Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๕๖

เสียใจที่ก่อนตายไม่ได้ทำ

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 


dharmajaree-156a

ท่านผู้อ่านหลาย ๆ ท่านคงจะรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อหนังสือพิมพ์ The Guardian นะครับ
หนังสือพิมพ์ The Guardian เป็นหนึ่งในหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของประเทศอังกฤษ
โดยในเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ The Guardian ฉบับวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ในปีนี้
ได้มีคอลัมน์ซึ่งเขียนโดยคุณ Susie Steiner เล่าถึงเรื่องสิ่งที่คนใกล้ตายเสียใจที่ไม่ได้ทำ
โดยบทความดังกล่าวชื่อว่า Top five regrets of the dying

บทความดังกล่าวอ้างอิงข้อมูลจากหนังสือของพยาบาลชาวออสเตรเลียท่านหนึ่ง
ที่ชื่อว่า Bronnie Ware ซึ่งเป็นพยาบาลมีหน้าที่รับผิดชอบผู้ป่วย
ในช่วงระยะเวลา ๑๒ สัปดาห์สุดท้ายก่อนที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิต
พยาบาลท่านนี้ได้เก็บรวบรวมข้อมูลหลายปี และได้นำข้อมูลมาเขียนเป็นหนังสือ
ชื่อว่า The Top Five Regrets of the Dying
พยาบาลท่านนี้มองว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้ข้อคิดตลอดชีวิตของคน ๆ หนึ่งที่ใกล้ตาย
เธอเล่าว่าเมื่อสอบถามคนใกล้ตายว่ามีเรื่องอะไรหรือไม่ที่เขารู้สึกเสียใจ
โดยหากมีโอกาสอีกครั้งหนึ่งแล้ว ก็จะทำให้แตกต่างจากเดิมในสิ่งที่ได้เคยทำลงไป
คนใกล้ตายทั้งหลายก็จะตอบในเรื่องที่ซ้ำ ๆ กัน
ซึ่งสามารถสรุปออกมาได้เป็นเรื่องใหญ่ ๆ ๕ เรื่อง ดังต่อไปนี้

๑. ฉันหวังว่าฉันจะมีความกล้าหาญที่จะใช้ชีวิตที่ฉันต้องการอย่างแท้จริง
ไม่ใช่ชีวิตที่คนอื่น ๆ คาดหวังในตัวฉัน

ในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนใกล้ตายเสียใจเป็นจำนวนมากที่สุดจากเรื่องทั้งหมด
โดยเมื่อคนใกล้ตายได้มองย้อนกลับไปในชีวิตของตนเองในอดีตแล้ว
พบว่ามีเรื่องมากมายในชีวิตที่ตนเองต้องการจะทำแต่ไม่ได้ทำ
แล้วก็ต้องตายไปในขณะที่ได้ทราบว่าทั้งหมดนี้เป็นทางเลือกในชีวิตที่เขาสามารถเลือกได้

๒. ฉันหวังว่าฉันจะไม่ทำงานหนักเกินไป

ในเรื่องนี้เป็นเรื่องเสียใจของผู้ป่วยชายทุกคนที่ Bronnie Ware ได้พยาบาลให้
ซึ่งการทำงานหนักเกินไปทำให้ชีวิตของเขาพลาดจากหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต
ในส่วนของผู้ป่วยหญิงก็มีเสียใจถึงเรื่องนี้ แต่มักจะเป็นผู้ป่วยอาวุโสในรุ่นก่อน ๆ

๓. ฉันหวังว่าฉันจะมีความกล้าหาญในการแสดงความรู้สึกของฉัน

มีผู้คนจำนวนมากที่เก็บกดความรู้สึกของตนเองเอาไว้ เพื่อจะรักษาความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่นไว้
ซึ่งผลของการกระทำดังกล่าวทำให้ตัวเขานั้นต้องเปลี่ยนไปเป็นคนอีกคนหนึ่ง
ซึ่งเขาไม่ต้องการที่จะเป็นเช่นนั้น หรือเขาไม่สามารถจะเป็นได้
นอกจากนี้ การที่เก็บกดตัวเองก็ทำให้เครียดและมีอาการเจ็บป่วยสำหรับบางคนอีกด้วย

