Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๔๒

ใกล้เกลือกินด่าง

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



dharmajaree-142
หากได้อ่านหนังสือพิมพ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงได้เห็นคำว่า “จริยธรรม” ค่อนข้างบ่อยนะครับ
เรื่องการให้ความสำคัญแก่ศีลธรรมและจริยธรรมเป็นสิ่งที่เราพูดกันมานานมากแล้ว
ส่วนว่าในสังคมเราได้ให้ความสำคัญแก่ศีลธรรมและจริยธรรมกันมากน้อยเพียงไร
แต่ละท่านก็คงจะได้รับทราบ และมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป

เมื่อปี ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา มีอยู่วันหนึ่ง ผมและพี่ชายได้พาคุณแม่ไปทำหนังสือเดินทาง
โดยพวกเราได้เดินทางไปที่สำนักงานหนังสือเดินทางตั้งแต่เช้าตรู่เลย
ได้ไปยืนเข้าคิวเป็นรายแรกรอหน้าประตูก่อนที่สำนักงานจะเปิดทำการ
จากนั้นก็มีท่านอื่น ๆ มาต่อคิวอีกจนคิวยาวขึ้น ๆ
เจ้าหน้าที่ยังไม่แจกบัตรคิวจนกว่าประตูสำนักงานจะเปิดให้ประชาชนเข้าไปได้
และบัตรคิวก็จะแจกให้เรียงลำดับตามคนที่ได้เข้าไปภายในสำนักงานหนังสือเดินทางนั้น

ระหว่างที่ยืนรออยู่ในคิวเป็นลำดับแรกเพื่อรอประตูสำนักงานเปิดอยู่นั้น
คุณแม่ผมก็มองไปเห็นแม่ชีสองท่านได้ยืนรออยู่ข้าง ๆ แถว
คุณแม่ถามพี่ชายผมซึ่งยืนอยู่ด้วยกันว่า ควรให้แม่ชีสองท่านเข้าไปก่อนไหม
พี่ชายก็ตอบว่า “ควรให้แม่ชีสองท่านเข้าไปก่อนครับ อนุโมทนาด้วยครับ”
(พี่ชายผมมีหนังสือเดินทางอยู่แล้ว และยังไม่หมดอายุ
แต่พี่ชายก็ยืนในคิวเพื่อเป็นเพื่อนคุยกับคุณแม่ ส่วนผมไปนั่งอ่านหนังสือธรรมะรออยู่ใกล้ ๆ)
ปรากฏว่ามีคุณป้าแต่งตัวดีท่านหนึ่งได้ยืนต่อในคิวอยู่ประมาณลำดับที่สาม
เธอได้บอกคุณแม่และพี่ชายผมว่า ให้แม่ชีเข้าไปก่อนไม่ได้นะ
เพราะแม่ชีไม่ได้มาเข้าคิวด้วย ทุกคนควรจะต้องได้รับบัตรคิวตามลำดับที่ได้ยืนรอเข้าแถว
คุณแม่ผมได้ฟังแล้วก็หัวเราะขำ ๆ โดยเข้าใจว่าคุณป้าเธอคงจะคุยเล่น
แล้วก็ได้คุยกับพี่ชายผมในเรื่องอื่น ๆ ต่อไป

พอถึงเวลาประตูสำนักงานหนังสือเดินทางเปิดให้ประชาชนเข้าไปภายในได้
คุณแม่และพี่ชายผมก็นิมนต์ให้แม่ชีทั้งสองท่านให้เข้าไปรับบัตรคิวก่อน
แล้วตัวเองค่อยเดินตามเข้าไป คนอื่น ๆ ก็ทยอยเข้าไปรับบัตรคิวตามลำดับ
ปรากฏว่าคุณป้าท่านนี้โมโหมาก
เธอเดินไปตำหนิแม่ชีทั้งสองท่านว่า แม่ชีแซงคิว ทำไม่ถูกต้องอย่างโน้นอย่างนี้
โดยก็กล่าวตำหนิอยู่หลายประโยคพอสมควร
จากนั้น คุณป้าท่านก็เดินมานั่งรอที่เก้าอี้ด้านหลังจากผมประมาณไปสามแถว
แล้วก็พูดขึ้นมาลอย ๆ ว่า “ว่าแม่ชีที่ชอบแซงคิวนี้บาปไหมล่ะ” แล้วก็หัวเราะเบา ๆ

