Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๓๘

ปัญหาของคนชอบกังวลเรื่องงาน

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



dharmajaree-138

เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนของปี ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา
มีญาติธรรมสองท่านได้ถามคำถามผมในเรื่องเดียวกัน
คือปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการชอบกังวลเรื่องงาน
กล่าวคือญาติธรรมท่านที่ถามคำถามนั้นมีปัญหาชอบกังวลเรื่องงานเกือบตลอดเวลา
จนกระทั่งรู้สึกว่าตนเองกังวลเกินสมควร ทำให้เป็นทุกข์ใจมาก
และก็อยากจะหายจากอาการกังวลนี้ ซึ่งพยายามจะแก้ไขโดยหลายวิธีแล้วก็ไม่หาย
ญาติธรรมท่านแรกนั้นภาวนาด้วยการตามดูจิตได้
ส่วนญาติธรรมท่านที่สองไม่รู้เรื่องการภาวนาอะไร เคยนั่งสมาธิมาบ้างนิดหน่อย

แม้ว่าจะกังวลเรื่องงานเหมือนกัน แต่ปัญหาก็ไม่เหมือนกันทั้งหมดนะครับ
ความกังวลของญาติธรรมท่านแรกเกิดจากลักษณะงาน
ซึ่งต้องทำงานเป็นชิ้น ๆ เพื่อนำเสนอต่อผู้บริหาร และต้องไปชี้แจงต่อผู้บริหารในที่ประชุมด้วย
ซึ่งงานแต่ละชิ้นก็มีความยากง่ายแตกต่างกัน
เมื่อเสนอผู้บริหารเสร็จแล้ว ก็จะมีงานชิ้นใหม่เข้ามาเรื่อย ๆ
ระหว่างที่ทำงานที่เข้ามานั้น ก็กังวลว่าจะทำไม่ได้ ทำไม่เสร็จ หรือทำไม่ทันเวลา
แม้จะทำงานเสร็จและส่งงานเรียบร้อยแล้วก็ตาม ก็ยังกังวลอีกว่า
เข้าร่วมประชุมแล้ว จะตอบคำถามได้ไหม จะโดนถามต้อนในที่ประชุมไหม
ผู้บริหารจะตำหนิหรือเปล่า เสนอไปแล้วจะได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมไหม ฯลฯ

ญาติธรรมท่านที่สองนั้นเพิ่งลาออกจากที่ทำงานเดิม และกำลังจะไปทำงานที่ทำงานใหม่
โดยมีเวลาหยุดพักหลายวันที่จะเตรียมตัวศึกษาเรื่องงานใหม่ที่จะไปทำนั้น
ระหว่างหยุดพักเตรียมตัวนี้ ก็รู้สึกกังวลไปเสียทุกอย่างเกี่ยวกับงานใหม่ที่จะไปทำ
กังวลว่าไปทำงานแล้วจะสามารถทำงานได้ดีไหม ผู้บริหารจะพอใจในผลงานหรือไม่
ความรู้ความสามารถของตนเองจะพร้อมหรือเพียงพอหรือเปล่า
ที่ทำงานใหม่คาดหวังไว้กับตนเองมากน้อยแค่ไหน ฯลฯ

ญาติธรรมท่านแรกได้บอกว่าให้ผมช่วยเขียนบทความเรื่องนี้ให้ด้วย
ซึ่งก็เป็นที่มาของบทความในคราวนี้นะครับ
ทั้งนี้ ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งเข้าใจว่าผมทำการหมักดองคำตอบไว้ตั้งสามเดือน
แล้วจึงค่อยมาเขียนตอบในบทความนี้นะครับ
เพราะจริง ๆ แล้ว ผมได้ตอบคำถามญาติธรรมทั้งสองท่านไปแล้วในเวลาที่ได้ถามมานั้น
แต่ว่าผมนำทั้งหมดที่ตอบไปนั้นมารวมไว้ในบทความนี้อีกครั้งหนึ่ง
เพื่อว่าอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับบางท่านที่อาจจะประสบปัญหาเดียวกัน

