Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๕๔

เพื่อนสนิท

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dharmajaree-154a

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมได้มีโอกาสสนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่ง
ในเรื่องเพื่อนสนิทประพฤติผิดศีลข้อสาม คือประพฤติผิดในกามกับคู่สมรสของผู้อื่น
ซึ่งญาติธรรมท่านนี้ก็พยายามตักเตือนเพื่อนสนิทในเรื่องดังกล่าว
โดยพยายามแนะนำให้ถือศีล และเลิกการประพฤติผิดศีลธรรมนั้น
แต่เพื่อนสนิทก็ไม่เชื่อฟัง และก็ไม่สนใจจะถือศีลเลย

เชื่อว่าท่านผู้อ่านบางท่านก็อาจจะเคยประสบปัญหาในทำนองเดียวกัน
ที่ว่าเพื่อนสนิทของเรานั้น ประพฤติผิดศีลอยู่เป็นประจำ ยกตัวอย่างเช่น
เพื่อนสนิทชอบตบตีฆ่ามด ยุงหรือแมลงตัวเล็กตัวน้อย 
ชอบยิงนกตกปลา ชอบทานอาหารทะเลสด ๆ เป็น ๆ 
เพื่อนสนิทชอบนำของที่ทำงานกลับไปใช้ส่วนตัวที่บ้าน ชอบใช้ของที่ทำงานในเรื่องส่วนตัว
ชอบเล่นพนันมวย พนันฟุตบอล หมกมุ่นในเรื่องการแทงหวยบนดินหรือหวยใต้ดิน
เพื่อนสนิทชอบประพฤติผิดในกามกับสามี ภรรยา หรือบุตรของผู้อื่น
หรือชอบไปเที่ยวซื้อบริการกลางคืนจากหญิงหรือชายขายบริการ
เพื่อนสนิทชอบพูดจาโกหก พูดส่อเสียด นินทาคนโน้นคนนี้ พูดให้เขาแตกแยก
พูดให้เขาทะเลาะกัน พูดคำหยาบด่าคนโน้นคนนี้ พูดเพ้อเจ้ออยู่เสมอ
เพื่อนสนิทชอบดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือเสพสิ่งเสพติดอื่น ๆ ที่ทำให้ขาดสติ เป็นต้น
(ซึ่งครูบาอาจารย์บางท่านได้แนะนำว่าในยุคสมัยนี้ 
สิ่งเสพติดที่ทำให้ขาดสติน่าจะรวมถึงบรรดาเกมคอมพิวเตอร์ หรือเกมออนไลน์ต่าง ๆ 
ที่เล่นแล้วขาดสติหรือติดจนเสียการงาน หรือเสียการเรียนด้วย)

เมื่อเพื่อนสนิทของเราชอบประพฤติผิดศีลธรรมเช่นนั้นแล้ว 
เราก็พยายามตักเตือนเพื่อนสนิทให้ลดละเลิกพฤติกรรมดังกล่าว 
และพยายามแนะนำให้เพื่อนสนิทรักษาศีล และมาฝึกหัดภาวนาเจริญสมาธิเจริญปัญญา
แต่เพื่อนสนิทเราก็ไม่ได้สนใจที่จะหันเข้ามาในเส้นทางธรรมเลย
โดยก็ยังยินดีพอใจจมอยู่กับการประพฤติผิดศีลธรรมอยู่อย่างนั้น

เมื่อเวลาที่เราได้พบปัญหาของเพื่อนสนิทเช่นนี้ 
ขอแนะนำว่า เราอย่าเพิ่งห่วงเพื่อนสนิทมากจนเกินไปครับ 
แต่ให้ห่วงตัวเองโดยย้อนกลับมาพิจารณาตนเองเสียก่อนว่า 
ในเมื่อเพื่อนสนิทเราชอบประพฤติผิดศีลธรรมเช่นนี้แล้ว 
ทำไมเราถึงไปสนิทกับเพื่อนสนิทดังกล่าวได้ 
ที่เราไปสนิทกับเขาได้นั้น เป็นเพราะว่าตัวเราเองก็ประพฤติผิดศีลข้อใดข้อหนึ่ง
หรือยินดีพอใจหรือสนับสนุนในการประพฤติผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งหรือไม่ 