ผมจึงกล่าวขึ้นมา โดยที่ไม่ได้หันหลังไปมองคุณป้าว่า
“แค่โมโหคนอื่นนี้ ในใจก็เป็นอกุศลแล้ว ยิ่งไปว่าคนอื่นอีก ยิ่งบาปไปกันใหญ่ล่ะครับ”
ตอนแรกนึกว่าจะช่วยให้คุณป้าได้ฉุกคิดอะไรขึ้นมาบ้าง แต่กลับเสมือนราดน้ำมันลงกองไฟ
คุณป้าได้ยินแล้วก็กล่าวเสียงดังมาว่า “ไม่บาปหรอก อันนี้เป็นการช่วยให้ประเทศไทยเจริญ
ที่ประเทศไทยไม่เจริญนี้ ก็เพราะว่าไม่มีระเบียบวินัย”
ผมกล่าวตอบว่า “ที่ประเทศไทยไม่เจริญนี้ เพราะคนเราขาดศีลธรรมและจริยธรรมมากกว่า
มีคนคอรัปชั่นเยอะแยะมากมาย ประเทศไทยจึงไม่เจริญ”
พอผมพูดจบประโยคปุ๊บ พี่ชายก็สะกิดผมและบอกเบา ๆ ว่า “มีสติหน่อย ... อย่าไปเถียงเลย”
ผมก็ย้อนมาดูใจตัวเองนะครับ “เออ เราก็โมโหคุณป้าเหมือนกันนี่นะ”
คุณป้าเธอก็ยังพูดอะไร ๆ ต่อมาอีกนะครับ แต่ผมไม่ได้ไปฟังแล้ว
โดยผมก็มุ่งกลับมาพิจารณาที่ใจตนเองมากกว่า

จากนั้น เจ้าหน้าที่ก็เรียกประชาชนตามเลขบัตรคิว
โดยผมและพี่ชายก็พาคุณแม่เข้าไปถ่ายรูป และลงนามในเอกสารต่าง ๆ
พอดำเนินการใกล้จะเสร็จ เหลือแค่รอรับใบเสร็จและใบนัดรับเอกสาร
ผมก็เดินออกมาตรงที่บริเวณนั่งรอด้านนอก และได้เห็นแม่ชีสองท่านยังนั่งอยู่บริเวณนั้น
ผมจึงเข้าไปสนทนาสอบถามว่าแม่ชีสองท่านจะเดินทางไปที่ไหน
ทั้งสองท่านบอกว่าจะเดินทางไปที่วัดไทยในอินเดีย
เพื่อไปทำงานที่วัดเพื่อช่วยเหลือและดูแลผู้แสวงบุญที่มาพักและทานอาหารที่วัด

ผมทราบดังนั้นแล้วก็เดินกลับมาหาคุณแม่ที่กำลังรอใบเสร็จรับเงิน และใบนัดรับเอกสาร
แล้วบอกว่า “ขอซองครับ ผมจะถวายปัจจัยให้แม่ชี ... แล้วก็เอาตังค์ออกมาร่วมทำบุญด้วยนะ”
คุณแม่ได้ยินดังนั้นแล้ว ก็นำซองและเงินออกมาใส่ซองแล้วก็ยื่นให้ผม
พี่ชายและผมก็ร่วมทำบุญใส่เงินลงไปด้วย จากนั้น ผมก็นำซองนั้นไปถวายแม่ชีพร้อมบอกว่า
ขอร่วมทำบุญเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางของแม่ชีด้วย แม่ชีท่านได้กล่าวอนุโมทนาสาธุให้

