Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๔๙

เป้าหมายชีวิตอยู่ตรงไหน ฝากชีวิตไว้กับอะไร

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



dharmajaree-149

ในฉบับที่ ๑๔๖ ของเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ผมได้เล่าถึงคุณอาช่างตัดผมท่านหนึ่งที่ผมก็ไปตัดผมเสมอในปัจจุบัน
ช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ ผมก็ได้ไปตัดผมและคุยธรรมะกับคุณอาท่านนี้อีก
ซึ่งได้สอบถามคุณอาว่า “คุณอาแก่แล้ว มีเป้าหมายชีวิตอะไรบ้างครับ”
คุณอาตอบว่า “ก็อยู่ไปเรื่อย ๆ ไม่ได้มีเป้าหมายชีวิตอะไร อยู่ไปวัน ๆ แหละ”
ผมตอบว่า “ไม่ดีหรอกครับ คนเราต้องมีเป้าหมายชีวิตของตัวเอง
เพื่อเราจะได้ใช้เวลาชีวิตในแต่ละวันให้เป็นประโยชน์คุ้มค่า
เราจะได้รู้ว่าเราควรทำอะไร และให้ความสำคัญกับเรื่องใด”
คุณอาถามว่า “โอ แก่ขนาดนี้แล้ว จะตั้งเป้าหมายชีวิตอะไรได้อีก”

ผมตัดมาขอเล่าเรื่องญาติอาวุโสอีกท่านหนึ่งนะครับ ท่านนี้เกษียณอายุแล้ว
ไม่ได้ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพอะไร โดยก็อยู่บ้านดูโทรทัศน์ ทำงานบ้านไปวัน ๆ
หรือออกไปเดินตลาดบางวัน แต่เขาเองก็ทำบุญใส่บาตรอยู่อย่างสม่ำเสมอนะครับ
ผมเคยแนะนำเขาว่าให้อ่านหนังสือธรรมะ เขาก็บอกว่า แก่แล้ว ตาไม่ดี อ่านไม่เห็น
ผมเอาซีดีธรรมะไปให้เขาเปิดฟัง เขาก็บอกว่าแก่แล้ว ฟังไม่รู้เรื่อง ฟังไม่เข้าใจ
พอแนะนำให้สวดมนต์ เขาก็บอกว่าตาไม่ดี ตัวหนังสือตัวเล็ก อ่านบทสวดมนต์ไม่ได้
(แต่ก็น่าแปลกว่าอ่านตัวหนังสือตัวเล็กไม่ได้ แต่ดูฟุตบอลได้ เห็นลูกฟุตบอลได้)
ผมเคยลองสอนให้หัดเจริญสติ แต่ปรากฏเขาไม่สนใจจะฟังเลย บอกว่าไม่เข้าใจ
ในท้ายสุด ผมก็แนะนำว่าให้หัดดูลมหายใจแล้วก็พุทโธไปก็แล้วกัน
ก็ไม่ทราบว่าจะสนใจทำมากน้อยแค่ไหน ก็แล้วแต่เหตุและปัจจัยทั้งหลายของเขาเอง
ทุกคนก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชีวิตตนเอง
ผมเองก็ต้องพิจารณารับผิดชอบชีวิตผมเองด้วย
ไปยุ่งกับเขามาก ๆ แทนที่จะเป็นผลดี กลับอาจจะเป็นผลเสียแก่ทั้งสองฝ่ายก็ได้

แต่ผมเห็นแล้วก็สะท้อนใจนะครับว่า เขามีเวลาและโอกาสที่จะศึกษาธรรมะแล้ว
กลับไม่ได้ใช้เวลาและโอกาสเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์เท่าที่ควร
และพอเห็นอย่างนี้แล้ว ก็พยายามย้อนกลับมาดูตัวเองเป็นระยะ ๆ นะครับว่า
ตัวเราเองก็กำลังทิ้งเวลาและโอกาสเหมือนกันกับเขาหรือเปล่า
ในขณะที่ยิ่งแก่ชรามากขึ้น ยิ่งมีอายุมากขึ้น ก็ยิ่งจะศึกษาและปฏิบัติยากมากขึ้นทุกทีๆ
ผมก็เคยลองคุยกับเขาและใช้หลาย ๆ วิธีจนเหนื่อยแล้ว ก็ไม่ได้ผลอะไรเท่าไร
แต่อยู่มาวันหนึ่ง ญาติอาวุโสท่านนี้ก็มาพูดกับผมว่า ไม่รู้ว่ามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร
เหมือนกับว่าไม่มีเป้าหมายชีวิตอะไรเลย
เพราะรู้สึกว่าแค่อยู่หาความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปในแต่ละวัน
หรือเหมือนกับมีชีวิตอยู่ ๆ ไปวัน ๆ อย่างนั้น เพียงเพื่อรอวันตายเท่านั้นเอง

