Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๓๗

ชีวิตทวนกระแส

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



dharmajaree-137

ผ่านเข้ามาสู่สัปดาห์แรกของ พ.ศ. ๒๕๕๕ แล้วนะครับ
ในช่วงเวลาส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมา
หลายท่านคงได้ทราบกระแสข่าวการทำนายทายทักเหตุการณ์ในปี ๒๕๕๕ นี้
ว่าจะมีเหตุการณ์เลวร้ายรุนแรงมากมายหลาย ๆ เรื่องเลย แค่นั้นยังไม่พอ
ในปี ๒๕๕๕ นี้ยังตรงกับปี ค.ศ. 2012 (ก็ลองนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง 2012 นะครับ)
ซึ่งมีปฏิทินของชนเผ่าชาวมายันได้ทำนายไว้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลก
ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ อันมีผลทำให้เกิดหายนะทางธรรมชาติครั้งใหญ่

หากได้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของปฏิทินชาวมายันแล้ว จะได้ความรู้บางอย่างเพิ่มเติมครับ
(แต่ท่านผู้อ่านไม่จำเป็นต้องเสียเวลาไปค้นหาเองนะครับ เพราะผมได้ย่อ ๆ มาให้แล้วในที่นี้)
ปฏิทินของชาวมายันบอกว่าเรากำลังอยู่ใน "ช่วงสิ้นสุดของ ๑ วันระบบสุริยจักรวาล"
หรือเรียกว่า "End of a Galactic Day" ซึ่งระยะเวลา ๑ วันระบบสุริยจักรวาลนี้
กินเวลายาวนานถึง ๒๕,๖๒๕ ปี และแบ่งได้เป็น ๕ ช่วง ช่วงละ ๕,๑๒๕ ปี
และขณะนี้เราอยู่ในช่วงปลายของช่วงที่ ๕ แล้ว
ชาวมายันบอกว่าในทุก ๆ ๕,๑๒๕ ปี ดวงอาทิตย์จะเกิดปรากฏการณ์บางอย่าง
ที่สัมพันธ์กับศูนย์กลางของระบบกาแลคซี่ (Milky Way galaxy)
อันทำให้ดวงอาทิตย์จะได้รับประกายไฟ (Spark of light)
ซึ่งทำให้ดวงอาทิตย์ส่องแสงและส่งผ่านความร้อนรุนแรงมากขึ้น (เรียกว่า Solar Flares)
และยังทำให้ขั้วแม่เหล็กของดวงอาทิตย์เปลี่ยนแปลง
ซึ่งส่งผลต่อมายังโลกทำให้เกิดการสับเปลี่ยนขั้วโลก
และทำให้เกิดหายนะทางธรรมชาติตามมามากมายในโลก โดยปรากฏการณ์เหล่านี้
ชาวมายันเชื่อว่าเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างสม่ำเสมอ
และจะเกิดขึ้นอีกเมื่อครบ ๕,๑๒๕ ปี ซึ่งก็คือวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ นั่นเอง

เมื่อได้พบคำว่า "๑ วันระบบสุริยจักรวาล" แล้ว ผมก็สงสัยว่า "๑ ปีระบบสุริยจักรวาล" ล่ะมีไหม
พอค้นไปก็พบคำว่า "Galactic Year" หรือ "Cosmic Year" โดยขอเรียกสั้น ๆ ว่า "GY"
ซึ่งหมายถึงระยะเวลาที่ระบบสุริยจักรวาล (Solar System) ที่เราอยู่ในปัจจุบันนี้
ได้โคจรไปรอบกาแลคซี่ (Milky Way galaxy) หนึ่งรอบ
โดยรอบหนึ่งจะใช้เวลาประมาณรอบละประมาณ ๒๒๕ ล้านปี หรือเท่ากับ 1 GY
ซึ่งจะเรียกว่า "๑ ปีกาแลคติก" ก็ได้ แต่หากเรียกว่า "1 GY" น่าจะเข้าใจได้ง่ายกว่า
ในส่วนของ GY นี้ไม่ใช่เรื่องของชาวมายันแล้วนะครับแต่เป็นเรื่องที่นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบ
(นักดาราศาสตร์ในที่นี้รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ และนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ด้วย)