แม้ว่าผมจะอธิบายเพียงเรื่องแก้ไขปัญหาการกังวลเรื่องงานก็ตาม
แต่หากเราเข้าใจถึงการแก้ไขปัญหาการกังวลเรื่องงานแล้ว
เราก็จะสามารถนำวิธีการไปปรับใช้กับการกังวลเรื่องอื่น ๆ ได้ในทำนองเดียวกันครับ
เช่น กังวลเรื่องแฟน กังวลเรื่องลูก กังวลเรื่องเงินทอง กังวลเรื่องทรัพย์สิน กังวลเรื่องเจ็บป่วย
กังวลเรื่องปัญหาชีวิตอื่น ๆ กังวลเรื่องทำบุญ กังวลเรื่องการปฏิบัติธรรม ฯลฯ

ในส่วนของวิธีการแก้ไขเรื่องการชอบกังวลนั้น ก็มีหลายวิธีการให้เลือกนะครับ
เฉพาะในส่วนของวิธีการที่ผมพอจะเห็นและแนะนำได้ ก็มีดังต่อไปนี้


วิธีที่หนึ่ง ทำงานที่กังวลนั้นให้เรียบร้อย
โดยเราพิจารณา (ด้วยใจที่เป็นกลางปราศจากความลำเอียง) ว่าจริง ๆ แล้ว
เราได้รับผิดชอบทำงานที่กังวลนั้นไว้เสร็จเรียบร้อยแล้วหรือยัง
หากเราได้รับผิดชอบทำงานที่กังวลนั้นไว้เสร็จเรียบร้อยดีแล้ว
ก็ย่อมจะสามารถช่วยลดความกังวลลงได้บ้าง ไม่ว่าจะบางส่วนหรือทั้งหมดก็ตาม

ในทางกลับกัน หากเราไม่ได้สนใจรับผิดชอบตั้งใจศึกษาและทำงานตามที่สมควรแล้ว
ก็ย่อมจะเป็นธรรมดาที่เราจะรู้สึกกังวลกับงานที่เรารับผิดชอบนั้น
(ยกเว้นบางท่านที่อาจจะไม่สนใจอะไรทั้งนั้น เช้าชามเย็นชามไปวัน ๆ)
หากความกังวลเกิดขึ้นเพราะว่าเราไม่ได้สนใจรับผิดชอบตั้งใจศึกษาและทำงานให้ดีแล้ว
เราก็ต้องแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุนะครับ โดยก็ควรหมั่นสนใจและตั้งใจรับผิดชอบ
ศึกษาและทำงานอย่างขยันขันแข็งให้มากขึ้น

ในบางคราว เราอาจจะรับผิดชอบตั้งใจศึกษาและทำงานอย่างเต็มที่แล้ว
แต่ความที่มีปัจจัยอื่น ๆ ที่เราควบคุมไม่ได้ เช่นว่า ปริมาณงานเยอะมากเกินไป ระยะเวลาสั้นไป
หรือหัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมงานสร้างปัญหาให้งานล่าช้า หรือทำให้เกิดข้อบกพร่อง
ในกรณีเหล่านั้น ก็ควรพิจารณาก่อนว่าเราได้ทำในส่วนของเราเต็มที่แล้วหรือยัง
หากเราได้ทำในส่วนของเราเต็มที่แล้ว แต่ปัญหาเกิดจากปริมาณงานมากเกิน ระยะเวลาสั้นเกิน
หรือเกิดจากหัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ แล้ว
ก็ต้องลองหาหนทางที่เหมาะสมที่จะนำเสนอปัญหาให้ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ต่อไป
แต่หากปัญหาเกิดจากผู้ที่มีอำนาจหน้าที่เองเสียแล้ว หรือเสนอแล้วแต่เขาไม่สนใจ
อันนี้ก็ต้องพิจารณาแนวทางอื่น ๆ ที่เหมาะสมต่อไปนะครับ
เช่น หากปริมาณงานมากเกิน อาจจะต้องขอให้มีคนมาช่วยมากขึ้น
ต้องจัดสรรลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของงาน ต้องลดงานที่ไม่จำเป็น ฯลฯ
(คงต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป โดยเนื้อที่ในบทความนี้ย่อมไม่พอที่จะ
แนะนำให้ได้ครอบคลุมครบถ้วนทุกกรณี)

