Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๔๓

๖ สิ่งที่สะดวกในการสร้างกุศล

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



เมื่อวันศุกร์และวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อทำธุระในงานกุศลงานหนึ่ง
ได้พบกับญาติธรรมรุ่นพี่ท่านหนึ่งซึ่งติดตามอ่านวารสารธรรมะใกล้ตัวด้วย
ท่านได้ทักทายผมว่า ในช่วงเดือนสองเดือนหลังนี้ เห็นผมไม่ได้เขียนลงในบางฉบับ
ผมได้เรียนญาติธรรมท่านนั้นไปตามจริงว่า ผมเขียนไม่ทันครับ
เพราะติดงานอื่นหลายอย่าง รวมทั้งงานประจำของที่ทำงานด้วย
ในโอกาสนี้ ผมจึงขอเรียนท่านผู้อ่านอื่น ๆ ไว้ด้วยครับว่า
หากเห็นว่าผมหายไปบางฉบับ ส่วนใหญ่แล้ว ก็คือติดงานอื่น ๆ นะครับ

หลังจากกลับมาจากงานกุศลต่างจังหวัดแล้ว ผมได้สนทนากับญาติธรรมอีกท่านหนึ่ง
เขาเล่าว่ามีอยู่วันหนึ่ง เขาได้ขับรถไปส่งเพื่อนที่ทำงานสองคนกลับบ้าน
เพื่อนคนแรกเห็นยุงบินในรถ จึงพยายามจะตบยุงที่กำลังบินอยู่ในขณะนั้น
เขาจึงกล่าวบอกเพื่อนคนแรกว่า “อย่าไปตบมันเลย ปล่อยมันไปเถอะ”
เพื่อนคนที่สองได้ยินแล้ว ก็ถามว่า “ทำไมล่ะ เลี้ยงยุงไว้ในรถหรือไง”
เขาตอบว่า “ไม่ได้เลี้ยงหรอก แต่แค่เพียงเปิดหน้าต่างสักพักหนึ่ง เดี๋ยวมันก็ออกไปแล้ว”
จากนั้นทุกคนก็ไม่ได้คุยอะไรกันต่อในเรื่องยุง โดยก็เปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่น

ผมก็ให้ความเห็นไปว่า เพื่อนสองคนได้ยินญาติธรรมท่านนี้ห้ามแล้ว
อาจจะหลงเข้าใจว่าญาติธรรมห้ามเพื่อเป็นการช่วยเหลือยุงตัวนั้น
แต่จริง ๆ แล้ว หากเราจะมองอีกด้านหนึ่ง เราก็จะเห็นได้ว่า
การห้ามของญาติธรรมนั้น เป็นการช่วยเหลือเพื่อนคนแรกไม่ให้ทำผิดศีล
ไม่ให้เพื่อนคนแรกนั้นทำบาปอกุศลและจะต้องรับผลกรรมนั้นในภายหลัง

หากยุงนั้นโดนตบตายไป ยุงนั้นก็ถือว่าใช้กรรมของมัน แต่ยุงไม่ได้ทำบาปอะไรเพิ่ม
แต่ว่าหากเพื่อนคนแรกทำผิดศีลแล้ว ก็ย่อมจะได้รับผลกรรมที่ไม่ดีแก่ตนเอง
ผลกรรมในชาติอนาคตที่มองไม่เห็น ก็อาจจะพิสูจน์ได้ยาก
แต่หากเราจะลองพิจารณาผลกรรมในชาติปัจจุบันนี้แล้ว
ก็สามารถพิจารณาเองได้ว่า การผิดศีลนั้นย่อมเป็นโทษต่อเราอย่างแน่นอน
ขอเริ่มต้นตรงข้อที่เห็นได้ไม่ยาก คือกรณีผิดศีลเรื่องห้ามดื่มสุรา
โดยผลของการดื่มสุราก็ย่อมเป็นโทษต่อร่างกาย และจิตใจอยู่แล้ว
บางท่านอ้างว่าดื่มสุราแล้วทำให้สบายใจ ช่วยให้ลืมปัญหาชีวิตได้ชั่วคราว
แต่หากถามว่าดื่มสุราแล้ว ปัญหาชีวิตนั้นหายไปหรือไม่ ก็ตอบว่าไม่หายไป
นอกจากปัญหาจะไม่หายไปแล้ว การดื่มสุรายังสร้างให้ปัญหามากขึ้นอีก
และยังทำให้เราต้องเสียเวลา เงินทอง โอกาส และแรงงานที่จะนำไปแก้ไขปัญหาชีวิต