หากพบว่าเราเองก็ยังประพฤติผิดศีลข้อใดข้อหนึ่ง
หรือยินดีพอใจหรือสนับสนุนในการประพฤติผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งแล้ว
เราเองก็ควรจะต้องสนใจพิจารณาปรับปรุงตนเองเสียก่อนที่จะไปมุ่งปรับปรุงเพื่อน
แม้หากเราพิจารณาแล้วเห็นว่า เราเองมิได้ประพฤติผิดศีลข้อใดข้อหนึ่ง
และมิได้ยินดีพอใจหรือสนับสนุนในการประพฤติผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งแล้วก็ตาม
เราก็ควรจะพิจารณาต่อไปว่า เราใช้เวลาของเรากับเพื่อนสนิทดังกล่าวแค่ไหน
เพราะการที่เราไปใช้เวลาคบหากับเพื่อนที่ด้อยในทางศีล สมาธิ และปัญญาแล้ว
ก็ย่อมจะทำให้ตัวเราเองมีแต่ทางเสื่อมลงไปเรื่อย ๆ เว้นแต่จะคบหาเพื่อเอ็นดูหรืออนุเคราะห์
หมายถึงว่าคบหา โดยช่วยเหลือ แนะนำหรือให้ธรรมทานแก่เพื่อนนั้น ๆ
แต่ก็ต้องพิจารณาอยู่ดีว่าเวลาที่ใช้เพื่ออนุเคราะห์นั้นจะต้องเหมาะสมและไม่มากเกินไป

ที่ผมแนะนำว่าการไปคบหาสนิทกับเพื่อนที่ด้อยในทางศีล สมาธิ และปัญญาแล้ว
จะนำพาไปในทางเสื่อมนั้น อ้างอิงจากพระสูตรที่ชื่อว่า 
เสวิตัพพสูตร” (ว่าด้วยผู้ควรคบและไม่ควรคบ) ซึ่งมีเนื้อหา ดังนี้ครับ

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ นี้ มีอยู่ในโลก บุคคล ๓ คือใคร
คือ บุคคลที่ไม่ควรเสพไม่ควรคบไม่ควรเข้าใกล้ก็มี 
บุคคลที่ควรเสพควรคบควรเข้าใกล้ก็มี 
บุคคลที่ควรสักการะเคารพแล้ว จึงเสพ จึงคบ จึงเข้าใกล้ก็มี”

บุคคลที่ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้เป็นอย่างไร
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ด้อย โดยศีล โดยสมาธิ โดยปัญญา 
บุคคลเช่นนี้ ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ เว้นแต่เอ็นดู เว้นแต่อนุเคราะห์

บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าใกล้เป็นอย่างไร
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เช่นเดียวกัน โดยศีล โดยสมาธิ โดยปัญญา 
บุคคลเช่นนี้ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าใกล้ นั่นเพราะเหตุอะไร

เพราะเมื่อเราเป็นผู้เสมอกันโดยศีล โดยสมาธิ โดยปัญญาแล้ว 
สีลกถา (การพูดกันถึงเรื่องศีล) สมาธิกถา (การพูดกันถึงเรื่องสมาธิ) 
ปัญญากถา (การพูดถึงเรื่องปัญญา) ก็จักมีด้วย 
การพูดกันของเรานั้นจักไปกันได้ด้วย การพูดกันของเรานั้นจักเป็นความผาสุกด้วย 
เพราะเหตุนั้น บุคคลเช่นนี้ จึงควรเสพควรคบ ควรเข้าใกล้ 