ในวิธีการทำงานหรือตระเตรียมงานให้เรียบร้อยนี้
งานบางอย่างนั้นจะใช้ระยะเวลาในการทำงานหรือตระเตรียมงานเป็นเวลานาน
ซึ่งระหว่างที่เรายังทำงานหรือตระเตรียมงานไม่พร้อม หรือไม่เสร็จสมบูรณ์แล้ว
เราก็อาจจะกังวลเกี่ยวกับงานนั้นไปเรื่อย ๆ
หรือสำหรับบางท่านนั้น ต่อให้ท่านจะทำงานหรือเตรียมงานไว้พร้อมเสร็จแล้วก็ตาม
แต่ท่านก็ยังอาจจะรู้สึกกังวลเกี่ยวกับงานนั้นไปเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ เราก็ต้องยอมรับว่างานใหม่นั้นก็มีเข้ามาเรื่อย ๆ
เราก็อาจจะกังวลกับงานใหม่อีกไปเรื่อย ๆ วิธีการนี้จึงช่วยได้เพียงชั่วคราวในบางเวลา


วิธีการที่สอง หันเหความสนใจตัวเองโดยไปสนใจเรื่องอื่น ๆ
เช่น อาจจะหันเหความสนใจตัวเองไปยังเรื่องอื่น ๆ หรือหากิจกรรมอื่น ๆ ให้ตนเองทำ
เพื่อให้ใจเราลืมเรื่องกังวลเกี่ยวกับงานนั้น หรือเบนความสนใจจากเรื่องงานนั้น
เช่น อาจจะดูภาพยนตร์ ฟังเพลง ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ทำงานบ้าน
ไปคุยเล่นกับเพื่อนหรือแฟน หรือไปเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ฯลฯ
วิธีการนี้ก็สามารถช่วยให้สามารถคลายกังวลได้ชั่วคราว
โดยเมื่อไรที่เราต้องกลับมาเผชิญกับชีวิตปกติแล้ว ความกังวลและกลุ้มใจก็จะกลับมาใหม่
ดีไม่ดีนะครับ ระหว่างที่กำลังหันเหความสนใจด้วยการทำกิจกรรมอื่นอยู่นั้น
ความกังวลก็อาจจะกลับมาครอบงำใจเราแล้วด้วยล่ะ

นอกจากนี้ หากเรื่องอื่นที่เราไปสนใจนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์แล้ว
หากทำบ่อย ๆ แล้ว ก็ย่อมจะทำให้เสียเวลาชีวิต หรือเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น
บางทียิ่งไปเที่ยว หรือไปทำกิจกรรมอื่น ๆ แล้ว ทำให้เสียเงินมาก ๆ
หรือทำให้เหลือเวลาน้อยลงในการศึกษา ทำงาน และตระเตรียมงาน
กลับจะทำให้เครียดมากขึ้น หรือกังวลมากขึ้นเสียอีกในภายหลังจากนั้น
หรือการหันเหความสนใจบางเรื่องจะเป็นการทำกิจกรรมใด ๆ ที่ผิดศีล หรือก่อให้เกิดอกุศลจิต
เช่น ไปดื่มสุรา ไปเที่ยวยิงนกตกปลา ไปเที่ยวกลางคืน เป็นต้น

หากเราจะหันเหความสนใจตัวเองแล้ว ถ้าจะให้ดี ก็ควรจะเป็นเรื่องที่มีประโยชน์กับชีวิต
หรือเป็นการใช้เวลาชีวิตอย่างคุ้มค่า เช่น ออกกำลังกาย ไปทำกิจกรรมที่เป็นบุญกุศลต่าง ๆ
อ่านหนังสือวิชาความรู้ อ่านหนังสือธรรมะ ศึกษาธรรมะ ไปวัดฟังธรรม เป็นต้น


วิธีการที่สาม สร้างทัศนคติที่เหมาะสมแก่ตนเองเกี่ยวกับความกังวลนั้น
โดยแม้ว่าเราเองอาจจะใช้คำว่าเรา “ชอบกังวล” ก็ตาม
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถามว่าเราชอบหรือไม่ชอบความกังวล
เราอยากหรือไม่อยากจะกังวล ก็คงจะตอบว่า เราไม่ชอบความกังวล
และเราไม่อยากจะกังวลหรอกนะครับ เพราะอะไรล่ะ?
เพราะว่าความกังวลนั้นทำให้เราทุกข์ใจ ทำให้เราเครียด
และเมื่อเครียดแล้ว ก็ทำให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตไม่ดี
ทำให้ความสามารถในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ นั้นลดลง
เราจึงควรพิจารณาว่าความกังวลนั้นไม่มีประโยชน์อะไร
แต่กลับจะทำให้เราเองนั้นเป็นทุกข์ และเสียประโยชน์
โดยแทนที่เราจะนำเวลาของเราไปทำประโยชน์อื่น ๆ
แต่เรากลับมัวต้องมานั่งกังวลในเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องกังวลนั้น