พอได้รับใบเสร็จรับเงินและใบนัดรับหนังสือเดินทางเรียบร้อยแล้ว
พี่ชายและคุณแม่ก็ออกมารออยู่ด้านหน้าอาคาร
ส่วนผมก็เดินไปนำรถที่ลานจอดรถเพื่อจะวนมารับทั้งสองคน
พอผมได้นำรถมา และได้รับพี่ชายและคุณแม่ขึ้นรถมาแล้ว
ก็เห็นว่าพี่ชายกำลังยิ้ม ๆ อยู่ ผมจึงถามว่า “ยิ้มเรื่องอะไร ... มีอะไรหรือเปล่า”
พี่ชายเล่าว่า ระหว่างที่รอรถผมอยู่เมื่อครู่นี้ คุณป้าคนเดิมซึ่งกำลังจะกลับ
ได้เดินแวะมาคุยด้วย เธอบอกว่า เธอคือดอกเตอร์ของสถาบันอะไรสักแห่งหนึ่ง
(จำชื่อไม่ได้แล้ว) โดยสถาบันนี้ก็อยู่ต่างประเทศด้วยนะ
ผมถามพี่ชายว่า “แล้วได้ถามคุณป้าไหมว่า เป็นดอกเตอร์แล้วไม่ต้องไปนรกหรือ
ยมบาลเขาจะบอกไหมว่าดอกเตอร์ไม่ต้องลงนรกนะ จะให้ขึ้นสวรรค์เท่านั้น”
พี่ชายผมตอบว่า “ถ้าขืนถามไปอย่างนั้น ป่านนี้คงยังไม่ได้ขึ้นรถ คงต้องคุยกันอีกยาว
เราพาแม่มาทำหนังสือเดินทางและได้ทำบุญกับแม่ชี ก็ได้บุญเยอะแล้ว
ในเมื่อคุยกับคุณป้าไม่รู้เรื่อง ก็ปล่อยแกไปตามยถากรรมเถิด”
ผมจึงบอกกับพี่ชายว่า “จริง ๆ ด้วย ... อนุโมทนาด้วยนะ สาธุ”

ที่ผมเล่าเรื่องนี้ไม่ได้แปลว่าผมสนับสนุนว่าพวกเราควรจะละเลยการเข้าคิวนะครับ
เรื่องการเข้าคิวหรือเข้าแถวนั้นเป็นสิ่งสำคัญและเป็นประโยชน์มากในสังคม
แต่ว่าก็ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด และก็ไม่ได้จะสำคัญมากไปกว่าศีลธรรมและจริยธรรม
ฉะนั้น เวลาที่เรานำมาใช้ในชีวิตจริงของเราแล้ว เราพึงพิจารณาเรื่องอื่น ๆ ประกอบด้วย

ยกตัวอย่าง บนรถโดยสารประจำทาง ขสมก เราจะเห็นว่ามีที่นั่งสำรองให้สำหรับพระภิกษุ
หากเราจะยึดถือว่าทุกอย่างต้องเท่าเทียมกัน เราจะให้พระภิกษุต้องไปยืนเบียดกับโยม
โดยไม่ต้องมีที่นั่งสำรองให้กับท่านเช่นนั้นหรือ ซึ่งก็ย่อมจะไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมนะครับ
หรืออย่างเวลาที่เราขับรถต่อแถว เพื่อจะขึ้นสะพาน โดยแถวก็ยาวมากเลย
พอถึงเวลาที่เราใกล้จะได้ขึ้นสะพานหลังจากที่รถเราได้ต่อแถวมานานแล้ว
ปรากฏว่ามีรถพยาบาลเปิดไซเรนวิ่งมาเบียดแทรกแถวหน้าเรา
ถามว่าเราควรจะกันไม่ให้รถพยาบาลแทรกแถว
โดยอ้างว่าควรจะให้รถพยาบาลต้องไปเข้าคิวต่อท้ายแถวหรือเปล่า
เราก็คงจะตอบตรงกันว่า เราควรจะให้รถพยาบาลแทรก เพื่อช่วยเหลือคนป่วยก่อน

