Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๕๑

เรื่องของคนโดนนินทา

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



dharmajaree-151

ท่านผู้อ่านเคยมีปัญหาทุกข์ใจเกี่ยวกับเรื่องโดนคนอื่นนินทาบ้างไหมครับ
เวลาที่ผมใช้คำว่า “นินทา” ในที่นี้ จะหมายถึงว่าโดน “พูดถึงในทางไม่ดีลับหลัง”
หากโดนพูดถึงในทางที่ดีลับหลัง หรือโดนพูดถึงในทางที่ไม่ดีต่อหน้า
ก็จะไม่อยู่ในขอบเขตที่จะสนทนากันในบทความนี้นะครับ
บางคนพอทราบว่าตนเองโดนนินทาแล้วก็รู้สึกทุกข์ใจมาก
รู้สึกว่าตนเอง โดนคนอื่นมองในทางไม่ดี โดนคนอื่นพูดถึงในทางไม่ดี
ในบางคราว เรื่องที่คนอื่น ๆ นำมานินทาเรานั้นก็เป็นเรื่องไม่จริงเสียด้วย
จึงยิ่งรู้สึกว่าโดนคนอื่นใส่ร้าย ก็ยิ่งทุกข์ใจมากขึ้นไปอีก

จริง ๆ แล้ว การที่เราโดนนินทาหรือพูดถึงในทางที่ไม่ดีลับหลังนั้น
มีข้อที่น่าสังเกตว่าเราไปรับรู้รับทราบเรื่องนินทาดังกล่าวได้อย่างไร
เพราะว่าคนอื่นเขาพูดถึงเราในทางไม่ดีลับหลังเรา โดยไม่ได้พูดต่อหน้าให้ทราบ
ซึ่งโดยปกติทั่วไปแล้ว เรามีโอกาสรับทราบได้ใน ๒ กรณีคือ
กรณีแรก มีคนอื่นนำเรื่องที่นินทานั้นมาเล่าให้เราฟัง และ
กรณีที่สอง เราไปได้ยินหรือได้ทราบเรื่องที่นินทานั้นด้วยตัวเราเอง

ในกรณีแรกนั้น คนอื่น ๆ เขานินทาเราลับหลัง เราไม่ทราบเรื่องนินทานั้น
แต่แล้วก็มีคนอื่นนำเรื่องนินทาดังกล่าวมาเล่าให้เราได้รับทราบ
หากเราพิจารณาว่า ระหว่างคนที่นินทาเรา กับคนที่มาเล่าให้เราฟังแล้ว
หลายท่านก็อาจจะมองว่าคนที่นินทาเรานั้นไม่ดี
ส่วนคนที่นำเรื่องมาเล่าให้เราทราบนั้นดี เพราะนำเรื่องมาเล่าให้เราฟัง
แต่หากพิจารณาโดยเนื้อหาของเรื่องจริง ๆ แล้ว
หากไม่มีคนนินทาเลย เราก็ไม่ทราบเรื่องการนินทานั้น
หากไม่มีคนนำเรื่องนินทามาเล่า เราก็ไม่ทราบเรื่องการนินทานั้นเช่นกัน
ฉะนั้นแล้ว ทั้งสองกลุ่มนี้ก็เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เราทราบเรื่องนินทานั้นด้วยกัน

อนึ่ง สังเกตว่าผมใช้คำว่าเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เรา “ได้ทราบเรื่องนินทานั้น”
ผมไม่ได้ใช้คำว่าเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เรา “ต้องทุกข์ในเรื่องนินทานั้น” นะครับ
โดยทั้งสองอย่างนี้แตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน
เช่น เราเองอาจจะได้รับทราบเรื่องนินทา แต่เราไม่ทุกข์กับสิ่งเหล่านั้นก็ได้
และผมใช้คำว่า “ด้วยกัน” นะครับ ไม่ได้ใช้คำว่า “เหมือนกัน”
กล่าวคือทั้งสองกลุ่มนี้ต่างเป็นเหตุปัจจัยด้วยกัน แต่ไม่ได้เป็นเหตุปัจจัยที่เหมือนกัน