วิธีการที่สี่ ทำสมาธิเพื่อให้ใจสงบ
โดยวิธีการนี้ก็คือเราทำสมาธิให้ใจสงบ และเมื่อใจสงบเป็นสมาธิแล้ว
ความกังวลนั้นก็ไม่สามารถมาทำร้ายหรือครอบงำใจเราในระหว่างที่มีสมาธิได้
อย่างไรก็ดี เมื่อเราออกจากสมาธิ และได้มาเผชิญกับชีวิตปกติแล้ว
ความกังวลเกี่ยวกับเรื่องงานก็จะกลับมาใหม่ได้


วิธีการที่ห้า หัดมีสติรู้ทันความกังวล
โดยการที่เราหัดมีสติรู้กายรู้ใจตนเองอย่างเป็นปัจจุบัน ด้วยใจตั้งมั่น และเป็นกลาง
คือเมื่อไรก็ตามที่ความกังวลเรื่องงานนั้นผ่านเข้ามาในจิตใจ
ให้เรามีสติรู้ทัน ซึ่งเมื่อใดที่เรามีสติรู้ทันแล้ว เมื่อนั้นความกังวลจะดับไป
ในการที่มีสติรู้นั้น เราต้องรู้ “อย่างเป็นปัจจุบัน” คือรู้สภาวะตามจริงที่ปรากฏในปัจจุบัน
เช่น พอเห็นว่าจิตใจกังวล ต่อมาเรารู้สึกว่า “อยากจะหายกังวล”
ตัวปัจจุบันคือ “อยาก” โดยตัวกังวลตัวเดิมนั้นได้ดับไปแล้ว
หรือเรารู้สึกว่า “ไม่อยากจะกังวล” ตัวปัจจุบันคือ “ไม่อยาก” โดยตัวกังวลตัวเดิมนั้นได้ดับไปแล้ว
หรือเรากังวลแล้ว ต่อมาสงสัยว่า “เรากำลังมีสติหรือกำลังกังวลกันแน่” ตัวปัจจุบันคือ “สงสัย”
โดยตัวกังวลตัวเดิมนั้นได้ดับไปแล้ว เป็นต้น

นอกจากนี้ ในการรู้นั้น เราก็ต้องรู้ด้วย “จิตใจที่ตั้งมั่น” กล่าวโดยย่อก็คือ
จิตใจตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู โดยไม่ได้ถลำลงไปในตัวกังวลนั้น หรือส่งจิตออกไปที่อื่น
และก็รู้ด้วย “ใจที่เป็นกลาง” ต่อสภาวะนั้น กล่าวโดยย่อก็คือเมื่อรู้สภาวะแล้ว
เราไม่ไปปรุงแต่งต่อ ไม่ไปดัดแปลงใจ หรือดัดแปลงสภาวะนั้น
ซึ่งหากใจเราไม่เป็นกลาง เช่น ไปปรุงแต่งชอบใจ หรือไม่ชอบใจในความกังวลนั้น
ก็เท่ากับว่าไม่เป็นกลางแล้ว โดยก็ให้เรารู้ทันใจที่ไม่เป็นกลางนั้นต่อไป

ในการที่จะฝึกมีสตินี้ พึงวางเป้าหมายให้ถูกต้องก่อนว่า
เรามีสติเพื่อต้องการเห็นความจริงของกายของใจเรา
เราไม่ได้ฝึกมีสติเพื่อต้องการให้หายกังวล หรือทำให้ความกังวลหายไป
หากเรามีสติเพราะอยากจะหายกังวล เราจะไม่มีสติ เพราะความอยากจะครอบงำใจเรา
ฉะนั้นแล้ว ก็พึงรู้กายใจไปตามที่เป็นจริง
และเมื่อใดที่สติตัวจริงเกิดแล้ว ความกังวลจะดับไปเอง (โดยที่เราไม่ต้องอยากให้มันดับเลย)