ผมได้อธิบายคุณอาช่างตัดผม และญาติอาวุโสท่านนี้ด้วยคำตอบเดียวกันว่า
ให้เรามองตัวเองโดยแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ ร่างกาย และจิตใจ
ในทางร่างกายนั้น เราอายุมากแล้ว ร่างกายมีแต่จะเสื่อมถอยลง
จริงอยู่ที่ว่ามีคนแก่จำนวนมากที่กราบไหว้พระ แล้วชอบขอให้ตัวเองมีสุขภาพแข็งแรง
เวลาคนแก่ไปตักบาตร พระเห็นเป็นผู้สูงอายุ ท่านก็จะอวยพรให้แข็งแรงให้อายุยืน
แต่หากพิจารณาความจริงโดยไม่ลำเอียงแล้ว ถามว่าในเมื่ออายุแก่ชราแล้ว
จะเป็นไปได้หรือว่าร่างกายจะกลับมาแข็งแรงมากขึ้น มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย
ในทางกลับกัน ร่างกายของคนชราก็มีแต่จะเสื่อมถอยลงไปทุกที ๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้
หากจะทำได้ก็เพียงแค่ประคองรักษาให้มันเสื่อมช้าลงไปบ้างเท่านั้น
แต่ยังไงแล้วมันก็เสื่อมลง ๆ และเมื่อถึงวันหนึ่ง มันก็จะหยุดทำงาน และเราก็ตายไป

ฉะนั้นแล้วในทางร่างกาย เราไม่มีทางที่จะไปพัฒนาหรือไปทำอะไรให้มันดีขึ้นได้
แต่ในทางจิตใจนั้น เรายังสามารถพัฒนาให้เจริญขึ้นได้
ตรงประเด็นนี้ เราจะต้องแยกให้ออกก่อนว่า จิตใจนั้นแตกต่างจากสมอง
การคิดคำนวณต่าง ๆ และความจำนั้น เราใช้สมอง
อย่างเช่นเราจะคิดคำนวณหาคำตอบสำหรับโจทย์ทางคณิตศาสตร์ เราก็ใช้สมอง
หากเราจะท่องจำความรู้ใด ๆ เราก็ใช้สมอง
แต่หากเราจะโกรธใคร เกลียดใคร ไม่ชอบใคร
เราจะรักใคร เมตตาใคร กรุณาใคร สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เราใช้จิตใจ
ดังนั้นแล้ว จิตใจกับสมองนั้นแตกต่างกัน และทำงานแตกต่างกัน
สมองนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ซึ่งเมื่อร่างกายแก่ชราลง สมองก็เสื่อมถอยตามไป
แต่จิตใจนั้นแยกออกจากร่างกาย และจิตใจไม่ใช่สมอง
จิตใจไม่ได้แก่ชรา หรือเสื่อมตามร่างกายไปด้วย

แม้ว่าเราจะไม่สามารถพัฒนาร่างกายและสมองได้แล้วเพราะความที่เราแก่ชราลง
แต่เรายังสามารถพัฒนาจิตใจของเราให้สูงขึ้น ดีขึ้น มีคุณภาพขึ้นได้เรื่อย ๆ
จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายแห่งชีวิตของเรา
การพัฒนาจิตใจเราเองจึงสามารถทำได้อยู่เสมอ โดยอายุแก่ชราไม่ใช่ข้อจำกัด
และสิ่งที่เราได้ทำเพื่อพัฒนาจิตใจนี้ ก็จะสะสมในจิตใจเราไปเรื่อย ๆ
อย่างสมมุติว่าเดิมที เราเป็นคนชอบโกรธ ขี้หงุดหงิด อารมณ์ร้าย
ต่อมาเราหันมาศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาจิตใจตนเอง
เราเปลี่ยนตนเองให้เป็นคนมีเมตตากรุณา มีใจที่เป็นมิตรต่อผู้อื่น
ความเป็นคนมีเมตตานี้ย่อมจะอยู่ติดจิตใจเราไปเรื่อย แม้ว่าเราจะอายุแก่ชราลงก็ตาม
แม้ว่าสมองเราจะเสื่อมลง ความจำถดถอยลงไปบ้างตามความชรา
แต่ความมีเมตตาก็ยังติดอยู่ที่จิตใจ และยังเป็นนิสัยติดตัวเราต่อไปได้