กรณีผิดศีลข้อห้ามประพฤติผิดในกามนี้ ก็เป็นโทษอันตรายถึงชีวิตได้เลย
โดยอาจจะไม่ใช่แค่เพียงบาดเจ็บร่างกายเท่านั้น
ที่เห็นว่าตาย ๆ กันเพราะเหตุนี้ ตามข่าวก็มีเยอะ
ในส่วนจิตใจก็ต้องห่วงกังวลเกรงว่าจะโดนคนอื่นจับได้ จิตใจก็ย่อมจะเสียหาย ไม่เป็นปกติ

กรณีผิดศีลข้อห้ามพูดจาโกหกนั้น เมื่อพูดโกหกไปแล้ว จิตใจก็กังวลเกรงว่าเขาจะจับได้
จิตใจก็ย่อมจะเสียหาย ไม่เป็นปกติ โกหกคนอื่นแล้ว ก็ย่อมจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ
กรณีโกหกหรือให้ข้อมูลเท็จบางกรณีก็ยังเป็นความผิดตามกฎหมายถึงขั้นต้องติดคุกก็ได้

กรณีผิดศีลข้อห้ามลักขโมยนั้น ก่อนที่จะลักขโมยก็ต้องมีความโลภอยากได้ของคนอื่นก่อน
พอลักขโมยมาแล้ว จิตใจก็กังวลเกรงว่าเขาจะจับได้
ก็ทำให้จิตใจเสียหาย และไม่เป็นปกติเช่นกัน โดยก็ย่อมมีผลกระทบถึงร่างกายได้
ในหลายกรณีก็อาจจะโดนดำเนินคดีตามกฎหมายถึงขั้นต้องติดคุกได้

กรณีผิดศีลข้อห้ามฆ่าสัตว์นั้น ก่อนที่จะฆ่าสัตว์ เราก็ต้องมีจิตใจที่ต้องการฆ่าเสียก่อน
ถามว่าจิตใจเช่นนั้นจะเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษแก่ตัวเรา
กรณีจึงทำให้จิตใจเสียหาย และไม่เป็นปกติ นอกจากนี้ การฆ่าหรือทำร้ายคนอื่นนั้น
ก็ยังเป็นความผิดตามกฎหมายและสามารถถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้

ดังนั้นการที่ญาติธรรมได้ห้ามเพื่อนคนแรกไว้ไม่ให้ตบยุง
จึงเป็นการช่วยเหลือให้เพื่อนคนแรกได้รักษาศีลไว้
และเป็นการช่วยเหลือให้เพื่อนคนแรกได้สร้างกุศล ด้วยการรักษาศีลในขณะนั้น
ซึ่งเปรียบได้ว่า ช่วยเพื่อนคนแรกจากอบายภูมิ และบอกหนทางไปสวรรค์เลยนะครับ
แต่คนที่ไม่เข้าใจก็อาจจะมองว่า เป็นห่วงยุงนักหรือไง หรือธรรมะธัมโมไม่เข้าเรื่องหรือเปล่า
ซึ่งหากเราไม่สามารถอธิบายให้เขาเข้าใจได้ บางทีก็อาจจะต้องปล่อยเขาไป
เรื่องทำนองนี้ก็คล้ายกับกรณีว่า เราพาญาติผู้ใหญ่สูงอายุไปทำบุญ
บางทีเราแนะนำให้ญาติผู้ใหญ่สูงอายุทำบุญโน่นทำบุญนี่เยอะ ๆ
ก็เพื่อประโยชน์ตัวของเขาเอง แต่เขาก็อาจจะไม่เข้าใจเรา
เข้าใจว่าเขาทำบุญไปแล้วประโยชน์ก็ได้กับทางวัดหรือสถานที่รับทำบุญนั้น
ซึ่งก็ย่อมจะขึ้นกับความรู้ความเข้าใจและมุมมองของแต่ละท่านที่แตกต่างกัน