ในกรณีของแม่ชีทั้งสองท่านก็ทำนองเดียวกันนะครับ
เราจะต้องให้แม่ชีสองท่านไปต่อคิวยาว ๆ เบียดกับบรรดาโยมผู้ชายด้วยหรือเปล่า
ในขณะที่แม่ชีทั้งสองท่านก็ไม่ใช่ว่ามาสายมาก ท่านก็มาเช้า เพียงแต่ท่านรอด้านข้างแถว
โดยท่านอาจจะไม่สะดวกในประการใด ๆ ที่จะมาต่อแถวรอในแถวอยู่ด้วยกัน
เราจะถือได้ไหมว่า เราที่เข้าคิวอยู่ในแถวนั้นถือเพียงศีลห้า แต่ท่านทั้งสองนั้นถือศีลสิบ
และเราควรจะยึดถือศีลธรรมเป็นใหญ่ โดยควรจะเอื้อเฟื้อให้ท่านได้บัตรคิวก่อนเรา

ยกตัวอย่างอีกว่า เวลาที่พวกเราถวายภัตตาหารเพลพระภิกษุนะครับ
ไม่ว่าจะถวายที่วัด ถวายในงานบุญที่บ้าน หรือถวายในงานบุญในสถานที่ใด ๆ ก็ดี
จะมีไหมครับว่า เราให้พระภิกษุมาร่วมวงฉันอาหารกับโยมด้วยกันตามลำดับคิวคนที่มา
ในความเป็นจริงโดยปกติแล้ว เราก็จะถวายอาหารให้พระภิกษุฉันหรือตักอาหารไปก่อน
แล้วโยมก็จะกินอาหารทีหลังหรือตักแบ่งอาหารในส่วนที่เหลือ
หากเป็นกรณีถวายภัตตาหารนั้น เราบอกว่าพระภิกษุต้องได้อาหารก่อน
แต่พอเวลาเข้าคิวทำหนังสือเดินทาง เราควรจะบอกหรือว่าแม่ชีต้องไปต่อคิวท้ายแถว

หากมองไปรอบ ๆ ตัวแล้ว เราจะเห็นตัวอย่างอีกมากมายเลยครับว่า
เวลาที่เราได้นำแนวคิดหรือค่านิยมใด ๆ ก็ตามมาใช้ (โดยเฉพาะของต่างประเทศ)
หลักการของเขานั้นดี แต่พอเรานำมาใช้นั้น กลับไม่ได้ใช้อย่างเป็นประโยชน์ที่เหมาะสม
หรือไม่ได้ใช้อย่างรู้จริง หรือนำมาใช้อย่างทำให้เกิดความเสียหายแก่ตัวเราเอง
ในขณะที่เราไปยึดถือแนวคิดหรือค่านิยมบางอย่าง แต่กลับลืมสิ่งที่มีคุณค่าในตนเอง
ผมจะลองยกตัวอย่างเรื่องเทศกาลของต่างประเทศมาเล่านะครับ