ในกรณีที่สองนั้น คนอื่น ๆ เขานินทาเราลับหลัง เราไม่ได้รับทราบอะไร
แต่ก็มีเหตุว่าเราได้ไปรับทราบเรื่องนินทาดังกล่าว
เช่น อาจจะผ่านไปได้ยินเขาสนทนากัน ซึ่งเขาไม่ได้อยากให้เราได้ยิน
หรือมีการส่งข้อความหรือเอกสารผิดพลาดหลุดมาถึงเรา
หรือเราได้ไปเห็นข้อความหรืออีเมล์นินทาเราโดยที่เราไม่ควรได้เห็น
ซึ่งหากพิจารณาโดยเนื้อหาของเรื่องจริง ๆ แล้ว
คนอื่นเขาแอบนินทาลับหลังก็เพราะไม่อยากจะให้เราได้รับทราบ
แต่บางทีเราเองไปฟังคนอื่นเขาสนทนา โดยที่คนอื่นเขาไม่ได้อยากจะให้เราไปฟัง
เราไปอ่านในสิ่งที่คนอื่นไม่ได้อยากจะให้เราอ่าน หรือเราไม่สมควรไปอ่าน
ซึ่งพอเราเองไปฟังหรือไปอ่าน ก็ได้ไปรับทราบในเรื่องที่เขานินทาเรา
ก็เท่ากับว่าตัวเราเองเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เราได้รับทราบเรื่องนินทานั้นด้วย

ทีนี้ แม้ว่าเราจะได้รับทราบเรื่องนินทาที่คนอื่นเขานินทาเราก็ตาม
เราก็ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องทุกข์ใจเพราะเหตุที่เขานินทาเราไปด้วย
หากเราพิจารณาตามจริงก็จะพบว่า ความทุกข์ของเราไม่ได้เกิดจากการที่คนอื่นนินทา
หรือเกิดจากการที่คนอื่นนำเรื่องนินทามาเล่าให้เรารับทราบ หรือเราไปรับทราบเองก็ดี
แต่เกิดจากการที่เราไม่ยอมรับ หรือไม่พอใจต่อความจริงดังกล่าวนั้น
เราไม่พอใจที่คนอื่นนินทา เราต้องการให้คนอื่นไม่นินทา เราจึงเกิดความทุกข์
ดังนั้นแล้ว การที่คนอื่นนินทา หรือคนอื่นนำมาเล่าให้เราทราบ
หรือเราไปรับทราบเองก็ตามนั้น เป็นเพียงข้อเท็จจริงหรือสิ่งที่เราไปประสบเข้า
หลังจากนั้น ใจเราก็นำสิ่งเหล่านั้นมาปรุงแต่งในใจ แล้วเราก็ทุกข์ใจเอง

บางคนต้องการจะแก้ไขปัญหา โดยไม่ต้องการให้คนอื่นนินทาตนเอง
เช่นนี้ก็เป็นการสร้างความอยากที่เป็นจริงไม่ได้ขึ้นมาแล้ว ก็ต้องทุกข์ล่ะครับ
จะเป็นไปได้หรือว่าในสังคมนี้จะมีใครบ้างที่ไม่โดนคนอื่นนินทาเลย
กระทั่งรูปปั้นที่ยืนอยู่เฉย ๆ ไม่ยุ่งกับใคร ก็ยังโดนมนุษย์เรานำไปวิพากษ์วิจารณ์ได้
ว่ารูปปั้นดังกล่าวเป็นอย่างไร สวยหรือไม่สวย ดีหรือไม่ดี เสื่อมโทรมหรือเก่าไหม ฯลฯ
แล้วนับประสาอะไรกับมนุษย์เรา ๆ ที่ติดต่อกันอยู่ในสังคมนี้
ตั้งแต่พระมหาจักรพรรดิกระทั่งเด็กแรกเกิดก็ย่อมจะโดนคนอื่นวิจารณ์ลับหลังได้ทั้งสิ้น
หากเราอยากให้ไม่มีคนนินทาเรา ก็คืออยากในสิ่งที่ฝืนความจริง ก็ย่อมทุกข์เป็นธรรมดา
ที่สำคัญคือเมื่อคนอื่นนินทาเราแล้ว ก็คือเรื่องเกิดขึ้นไปแล้ว เราย่อมไปเปลี่ยนอดีตไม่ได้
เราเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วไม่ได้ แล้วเราจะไม่พอใจในสิ่งเหล่านั้นไปทำไมกัน