บุคคลที่ควรสักการะเคารพแล้ว จึงเสพ จึงคบ จึงเข้าใกล้ เป็นอย่างไร
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยิ่งโดยศีล โดยสมาธิ โดยปัญญา 
บุคคลเช่นนี้ควรสักการะเคารพแล้ว จึงเสพ จึงคบ จึงเข้าใกล้ นั่นเพราะเหตุอะไร

เพราะเราจะได้ทำกองศีล กองสมาธิ กองปัญญาที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์บ้าง 
จะได้ประคับประคอง กองศีล กองสมาธิ กองปัญญาที่บริบูรณ์แล้วไว้ได้
ด้วยความฉลาดในธรรมนั้น ๆ บ้าง เพราะเหตุนั้น 
บุคคลเช่นนี้ จึงควรสักการะเคารพแล้ว จึงเสพ จึงคบ จึงเข้าใกล้นี้แล 
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ มีอยู่ในโลก”

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระธรรมเทศนาข้างต้นแล้ว ได้ตรัสต่อไปว่า

“คนผู้คบคนทราม ย่อมเสื่อม 
ส่วนคนผู้คบคนเสมอกัน ไม่เสื่อมในกาลไหนๆ 
ผู้คบคนที่ประเสริฐกว่า ย่อมเจริญเร็ว
เพราะฉะนั้น จึงควรคบคนที่ยิ่งกว่าตน”

จากพระสูตรข้างต้น เราก็คงเข้าใจได้แจ่มแจ้งนะครับว่า
การที่เราคบหากับเพื่อนสนิทที่ไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา หรืออ่อนด้อยในศีล สมาธิ ปัญญานั้น
เวลาที่คบหากัน หรือสนทนากัน เราก็จะได้พบ ได้เห็น ได้ยินเรื่องไม่มีศีลบ่อย ๆ 
ได้พบ ได้เห็น ได้ยินเรื่องด้อยสมาธิบ่อย ๆ ได้พบ ได้เห็น ได้ยินเรื่องด้อยปัญญาบ่อย ๆ
เวลาที่สนทนากันก็อาจจะมีความเห็นขัดแย้งบ่อย ๆ คุยกันไม่เข้าใจ ไปกันคนละทาง

หากเราคบหาเพื่อนสนิทที่มีศีล สมาธิ ปัญญาเท่าเทียมกัน
เวลาที่คบหากัน หรือสนทนากัน เราก็จะได้พบ ได้เห็น ได้ยินเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา
ที่เท่าเทียมกันกับศีล สมาธิ ปัญญาของเรา ซึ่งก็ไม่ทำเราให้เสื่อมถอยลง
และเวลาที่สนทนากันก็ย่อมจะไม่ทะเลาะกัน และไม่ไปกันคนละทาง
แต่หากเราได้คบหากับเพื่อนสนิทที่มีศีล สมาธิ ปัญญายิ่งกว่าเรา
เวลาที่คบหากัน หรือสนทนากัน เราก็จะได้พบ ได้เห็น ได้ยินเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา
ที่ยิ่งกว่าศีล สมาธิ ปัญญาของเรา ซึ่งก็ย่อมจะทำให้เราพัฒนาเจริญขึ้นไปเรื่อย ๆ

ทีนี้ เราเองก็อาจจะไม่ทราบได้โดยง่ายว่าเราจะไปหาเพื่อน หรือกัลยาณมิตรที่ไหน
ที่จะมีศีล สมาธิ และปัญญาที่ประเสริฐกว่าเรา และเขาจะมีเวลามาสนิทด้วยกับเรา
และเขาจะมีเวลามาสนทนาธรรมกับเราบ่อย ๆ เช่นนั้นหรือ
ในข้อนี้ ผมขอแนะนำว่า กัลยาณมิตรที่ดีที่สุดสำหรับพวกเราก็คือพระรัตนตรัย
ได้แก่พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์นั่นเอง
แต่ทีนี้ เราคงไม่ได้มองว่าเราเห็นพระรัตนตรัยเป็นเพื่อนสนิทนะครับ
แต่ว่าเราคบหากับพระพุทธเจ้าในฐานะที่ท่านเป็นครูอาจารย์ เป็นพระศาสดา เป็นเนื้อนาบุญ
เราคบหากับพระธรรมในฐานะที่ท่านเป็นครูอาจารย์ เป็นพระศาสดา
เราคบหากับพระสงฆ์ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นครูอาจารย์ เป็นเนื้อนาบุญ