หาข้อมูลไปเรื่อย ๆ เราก็จะรู้สึกทึ่งกับความสามารถของนักดาราศาสตร์นะครับ
โดยพวกเขาสามารถคิดคำนวณได้ถึงขนาดว่ามหาสมุทรในโลกเกิดขึ้นเมื่อ 16 GY ก่อน
ดวงอาทิตย์ในระบบสุริยจักรวาลเราเกิดขึ้นเมื่อ 20 GY ก่อน
ระบบกาแลคซี่นี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 59 GY ก่อน

ในสมัยอดีตที่ผมยังเรียนในโรงเรียนนั้นก็ได้ทราบว่าโลกหมุนรอบตัวเองหนึ่งรอบ
ทำให้เกิดกลางวันและกลางคืน รวมกันก็เรียกว่าหนึ่งวัน
ได้ทราบว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบทำให้เกิดฤดูกาล รวมกันเรียกว่าหนึ่งปี
ได้ทราบว่าดวงอาทิตย์และโลกเรานี้อยู่ในระบบสุริยจักรวาล
มาถึงขณะนี้ ก็ได้ทราบเพิ่มเติมว่าระบบสุริยจักรวาลเราเคลื่อนตัวไปรอบกาแลคซี่
โดยหนึ่งรอบก็เรียกว่า 1 GY เท่ากับเวลาประมาณ ๒๒๕ ล้านปี
และมีระบบสุริยจักรวาลอื่น ๆ อีกที่ต่างก็เคลื่อนตัวด้วยกัน
ในบางทีระบบสุริยจักรวาลสองระบบสุริยจักรวาลก็สามารถเคลื่อนมารวมตัวกันได้ด้วย
ศึกษาต่อไปเรื่อย ๆ ก็คงจะได้ออกไปนอกกาแลคซี่อื่น ๆ อีก
(เดี๋ยวพอไปกาแลคซี่อื่นแล้ว บางท่านจะบอกว่ากาแลคซี่แท็บมี 16 GB ไม่ใช่เหรอ?
เอ้า ไม่เกี่ยวกันนะครับ ที่คุยนี้คือ GY นะครับไม่ใช่ GB
กาแลคซี่ที่ว่านี้ไม่ใช่อันเดียวกับกาแลคซี่แท็บนะครับ คนละเรื่องกันเนอะ)

ก่อนที่ผมจะพาทุกท่านออกไปนอกโลก และออกไปนอกจักรวาลไกลมากกว่านี้
เห็นว่าผมควรจะกลับเข้ามาสู่เนื้อหาของเราจะดีกว่าคือ เรื่องธรรมะ
ถามว่าผมอ่านข้อมูลเรื่องดาราศาสตร์เหล่านี้แล้วรู้สึกอย่างไร
ตอบว่า "รู้สึกว่าสังสารวัฏนี้มันน่ากลัวมาก" นะครับ
ในชีวิตมนุษย์เราที่เกิดมานี้ สุขและทุกข์ทั้งหลายล้วนอยู่ภายในกายและภายในใจเรา
แทนที่มนุษย์เราจะพยายามค้นคว้าศึกษาเข้ามาที่กายและใจเรา
แต่ว่ากระแสโลกใบนี้กลับพยายามลากพาให้เราออกไปไกลจากกายและใจเราทุกที ๆ