ลำพังเพียงการทำบุญตักบาตรนั้น ก็ถือว่าดีและเป็นประโยชน์
แต่ไม่สามารถเติมเต็มให้กับชีวิตเราได้ ไม่สามารถเป็นเป้าหมายของชีวิตเราได้
เพราะหากเราแก่ชรามาก ๆ แล้ว เราตักบาตรไม่ไหว
หรือเราไม่มีสิ่งของใดจะไปถวายหรือทำบุญแล้ว เราก็อาจจะทุกข์ใจที่ไม่ได้ทำบุญนั้นอีก
เราจึงจะต้องวางเป้าหมายให้สูงกว่านั้น ไม่ใช่เพียงแค่อยู่เพื่อทำบุญตักบาตรเท่านั้น
แต่เราควรจะต้องอยู่เพื่อพัฒนาจิตใจเราให้สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ
การพัฒนาจิตใจของเรานั้นทำอย่างไร? ตอบว่ามี ๓ อย่างที่ต้องพัฒนาซึ่งก็คือ
ให้เรามุ่งพัฒนาศีล สมาธิ และปัญญา
โดยการพัฒนา ๓ อย่างนี้ สามารถทำได้แม้ว่าเราจะแก่ชราลงเรื่อย ๆ
สามารถทำได้ทุกวัน ไม่ว่าจะฝนตก แดดออก น้ำท่วม ไม่มีบ้านจะอยู่ ก็ยังทำได้
(ผมขอข้ามรายละเอียดเรื่องวิธีรักษาศีล ทำสมาธิ และเจริญปัญญาไปนะครับ)

เราจะเห็นได้ว่าในการหาและสะสมทรัพย์สินหรือของมีค่านอกร่างกายนั้น
จะต้องลงทุนลงแรงอย่างมากมาย อย่างเช่น บอกว่าต้องการเป็นมหาเศรษฐี
ก็จะต้องทำงานและเก็บเงินมากมาย และในท้ายสุดแล้ว อาจจะไม่ได้เป็นก็ได้
หรืออาจจะได้เป็น แล้วทรัพย์สินทั้งหลายอาจจะสูญสลายและต้องกลับมาจนก็ได้
หรือในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงก็ตาม สุขภาพก็เสื่อมลงได้
การศึกษาความรู้วิชาการต่าง ๆ นานา เมื่อเวลาผ่านไปความรู้นั้น ก็อาจจะไม่ทันสมัย
หรือไม่สมองของเราก็เสื่อมถอยลง ความจำต่าง ๆ ก็ถดถอย หลงลืมเลือนความรู้นั้นได้
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ต้องลงทุนลงแรงมาก แต่ได้มาแล้วก็ไม่มั่นคง สูญหายไปได้ง่าย ๆ
แต่สำหรับการพัฒนาจิตใจด้วยศีล สมาธิ และปัญญานั้น
ลงทุนลงแรงน้อยกว่ามาก ไม่มีใครมาเก็บเงินเราเป็นค่ารักษาศีล หรือค่าทำสมาธิ
หรือค่าเจริญปัญญาหรอก เราสามารถทำได้ด้วยตัวเราเอง ทำได้ทุกวันเวลา
แนวทางการปฏิบัติเพื่อรักษาศีล ทำสมาธิ และเจริญปัญญานั้น
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็ทรงสอนให้พวกเราอย่างฟรี ๆ

เช่นนี้ เราควรจะมุ่งเลือกพัฒนาสิ่งไหนดี
ระหว่างสิ่งภายนอกจิตใจที่ต้องลงทุนมากมายในการพัฒนาและการสะสม
แต่พอพัฒนาและสะสมไปแล้วก็เสื่อมถอย และสูญหายไปได้ง่าย ๆ
เปรียบเทียบกับการพัฒนาจิตใจเราที่ลงทุนน้อยกว่า
และเมื่อพัฒนาไปแล้ว ก็ไม่ได้เสื่อมถอยไปง่าย ๆ และอยู่ได้คงทนนานกว่า
หลาย ๆ คนต้องการจะเป็นมหาเศรษฐี ถามว่าจะต้องลงทุนลงแรงมากมายขนาดไหน
แล้วลองพิจารณาต่อไปว่ามหาเศรษฐีที่รวยติดอันดับประเทศ หรือติดอันดับโลกหลาย ๆ คนนั้น
เขาจะมีความสุขมากกว่าเรา ๆ ซึ่งเป็นคนธรรมดาไหม หรือจะมีความสุขน้อยกว่า
ตัวอย่างที่ลงข่าวหนังสือพิมพ์ให้เห็นบ่อย ๆ นี้ก็มีอยู่ให้เห็นเรื่อย ๆ ครับ