การคบหากับพระรัตนตรัยนี้ ก็คือเราพึงแบ่งเวลาในแต่ละวันของเรา
มาสนใจอ่าน ฟัง ศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
รวมถึงสนใจอ่าน ฟัง ศึกษา และปฏิบัติตามคำสอนของครูบาอาจารย์
ซึ่งการที่เราอ่าน ฟัง ศึกษา และปฏิบัติตามคำสอน ก็ย่อมถือเป็นการคบหาแล้ว
เปรียบเสมือนกับว่าเราคบหากับเพื่อน เราฟังเพื่อนพูด ไปทำกิจกรรมโน่นกิจกรรมนี่กับเพื่อน
ทำสิ่งโน้นทำสิ่งนี
ตามคำแนะนำของเพื่อน ก็เพราะเราคบหากับเพื่อนของเรานั้น
ฉะนั้น เราไม่ต้องกังวลว่าเราไม่มีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
เพราะพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ก็ยังดำรงคงอยู่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบันอย่างเพียงพอ
ให้เราได้อ่าน ฟัง ศึกษา และปฏิบัติตามเพื่อที่จะบรรลุธรรมได้
เราไม่ต้องกังวลว่า เราไม่มีโอกาสจะสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์บ่อย ๆ เพราะเราอยู่ไกล
หรือท่านมีลูกศิษย์แวดล้อมมากมาย เราไม่สามารถเข้าถึงท่านได้ง่ายและบ่อย ๆ
เพราะว่าการที่เราอ่าน ฟัง ศึกษา และปฏิบัติตามคำสอนของครูบาอาจารย์อย่างขยันขันแข็ง
ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการที่เราคบหากับท่านในฐานะที่เราเป็นศิษย์

นอกเหนือจากพระรัตนตรัยแล้ว ก็มีครูอาจารย์ท่านอื่น ๆ อีกมากมาย
ที่ช่วยแนะนำและสั่งสอนพัฒนาธรรมะให้เราได้ 
การที่เราสนใจศึกษา และปฏิบัติตามคำสอนของท่าน ก็ถือว่าเราคบหากับท่านด้วยเช่นกัน 
อย่างเช่นตัวผมเองก็ดาวน์โหลดไฟล์หนังสือหรือซื้อหนังสือของอาจารย์หลายท่านที่เป็นฆราวาส
มาอ่านศึกษาด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ได้ความรู้และประโยชน์มาก
นอกจากนี้แล้ว กัลยาณมิตรท่านอื่น ๆ ที่เราอาจจะได้พบในชีวิตประจำวันก็มีมาก
อย่างเช่นเพื่อนที่ทำงาน เพื่อนสมัยเรียน หรือเพื่อนบ้านที่เราคบหาอยู่ในแต่ละวัน
หรือเพื่อนที่คบหาอยู่ในระบบ
social network ในอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
หากเราคบหาคุ้นเคยกับเพื่อนเหล่านี้ไปสักพักหนึ่ง ก็ย่อมจะพอพิจารณาได้ในระดับหนึ่งว่า
เพื่อนคนไหนที่มีศีล สมาธิ และปัญญาเท่าเทียมกับเรา หรือสูงกว่าเรา
แต่ก็พึงระวังว่า ไม่ควรใช้เวลาชีวิตมากมายใน
ระบบ social network นะครับ
กรณีไม่ใช่ว่าเราเข้า
social network เล่นอินเตอร์เน็ตเกือบทั้งวัน
แล้วก็อ้างว่ากำลังคบหากับกัลยาณมิตร อย่างนี้เรียกว่าโดนกิเลสหลอกให้เสียเวลาแล้วล่ะ