กระแสโลกบอกเราว่าหากมนุษย์เราเดินทางไปรอบโลกได้ ถือว่าเก่ง
ต่อมาแค่นี้ไม่พอแล้ว หากมนุษย์เราสามารถออกนอกโลกได้ จะถือว่าเก่งกว่า
หากออกไปนอกอวกาศและเดินทางไปดวงจันทร์ได้ จะยิ่งเก่งกว่า
หากเดินทางไปถึงดาวอังคารได้ จะยิ่งเก่งขึ้นไปอีก
ดาวดวงไหนมนุษย์เราไปไม่ถึง เราก็ใช้กล้องส่องไปดู ใช้กล้องส่องไปศึกษา
เรียกได้ว่ากระแสโลกพาให้เราออกไปดู ออกไปสนใจสิ่งต่าง ๆ ไกลจากตัวเรามากขึ้นทุกที ๆ
ถามว่าความสุขและความทุกข์ของเราอยู่ที่นอกอวกาศหรือเปล่า?
อยู่ที่ดวงจันทร์หรือเปล่า อยู่ที่ดาวอังคาร หรือนอกระบบสุริยจักรวาลหรือเปล่า?
คำตอบคือเปล่าเลย ความสุขและความทุกข์ของเราอยู่ภายในกายในใจนี้เอง

ถามว่าความสุขและความทุกข์ของเราเกิดขึ้นเมื่อไร?
เกิดขึ้นเมื่อครบ ๑ วันระบบสุริยจักรวาล หรือเกิดขึ้นเมื่อ 1 GY ก่อนหรือเปล่า?
หรือเกิดขึ้นเมื่อ 16 GY ก่อน หรือ 20 GY ก่อน หรือ 59 GY ก่อนหรือเปล่า?
คำตอบคือเปล่าเลย ความสุขและความทุกข์ของเราเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้เอง
สมมุติว่าในอดีตเรามีความสุข (ผ่านไปแล้ว) หรือในอนาคตเราจะมีความสุข (ยังมาไม่ถึง)
ถามว่าความสุขที่ผ่านไปแล้ว หรือยังมาไม่ถึงนี้ จะมาแก้ทุกข์ของเราในปัจจุบันได้ไหม
คำตอบก็คือสุขในอดีตหรือในอนาคตนั้นมาแก้ทุกข์ของเราที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ได้

แล้วสังสารวัฏน่ากลัวอย่างไร? ก็น่ากลัวตรงที่ว่าพวกเราสร้างบารมีกันมากมาย
ปกติก็จะบอกว่าสร้างบารมีแทบตาย แต่ในกรณีนี้ มันยิ่งกว่านั้น เพราะตายมากมายหลายหน
เพื่อที่จะได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์ และได้มีโอกาสพบกับธรรมะของพระพุทธเจ้า
แต่เมื่อได้มีโอกาสมาเป็นมนุษย์ และได้มีโอกาสมาพบธรรมะของพระพุทธเจ้าจริง ๆ แล้ว
ก็มีกระแสโลกลากเราให้ไปสนใจสิ่งไกลตัว ให้ไปศึกษาสิ่งห่างไกล
และไม่ได้ชักนำพาให้เรามาสนใจธรรมะของพระพุทธเจ้าเท่าที่ควรเลย

ผมไม่ได้จะบอกว่าวิชาดาราศาสตร์ไม่ดีหรือไม่มีประโยชน์นะครับ
วิทยาการทางโลกในทุกศาสตร์ก็ล้วนแล้วแต่ดี และมีประโยชน์ในทางของศาสตร์นั้น ๆ ในทางโลก
แต่ผมจะบอกว่า หากเรามุ่งที่จะศึกษาและปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ในชีวิตเราแล้ว
เราไม่จำเป็นจะต้องศึกษาอะไรไปไกลมากมายออกไปนอกโลกนอกจักรวาลขนาดนั้น
หรือศึกษาย้อนกลับไปเป็นหลายหมื่นปี หลายล้านปี หรือหลาย GY ขนาดนั้นเลย
เราเพียงแต่สนใจศึกษาและปฏิบัติตามธรรมะของพระพุทธเจ้าที่อยู่ใกล้ตัวเราเองนี้
หัดสนใจทำการศึกษาเรียนรู้กายและใจเราในปัจจุบันนี้เองเท่านั้นแหละ
ก็เพียงพอที่จะทำให้เราค้นพบความสุขที่แท้จริงสำหรับมนุษย์เราได้แล้ว