นอกจากนี้ เมื่อเรามีสติเกิดบ่อยขึ้น ๆ และสติไวขึ้นแล้ว
เราก็อาจจะเห็นได้ว่าที่เราเห็นเฉพาะความกังวลเรื่องงานนั้น ความกังวลไม่ได้มาเป็นตัวแรก
มีตัวอื่นที่มาก่อนกังวล เช่น ตัวที่อยากจะให้ตัวเองดี ตัวที่กลัวว่าตัวเองจะไม่ดี
ตัวที่มาก่อนอยากจะให้ตัวเองดี หรือกลัวว่าตัวเองจะไม่ดี คือตัวหลงคิดเรื่องงาน หรือเรื่องตัวเอง
ตัวที่มาก่อนตัวหลงคิดเรื่องงาน หรือเรื่องตัวเอง คือตัวจิตที่ดิ้นรนขวนขวายจะมีความสุข
จิตมันอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ มันจะต้องดิ้นวิ่ง ๆ หา ๆ คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ไปเรื่อย
คิดไปคิดมาก็ไปตกลงที่เรื่องงานเข้า มันหลงไป แต่ที่มันหลงก็เพราะมันต้องการจะมีความสุข
อันนี้ยกมาเพียงบางตัว ซึ่งหากเรามีสติดู ๆ ไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะได้เห็นตัวอื่น ๆ อีกด้วย
ตามแต่จริตนิสัยของพวกเราแต่ละท่าน เช่น
อาจจะได้เห็นตัวมานะ (เทียบกับคนอื่นว่าเราทำงานดีกว่า เท่ากัน ด้อยกว่าคนอื่น)
ตัวโลภ (เราอยากได้รับการยอมรับ อยากได้ผลงาน อยากให้เจ้านายพอใจ)
อิจฉา (เราไม่พอใจที่คนอื่นได้ดีกว่า) อัตตา (เห็นการสร้างตัวตนของเรา) เป็นต้น
แต่รวม ๆ แล้วก็คือ เราจะไม่ได้มีเพียงตัวกังวลเพียงตัวเดียวหรอกครับ

ตัวเบื้องหลังหรือสาเหตุของการกังวลเรื่องงานนั้น
จริง ๆ แล้วอาจจะเป็นเพราะเรารักตัวเอง ห่วงตัวเอง ห่วงชื่อเสียงหน้าตา
อยากได้รับการยอมรับในที่ทำงาน อยากได้เงินเดือนสูง ๆ หรือกลัวตกงาน
กลัวเสียเงินเดือน หรือเป็นห่วงลูก รักลูก อยากให้ลูกมีชีวิตที่ดี
หรืออยากให้ตนเองมีชีวิตที่ดี ๆ ไม่พอใจชีวิตที่เป็นอยู่
หรืออะไรอื่น ๆ ที่มันผลักดันให้ต้องห่วงกังวลเรื่องงานนั้น ๆ
ซึ่งก็เป็นธรรมดาของมนุษย์เราที่จะมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้
เพียงแต่ว่าให้เรามีสติรู้ทันตัวเหล่านั้นด้วยเท่านั้นเอง
โดยไม่ให้สิ่งเหล่านี้เข้ามาครอบงำใจเราให้เป็นทุกข์

เรากำลังหลงคิดว่าตัวกังวลเรื่องงานนั้นกำลังทำร้ายเรา แต่จริง ๆ แล้วอาจจะไม่ใช่นะครับ
ตัวเบื้องหลังตัวกังวลนั้นมีอยู่ อาจจะเป็นตัวรัก โลภ โกรธ หลง หรือตัวอื่น ๆ
แต่เราไม่เห็นมัน เราเห็นเพียงแต่ตัวกังวลเท่านั้น
ทีนี้หากเรามีสติไวมากขึ้น เราจะพอเห็นได้ครับว่า
ก่อนที่กังวลจะมานี้ แว็บ ๆ ก่อนหน้าเห็นตัวอะไรตัวหนึ่งมาก่อน เห็นหลังมันไว ๆ
เห็นหลังมันไว ๆ เรื่อย ๆ เดี๋ยวก็จะเห็นได้เองครับว่าตัวนี้มันคืออะไร
ดูไล่ ๆ ๆ ย้อนไปทันเรื่อย ก็จะเห็นต้นตอสาเหตุอื่น ๆ มากขึ้นครับ
อนึ่ง ผมไม่ได้บอกว่าให้เราหัดดูย้อนนะครับ เราต้องดูเป็นปัจจุบันไปนั่นแหละ
แต่หากเราดูปัจจุบันได้เร็วขึ้น ๆ เราจะเห็นตัวอื่น ๆ รวมถึงตัวที่มาก่อนหน้าตัวกังวลได้เอง
มันจะเห็นเองครับ ไม่ใช่คิดนะ ไม่ใช่ว่าเห็นกังวลแล้ว เราก็ไปคิดค้นหาว่าก่อนหน้ามันคืออะไร
หากเราหลงไปคิดค้นหาแล้ว ให้รู้ลงไปว่า “กำลังหลงไปคิด” หรือ “กำลังสงสัย”
โดยกายใจเป็นอย่างไร ก็รู้ตามจริงตามนั้นครับ
ส่วนว่ากังวลจะหายหรือไม่หาย ก็ปล่อยให้เป็นไปตามความจริงของกายใจที่จะแสดงให้เราเห็น


