Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๔๗

พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



dharmajaree-147

ในหลายเดือนที่ผ่านมา หลาย ๆ ท่านคงจะได้ยินคำว่าการเฉลิมฉลอง “พุทธชยันตี” นะครับ
ขออธิบายว่า การเฉลิมฉลอง “พุทธชยันตี” (Buddha Jayanti)
เป็นเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่มีความเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
โดยใช้เรียกการจัดกิจกรรมในปีที่ครบรอบวาระสำคัญของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เช่น ฉลองครบรอบ ๒,๕๐๐ ปีแห่งการปรินิพพาน (เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ ที่ผ่านมา)
หรือฉลองครบรอบ ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ (ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ นี้)
โดยอาจใช้ชื่อต่างกันไปบ้างในแต่ละประเทศ เช่น ศรีสัมพุทธชยันตี สัมพุทธชยันตี
แต่ทั้งหมดก็คือ การเฉลิมฉลองปีที่ครบรอบวาระสำคัญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

เนื่องด้วยในวันวิสาขบูชาที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ ที่จะมาถึงนี้
จะเป็นวันครบรอบ ๒,๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หากถามว่าเราจะนับได้ ๒,๖๐๐ ปีนี้ได้อย่างไร
ก็ต้องทราบว่า การกำหนดนับพุทธศักราชนั้นเริ่มนับตั้งแต่
วันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน
ในเมื่อปีนี้เป็นปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ ก็เท่ากับว่า
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไป ๒,๕๕๕ ปีแล้ว
และในเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ก่อนดับขันธปรินิพพานเป็นเวลา ๔๕ ปี
เรานำตัวเลข ๔๕ ปีบวกกับตัวเลข ๒,๕๕๕ ปี ก็จะได้ครบ ๒,๖๐๐ ปีครับ

ตัวเลข ๒,๖๐๐ ปีนี้จึงเป็นตัวเลขที่เริ่มนับจากวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้ทรงชนะมารและกิเลสทั้งหลายสิ้นเชิง โดยได้ตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
บนโพธิ์บัลลังก์ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ณ ชมพูทวีป และจะครบรอบ ๒,๖๐๐ ปี
ในวันวิสาขบูชาที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ ที่จะมาถึงนี้

เนื่องในวาระโอกาสนี้ รัฐบาลไทยได้ประกาศให้ปีพุทธศักราช ๒๕๕๕
เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี โดยเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ตลอดทั้งปี
ซึ่งให้เน้นหนักในด้านการปฏิบัติบูชา และการมีส่วนร่วมของประชาชน
ตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับชาติ โดยให้ประชาชนได้ปฏิบัติตนตามวิถีชาวพุทธ
ในส่วนของการจัดงานเฉลิมฉลองโดยหน่วยงานต่าง ๆ นั้น
ท่านสามารถหาข้อมูลได้เองจากเว็บไซต์และสื่อต่าง ๆ รวมถึงวัดใกล้บ้านของท่าน
เพราะก็ย่อมจะมีการจัดงานวันวิสาขบูชาเป็นปกติอยู่แล้ว

ในส่วนของพวกเราเองนั้น หากจะต้องการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี
เพื่อเป็นพุทธบูชาแล้ว ถามว่าควรจะทำอย่างไร
ขอตอบโดยอาศัยเนื้อหาจากอรรถกถาของมหาปรินิพพานสูตร
โดยในครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสต่อท่านพระอานนท์ว่า
ดูกร อานนท์ ไม้สาละทั้งคู่ ผลิดอกบานสะพรั่งนอกฤดูกาล
ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา
แม้ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ
ดอกมณฑารพเหล่านั้น ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา
แม้จุณแห่งจันทน์อันเป็นของทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ
จุณแห่งจันทน์เหล่านั้น ร่วงหล่น โปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา
ดนตรีอันเป็นทิพย์เล่าก็ประโคมอยู่ในอากาศเพื่อบูชาตถาคต
แม้สังคีตอันเป็นทิพย์ก็เป็นไปในอากาศเพื่อบูชาตถาคต
ดูกร อานนท์ ตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
นอบน้อม ด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้หามิได้
ผู้ใดแล จะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกาก็ตาม
เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมอยู่
ผู้นั้นย่อมชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคต ด้วยการบูชาอย่างยอด