แล้วปัญหาเรื่องว่าหายนะทางธรรมชาติครั้งใหญ่ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ ล่ะ
เราควรจะต้องทำอะไรบ้าง? จริง ๆ แล้ว หากเราไม่พยายามคิดอะไรให้ซับซ้อนยุ่งยากเกินไป
คำตอบเราอาจจะมีเพียงว่า เรามีหน้าที่ไม่ประมาทต่อความตาย
ดังนั้น เรามีหน้าที่ที่จะต้องทำทุกวันและทุกเวลาของเราให้ดีที่สุดอยู่แล้ว
ซึ่งหากเราได้ทำทุกวันและทุกเวลาของเราให้ดีที่สุดอยู่แล้ว
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันสุดท้ายของปฏิทินชาวมายันหรือไม่ก็ตาม
ย่อมไม่ได้เปลี่ยนแปลงการกระทำที่ดีที่สุดของเราในแต่ละวันเลย
ในขณะที่หากเราไม่ได้ทำทุกวันและทุกเวลาของเราให้ดีที่สุดอยู่แล้ว
ต่อให้จะไม่มีภัยพิบัติธรรมชาติหรือคำทำนายตามปฏิทินชาวมายันอะไรก็ตาม
เราก็ควรจะปรับปรุงตัวเราว่า เราควรจะทำทุกวันและทุกเวลาของเราให้ดีที่สุด

ในชีวิตของพวกเราก็ย่อมจะได้พบกระแสโลก
หรือกระแสสังคมที่จะพัดพาเราไปในทำนองเดียวกันนี้
ก่อนที่เราจะไหลตามกระแสเหล่านั้นไป
เราพึงที่จะใช้สติและปัญญาพิจารณาว่ากระแสเหล่านั้นดีกับเราหรือไม่
จำเป็นกับเราหรือไม่ เหมาะสมกับเราหรือไม่ เป็นประโยชน์กับเราหรือไม่
กระแสเหล่านั้นอาจจะน่าตื่นตาตื่นใจ น่าทึ่ง น่าสนุกสนาน แต่อาจจะไม่จำเป็นกับชีวิตเรา
หรืออาจจะไม่เป็นประโยชน์กับชีวิตเรา ทำให้เสียเวลา หรืออาจจะเป็นโทษด้วยซ้ำ
ในบางสิ่งบางเรื่องนั้น แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำกันบ่อย ๆ ทั่วไปในสังคมจนเคยชิน
หรือเป็นสิ่งที่คนจำนวนมากในสังคมยอมรับกัน
แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์กับชีวิตเราเลย
ในกรณีเช่นนั้น เราก็ควรที่จะต้องกล้าที่จะพาตัวเราทวนกระแสเหล่านั้นไป
โดยไม่ปล่อยให้ตัวเองไหลไปตามกระแสเหล่านั้น

ยกตัวอย่างเรื่องผลโหวตเกี่ยวกับเรื่องการคอรัปชั่นเมื่อไม่นานมานี้
โดยได้มีผลโหวตออกมาว่ามีประชนชนจำนวนมากมีความเห็นว่า
การคอรัปชั่นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ หากว่าทำงานแล้ว มีผลงาน
เรามาลองพิจารณาเนื้อหาในความเห็นนี้กันนะครับ
การคอรัปชั่นนั้นเรียกได้ว่าคือการโกง โดยเนื้อหาก็ทำนองเดียวกับการลักขโมยหรือปล้น
แต่ว่าการลักขโมย และการปล้นนั้นก็ทำได้กับเจ้าของทรัพย์เพียงไม่กี่ราย
ส่วนการคอรัปชั่นนั้นเป็นการโกงคนทั้งประเทศ ปล้นคนทั้งประเทศ
ซึ่งส่งผลร้ายแรงมากมายกว่าการลักขโมยหรือปล้นทั่ว ๆ ไปมากมายนัก