หากถามต่อไปว่าสมมุติเราอยู่ในสังคมที่มีการนินทากันเยอะแยะเลย
(อย่างเช่นในที่ทำงานของเรา เป็นต้น) เราควรทำอะไรบ้างไหม หรือไม่ต้องทำอะไรเลย
โดยในเรื่องนี้ก็มีข้อแนะนำบางประการครับ

๑. ฝึกฝนพัฒนาจิตใจตนเอง โดยการมีสติรู้ทันใจ เมื่อมีสิ่งต่าง ๆ เข้ามากระทบใจเรา
เมื่อเราได้ทราบเรื่องที่คนอื่นนินทาเรา ไม่ว่าจะเพราะคนอื่นมาเล่าหรือเราไปทราบเองก็ดี
ใจเราเป็นอย่างไร เรามีสติรู้ทันด้วยความเป็นกลางต่อสภาวะที่เกิดขึ้นนั้น ๆ
หากเรามีสติรู้ทันด้วยความเป็นกลางแล้ว ใจเราก็จะไม่ปรุงแต่งความอยาก
หรือปรุงแต่งความทุกข์ให้มาครอบงำใจเราเอง

๒. ฝึกฝนที่จะยอมรับความจริงของสังคมมนุษย์ว่า
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามปกติในสังคมมนุษย์เรา
หากเรามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งไม่ดี
ก็ไม่ควรมองในเชิงที่จะทำให้ใจเราเกิดคิดอกุศลต่อคนอื่น ๆ
และไม่ควรมองว่า เราจะไปเปลี่ยนคนอื่นได้ หรือเราจะไปเปลี่ยนสังคมมนุษย์ได้
แต่ควรจะมองในเชิงที่ทำให้เรายอมรับความจริงของโลก
และทำให้เราเห็นภัยในสังสารวัฏนี้ว่า
ตราบใดที่เรายังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏนี้ เราย่อมได้พบกับสิ่งเหล่านี้ไม่มีสิ้นสุด

๓. แม้ว่าเราจะไปเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ และเราไปเปลี่ยนสังคมไม่ได้
แต่เราก็ไม่ควรไปทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น
และเราก็ไม่ควรอยู่เฉย ๆ โดยไม่พยายามทำให้อะไรดีขึ้นเลย
สิ่งที่เราควรทำนั้นก็ไม่ใช่ว่าไปทะเลาะกับเขา หรือไปสั่งให้คนอื่นเปลี่ยนตามใจเรา
เพราะไม่สามารถจะทำได้จริง แต่น่าจะยิ่งทำให้มีปัญหาทะเลาะกันมากขึ้น
ในการนี้ วิธีการที่ควรจะใช้ก็คือเราค่อย ๆ ทยอยใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย
คนอื่น ๆ เขานินทากัน เราไม่ไปร่วมนินทากับเขา
คนอื่น ๆ เขานินทาเรา เราไม่ไปอยากรู้เห็นหรือทราบในเรื่องที่เขานินทา
หากเราได้รู้เห็นหรือทราบในเรื่องที่เขานินทาแล้ว เรามีสติรู้ทันใจ
เราไม่ไปโกรธหรือไปทะเลาะกับเขา แต่เราให้อภัยและมีเมตตาให้กับเขา