ยกตัวอย่าง กรณีเทศกาลวันวาเลนไทน์ (Valentine's Day) ซึ่งเดิมทีนั้นชื่อเต็มมาจาก
“Saint Valentine's Day” โดยเป็นวันที่เฉลิมฉลองเพื่อระลึกถึง Saint หรือนักบุญท่านหนึ่ง
ในศาสนาคริสต์ที่ชื่อว่า “Valentinus” (หรือ Saint Valentinus หรือ Saint Valentine)
โดยเทศกาลนี้ได้มีวิวัฒนาการมาในต่างประเทศมาหลาย ๆ ศตวรรษแล้ว
ในปัจจุบันนี้ สำหรับในหลายประเทศในทวีปยุโรปนั้น
เทศกาลนี้เป็นเทศกาลที่คนที่รักกันจะแสดงความระลึกถึงกัน
โดยส่งดอกไม้ ของขวัญ ช็อคโกแล็ต หรือการ์ดให้แก่กัน
ทางด้านฝั่งตะวันออกของประเทศอังกฤษนั้น ก็จะมีการแจกขนมให้แก่เด็ก ๆ ด้วย
ในประเทศฟินแลนด์นั้น จะถือวันวาเลนไทน์ว่าเป็นวัน Friend’s Day
โดยเป็นวันที่จะระลึกถึงเพื่อน ๆ ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะแฟนหรือคนรักเท่านั้น
ในประเทศสโลวาเนีย จะถือวันวาเลนไทน์ว่าเป็นวันแรกที่เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
และวันแรกที่จะเริ่มทำงานในสวนองุ่น และเริ่มทำงานในไร่เกษตร
สำหรับหลายประเทศในกลุ่มอเมริกาใต้ถือว่าวันวาเลนไทน์เป็นวันแห่งความรักและมิตรภาพ
(Day of Love and Friendship) ไม่ได้มายึดถือว่าเป็นวันที่จะต้องแสดงความรักกับแฟนเท่านั้น
(ข้อมูลเกี่ยวกับวันวาเลนไทน์จาก http://en.wikipedia.org/wiki/Valentine)

ในขณะเดียวกัน เราลองหันมามองที่ประเทศไทยบ้างว่า
เราได้ใช้ประโยชน์จากเทศกาลวันวาเลนไทน์อย่างไร
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ได้มีข่าวเกี่ยวกับผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยซึ่งระบุว่า
“เมื่อถามถึงในทัศนะต่อคู่รักกลุ่มใดที่จะมีการฉลองวันวาเลนไทน์โดยการมีเพศสัมพันธ์
พบว่ากลุ่มตัวอย่าง ๕๔
.๙% เป็นกลุ่มนักศึกษา ส่วนอีก ๒๗.๘% เป็นกลุ่มนักเรียน
และ ๑๗.๓% วัยทำงาน โดยสถานที่ที่วัยรุ่นอาจมีการฉลองวันวาเลนไทน์โดยการมีเพศสัมพันธ์นั้น
กลุ่มตัวอย่าง ๓๒.๗% ระบุว่า เป็นห้องพักรายวัน ส่วนอีก ๒๗.๕% อพาร์ตเมนต์
๒๓.๔% ระบุบ้านที่ไม่มีใครอยู่ ขณะที่ ๑๓.๘% ระบุ โรงแรมม่านรูด และ ๒.๓% สวนสาธารณะ”
จะเห็นได้ว่ากลุ่มนักศึกษาและกลุ่มนักเรียนซึ่งเป็นเยาวชนของชาติกลับเป็นกลุ่มที่นำโด่ง
ในการนำวันวาเลนไทน์มาใช้เพื่อการฉลองโดยการมีเพศสัมพันธ์กัน
ส่วนสถานที่นั้น ก็ยังมีห้องพักรายวัน ม่านรูด รวมไปถึงสวนสาธารณะอีกด้วย