ทีนี้หากเราบอกว่า การคอรัปชั่นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ หากว่าทำงานแล้วมีผลงาน
ลองเทียบกับว่า สมมุติบ้านเราอยู่ในหมู่บ้าน หลังน้ำท่วมเราจ้างคนมาทาสีที่บ้านเรา
เราจะบอกช่างทาสีไหมว่า หากทาสีได้ดี มีผลงานแล้ว เขาจะขโมยลักทรัพย์เราก็ได้
จะไปขโมยลักทรัพย์เพื่อนบ้านเราก็ได้ หรือจะไปขโมยทรัพย์ใครอื่นก็ได้
ขอเพียงแค่ช่างทาสีนั้นทาสีบ้านเราให้ดีเท่านั้นก็พอ จะขโมยอะไรก็ขโมยไปเลย
ถามว่าจะมีใครที่บอกกับช่างทาสีเช่นนี้ไหม
ก็คงจะไม่มีใครบอกอย่างนั้นหรอกนะครับ
เพราะการทาสีบ้านนั้นเป็นหน้าที่ที่เราจ้างช่างทาสีมาอยู่แล้ว
หากเขาทำงานได้ดี เราก็อาจจะให้ค่าทิปเป็นสินน้ำใจ หรือจ้างเขาอีกเมื่อมีงาน
หรือแนะนำให้คนอื่น ๆ จ้างเขาด้วย แต่ย่อมจะไม่ได้บอกว่าอนุญาตให้ขโมยของของเราได้
และที่สำคัญ เราคงไม่บอกว่าเขาจะไปขโมยของของคนอื่นได้ด้วย
เราจะสนับสนุนให้คนอื่นนั้นไปขโมยของอีกคนหนึ่งเช่นนั้นหรือ

ดังนี้ เวลาที่เราบอกว่า หากใครทำงานมีผลงานแล้วก็ให้คอรัปชั่นได้
มันก็ไม่ต่างกับบอกว่าหากทำงานดีแล้ว ก็ให้ขโมยทรัพย์ของคนทั้งประเทศไทยได้
ฉะนั้น ความเห็นจากผลโหวตเช่นนี้ เราเห็นว่าเป็นกระแสที่เราควรจะไหลตามไปหรือเปล่า?
แล้วถามว่าทำไมถึงเกิดผลโหวตเช่นนี้ได้ ผมเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เกิดได้เพราะ
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมมาเนิ่นนานจนผู้คนเคยชินคล้ายเป็นกระแสเอื่อย ๆ ที่ลากผู้คนไป

อย่างกระแสเอื่อย ๆ ที่ทำกันจนชินชา ทำกันจนสังคมเฉย ๆ ก็มีเรื่องอื่น ๆ อีกเช่น
การให้สุราเป็นของขวัญในช่วงเทศกาล หรือการเลี้ยงสุราเพื่อฉลองในช่วงเทศกาล
ซึ่งในอดีตนั้นก็ทำกันมาเนิ่นนาน ทำกันจนเคยชินมาหลาย ๆ ปี
จนกระทั่งว่าเป็นค่านิยมที่การจัดกระเช้าปีใหม่จะต้องมีขวดสุราวางในกระเช้า
แต่ในความเป็นจริงแล้ว สุรานั้นทำลายสุขภาพ ทำให้เป็นอันตรายในการขับยานยนต์
ผิดศีล ทำให้ขาดสติและเสียงานเสียการ และอาจก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท ฯลฯ
ซึ่งพอมาถึงช่วงหลัง ๆ นี้เองจึงได้เริ่มมีการสร้างกระแสมาล้างค่านิยมเหล่านี้บ้าง
(ที่พยายามจะรณรงค์กันว่า "ให้เหล้าเท่ากับแช่ง")
ส่วนการเลี้ยงสุราเพื่อฉลองในช่วงเทศกาลนั้น ก็ยังมีอยู่มาก
ซึ่งเดิมทีนั้นก็เลี้ยงกันกระทั่งในงานบวช หรือในงานบุญกุศลอื่น ๆ ในวัด
แต่ก็เริ่มจะมีกระแสแรงขึ้นว่าไม่ให้จำหน่ายหรือดื่มสุราภายในวัด
และเริ่มรณรงค์ว่าในช่วงเทศกาลต่าง ๆ แทนที่จะไปมัวฉลองกันเพื่อการขาดสตินั้น
ก็ให้มาเข้าวัดสวดมนต์ปฏิบัติธรรมข้ามปีจะดีกว่า