เราไม่สร้างเหตุปัจจัยให้ตนเองที่จะไปรู้เห็นหรือรับทราบเรื่องนินทาต่าง ๆ
เวลาเราเห็นคนอื่นคุยกันงุบงิบ ๆ เขาไม่ได้ต้องการให้เราฟัง เราก็ไม่ควรสนใจ
ผมรู้จักญาติธรรมท่านหนึ่งนะครับที่พอเห็นว่าคนอื่นคุยกันงุบงิบ ๆ แล้ว
เขาก็สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าคนอื่น ๆ นี้กำลังนินทาเขาแน่ ๆ
ทั้งที่จริง ๆ แล้ว เขาก็ไม่ทราบหรอกครับว่าคนอื่น ๆ กำลังคุยกันเรื่องอะไร
และจริง ๆ แล้วคนอื่น ๆ ก็ไม่ได้นินทาเขาเลย แต่กำลังคุยเรื่องงานเสียด้วย
โดยสภาพเช่นนี้แล้ว เขาก็ปรุงแต่งและสร้างทุกข์แก่ตนเองเยอะเลย

๔. เราคอยหมั่นสำรวจตัวเราเองครับว่า เราเองได้นินทาคนอื่นบ้างไหม
ในเมื่อเราไม่อยากจะให้คนอื่นเขานินทาเรา เราก็ควรระลึกว่าใจเขาใจเรา
โดยเราก็ไม่ควรไปนินทาคนอื่น ๆ เช่นกันครับ
หากเราพบว่าเราเองก็นินทาคนอื่นอยู่เช่นกันแล้ว ก็ควรจะลดละเลิกลง
เพราะนอกจากจะสร้างความแตกแยก และส่งให้เกิดผลเสียอื่น ๆ แล้ว
ยังถือว่าไม่ได้เป็นการใช้เวลาชีวิตของเราให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเราเองอีกด้วย

๕. หากเราได้รับทราบเรื่องนินทาเกี่ยวกับเราแล้ว
เราควรนำมาพิจารณาตนเองด้วยว่า เรื่องที่เขานินทานั้นเป็นความจริงหรือไม่
หากสิ่งที่เขานินทาเรานั้นเป็นความจริง เราบกพร่องจริง ๆ
เราก็ควรจะพิจารณาปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น แก้ไขสิ่งที่ไม่ดีดังกล่าวในตนเอง
หากสิ่งที่เขานินทาเรานั้นไม่เป็นความจริง
เราก็ควรจะประพฤติตนให้ดี อาศัยทำความดี และธรรมะเป็นแนวทางเดินของเรา
คนอื่นเข้าใจเราผิดในบางเรื่อง เราก็อาศัยขันติอดทนทำสิ่งที่ถูกต้องให้เขาได้เห็น
คนอื่นจะใส่ร้ายว่าเราไม่ดีในบางอย่าง เราก็อาศัยขันติ มีเมตตา มีสัจจะ และมีศีล
อาศัยธรรมะและสิ่งกุศลทั้งหลายมาเป็นแนวทางสำหรับประพฤติปฏิบัติของเรา
แล้วธรรมเหล่านั้นก็จะคุ้มครองเราซึ่งผู้ประพฤติธรรมเอง
แต่หากเมื่อไร เราปล่อยให้โทสะเข้าครอบงำ แล้วกระโจนลงไปทะเลาะกับเขา
เมื่อนั้นธรรมะและสิ่งกุศลก็สูญหาย เหลือแต่กิเลสและอกุศลครอบงำใจเรา
แล้วเราก็มีแต่จะเสียหายหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิม และเสียโอกาสในการพัฒนาจิตใจตนเองด้วย