นอกจากเทศกาลวันวาเลนไทน์แล้ว ลองพิจารณาเทศกาลตรุษจีนกันบ้าง
ตรุษจีนนั้นเป็นวันหยุดตามประเพณีของจีนที่สำคัญที่สุดในประเทศจีน
โดยเทศกาลตรุษจีนยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า “เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ”
เพราะว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่สิ้นสุดฤดูหนาว
ซึ่งในเทศกาลตรุษจีนนั้น ทุกครอบครัวจะทำความสะอาดบ้านอย่างละเอียดลออ
เพื่อปัดกวาดโชคร้ายด้วยหวังว่าจะเปิดทางให้โชคดีเข้ามา
โดยในคืนก่อนวันตรุษจีน ในครอบครัวจะทานอาหารค่ำร่วมกัน
ซึ่งเป็นอาหารอย่างดี เช่น หมู เป็ด ไก่ และครอบครัวอาจจะปิดท้ายค่ำคืนด้วยการจุดประทัด
ในเช้าวันรุ่งขึ้น เด็ก ๆ จะทักทายบิดามารดาโดยอวยพรพวกท่านให้มีสุขภาพดีและสวัสดีปีใหม่
และได้รับเงินอั่งเปา ประเพณีตรุษจีนนั้นเป็นไปเพื่อการสมานฉันท์ ลืมความบาดหมาง
และปรารถนาสันติและความสุขแก่ทุกคนอย่างจริงใจ
(ข้อมูลเกี่ยวกับตรุษจีนจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Chinese_New_Year)

เราลองหันมาพิจารณาช่วงเทศกาลตรุษจีนในบ้านเราว่าเป็นอย่างไรในปัจจุบัน
ลองพิจารณาตามข่าวสารต่าง ๆ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนก็ได้ว่าบ้านเราเน้นเรื่องอะไร
เน้นเรื่องการทำความสะอาดบ้าน เรื่องอวยพรบิดามารดา เรื่องระลึกถึงบรรพบุรุษ
เรื่องสมานฉันท์ลืมความบาดหมาง ปรารถนาความสุขแก่ทุกคน
หรือเน้นเรื่องการทำพิธีไหว้ขอพรจากเทพเทวดาต่าง ๆ เพื่อให้ตนเองมีโชคลาภ ฯลฯ
โดยเฉพาะในบรรดาคนทำงานเป็นพนักงานบริษัทนั้น คงจะเคยได้ยินคำกล่าวทำนองว่า
“ไม่ควรทำงานในวันเที่ยว เพราะจะทำให้ต้องทำงานหนักตลอดปี”
หลายคนก็ถือเป็นจริงเป็นจังว่าขอลาหยุดไม่มาทำงาน เพราะไม่อยากทำงานหนัก
แต่ว่าเวลาที่ปรับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนนั้นกลับจะอยากได้ค่าตอนแทนสูง ๆ

จะเห็นได้ว่าในบางที เราได้รับประเพณีบางอย่างเข้ามาตามกระแสสังคม
โดยเราไม่ได้เข้าใจและเข้าถึงประเพณีนั้น หรือใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
แต่เราก็กลับให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านั้นไม่น้อยเลยทีเดียว
ลองพิจารณาผลสำรวจของสวนดุสิตโพลในเดือนมีนาคมปีนี้ก็ได้นะครับ
โดยได้มีการทำโพลสอบถามเยาวชนที่มีอายุไม่เกิน ๑๘ ปีในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
เกี่ยวกับวันวาเลนไทน์ และวันมาฆบูชา โดยมีคำถามถามว่า
ระหว่าง “วันมาฆบูชา” กับ “วันวาเลนไทน์” เยาวชนจำว่าปีนี้ตรงกับวันไหนได้มากกว่ากัน
ผลปรากฏว่า ร้อยละ ๔๙.๒๐ บอกว่าจำ“วันวาเลนไทน์” ได้มากกว่า
ร้อยละ ๒๑.๔๑ บอกว่าจำ “วันมาฆบูชา” ได้มากกว่า
(จะเห็นได้ว่าเยาวชนไทยจำวันวาเลนไทน์ว่าตรงกับวันไหนได้มากกว่าวันมาฆบูชา)