การขายสลากกินแบ่งในพื้นที่วัด หรือรอบ ๆ วัด ก็ทำนองเดียวกันนะครับ
จริง ๆ แล้ว สลากกินแบ่งนี้ถือเป็นการพนันอย่างหนึ่ง เป็นอบายมุข
หากมองให้ละเอียดแล้ว แม้จะถูกรางวัล ก็อาจจะถือว่าเป็นการผิดศีลข้อลักทรัพย์อีกด้วย
เพราะคนอื่น ๆ ที่เล่นพนันด้วยนั้นก็ไม่ได้ยินดีหรือยินยอมที่จะให้ทรัพย์ของตน
คนที่เล่นพนันทุก ๆ คนก็คิดว่าตนเองสิควรจะได้ทรัพย์เหล่านั้น
แต่สลากกินแบ่งรัฐบาลก็มีการจำหน่ายในพื้นที่วัดหรือใกล้เคียงกับวัดอยู่
ผมเคยเห็นถึงขนาดว่าในวัดแห่งหนึ่งนั้นมีการไปตั้งโต๊ะขายอยู่ในพระอุโบสถก็ยังมี
สิ่งเหล่านี้แม้ว่าจะมีทำกันอยู่บ้างในบางแห่ง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะถูกต้องและเหมาะสม

นอกจากกระแสเอื่อย ๆ แล้ว ก็ยังมีกรณีกระแสรุนแรงที่ตื่นตาตื่นใจลากพาผู้คนไปก็มี
เช่น ช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมนั้น ผู้คนต่างก็นำรถยนต์ของตนเองไปจอดบนถนน
ทางด่วน และสะพาน ซึ่งบางคันนั้นก็จอดกีดขวางการจราจรก่อความเดือดร้อนไปทั่ว
แต่บางท่านก็เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะเห็นคนอื่นหลาย ๆ คนก็ทำกัน
หรือกรณีที่เกิดความไม่พอใจอะไรบางอย่าง หรือต้องการเรียกร้องอะไรบางอย่าง
ก็อาศัยการปิดถนน การสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง
โดยบางท่านก็เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะเห็นคนอื่นหลาย ๆ คนก็ทำกัน

อีกกรณีหนึ่ง ในอดีตนั้น ได้มีกระแสของคำว่า "กิ๊ก" ขึ้นมา
โดยคนที่มีแฟนแล้วก็อ้างว่าไม่ได้นอกใจแฟนนะ แค่มีกิ๊กเฉย ๆ
ส่วนคนที่มีสามีหรือภรรยาแล้วก็อ้างว่าไม่ได้นอกใจนะ แค่มีกิ๊กเฉย ๆ
ส่วนกิ๊กเองก็บอกว่าไม่ได้ไปยุ่งกับคนที่มีเจ้าของนะ แค่เป็นกิ๊กกันเฉย ๆ
หลาย ๆ ท่านก็หลงเข้าใจว่าเรื่องกิ๊กนี้เป็นสิ่งที่ทำได้เป็นปกติ ไม่ผิดอะไร และหลายคนก็ทำกัน
แต่จะอ้างทำนองนั้นก็ตาม ของจริง ๆ มันก็อยู่ที่เนื้อหาของการกระทำ ไม่ได้อยู่ที่ชื่อเรียก
สมมุติว่ามีโจรคนหนึ่งไปลักขโมยเงินคนอื่น แล้วอ้างว่าเปิดโอกาสให้เจ้าของเงินทำบุญกับตน
ถึงจะตั้งชื่อการกระทำว่า "ช่วยให้คนอื่นทำบุญกับตน" แต่โดยสภาพมันก็คือการลักขโมยเขาอยู่ดี
ฉะนั้นแล้ว เราจะเรียกชื่อว่ากิ๊ก กุ๊ก เก๊ก แก๊ก โก๊ก หรืออะไรอื่น ๆ ก็ตาม มันก็ไม่ได้สำคัญ
หากโดยสภาพการกระทำแล้วมันคือการนอกใจแฟน หรือนอกใจสามีภรรยา ก็คือผิดอยู่ดี