ในข้อต่อมาเกี่ยวกับเพื่อนสนิทที่ด้อยศีล สมาธิ และปัญญานั้น
กรณีก็ไม่ใช่ว่าเราจะต้องเลิกคบหาเพื่อนเหล่านั้นทั้งหมดในทันที
เพราะว่าบางทีเราก็จำเป็นต้องรู้จักคบหากับเพื่อนเหล่านั้นอยู่
เช่น ต้องทำงานร่วมกัน หรือต้องพบปะเจอกันบ่อย ๆ เพราะอยู่ใกล้กัน เป็นต้น
ทีนี้ จึงไม่ใช่ว่าเราไปเลิกคบกับเขา และทำตัวห่างเหินในทันที
เพียงแต่ว่าเราต้องรู้จักรักษาระยะห่าง รู้จักว่าเราควรจะใช้เวลากับเขาแค่ไหน

ผมเคยพบกรณีญาติธรรมบางท่านที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมแล้ว ก็ทำตัวแปลกแยก
ใครชวนไปกินข้าวที่ไหนก็ไม่ไป กระทั่งงานเลี้ยงปีใหม่ของบริษัทก็ไม่ไป
โดยเห็นว่าจะมีการดื่มสุรากัน หรือไปคุยกันไร้สาระเสียเวลาปฏิบัติธรรม
จริง ๆ แล้ว การที่เรารักษาศีลห้าและปฏิบัติธรรมนั้น 
ไม่ได้แปลว่าห้ามเราไปร่วมงานเลี้ยงใด ๆ เลยที่มีคนอื่นดื่มสุรา
เพียงแต่ว่าเราอย่าไปช่วยสั่งสุราให้ อย่าเทสุราให้ อย่าไปดื่มสุรา
อย่าไปเลี้ยงสุราหรือช่วยออกค่าสุราให้ คือไม่ยุ่งกับสุราในงานดังกล่าวในทุกด้าน 
เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเราไม่เกี่ยวข้องแล้ว
(หากสมมุติว่าต้องแชร์เงินค่าใช้จ่าย แล้วเขารวมค่าสุรามาด้วย 
เราก็อาจจะบอกว่าเราไม่แชร์ค่าสุรา หรือหากพูดไปแล้วจะทำให้มีปัญหาทะเลาะกัน
เราก็อาจจะระลึกในใจว่า เงินที่เราให้นี้เป็นค่าอาหารเท่านั้น เราไม่สนับสนุนให้ดื่มสุรา) 

ฉะนั้น เราก็สามารถไปร่วมงานเลี้ยงได้ คนอื่นเขาผิดศีล เราก็รักษาศีล
คนอื่นสนทนาสิ่งไร้สาระในงาน เราก็สนทนาในสิ่งมีสาระ
คนอื่นเขาขาดสติ สมาธิ ปัญญา เราเองก็เจริญสติ สมาธิ และปัญญาในงานได้
โดยเราก็อยู่ในงานเท่าที่เหมาะสมตามมารยาท ไม่ได้หลงเพลินไปกับงาน
แล้วเราก็พึงลากลับบ้านในเวลาอันสมควร อย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำได้
อนึ่ง เราก็ต้องพิจารณาด้วยว่า งานทั้งหลายเหล่านี้มีมากน้อยหรือบ่อยเพียงไร
หากชวนไปกินเลี้ยงกันบ่อย ๆ จนเกินไป เราก็อาจจะต้องเลือกไปเฉพาะครั้งที่สำคัญ
แต่อย่างเช่น งานเลี้ยงปีใหม่ของบริษัทปีละหน หรือเลี้ยงรุ่นของเพื่อนปีละหนนี้
ก็น่าจะถือได้ว่าไม่ได้บ่อยนัก และน่าจะพอแบ่งเวลาไปร่วมงานได้

