Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๔๔

ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



dharmajaree-144

ในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา เราคงได้ทราบข่าวเรื่องการลักลอบนำยาซูโดอีเฟดรีน
ออกมาจากโรงพยาบาลบางแห่งเพื่อนำไปแอบจำหน่ายแก่คนซื้อโดยผิดกฎหมาย
ซึ่งคนซื้อได้นำยาดังกล่าวไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาบ้า รวมทั้งยาไอซ์
ผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องนั้นก็คาดว่ามีบุคลากรของโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องในการสั่งยาหรือจ่ายยา
สำหรับในเรื่องการทุจริตและการตรวจสอบหาผู้กระทำความผิดนั้น
เราก็ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเขาทำหน้าที่กันไปนะครับ
(โดยผมเข้าใจว่า ขณะที่เขียนบทความก็ยังสรุปไม่ได้ว่ามีผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องเท่าไรและใครบ้าง)
แต่หากเราจะลองหยิบเรื่องนี้มามองในเชิงของธรรมะแล้ว
ในมุมมองหนึ่ง เราจะเห็นได้ว่า คนเรานี้เบียดเบียนกันเองนะครับ
แม้กระทั่งคนที่อยู่ในสถานที่ที่สมควรจะช่วยเหลือชีวิตและสุขภาพคนอื่นได้มากมาย
อันเป็นโอกาสได้ทำสิ่งที่เป็นบุญกุศลมากมาย
แต่กลับกระทำสิ่งที่เป็นการเบียดเบียนและทำลายชีวิตคนอื่น ๆ เสียเอง
ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนหมู่มาก อันเป็นการสร้างบาปอกุศลร้ายแรง

หากมองภาพย้อนเวลากลับไปถึงสมัยที่ผู้กระทำผิดเรียนหนังสือในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง
ต่อมาก็ได้มาทำงานในโรงพยาบาล และได้ทำหน้าที่สั่งยาหรือจ่ายยารักษาผู้ป่วย
ถือว่าเป็นการเริ่มต้นในเส้นทางที่ดี เป็นประโยชน์ และสามารถสร้างบุญกุศลได้
แต่ต่อมา ผู้กระทำผิดนั้นกลับนำสิ่งดี ๆ ที่ตนเองมีนั้นไปใช้ในทางที่ผิด
โดยกลับทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นมากมาย และเป็นการสร้างบาปอกุศลไปเสีย
ทำให้ผมนึกถึงประโยคในเพลง “บ้องกัญชา” นะครับ (เป็นเพลงเก่าและนานมากแล้ว)
โดยในเพลงเขาร้องบอกว่า “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา”
อธิบายว่าตอนแรกนั้น เราก็ปลูกต้นไผ่ขึ้นมา ซึ่งไผ่เป็นพันธุ์ไม้ที่ให้ประโยชน์หลายประการ
เช่น เราสามารถนำไม้ไผ่มาสร้างบ้านที่อยู่อาศัย ทำเครื่องจักสาน และสิ่งของเครื่องใช้
(เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ด้ามไม้กวาด ถาดใส่ขนม ทัพพีไม้ ตะเกียบ กรอบรูป ไม้พาย ฯลฯ)
ใช้ผลิตกระดาษ ใช้ทำไหมเทียม และต้นไผ่นั้นสามารถใช้ได้ทุกส่วน
ตั้งแต่ หน่อ ลำต้น ใบ ราก เยื่อไผ่ ขุยไผ่ (หน่อไม้ก็นำมาทำอาหารได้หลากหลายนะครับ)
และต้นไผ่ยังช่วยป้องกันการพังทลายของดินตามริมฝั่ง เป็นแนวป้องกันลมพายุ
ช่วยชะลอความเร็วของกระแสน้ำป่าเมื่อฤดูน้ำหลากกันภาวะน้ำท่วมฉับพลัน ฯลฯ
แต่พอต่อมาหลังจากนั้น บางท่านกลับนำลำไม้ไผ่มาทำเป็นบ้องกัญชา
ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการนำสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ไปใช้ในทางที่เป็นโทษ
และทำให้เกิดความเสียหาย