นอกจากเรื่องที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้นแล้ว
หากเราจะได้ลองพิจารณามองไปรอบ ๆ ตัวแล้ว
จะเห็นได้ว่ามีกระแสโลก และกระแสสังคมในเรื่องอื่น ๆ อีกมากมายนะครับ
โดยกระแสเหล่านั้นก็พยายามจะลากเราไป เสมือนกับว่าเรากำลังยืนอยู่กลางกระแสน้ำ
บางคนนั้น พอเจอกระแสที่ลากไปทำไม่ดีล่ะก็ รีบตามไปทันที โดยอ้างว่าคนอื่น ๆ ก็ทำกัน
แต่พอเจอกระแสที่ลากไปทำดีล่ะก็ รีบต้านหรือทวนกระแสทันที โดยอ้างว่าคนอื่น ๆ ไม่ทำกัน
สำหรับตัวเราเองแล้ว เราก็ต้องเลือกครับว่าเราจะไหลตามกระแสไหน
จะทอดสมอลอยอยู่ไม่ไปไหน หรือจะต้องว่ายหรือพายทวนกระแสไหนหรือไม่

ถามว่าการพายทวนกระแสนั้นเหนื่อยไหม ก็ต้องพิจารณาหลาย ๆ อย่างประกอบนะครับ
เช่น กระแสน้ำนั้นเชี่ยวแรงแค่ไหน เรือและพายเราดีแค่ไหน กำลังเราดีแค่ไหน
ทักษะการพายเราดีแค่ไหน เราขยันพายและคุ้นเคยกับการพายทวนกระแสแค่ไหน
กัลยาณมิตรที่อยู่แวดล้อมเป็นอย่างไร (สนับสนุนช่วยเราพาย หรือขัดขวางการพาย) เป็นต้น
บางปัจจัยนั้นย่อมจะอยู่เหนือการควบคุมของเรา เช่นเรื่องความแรงของกระแสน้ำ
แต่ก็มีหลายอย่างที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา เช่น การหมั่นฝึกสร้างกำลังของเรา และ
การหมั่นฝึกซ้อมทักษะการพายของเราอย่างมั่นคง

ในเวลาที่เราตามกระแสน้ำนั้น เราไม่จำเป็นต้องไปทะเลาะตบตีกับคนที่พายทวนกระแสนะครับ
มันก็เป็นเรื่องของเขาที่เขาอยากจะไปทางนั้น
แต่หากเราสามารถแนะนำเขาได้และเห็นว่าจะเกิดประโยชน์ในการแนะนำแล้ว
เราก็พึงจะแนะนำ โดยต้องแนะนำในช่วงเวลาที่เหมาะสม
ในขณะที่เวลาเราพายทวนกระแสก็ทำนองเดียวกัน
คือเราไม่ต้องไปทะเลาะตบตีกับคนอื่น ๆ ที่ต้องการไปตามกระแสเช่นกัน
เราก็พายทวนกระแสของเราไป ซึ่งไม่ได้แปลว่าเราจะต้องไปต้านกระแสน้ำนั้นทั้งหมด
และไม่ได้แปลว่าเราจะต้องไปต้านคนอื่น ๆ ที่ต้องการจะไหลตามกระแสน้ำนั้นด้วย
หากเราพอจะแนะนำใคร หรือช่วยเหลือใคร ให้สามารถทวนกระแสนั้นมาด้วยได้
ก็ช่วยกันไปตามกำลังความสามารถของเราครับ
การที่เราต้องไปทะเลาะกับเขานั้น ไม่ได้แปลว่าเป็นการช่วยแล้วล่ะ
แต่กลับจะสร้างปัญหามากยิ่งขึ้นให้กับทุก ๆ ฝ่าย รวมทั้งตัวเราเองด้วย