วิธีการที่หก มีปัญญา คือเห็นและยอมรับในความเป็นจริงของกายของใจ
ความเป็นจริงของกายของใจในที่นี้คือ ความเป็นจริงว่ากายกับใจเป็นไตรลักษณ์
หมายถึงว่ากายกับใจไม่เที่ยง (อนิจจัง) เป็นทุกข์ (ทุกขัง) และไม่ใช่ตัวตนที่จะยึดถือเอาได้ (อนัตตา)
ซึ่งเมื่อเราได้เห็นและยอมรับความจริงดังกล่าวแล้ว
เราจะไม่จำเป็นต้องไปต้าน และไม่จำเป็นต้องฝืนความเป็นจริงนั้น
เดิมทีใจไม่กังวล ต่อมากังวล ก็คือไม่เที่ยง
ใจมันไม่กังวล แต่มันก็ทนอยู่ในสภาวะเดิมไม่ได้ มันต้องมากังวล ก็คือมันทุกข์
ใจมันกังวล เราห้ามไม่ได้ บังคับให้หายก็ไม่ได้ ก็คือเป็นอนัตตา
หากมีปัญญาเข้าใจ และยอมรับความจริงเหล่านี้ เราก็จะไม่ทุกข์เพราะความกังวล
ใจมันจะกังวลก็ให้กังวลไป แต่เราไม่ได้กังวลไปกับมันด้วย

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นก็เป็นการอธิบายโดยย่อในวิธีการต่าง ๆ
เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับทุกท่านนะครับ ซึ่งก็อาจจะมีวิธีการอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้อีก
เช่น การเข้าถึงวิมุตติ แต่อันนี้ก็เกินภูมิความรู้ของผมที่จะอธิบายแล้ว ก็ขอละไว้นะครับ

แม้ว่าเราจะสามารถมีสติมีปัญญาเห็นความกังวล และความกังวลมาครอบงำใจเราไม่ได้ก็ตาม
แต่เราก็ควรจะพิจารณาวิธีที่หนึ่งด้วยเสมอนะครับ
คือพิจารณาเนื้องาน และการทำงานของเราด้วยเสมอว่า
เราได้รับผิดชอบในหน้าที่งานของเราอย่างเหมาะสม และอย่างเต็มที่แล้วหรือไม่
ไม่ใช่ว่าเราจะอาศัยภาวนาอย่างเดียว แล้วไม่รับผิดชอบในการทำงาน
แล้วก็อ้างว่าไม่กังวลก็เลยไม่ต้องรับผิดชอบ อันนี้เป็นคนละเรื่องนะครับ
ถึงจะไม่กังวลก็ตาม เราก็ต้องรับผิดชอบงานในหน้าที่ให้เหมาะสมด้วย
ในทางกลับกัน เมื่อเราได้รับผิดชอบงานในหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมแล้ว
เราก็ไม่ควรจะปล่อยให้ความกังวลนั้นมาครอบงำใจหรือทำร้ายชีวิตเรา
โดยก็ควรต้องหัดภาวนามีสติมีปัญญาไว้ เพื่อจะสามารถรับมือกับความกังวลนั้นได้
เพราะหากกังวลมาก ๆ แล้วท้ายสุด ก็จะเสียสุขภาพกายใจ และวนกลับมาเสียงานอยู่ดี