จริง ๆ แล้วการสร้างกุศลก็สามารถทำได้อยู่เรื่อย ๆ แม้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้
โดยไม่จำเป็นต้องรอบุญกุศลใหญ่ ๆ เท่านั้น จึงจะทำได้
เสมือนกับว่าหากเราสะสมเงินไว้ในกระปุกออมสิน
การที่เราจะหยอดกระปุกทีละเพียงหนึ่งบาทไปเรื่อย ๆ สักวันหนึ่งกระปุกก็เต็มได้
กรณีไม่จำเป็นว่าเราจะต้องรอให้มีเงินทีละสิบบาทก่อน เราถึงจะสามารถหยอดกระปุกได้
แต่เราสามารถจะทยอยรวบรวมเก็บเล็กผสมน้อยไปได้เรื่อย ๆ

บางท่านอาจจะสงสัยว่าการเก็บเล็กผสมน้อยจะทำได้สะดวกแค่ไหนกัน
ซึ่งบางท่านอาจชอบพิจารณาว่า เราจะมีสิ่งของอะไรมาทำบุญกุศลกันได้บ้าง
ซึ่งก็มักจะนึกถึงเฉพาะการถวายของ การให้ทาน และการต้องไปปฏิบัติธรรมที่วัด
หากจะลองจริง ๆ แล้ว สิ่งที่สะดวกที่สุดที่เราจะใช้ทำบุญกุศลนั้น ก็มีอยู่ ๖ สิ่งเท่านั้นเอง
โดยทั้ง ๖ สิ่งนี้ก็ติดตัวอยู่กับเราตลอดเวลาอยู่แล้ว
ซึ่งได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

สิ่งแรกคือ “ตา” เราใช้ตาสร้างกุศลแก่ตนเองได้ เช่น การอ่านหนังสือธรรมะ การชมสื่อธรรมะ
การพบเห็นสมณะ การชมสิ่งที่เป็นประโยชน์ การชมสิ่งที่เป็นกุศล
เวลาเราใช้สายตามองผู้อื่น ก็มองด้วยเมตตากรุณา มองด้วยไมตรี เป็นต้น
ซึ่งเพียงเท่านี้ ก็สามารถสร้างกุศลด้วยตาได้แล้ว

สิ่งที่สองคือ “หู” เราใช้หูสร้างกุศลแก่ตนเองได้ เช่น การฟังธรรมเทศนาหรือธรรมบรรยาย
การฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ การฟังสิ่งที่เป็นกุศล (เช่น เรื่องราวที่คนอื่นได้ไปทำบุญสร้างกุศล
ซึ่งเมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว เราก็สามารถอนุโมทนาบุญกับเขาได้ด้วย)
เราสามารถใช้หูของเราในการฟังเรื่องราวปัญหาของผู้อื่น เพื่อช่วยเหลือให้คำแนะนำ
หรือเพื่อแสดงความเห็นอกเห็นใจหรือสนใจใส่ใจเพื่อให้เขาสบายใจได้ เป็นต้น
ซึ่งเพียงเท่านี้ ก็สามารถสร้างกุศลด้วยหูได้แล้ว