มีคำถามว่า ระหว่าง “วันมาฆบูชา” กับ “วันวาเลนไทน์” จะทำกิจกรรมในวันไหนมากกว่า
ร้อยละ ๔๑.๐ ทำกิจกรรม“วันมาฆบูชา” มากกว่า
ร้อยละ ๓๑.๖๐ ทำกิจกรรม“วันวาเลนไทน์” มากกว่า (ตัวเลขน้อยกว่าแต่เป็นตัวเลขที่ไม่ไกลกันมาก)

มีคำถามว่า ระหว่าง “วันมาฆบูชา” กับ “วันวาเลนไทน์” จะให้ความสำคัญวันไหนมากกว่า
ร้อยละ ๔๗.๐๙ ตอบว่าให้ความสำคัญ“วันมาฆบูชา” มากกว่า
ร้อยละ ๓๐.๒๘ ให้ความสำคัญพอๆกันทั้ง ๒ วัน
ร้อยละ ๑๘.๓๕ ให้ความสำคัญ“วันวาเลนไทน์” มากกว่า
ดูตัวเลขแล้วก็อาจจะเห็นว่าดีที่ว่าเยาวชนให้ความสำคัญ“วันมาฆบูชา” มากกว่า
แต่หากลองพิจารณาบวกตัวเลขในอีกแบบหนึ่ง ก็จะเห็นได้ว่า
เยาวชนที่ให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์ “มากกว่าหรือเท่ากับ” วันมาฆบูชานั้น
มีจำนวนเท่ากับ ๔๘.๖๓ เลยทีเดียว
ฉะนั้น เราก็จะเห็นได้นะครับว่า เรารับประเพณีของประเทศอื่น ๆ เขามา
แต่ประเพณีที่สำคัญและมีคุณค่าของเราเองกลับจะลดความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ

เราอย่าเพิ่งเครียดว่าอนาคตของเยาวชนและประเทศไทยจะเป็นอย่างไรนะครับ
ขอให้ลองพิจารณาที่ตัวเราเองในปัจจุบันเสียก่อนว่า
มีบ้างไหมที่เรารับประเพณีหรือค่านิยมใด ๆ เข้ามาในชีวิต
แล้วสิ่งเหล่านั้นกลับไม่ได้ทำให้ชีวิตเราได้ประโยชน์อะไรหรือมีความสุขอย่างแท้จริง
ในทางกลับกัน กลับทำให้สูญเสียประโยชน์และสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิตเราที่มีแต่เดิมไป
เรามีโอกาสในชีวิตที่จะได้เรียนรู้และปฏิบัติธรรม ได้ประพฤติทาน ศีล และภาวนา
ได้อยู่ใกล้ชิดพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตเราเป็นอย่างมาก
แต่ว่าเราไปรับเอาบางสิ่งบางอย่างเข้ามาและได้ลากพาเราให้ห่างไกลออกไปเสียแล้ว
ห่างไกลจากประโยชน์ที่แท้จริงของชีวิต ห่างไกลจากความสุขที่แท้จริงของชีวิต
เสมือนว่าชีวิตเรามี “เกลือ” อยู่ใกล้ตัวแล้ว แต่เรากลับไปหยิบ “ด่าง” มากินแทน
กินเสียจนรู้สึกว่าด่างสำคัญ จนกระทั่งหลงลืมความสำคัญและคุณประโยชน์ของเกลือเสียแล้ว

ในมุมอื่นของชีวิตเราก็ทำนองเดียวกันนะครับ เช่น
เรามีพ่อแม่อยู่ใกล้ตัว มีคนที่รักเราอยู่ใกล้ตัว มีธรรมะอยู่ใกล้ตัว มีความสุขอยู่ใกล้ตัว ฯลฯ
แต่เรากลับขวนขวายดิ้นรนให้ความสำคัญกับสิ่งอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์น้อยกว่า
และมีคุณค่าน้อยกว่าที่อยู่ไกลตัวเราออกไป ซึ่งทำให้ท้ายสุดแล้ว เราก็ได้กินแต่ด่างเท่านั้น