ในชีวิตจริงของเรา ก็คงจะได้พบเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่เสมอนะครับ
หรือแม้กระทั่งตัวเราเอง ก็อาจจะประพฤติทำนองนี้เช่นกันว่า
เริ่มต้นนั้นเราก็ตั้งใจจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งด้วยเจตนาดี และเป็นกุศล
แต่ต่อมาหลังจากนั้น สิ่งที่เราทำกลับเป็นไปในทางที่เป็นโทษ และเป็นอกุศล
ยกตัวอย่างเช่น เราต้องการจะแนะนำให้พ่อแม่เราทำบุญกุศลอะไรสักอย่างหนึ่ง
(เช่น ทำทาน ถือศีล ฟังธรรม ทำสมาธิ หรือเจริญวิปัสสนา เป็นต้น)
แต่พอพ่อแม่เราไม่ทำ ไม่สนใจ และไม่ฟัง เราเองก็โมโหและก็ไปพูดจาไม่ดีใส่ท่าน
โดยเราก็หลงเข้าใจว่าเราทำไปเพื่อเจตนาที่ดีและเป็นกุศล
ซึ่งในกรณีนี้ เห็นว่าในช่วงแรกนั้นก็ใช่อยู่ว่า ทำไปด้วยเจตนาดีและเป็นกุศล
แต่สำหรับในส่วนหลังที่ไปโมโหและกล่าววาจาตำหนิพ่อแม่นั้น คงไม่ใช่แล้ว
โดยเห็นว่าเป็นการกระทำที่สนองโทสะตนเอง เป็นโทษและอกุศล

อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมก็มีเหมือนกันที่ว่า
เราศึกษาและปฏิบัติธรรม มีความรู้ความเข้าใจในธรรมะอยู่บ้างแล้ว
แทนที่จะนำความรู้ความเข้าใจนั้น มาสอนและแนะนำคนอื่นด้วยความเมตตา
แต่กลับนำความรู้ความเข้าใจนั้นไปใช้เบียดเบียนผู้อื่น ใช้ทำร้ายผู้อื่นให้เป็นทุกข์มากขึ้น
หรือต้องเจ็บช้ำน้ำใจมากขึ้นด้วยวาจาเชือดเฉือน หรือการสั่งสอนของเรา
ขอสารภาพตามตรงว่าผมเองก็เคยเป็น และก็ยังเป็นอยู่เหมือนกันนะครับ
บางทีเราก็หลงเข้าใจว่า เราทำไปเพราะเจตนาดี และต้องการจะช่วย
แต่พอประพฤติไปสักระยะหนึ่งแล้ว ก็ทำให้เข้าใจได้ว่า
ถึงเราจะมีเจตนาดีก็ตาม ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่อนุญาตว่า เราจะทำอะไรก็ได้หรือจะกล่าวอะไรก็ได้
เพราะหากเราทำอะไรหรือกล่าวอะไรโดยไม่มีกรอบและขอบเขตของความเหมาะสม
โดยจะอ้างแต่เพียงว่าเจตนาดีเท่านั้น สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่อันตรายมาก ๆ
และจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเอง โดยเราจะโดนลากไปในทางอกุศลได้ง่าย ๆ เลย

เมื่อเดือนที่แล้ว ผมก็ยังได้เห็นกรณีของญาติธรรมท่านหนึ่ง
ตอนแรกก็เจตนาจะไปสอนธรรมะให้เพื่อน
ต่อมาเพื่อนไม่รับฟังแถมด่ากลับมา
ญาติธรรมท่านนี้ก็เลยด่ากลับไป แล้วก็เลยทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน
แล้วญาติธรรมท่านนี้ก็กลับต้องมากลุ้มใจเสียเอง
ทั้งที่ตอนแรกดูเหมือนว่าเป็นฝ่ายที่จะไปช่วยเหลือเขา
แต่ภายหลังกลับมาเป็นฝ่ายที่เสียหายเอง เกิดอกุศลแก่ตนเอง
และทำให้ปัญหาบานปลายและมีความเสียหายหนักมากขึ้น