สิ่งที่สามคือ “จมูก” เราใช้จมูกสร้างกุศลแก่ตนเองได้ เช่น การหายใจเพื่อการภาวนา
ไม่ว่าจะเป็นการทำสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนาก็ได้
เราหายใจเข้าหายใจออก ก็สามารถระลึกรู้ลมหายใจได้
ซึ่งเพียงเท่านี้ ก็สามารถสร้างกุศลด้วยจมูกได้แล้ว

สิ่งที่สี่คือ “ลิ้น” ซึ่งผมขอรวมปากไปด้วยนะครับ
เราใช้ลิ้นและปากสร้างกุศลแก่ตนเองได้ด้วย การพูดจาอ่อนหวาน การพูดจาอ่อนน้อม
การพูดแนะนำผู้อื่นในสิ่งที่มีประโยชน์ การพูดแนะนำสั่งสอนธรรมะแก่ผู้อื่น
การระงับลิ้นและปากในการพูดจาโกหก หยาบคาย เพ้อเจ้อ และส่อเสียด
ย่อมเป็นการรักษาศีล ซึ่งได้บุญกุศลเช่นกัน
เราสามารถใช้ลิ้นและปากเพื่อสวดมนต์ และท่องจำตำราหรือธรรมะต่าง ๆ ได้
ซึ่งเพียงเท่านี้ ก็สามารถสร้างกุศลด้วยลิ้นและปากได้แล้ว

สิ่งที่ห้าคือ “กาย” เราใช้กายสร้างกุศลแก่ตนเองได้มากมายนะครับ
การระงับร่างกายไม่ไปทำร้ายผู้อื่น ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ลักขโมย
ไม่ดื่มสุรา ก็ย่อมเป็นการรักษาศีล ซึ่งได้บุญกุศล
เราสามารถใช้ร่างกายมาปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ เดินจงกรม ยืนสมาธิ นอนสมาธิก็ได้
ใช้ร่างกายถวายของทำบุญ หรือแจกทานต่าง ๆ
ใช้แรงงานและกำลังกายช่วยเหลือผู้อื่นในทางกุศลใด ๆ ก็ตาม เป็นต้น
ซึ่งเพียงเท่านี้ ก็สามารถสร้างกุศลด้วยกายได้แล้ว

สิ่งที่หกคือ “ใจ” ซึ่งเราสามารถใช้ใจของเราในการปฏิบัติภาวนาได้
ไม่ว่าจะเป็นการทำสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนาก็ได้
เราสามารถฝึกฝนใจของเราให้มีเมตตากรุณาซึ่งเป็นกุศล
สามารถฝึกฝนใจของเราให้มีสติ และปัญญา ฝักใฝ่ในสิ่งที่เป็นกุศล
และห่างไกลจากสิ่งอกุศลทั้งปวง ซึ่งเพียงเท่านี้ ก็สามารถสร้างกุศลด้วยใจได้แล้ว

หากพิจารณาตามนี้แล้ว ก็คงเห็นได้นะครับว่า
ในการสร้างบุญกุศลนั้น แท้จริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องยากอะไร
เราสามารถสร้างกุศลได้อย่างสะดวกด้วย ๖ สิ่งนี้ซึ่งติดตัวเราอยู่ตลอดเวลา
หากท่านใดจะอ้างว่าหรือเข้าใจว่าตนเองยุ่งมาก และไม่มีเวลาสร้างบุญกุศลเลย
ก็พึงที่จะลองปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่นะครับ

ในท้ายนี้ ขอเรียนว่าแม้ว่า ๖ สิ่งซึ่งติดตัวเราตลอดเวลานี้
จะเป็นสิ่งที่สร้างกุศลได้สะดวกที่สุดสำหรับเราก็ตาม
แต่ในทางกลับกัน ๖ สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่สร้างอกุศลได้สะดวกที่สุดสำหรับเราเช่นกัน
ฉะนั้นแล้ว ศีลย่อมเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเราทุก ๆ คนครับ
เพื่อที่เราจะใช้ ๖ สิ่งนี้ได้อย่างเกิดประโยชน์แก่ชีวิตเราและผู้อื่นมากที่สุด