กล่าวคือ การจะบูชาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยดอกไม้ของหอม
หรือกระทั่งดอกไม้ทิพย์ ดนตรีทิพย์ของเทวดาก็ตาม
ก็ไม่สามารถจะเทียบเท่ากับการปฏิบัติธรรม
โดยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมอยู่
ย่อมชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการบูชาอย่างยอด

จริง ๆ แล้วการสักการบูชาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติบูชานั้น
สามารถกระทำได้ทุกวัน โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันวิสาขบูชานะครับ
สังเกตว่าพระตถาคตทรงใช้คำว่า “ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม”
หรือ “ปฏิบัติตามธรรมอยู่” ซึ่งหมายถึงจะต้องปฏิบัติต่อเนื่อง และ
ปฏิบัติตามที่สมควรสำหรับการมุ่งหมายแห่งปฏิบัตินั้น ๆ
หากถามต่อไปว่า เราควรให้ความสำคัญแก่การปฏิบัติธรรมแค่ไหน จึงจะเรียกว่าสมควร
พระตถาคตได้ทรงตรัสอุปมาเปรียบเทียบไว้ว่า
แม้จะถูกเขาแทงด้วยหอก เช้า ๑๐๐ ครั้ง เที่ยง ๑๐๐ ครั้ง เย็น ๑๐๐ ครั้ง
เป็นระยะเวลา ๑๐๐ ปี เพื่อแลกเอาการรู้อริยสัจ ดังนี้ก็ควรยอม
และได้ทรงอุปมาเปรียบเทียบว่า แม้จะมีไฟกำลังไหม้อยู่ที่ศีรษะหรือเสื้อผ้าก็ตาม
หากยังมีกำลังหรือความเพียรที่มีอยู่ ก็พึงจะนำไปใช้ในการทำให้รู้อริยสัจ
ก่อนที่จะนำไปใช้ในการดับไฟที่กำลังไหม้อยู่ที่ศีรษะหรือเสื้อผ้านั้น ๆ
โดยการอุปมาเปรียบเทียบในสองกรณีที่กล่าวนี้
ก็คงพอจะทำให้เราทราบได้นะครับว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นมีคุณค่าสำคัญเพียงไร
และเราควรจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนต่อธรรมะอย่างไร

ฉะนั้นแล้ว การสักการบูชาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติบูชานั้น
(ซึ่งรวมถึงการบูชาครูบาอาจารย์ที่เราเคารพด้วยการปฏิบัติบูชานั้นด้วย)
สามารถทำได้ทุกวัน และเราควรจะต้องทำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ
โดยไม่ต้องไปรอโอกาสและเทศกาลใด ๆ
แต่สำหรับเรา ๆ บางท่านที่เริ่มจะเฉื่อยและขาดความต่อเนื่องไปบ้างหรือเยอะก็ดี
เพราะโดนกิเลสลากไป หรือโดนเรื่องทางโลก ๆ ลากไปแล้วก็ตาม
ก็อาจจะน้อมระลึกถึงวาระโอกาสพุทธชยันตีในวันวิสาขบูชาที่จะมาถึงนี้
มาชาร์จไฟให้ตัวเองขยันหมั่นเพียรมากขึ้นนะครับ
เช่น อาจจะตั้งสัจจะไว้ว่าจะตั้งใจศึกษาและปฏิบัติให้มากขึ้นอย่างไรบ้าง
ซึ่งก็ควรตั้งเป้าหมายไว้ให้เหมาะสมแก่ตนเอง เพื่อพัฒนาความเพียรของตนครับ

หมายเหตุ ข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวกับพุทธชยันตีมาจาก เว็บไซต์ http://www.buddhajayanti.net และ
เว็บไซต์ http://th.wikipedia.org (ค้นคำว่า “พุทธชยันตี”)
ข้อมูลอรรถกถาของมหาปรินิพพานสูตรมาจาก เว็บไซต์ http://www.84000.org