กรณีอื่น ๆ ก็มีอีกเยอะแยะนะครับ อย่างเช่นว่า
ผมก็เคยเห็นญาติธรรมบางท่านอ้างว่า ตนเองต้องการรักษาพระพุทธศาสนา
แต่ปรากฏว่าพฤติกรรมที่ได้ทำด้วยอ้างว่าต้องการรักษาพระศาสนานั้น
กลับเป็นพฤติกรรมบาปอกุศล และทำลายพระพุทธศาสนาเสียเอง
สำหรับบางท่านที่ไม่รู้ตัว กิเลสมันก็จะหลอกให้ทำสิ่งอกุศลไปได้เรื่อย ๆ ครับ
อย่างในเพลงบ้องกัญชานั้น ก็มีเนื้อร้องด้วยว่า
ในงานสังสรรค์งานหนึ่ง มีลุงเฒ่าคนหนึ่งนำกัญชามาสูบ โดยก็แบ่งกันสูบใหญ่เลย
ต่อมาตำรวจก็มาจับข้อหาสูบกัญชา โดยมีบ้องกัญชาเป็นหลักฐานของกลาง
ลุงเฒ่าก็เถียงแย้งว่านี่มันคือ “บ้องไม้ไผ่” นะ ไม่ใช่ “บ้องกัญชา”
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงนะครับว่า
แม้กระทั่งจะเห็นอยู่ได้ชัดแจ้งแล้วว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้เป็นบาปอกุศล
แต่กิเลสจะหลอกให้เราหลงเข้าใจไปได้ว่าเป็นสิ่งที่ดี หรือเป็นกุศลนะ

บางคนได้เลื่อนตำแหน่ง ได้มีหน้าที่การงานดี ได้มีอำนาจหรือฐานะที่ดี
แต่กลับนำตำแหน่ง หน้าที่การงาน อำนาจหรือฐานะที่ดีเหล่านั้น
มาใช้ทำบาปอกุศล หรือเบียดเบียนผู้อื่น มาใช้ทำลายผู้อื่น มาใช้ทำลายส่วนรวม
แต่ก็โดนกิเลสหลอกเสียอีกว่าที่กำลังทำอยู่นี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนอื่น ๆ นะ
เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมนะ เป็นสิ่งที่เหมาะสมและเราสมควรจะทำนะ
สิ่งเหล่านี้ก็เชื่อว่าทุกท่านคงจะได้พบเห็นอยู่เป็นประจำเสมอ ๆ

ผมคงไม่สามารถยกตัวอย่างได้ทั้งหมดนะครับ
แต่ก็แนะนำว่าให้ทุกท่านได้ลองพิจารณากรณีของตนเองว่า
เราเองนั้นมีปัญหาทำนองเดียวกันหรือไม่ (ผมเองก็ยังมีเหมือนกันนะครับดังที่เรียนแล้ว)
กรณีที่มักจะพบเจอบ่อย ๆ ก็คือกรณีสอนแนะนำคนอื่นนี้แหละครับ
เราต้องการสอนและตักเตือนคนอื่นเพื่อให้เขาได้ดี
แต่บางทีสิ่งที่เราทำนั้นกลับกลายเป็นการทำไปเพื่อสนองกิเลสเราเองโดยไม่รู้ตัว
และเมื่อพอทะเลาะและถกเถียงกันแล้ว เราก็ไม่ได้พยายามใช้น้ำไปดับไฟ
แต่กลับพยายามใช้ไฟไปดับไฟ ซึ่งก็ทำให้ไฟยิ่งลุกลามไปกันใหญ่
แทนที่เรื่องจะจบด้วยบุญกุศล และประโยชน์จากการที่เราได้ใช้ไผ่อย่างมีคุณค่าสูงสุด
เรื่องราวก็กลับจบลงด้วยบ้องกัญชา บาปอกุศล และความเสียหายครับ