๔. ฉันหวังว่าฉันจะได้รักษาความสัมพันธ์และติดต่อกับเพื่อน ๆ

ผู้ป่วยหลายคนต้องการจะติดต่อเพื่อน ๆ ในยามที่ตนเองใกล้ตาย
แต่ก็ไม่สามารถที่จะติดต่อได้ เพราะว่าไม่ได้ติดต่อกันนานแล้ว และไม่มีข้อมูลสำหรับติดต่อเพื่อน
หลายคนรู้สึกว่าตนเองได้ปล่อยให้ความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน ๆ นั้นสูญหายไป
และหลายคนรู้สึกคิดถึงเพื่อน ๆ ของตนเองในยามที่ตนเองใกล้ตาย

๕. ฉันหวังว่าฉันจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากกว่านี้

คนใกล้ตายหลายคนไม่ได้เคยรับรู้มาก่อนกระทั่งวาระสุดท้ายของตนเองว่า
แท้จริงแล้วความสุขนั้นเป็นทางเลือกในชีวิตที่เราสามารถเลือกได้
พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในรูปแบบและพฤติกรรมอย่างเดิม ๆ ตามที่เขาเข้าใจว่าสบาย
โดยกลัวที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองไปในทิศทางอื่น
หรือกลัวว่าความเปลี่ยนแปลงจะทำให้พวกเขาเปลี่ยนไปเป็นคนละคน
แต่เมื่อถึงเวลาใกล้ตายจึงค่อยคิดได้ว่าจริง ๆ แล้วเขาสามารถเลือกที่จะเปลี่ยนได้
สามารถเลือกที่จะมีความสุขในชีวิตของเขาได้ โดยไม่จำเป็นต้องทนอยู่ในพฤติกรรมเดิม ๆ

ในตอนท้ายของบทความก็ได้ตั้งคำถามว่า แล้วเรื่องเสียใจที่สุดของคุณในขณะนี้คืออะไร?
และอะไรที่เป็นเป้าหมายในชีวิตที่คุณต้องการจะทำให้สำเร็จก่อนตาย?
(ข้อมูลจากเว็บเพจ http://www.guardian.co.uk/lifeandstyle/2012/feb/01/top-five-regrets-of-the-dying)


หากเราจะพิจารณาถึงเรื่องเสียใจที่สุดของเราจนถึงขณะนี้
และพิจารณาถึงเป้าหมายในชีวิตที่เราต้องการจะทำให้สำเร็จก่อนตาย
เห็นว่าเราควรจะสมมุติว่าเรากำลังใกล้จะตายด้วยนะครับ
หากเรารู้สึกว่าเรายังจะอยู่อีกนานแล้วมาพิจารณาคำถามเหล่านี้
คำตอบที่ได้ก็อาจจะแตกต่างออกไปจากคำตอบในเวลาที่เรากำลังใกล้จะตาย