ยกตัวอย่าง เวลาที่ผมไปร่วมงานเลี้ยงรุ่นเพื่อนสมัยโรงเรียนมัธยมนะครับ
เมื่อเริ่มแรก ๆ ส่วนใหญ่ก็ไปนั่งดื่มสุราและสนทนาไร้สาระกัน
เวลาผ่านไปหลายปีก็นัดเลี้ยงกันเรื่อย ๆ จนมาถึงช่วงระยะหลายปีหลัง ๆ นี้
เวลาไปร่วมงานนั้น เริ่มมีนำหนังสือธรรมะไปแจก นำซีดีธรรมะไปแจก
เพื่อนที่ดื่มสุรากันก็เหลือไม่กี่คนแล้ว หลายคนก็นั่งคุยเรื่องธรรมะ
คุยเรื่องไปปฏิบัติธรรม หรือคุยชักชวนไปสร้างทำบุญกุศลต่าง ๆ นานา
ฉะนั้นแล้ว การที่เราไปร่วมงานเลี้ยงรุ่น หรืองานเลี้ยงต่าง ๆ นั้น
ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องไปจมอยู่กับอกุศลของคนอื่น ๆ เสมอไป
เพราะเราอาจจะไปมีส่วนเป็นน้ำดีช่วยลดหรือไล่น้ำเสีย ช่วยสร้างสิ่งกุศลในงานนั้นก็ได้
แต่ก็อย่างที่เรียนไว้ข้างต้นว่า เราต้องพิจารณาว่า ไม่ควรบ่อยเกินสมควรครับ

ในข้อสุดท้ายเกี่ยวกับการแนะนำเพื่อนสนิทให้หันมาเดินในเส้นทางธรรม
หรือให้เพื่อนสนิทหันมาสนใจฟังธรรม ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนานั้น
เราเองก็ควรจะต้องทำอยู่เป็นประจำ
โดยเราพึงสนใจฟังธรรม ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาเป็นประจำเสียก่อน
ซึ่งเมื่อเราได้ปฏิบัติเป็นประจำให้ดูเป็นตัวอย่าง และเราเห็นผลดีชัดเจนแล้ว
เราก็ย่อมจะสามารถแนะนำเพื่อนสนิทเราได้ง่ายขึ้น
แต่หากเราเองก็ยังไม่ได้สนใจจริงจังนัก และไม่เห็นชัดเจนด้วยตนเองว่ามีผลดีอย่างไร
เช่นนี้ก็ยากที่เราจะแนะนำเพื่อนสนิทและชักจูงใจให้เขามาสนใจได้
นอกจากนี้ ในเวลาแนะนำเพื่อนนั้น เราพึงต้องมีสติรักษาใจตนเองไว้อยู่เสมอ
ไม่อย่างนั้นแล้ว เราเริ่มต้นด้วยกุศลจิตที่อยากจะช่วยเหลือแนะนำเพื่อน
แต่อาจจะจบลงด้วยอกุศลจิตคือทะเลาะหรือโกรธกับเพื่อนก็ได้ครับ
ซึ่งการที่เพื่อนเขาไม่เข้าใจหรือไม่สนใจในวันนี้ เราก็ต้องยอมปล่อยไปตามกรรม
แต่เขาเองอาจจะเข้าใจหรือสนใจในอนาคตก็ได้ เพราะเริ่มได้ยินบ้างแล้วในวันนี้
เราเองก็ต้องใจเย็น ๆ แล้วค่อย ๆ แนะนำไปเรื่อย ๆ เหมือนดังน้ำเซาะหินกร่อน
หากเราไปโมโหโกรธาเสียก่อนในวันนี้ เขาก็อ้างได้ว่าเราเองก็ยังเอาตัวไม่รอดเลย