อีกเรื่องหนึ่งคือ เราซึ่งเป็นคนแก่ชราแล้ว เราตั้งใจจะฝากชีวิตของเราไว้กับอะไร
เราจะฝากชีวิตไว้กับลูกหลานได้ไหม ลูกหลานเราจะตายวันไหนก็ไม่รู้
บางทีลูกหลานตายก่อนเราเสียอีก หรือลูกหลานเราบางทียังเอาตัวเองไม่ค่อยจะรอดเลย
เราจะฝากชีวิตของเราไว้กับทรัพย์สินหรือสิ่งของนอกร่างกายไหม
สิ่งของนอกร่างกายเหล่านั้นสามารถสูญหายหรือสูญสลายได้ทั้งหมดโดยไม่ยากเลย
ในเมื่อเราวางเป้าหมายชีวิตที่จะพัฒนาจิตใจให้ดีขึ้นแล้ว
โดยตั้งใจพัฒนาศีล สมาธิ และปัญญาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปแล้ว
หากเรารู้สึกไม่แน่ใจ ไม่มั่นคง ไม่รู้ว่าจะฝากชีวิตของเราไว้กับอะไรแล้ว
เราก็พึงจะระลึกใจว่าขอฝากชีวิตของเราไว้กับพระรัตนตรัยนั่นแหละ
คือถวายชีวิตของเราให้ไว้กับพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์

บางคนบอกว่าตนเองฝากชีวิตไว้กับพระพุทธเจ้า โดยแขวนพระเครื่องที่คอ
บางคนบอกว่าตนเองฝากชีวิตไว้กับพระอริยสงฆ์ โดยแขวนเหรียญหลวงปู่ที่คอ
การที่เราแขวนหรือพกพระเครื่องหรือเหรียญต่าง ๆ นั้น
ยังไม่ถือว่าเป็นการฝากชีวิตเอาไว้อย่างแท้จริงหรอกครับ
อย่างเช่น เวลาเราอาบน้ำ เราก็ถอดสร้อยพระหรือสร้อยเหรียญนั้น ๆ ออก
แปลว่าช่วงเวลานั้น เราไม่มีพระพุทธเจ้า และไม่มีพระอริยสงฆ์แล้วหรือเปล่า
ฉะนั้น การพกพาพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์อย่างแท้จริงนั้น
ไม่เพียงแค่พกพาที่ร่างกายเท่านั้นครับ แต่จะต้องพกพาเข้ามาข้างในที่จิตใจเลย
ซึ่งการพกพาพระรัตนตรัยเข้ามาที่จิตใจนั้นก็คือ
การระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์ และน้อมนำมายึดถือปฏิบัติ
ซึ่งย่อ ๆ ก็คือการพัฒนาศีล สมาธิ และปัญญานั่นเอง

หลังจากจบการอธิบายแล้ว คุณอาช่างตัดผมบอกว่า ดีจังเลย
เขาเองจะตั้งใจพยายามรักษาศีล ทำสมาธิ และเจริญปัญญา
แต่ส่วนญาติอาวุโสนั้นทำเฉย ๆ ไม่ได้ตอบอะไร แต่ดูท่าทางแล้วก็ไม่ได้สนใจอะไร
และก็น่าจะใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ ต่อไป โดยไม่ได้พยายามจะปรับเปลี่ยนอะไร
ซึ่งเมื่อดูเทียบกันแล้ว ก็กลายเป็นว่าคนที่มีชีวิตยากลำบากกว่า
ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพอย่างเหนื่อยยาก ไม่ค่อยจะไม่กินมีใช้
กลับสนใจเห็นคุณค่าของธรรมะ และตั้งใจที่จะฟังและประพฤติธรรมมากกว่า
ในขณะที่คนที่มีชีวิตอยู่สบาย ๆ ไม่ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพตนเอง
และมีกินมีใช้อย่างไม่ลำบาก กลับไม่ได้สนใจฟังและประพฤติธรรม

ความมีพร้อมในสิ่งของและเงินทองในทางโลก จึงไม่ได้เป็นสิ่งที่รับประกัน
หรือสิ่งที่จะมาชี้วัดได้ว่า คนเราจะสนใจและประพฤติธรรมมากน้อยเพียงไร
โดยความพร้อมในทางโลกนั้น อาจจะไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์แก่ชีวิตเราอย่างแท้จริง
ในทางกลับกัน ความพร้อมในทางโลกนั้น อาจจะเป็นส่วนสำคัญ
ที่ทำให้ชีวิตเราหลงและตกอยู่ในความประมาทก็ได้
ฉะนั้นแล้วกัลยาณมิตร และโยนิโสมนสิการเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตเราที่ช่วยตรวจสอบ
เราพึงวางเป้าหมายชีวิตของเราเองให้ดี และหมั่นตรวจสอบเป็นระยะ ๆ โดยไม่ควรประมาท