ตัวอย่างในเรื่องเสียใจข้างต้นเป็นกรณีของชาวต่างประเทศ และส่วนใหญ่น่าจะไม่ใช่ชาวพุทธ
แต่หลายท่านก็อาจจะรู้สึกเสียใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหลายเรื่องใน ๕ เรื่องข้างต้นได้เหมือนกัน
หรืออาจจะเสียใจในเรื่องอื่น ๆ นอกเหนือจาก ๕ เรื่องดังกล่าวก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น
เสียใจว่าควรจะทำดี ควรจะดูแล และตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ให้มากกว่านี้
เสียใจว่าควรจะใช้เวลากับพ่อแม่ให้มากกว่านี้
เสียใจว่าไม่ควรคิด พูด หรือทำไม่ดีต่อพ่อแม่อย่างที่ได้เคยทำลงไป
เสียใจว่าควรจะเชื่อฟังคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ให้มากกว่านี้
เสียใจว่าควรจะเข้าวัดให้บ่อยกว่านี้
เสียใจว่าควรจะฝึกหัดให้มีสติและภาวนาให้เกิดปัญญาให้มากกว่านี้
เสียใจว่าควรจะใช้เวลาดูแลและสั่งสอนบุตรหลานให้มากกว่านี้
เสียใจว่าควรจะทำดีกับคนในครอบครัว หรือคนที่รักเราให้มากกว่านี้
เสียใจว่าควรจะลดละเลิกนิสัยโกรธและโมโหคนอื่นให้ได้
เสียใจว่าควรจะลดละเลิกนิสัยฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่ายให้ได้ และควรจะประหยัดมัธยัสถ์มากกว่านี้
เสียใจว่าควรจะนำเวลาชีวิตตนเองไปทำคุณประโยชน์หรือใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ได้มากกว่านี้
เสียใจว่าควรจะใช้เงินให้เป็นประโยชน์มากกว่านี้
เสียใจว่าควรจะเล่นเกมหรือเล่นแอพพลิเคชั่นให้น้อยลงกว่านี้
เสียใจว่าควรจะเข้าโซเชียลเน็ตเวิร์คให้น้อยลงกว่านี้
เสียใจว่าควรจะใช้เวลาดูโทรทัศน์ให้น้อยลงกว่านี้
เสียใจว่าควรจะรักษาศีลให้แข็งแรงได้มากกว่านี้
เสียใจว่าไม่ควรจะดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือไปข้องแวะในยาเสพติดใด ๆ
เสียใจว่าไม่ควรจะไปเล่นการพนัน
เสียใจว่าควรจะดูแลรักษาสุขภาพตนเองให้มากกว่านี้
เสียใจว่าไม่น่าจะตัดสินใจแต่งงานเลย
เสียใจว่าไม่น่าจะตัดสินใจหย่าเลย
เสียใจว่าไม่ควรด่วนตัดสินใจในเรื่องบางเรื่องด้วยอารมณ์ชั่ววูบ
เสียใจว่าควรจะศึกษาเพื่อให้เข้าใจเป้าหมายและคุณค่าของชีวิตตนเองให้มากกว่านี้
เสียใจว่าควรจะพูดขอบคุณ และขอโทษให้มากกว่านี้
เสียใจว่าควรจะพูดว่าผมรักคุณให้มากกว่านี้
เสียใจว่าควรจะทำตัวให้อ่อนน้อมถ่อมตนให้มากกว่านี้ ไม่ควรจะทำตัวแข็งกระด้าง
เสียใจว่าควรจะทำตัวเปิดกว้าง ยอมรับสิ่งดี ๆ ให้มากกว่านี้ ไม่ควรมีนิสัยดื้อด้าน
เสียใจว่าควรจะตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตได้ดีกว่านี้
เสียใจว่าควรจะตั้งใจเรียนหรือตั้งใจทำงานให้มากกว่านี้
เสียใจว่าน่าจะปรับปรุงนิสัยตัวเองให้เป็นคนดีได้มากกว่านี้
เสียใจว่าควรจะทำบุญกุศลเพื่อเป็นเสบียงไว้เลี้ยงตัวต่อไปในอนาคตไว้มากกว่านี้
เสียใจว่าควรจะศึกษาและปฏิบัติธรรมให้มากกว่านี้ หรือมีวินัยในการปฏิบัติให้มากกว่านี้ ฯลฯ

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นเพียงการยกตัวอย่างนะครับ
โดยขอแนะนำให้เราพิจารณาเรื่องที่เราอาจจะเสียใจในอนาคตกันเสียตั้งแต่ในขณะนี้
แล้วก็พิจารณาปรับปรุงการดำเนินชีวิตตนเองในทันที เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน
ทั้งคุณและผมต่างก็สามารถจะตายจากโลกนี้ไปในเวลาใดก็ได้
ซึ่งเราก็มีสองทางเลือกใหญ่ ๆ นะครับ คือทำสิ่งดี ๆ แก่ชีวิตตนเองตั้งแต่วันนี้ให้ถึงพร้อม
แล้วเราก็ไม่ต้องมาเสียใจเมื่อใกล้ตาย
หรือเราจะผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ หรือปล่อยตัวเองให้หลงไปกับสิ่งไม่สำคัญไปเรื่อย ๆ
แล้วก็ค่อยมาเสียใจเมื่อถึงเวลาก่อนตาย
หรือกระทั่งตายไปแล้วก็ยังต้องเสียใจว่าเราไม่น่าใช้ชีวิตและความเป็นมนุษย์ดั่งนั้นเลย
หากเราต้องการจะใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ที่สุดที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
ที่ได้มาอยู่ใต้ร่มเงาแห่งพุทธศาสนา และจะไม่ต้องมาเสียใจเมื่อก่อนตายแล้ว
ก็พึงปฏิบัติตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ท่านได้เตือนเหล่าพุทธสาวกในวาระสุดท้าย
ดังที่พวกเราได้สวดมนต์ในบท “ปัจฉิมพุทโธวาทปาฐะ” ดังต่อไปนี้

หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว ... ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า
วะยะธัมมา สังขารา ... สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ ... ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด
อะยัง ตะถาคะตัสสะ ปัจฉิมา วาจา ... นี้เป็นพระวาจามีในครั้งสุดท้ายของพระตถาคตเจ้า
_/\_ _/\_ _/\_

หากเราไม่อยากจะเสียใจเมื่อใกล้ตาย เมื่อยามตาย และภายหลังตายแล้ว
เราก็พึงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมนะครับ