอธิบาย
ผมก็พยักหน้า “อ้อ ... อย่างนี้นี่เอง”
(ผมเองอยากจะเสนอให้ญาติธรรมท่านนี้ยืมเงินไปใช้ก่อน
แต่ว่าในขณะนั้น ผมเองได้หยอดเงินใส่ตู้ทำบุญไปเยอะแล้ว
ซึ่งผมเหลือเงินติดตัวน้อยกว่าญาติธรรมเสียอีก)

แล้วญาติธรรมก็ถามผมว่า “แล้วนี่ไม่สนใจบูชาพระปิดทวารไปบ้างหรือ?
ผมตอบว่า “บูชามาเรียบร้อยแล้ว”
“อ้าว แล้วทำไมไม่รู้ว่าราคาเท่าไร?” ญาติธรรมกล่าวอย่างสงสัย
ผมจึงอธิบายว่า “ก็ที่พระภิกษุท่านได้เล่าถึงคำสอนของหลวงปู่เจ้าอาวาสองค์ก่อน
ว่าท่านสอนให้เราคอยระมัดระวังดูแลทวารต่าง ๆ ในร่างกายเราไม่ให้ไปในทางที่ไม่ดี
ซึ่งเมื่อได้ฟังแล้ว และตั้งใจน้อมนำคำสอนของท่านเพื่อไปประพฤติปฏิบัติตามแล้ว
ก็คือว่าผมได้บูชาพระปิดทวารของหลวงปู่ท่านมาแล้วล่ะ”

ผมอธิบายต่อไปว่า หากเราเข้าใจคำสอนของหลวงปู่และนำไปประพฤติปฏิบัติแล้ว
ก็เท่ากับว่าเรามีพระปิดทวารคอยคุ้มครองแล้ว
ในทางกลับกัน หากเราเสียเงินบูชาพระปิดทวารไปวางไว้ที่บ้าน หรือมาห้อยคอติดตัวก็ดี
แต่เราไม่ได้น้อมนำคำสอนของท่านไปประพฤติปฏิบัติ โดยเรายังใช้ตาของเราไปดูสิ่งไม่ดี
ใช้หูของเราไปฟังสิ่งไม่ดี ใช้จมูกของเราไปดมสิ่งไม่ดี ใช้ปากของเราไปพูดสิ่งไม่ดี
ใช้ทวารหนัก ทวารเบาของเราไปในทางที่ไม่ดี พระปิดทวารท่านก็คุ้มครองเราไม่ได้หรอก
เราจะไปหวังให้พระเครื่องท่านมาคอยปิดทวารให้เราไม่ได้ เราต้องปิดด้วยตัวเอง
ทีนี้ พระเครื่องก็มีประโยชน์เหมือนกันสำหรับบางท่านที่ยังต้องพึ่งอาศัยอยู่
กล่าวคือบางท่านนั้นมีพระเครื่องไว้คอยเตือนใจตนเอง
อย่างเช่นห้อยพระปิดทวารไว้ เพื่อเตือนใจตนเองให้ดูแลรักษาทวารต่าง ๆ
เช่นนี้ก็ถือว่าเป็นประโยชน์
แต่หากคิดจะบูชาไปเพื่อหวังว่า จะให้พระเครื่องมาช่วยรักษาทวารต่าง ๆ ให้ตนเอง
โดยที่ตนเองไม่ได้สนใจระมัดระวังทวารต่าง ๆ ด้วยตัวเอง อย่างนี้เข้าใจผิดแล้วล่ะ
ญาติธรรมฟังแล้ว ก็พยักหน้าว่าเข้าใจบอกว่า “อ้อ ... อย่างนี้นี่เอง”

ผมจึงเล่าต่อไปว่าพระเครื่องในประเทศไทยนั้นมีหลากหลายมากมาย
เราไม่มีทางจะมีเงินและเวลาไปบูชาพระเครื่องมาได้ทั้งหมดหรอก
ต่อให้บูชามาได้ทั้งหมด แล้วเราจะแขวนพระได้คราวละกี่องค์หรือ
?
เราแขวนอย่างมากแค่ ๕ องค์ ก็คงหนักมากแล้ว
แต่หากเราบูชาโดยน้อมนำพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
หรือของครูบาอาจารย์ไปประพฤติปฏิบัติแล้ว ก็ย่อมถือเป็นการได้บูชาพระเครื่องเช่นกัน
อย่างเช่น หากเราต้องการบูชาเหรียญของครูบาอาจารย์
เราก็นำคำสอนของท่านมาประพฤติปฏิบัติ
ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์กว่าห้อยเหรียญของท่านติดตัว แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอนของท่าน


ในทำนองเดียวกัน หากเราต้องการบูชาพระเครื่อง ซึ่งเป็นรูปของพระพุทธเจ้าแล้ว
เราก็นำพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์มาประพฤติปฏิบัติ ก็เท่ากับว่าเราได้บูชาท่านแล้ว
และเป็นประโยชน์กว่าห้อยพระเครื่องติดตัว แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน
นอกจากนี้ โดยวิธีการบูชาเช่นนี้ พระเครื่องจะอยู่กับเราตลอดเวลา (คืออยู่ที่ใจ)
เราจะอาบน้ำ จะเข้านอน ก็ไม่ต้องถอดพระออก (เพราะเราพกพระเครื่องที่ใจ)
โจรขโมยหรือใครก็ตามก็ไม่สามารถจะขโมยพระเครื่องนี้ไปจากใจเราได้
ตราบใดที่เราบูชาพระธรรมคำสอนมาประพฤติปฏิบัติที่กาย วาจา และใจ
ก็เท่ากับว่าพระเครื่องอยู่กับเราตลอด

โดยประการฉะนี้ สำหรับเรา ๆ ท่าน ๆ ที่ไม่มีเงินหรือเวลาจะไปบูชาพระเครื่องรุ่นใด ๆ
ก็ไม่ต้องน้อยอกน้อยใจ หรือเสียดายหรอกนะครับ
ผมขอแนะนำวิธีการบูชาพระเครื่องดังกล่าวข้างต้น
โดยไม่ต้องเสียเงิน ไม่มีทางที่ใครจะมาลักขโมยพระเครื่องดังกล่าวได้
และก็ได้ประโยชน์ตรงตามพระธรรมคำสอนคือ เป็นการปฏิบัติบูชาครับ